วันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ศาสนาผี

ก่อนอื่นเลย ต้องเน้นว่า คนไทยเมื่อได้ยินคำว่า "ผี" ก็มักจะนึกไปถึงพวกผีเปรต ผีกระสือ ผีแม่นาค หรือผีปีศาจ อะไรทำนองนั้น ซึ่งก็เลยทำให้เวลาพูดว่า "ศาสนาผี" ก็เลยนึกว่าเป็นเรื่องของการไปนับถือผีเปรต  ผีกระสือ  หรือผีแม่นาค  หรือศาสนาบูชาปีศาจ  หรือศาสนาบูชาซาตาน  ซึ่งไม่ใช่เลย  

แต่ "ผี" ของ "ศาสนาผี" ที่ว่านี้ก็คือวิญญาณของธรรมชาติ  วิญญาณของบรรพบุรุษ  หรือวิญญาณของวัตถุที่เชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง

นักวิชาการทางศาสนวิทยาล้วนกล่าวตรงกันว่า ศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก คือการนับถือ "วิญญาณ"  คนยุคแรกๆ ของโลก ที่จัดว่าเป็นคนยุคก่อนประวัติศาสตร์  (หรือก่อนที่จะมีการใช้ภาษาเขียนและเขียนบันทึก)  ล้วนแต่นับถือวิญญาณอะไรบางอย่างกันทั้งนั้น  แต่โดยภาษาชาวบ้านหรือภาษาปากของคนไทยมักเรียกวิญญาณเหล่านี้ว่า "ผี"   นักวิชาการคนไทยจึงเรียกตามไปด้วยว่า “ศาสนาผี”  แต่ผู้เขียนเองขอเรียกในทางวิชาการว่า "ศาสนาวิญญาณ"  แต่ก็จะเรียกตามภาษาปากแบบไทยควบคู่ไปด้วยว่า "ศาสนาผี"    และผู้เขียนจะใช้สองคำนี้ในความหมายเดียวกัน


"ศาสนาวิญญาณ" หรือศาสนาผีนี้  ในทางวิชาการศาสนวิทยาเรียกว่า ศาสนาประเภท "วิญญาณนิยม"  ภาษาอังกฤษเรียก Animism    ส่วนพวกที่นับถือผีก็จะเรียกว่า animist    พื้นฐานมาจากคำว่า "anima" แปลว่า “ลมหายใจ” หรือ “วิญญาณ”  (หมายเหตุ: คำว่า "ศาสนาวิญญาณนิยม" หรือ "ศาสนาผี" บางครั้งจะถูกเรียกทางวิชาการเพื่อเลี่ยงนัยของการดูถูกว่า "primitive religion" ซึ่งคงเรียกเป็นภาษาไทยว่า ศาสนาบรรพกาล    ซึ่งหมายถึงศาสนาของยุคโบราณที่ล้วนมีลักษณะของ "ศาสนาวิญญาณนิยม" ทั้งนั้น)

ศาสนาวิญญาณนิยม เป็นแนวความเชื่อที่ว่า   (๑) วิญญาณ (หรือผี) มีจริง   ต่อมาก็เชื่อว่า (๒) วิญญาณเป็นอมตะ   ต่อมาก็เชื่อว่า  (๓) วิญญาณ เหล่านี้เป็นอำนาจเหนือธรรมชาติ ที่คอยรักษากฎเกณฑ์ของธรรมชาติและสังคมมนุษย์ให้เสมอภาคและยุติธรรม


นี่เป็นระบบความเชื่อดั้งเดิมของคนยุคดึกดำบรรพ์ทั่วโลกเมื่อหลายหมื่นหลายพันปีมาแล้ว  และเป็นความเชื่อเก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ และเป็นความเชื่อที่เกิดขึ้นมาก่อนที่มนุษย์จะได้เอาความเชื่อของตนในเรื่องนี้มาพัฒนาเป็นรูปแบบทางศาสนาในเวลาต่อมา    

จากหลักฐานการค้นคว้าของนักวาการ ปรากฏว่า มนุษย์ยุคบรรพกาล (Primitive man) ซึ่งเป็นมนุษย์ยุคแรกๆ ของโลกนั้น มีความเชื่อมั่นว่า วิญญาณมีอยู่ในร่างมนุษย์ และจะไม่แตกสลาย เมื่อร่ากายได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นมนุษย์ยุคบรรพกาลยังมีความเชื่อมั่นว่า ชีวิตของภูตผีมีจริง และมีความเชื่อว่า “ร่างกายเท่านั้นที่ตายไป ส่วยวิญญาณหาได้ตายไปไม่” คำว่า “วิญญาณนิยม” เป็นคำที่เซอร์ ไทเล่อร์ (E.B. Tylor) ใช้ในหนังสือของเขาชื่อว่า “สังคมบรรพกาล” (Primitive culture) เพื่ออธิบายจุดกำเนิดของศาสนา และความเชื่อของมนุษย์ยุคบุพกาล

สำหรับในภูมิภาคของประเทศไทยนั้น  ศาสนาวิญญาณ หรือ ศาสนาผี มีมานานถึงราว 5,000 ปีมาแล้ว หรืออาจเก่ามากกว่านี้ก็ได้  เพราะเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนทางอีสานตั้งหลักแหล่งเป็นชุมชนหมู่บ้านเก่าสุด เริ่มทำกสิกรรมปลูกข้าวเลี้ยงสัตว์ แล้วมีพิธีกรรมเกี่ยวกับผีเพื่อขอความอุดมสมบูรณ์    คนในไทยทุกวันนี้นับถือศาสนาผีปนพราหมณ์พุทธ มีศาลผี และทำพิธีทรงเจ้าเข้าผีทั่วไปทั้งประเทศ  ซึ่งผู้เขียนขอเรียกศาสนาของคนไทยที่ผสมระหว่าง ผี-พราห์ม-พุทธ เช่นนี้ว่า "ศาสนาไทย"

ศาสนาไทยมีลักษณะที่เอาศาสนาผีเป็นรากฐาน  แล้วรับเอาสิ่งละอันพันละน้อยของศาสนาพราหมณ์กับศาสนาพุทธ โดยเลือกเอาส่วนที่ไม่ขัดกับหลักผี เข้ามาประกอบกับศาสนาผี  เพื่อให้ดูดีมีสง่าราศี ดูทันสมัย และน่าเลื่อมใสศรัทธาขึ้น  

ขณะที่วิญญาณหรือผีที่ใหญ่ที่สุดของศาสนาผีทั่วไปมักจะเป็น "ผีแห่งท้องฟ้า"  หรือ "ผีฟ้า"  เพราะถือว่าท้องฟ้าคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด   แต่ว่ากันว่า ผีใหญ่ของไทย  สิงสถิตอยู่ฟ้ากับดิน มักเรียกอย่างคุ้นเคยสั้นๆว่า ผีฟ้า แต่หมายถึงฟ้าดิน  และถูกจัดให้เป็นเพศหญิง 

ศาสนาวิญญาณ หรือศาสนาผี ไม่ได้มีความเชื่อหยุดอยู่กับที่  แต่มีพัฒนาการด้วย   พัฒนาการของศาสนาผี พัฒนาการไปอย่างนี้คือ   
(๑) แรกสุดเริ่มจากศาสนาวิญญาณธรรมชาติ  (หรือผีฟ้าดิน)  
(๒) ต่อมาก็เชื่อว่าพ่อแม่และบรรพบุรุษที่ตายไปก็กลายวิญญาณอมตะที่ยังวนเวียนอยู่ใกล้และช่วยเหลือลูกหลานที่ยังอยู่ได้ด้วย  จึงพัฒนาความเชื่อเพิ่มให้มีศาสนาบูชาวิญญาณบรรพบุรุษ (หรือการไหว้ผีบรรพบุรุษ)    
(๓) แล้วต่อมาก็ขยายความเชื่ออีกว่า วัตถุหรือสิ่งของต่างๆ ก็มีวิญญาณสิงสถิตอยู่ด้วย  จึงขยายไปสู่ศาสนาของขลัง หรือศาสนาบูชาวัตถุศักดิ์สิทธิ์ (คือบูชาผีที่สิงสถิตอยู่ในวัตถุต่างๆ)  
(๔)  ต่อมาก็ขยายเป็นศาสนาสัญญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ (Totemism)
(๕) ต่อมาก็ขยายเป็นศาสนาหมอผี (Shamanism) 
(๖) ในที่สุดก็เป็นศาสนาบูชาธรรมชาติ (Nature worship) 

ลองดูรายละเอียดกัน 


ศาสนาวิญญาณบรรพบุรุษ 

ศาสนาผีพัฒนาต่อกลายเป็น ศาสนาผีบรรพบุรุษหรือวิญญาณบรรพบุรุษ  (ancestor worship)   การเคารพบรรพบุรุษเป็นการแสดงออกถึงท่าทีของมนุษย์ที่มีต่อผู้ตาย  ซึ่งปรากฏมีอยู่ในศาสนาและวัฒนธรรมมาตั้งแต่ยุคบุพกาลเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน   การเกิดลัทธิบูชาวิญญาณบรรพบุรุษมาตั้งแต่ยุคเริ่มแรกของมนุษย์นั้น เป็นเพราะมนุษย์มีทัศนคติว่า ผู้มีชีวิตอยู่และผู้ที่ตายไปแล้วมีความสัมพันธ์กัน  ความตายมิได้ทำให้ผู้นั้นหมดสภาพความเป็นหน่วยหนึ่งของสังคม อาจจะเป็นครอบครัว สกุล เผ่าพันธุ์ เป็นต้น


ทัศนคติของมนุษย์ที่มีต่อการตายแบ่งออกได้ดังนี้

๑. ความตายเป็นสิ่งที่น่ากลัว พร้อมๆกับไม่น่ากลัวแต่อย่างใด เพราะว่าความตายเป็นสภาพต่อเนื่องจากการมีชีวิตอยู่ 

๒. ผู้ตายไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ดังนั้นผู้ทียังมีชีวิตอยู่จะต้องจัดหาสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิตให้กับผู้ตาย

๓. ผู้ตาย โดยเฉพาะการตายของหัวหน้า หรือการตายของผู้อาวุโส ซึ่งในขณะเมื่อยังมีชีวิตอยู่เป็นผู้มีอำนาจมาก เมื่อถึงแก่กรรมกะมีอำนาจยิ่งกว่าเดิม เพราะมีสภาพเป็นวิญญาณที่หลุดออกไปจากกายซึ่งจะมีความคล่องตัวสูงกว่าขณะมีร่างกายประกอบ จึงสามารถช่วยเหลือหรือทำร้ายผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ ฉะนั้น การให้ความเคารพต่อการตายของบุคคลประเภทนี้ จึงเป็นเรื่องใหญ่โตมาก

ในบางสังคมเชื่อกันอีกว่าผู้ตายไปแล้วจะกลับชาติมาเกิดใหม่ในสังคมเดิมของตน  บุคคลสำคัญเมื่อตายจากไปจะกลายไปเป็นเทพเจ้า


รูปแบบของการเคารพบรรพบุรุษ

พิธีเคารพบรรพบุรุษเชื่อว่า ผู้ตายมีสภาวะใดสภาวะหนึ่งตามที่ได้กล่าวมาแล้วในข้อ ๑-๕ แต่สามารถแบ่งออกได้เป็นรูปแบบหลายรูปแบบ ดังนี้

๑. การเคารพบรรพบุรุษจากทั้งชุมชน ผู้ตายอาจได้รับความเคารพจากคนทั้งกลุ่ม เช่น จากครอบครัว จากคนในตระกูลเดียวกัน จากคนทั้งเผ่า หรือจากคนทั้งประเทศ ทั้งนี้เพราะผู้ตายเมื่อมีชีวิตอยู่ เป็นสมาชิกคนหนึ่งที่มีคนเคารพนับถืออยู่ในชุมชนนั้นๆ โดยแสดงออกทางพิธีกรรมต่างๆ

๒. การเคารพบรรพบุรุษจากแต่ละบุคคล รูปแบบของการเคารพบรรพบุรุษที่แพร่หลายมากที่สุดได้แก่ การเคารพจากแต่ละบุคคล อย่างไรก็ดี การเคารพบรรพบุรุษแบบนี้อาจร่วมกับการเคารพบรรพบุรุษจากคนทั้งชุมชนด้วย อย่างเช่น การเคารพผู้ตายซึ่งเป็นจักรพรรดิของชาวโรมัน หรือการเคารพบรรพบุรุษของกษัตริย์ของชาวอียิปต์ และการเคารพสมาชิกในตระกูลจักรพรรดิของญี่ปุ่นของคนทั้งชุมชน และของแต่ละบุคคล 

ในลัทธิเคารพบรรพบุรุษมิได้ถือว่า บรรพบุรุษทุกคนมีคุณค่าต่อการเคารพโดยเท่าเทียมกัน เพราะบรรพบุรุษคนหนึ่งอาจมีอำนาจมากกว่าบรรพบุรุษอีกคนหนึ่ง เมื่อตายก็อาจจะมีแต่ญาติเท่านั้นให้ความเคารพ แต่ในบางกรณีการเคารพบรรพบุรุษของคนที่ตายไปแล้วบางคนอาจจะกลายเป็นศูนย์กลางของการเคารพสักการะของชุมชมอื่นๆ ไปด้วย นั้นหมายความว่า การเคารพบรรพบุรุษนั้นมีระดับที่แตกต่างกันไป

๓. บรรพบุรุษคือพระเจ้า   บรรพบุรุษบางคนมีคุณสมบัติพิเศษ มีค่าต่อการเคารพบูชามาก เมื่อบรรพบุรุษเช่นนี้ตายไปแล้ว จึงไม่ถือว่าเป็นการจากไปแบบธรรมดา อย่างการจากไปของบุคคลทั่วๆ ไป แต่เชื่อกันว่าเป็นการจากโลกนี้ไปเป็นเทพเจ้า ซึ่งในบางกรณีวิญญาณของบรรพบุรุษอาจจะถูกเรียกมาเพื่อให้ความช่วยเหลือสังคมหรือชุมชนนั้นๆ ได้

โดยสรุป ความคิดเคารพบรรพบุรุษ เกิดขึ้นมาเพราะมนุษย์มีความเชื่อว่า วิญญาณมีอยู่จริง ชีวิตหลังความตายจึงมีอยู่จริง การตายจึงเป็นเพียงการจากไปของวิญญาณ ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่มีชีวิตอยู่จึงควรมีความสัมพันธ์กับวิญญาณของผู้ตาย โดยการแสดงความเคารพบูชา ลัทธิบูชาบรรพบุรุษจึงเป็นปากฎการณ์เกี่ยวข้องกับลัทธิวิญญาณนิยม หรืออาจกล่าวได้ว่า ลัทธิวิญญาณนิยม ปูทางให้เกิดลัทธิบูชาเคารพบรรพบุรุษ และจากลัทธิเคารพบูชาบรรพบุรุษจึงมีศาสนพิธีให้กับผู้ตาย จะเห็นว่า เมื่อมีระบบศาสนาที่ชัดเจน เช่น ศาสนาพุทธ พราหมณ์-ฮินดู ขงจื้อ เป็นต้น ลิทธิเคารพบูชาบรรพบุรุษก็ได้แฝงตัวอยู่ในพิธีกรรมทาศาสนาให้กับผู้ตายตามที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน


ศาสนาของขลัง  

ศาสนาวิญญาณได้พัฒนาไปสู่การเป็นศาสนาของขลัง หรือศาสนาบูชาวัตถุศักดิ์สิทธิ์ (คือบูชาผีที่สิงสถิตอยู่ในวัตถุต่างๆ)    ภาษาเทคนิคเรียกว่า Fetishism  คำว่า Fetish มาจากคำว่า Feitico ในภาษาโปรตุเกส  ต่อมาชาวยุโรปในศตวรรษที่ ๑๕ ใช้คำว่า Fetish หมายถึง เวทมนต์ คาถา อาคม ที่มีอยู่ในเครื่องราของขลัง ดังนั้น คำว่า Fetishism จึงหมายถึงศาสนาหรือลัทธิที่บูชาวัตถุที่ถือเป็นของขลังหรือของศักดิ์สิทธิ์

ศาสนาบูชาของขลังเป็นผลสืบเนื่องต่อจากความเชื่อว่า วิญญาณมีอยู่จริง  ต่อมาก็เลยมีความเชื่อว่า มีวิญญาณอยู่ในวัตถุต่างๆ  

อย่างไรก็ดี มีนักวิชาการบางท่านกล่าวว่า ความเชื่อของชาวแอฟริกาที่ว่า วัตถุต่างๆ อย่างเช่นเครื่องรางของขลัง มีอำนาจศักดิ์อยู่มิได้ขึ้นอยู่กับความเชื่อในเรื่องการมีอยู่ของวิญญาณ หากแต่เชื่อว่า “มีพลังชีวิต” อยู่ในนั้น

ความเชื่อในเรื่องเครื่องรางของขลังปรากฏมีอยู่ทั่วไปในสังคมยุคบุพกาล และแอบแฝงเข้ามาอยู่ในความเชื่อและพิธีการของศาสนาที่มีลักษณะก้าวหน้าอย่างศาสนาชั้นสูงในปัจจุบันในรูปของวัตถุ  เช่น การเชื่อว่า ผ้ายันต์ ตระกุด มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น ดังนั้น ความเชื่อในเรื่องเครื่องรางของขลังซึ่งเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับวิญญาณนิยม จึงยังคงมีอิทธิพลอยู่ในความรู้สึกของมนุษย์พอ ๆ กับเรื่องวิญญาณนิยมจนกระทั่งถึงปัจจุบัน


ศาสนาสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ 

คำว่า ลัทธิโทเทม (Totemism) เป็นคำใช้เพื่ออธิบายลักษณะสำคัญในศาสนา และองค์กรทางสังคมของประชาชนยุคบุพกาลหลายแห่งด้วยกัน    คำว่า โทเทม (Totem) มาจากคำว่า Ototeman ซึ่งเป็นภาษาชาวอินเดียแดงเผ่า Ojibwa ซึ่งอยู่บริเวณทะเลสาบ Great lake ทางตะวันออกของอเมริกาเหนือ  เดิมทีคำว่า โทเทม หมายถึง “ความเป็นพี่น้อง พี่ชาย น้องสาว” ซึ่งหมายถึงสัมพันธภาพทางสายเลือดระหว่างพี่ชาย และน้องสาว ซึ่งมีมารดาคนเดียวกัน จึงสมรสกันไม่ได้

ความเชื่อแบบโทเทม เป็นแนวความเชื่อที่ว่า มนุษย์มีความเป็นญาติพี่น้องอยู่กับโทเทม หรือมีความสัมพันธ์ลึกลับอยู่ระหว่างกลุ่มบุคคลหรือแต่ละบุคคลกับโทเทม   โทเทม คือ สิ่งเช่นสัตว์หรือต้นไม้ ที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ของคนกลุ่มหนึ่ง หรือบุคคลหนึ่งซึ่งมีความสัมพันธ์อยู่กับสิ่งนั้น

คำนี้เข้ามาสู่ยุโรปเมื่อ ค.ศ. ๑๗๙๑ โดยพ่อค้าชาวอังกฤษ และแปลคำ โทเทม ว่า ความเชื่อว่ามีวิญญาณปกป้องคุ้มกันในแต่ละบุคคล และวิญญาณนี้ปรากฏออกมาในรูปของสัตว์ ซึ่งเป็นแนวความคิดที่ชาวอินเดียเผ่าโอจิวาได้แสดงออกด้วยเครื่องนุ่งห่มที่ทำด้วยหนังสัตว์     นักวิชาการได้ให้คำนิยามคำว่า โทเทม ไว้อย่างกว้างขวาง ลัทธิโทเทม จึงเป็นแนวความคิดที่ซับซ้อนและมีหลายรูปแบบรวมทั้งยังมีวิถีทางพฤติกรรม ซึ่งวางรากฐานจากการมองโลกทัศน์จากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติมีความสัมพันธ์ภาพทางด้านอุดมการณ์ ความเร้นลับทางอารมณ์ ความเคารพยำเกรงและทางเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ของกลุ่มทางสังคมหรือบุคคลหนึ่งกับสัตว์หรือวัตถุทางธรรมชาติ ซึ่งเรียกว่า โทเทม

แต่โดยทั่วไปลัทธิโทเทมประกอบด้วยลักษณะดังนี้ คือ  ๑. โทเทม คือ เพื่อน ญาติ ผู้ปกครองป้องกัน บรรพชน หรือผู้ให้ความช่วยเหลือมีอำนาจและความสามารถเหนือมนุษย์ เหล่านี้จะเรียกว่า โทเทม และสิ่งใดที่เป็นโทเทมนั้นไม่เพียงแต่ต้องแสดงความเคารพด้วยความคารวะเท่านั้น แต่โทเทมจะกลายเป็นสิ่งที่น่าเกรงกลัวรวมอยู่ด้วย   ๒. ใช้ชื่อและตราพิเศษเป็นโทเทม    ๓. มีสัญลักษณ์ของโทเทม    ๔. มีการห้ามการฆ่า การกิน หรือแตะต้องโทเทม    ๕. มีพิธีกรรมให้กับโทเทม

ในบางกรณีลัทธิโทเทมก็มีพื้นฐานทางศาสนารวมอยู่ด้วยไม่มากก็น้อย เช่น ลัทธิโทเทมปรากฎรวมอยู่กับการใช้เวทมนต์คาถา และลัทธิโทเทมมักจะมีความเชื่ออื่นๆ เข้ามาผสมผสานรวมอยู่ด้วย อาทิ พิธีเคารพบูชาบรรพบุรุษ ความคิดในเรื่องวิญญาณความเชื่อในเรื่องอำนาจและวิญญาณ

ผู้เขียนขออธิบายศาสนาผีแบบศาสนาประเภทโทเท็มเป็นตัวอย่างง่ายๆ ว่า ก็เหมือนกับที่ ชนบางเผ่าบูชานกอินทรีย์   บูชาวัว   บางเผ่าบูชางู  บางเผ่าบูชาต้นไม้บางอย่าง  อะไรทำนองนี้

ลัทธิโทเทมอาจจะแบ่งออกได้เป็นแบบ โทเทมของกลุ่มบุคคล และโทเทมเฉพาะบุคคล    แบบกลุ่มบุคคล (Group Totemism) เป็นรูปแบบที่แพร่หลายที่สุด ซึ่งอาจจะมีลักษณะเช่น มีตราสัญลักษณ์ และกฎต้องห้าม ปัจจุบันลัทธิความคิดแบบโทเทมยังแพร่หลายอยู่ในแอฟริกา อินเดีย โอเซียเนีย อเมริกาเหนือ เป็นต้น   ส่วนโทเทมเฉพาะบุคคล (Individual Totemism) ส่วนมากมีอยู่ในกลุ่มนักล่าสัตว์ กลุ่มชนทำเกษตรกรรม และยังพบในหมู่นักเลี้ยงสัตว์ด้วย ลัทธิความคิดประเภทนี้มีแพร่หลายอยู่ในหมู่ชาวพื้นเมืองของทวีปออสเตรเลีย

สรุป  ลัทธิโทเทม มีลักษณะของการเคารพสัตว์ หรือพืชในลัทธิโทเทม นักวิชาการได้แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ โทเทมส่วนบุคคล และโทเทมของกลุ่มชน ลัทธิโทเทมที่สำคัญและมีความนิยมกันนั้น ก็คือ โทเทมประเภทกลุ่มชน ซึ่งมีความเชื่อตามชื่อของสัตว์พันธุ์ใดพันธุ์หนึ่ง หรือบางครั้งก็อาจจะเป็นพืชชนิดใดชนิดหนึ่งก็ได้ หรือต้นไม้ ก็ได้ และสัตว์ พืช ต้นไม้ที่เป็นโทเทมของกลุ่มบุคคลนั้นก็จะถูกห้ามนำมากินหรือต้น และที่สำคัญก็คือ พิธีกรรมทาลัทธิโทเทมแสดงออกซึ่งสัมพันธภาพทางศาสนา เวทมนต์ คาถา กับสัตว์และพิธีกรรมของลัทธิโทเทมอาจมีการเซ่นสังเวยและการให้อาหารสัตว์รวมอยู่ด้วย แต่ลัทธิโทเทมก็มีรากฐานของความเชื่อในเรื่องวิญญาณอยู่ด้วย


ศาสนาหมอผี หรือซาแมน (Shamanism)

คำว่า Shamanism มาจากคำว่า Saman ในภาษาตังกุส (Tungustic) ซึ่งแปลว่า “พระหมอยา” ลัทธิซาแมนเป็นลัทธิความเชื่อที่เก่าแก่ของประชากรที่อาศัยอยู่ในอูราอัลไต ในเอเชียเหนือ ในบริเวณเทือกเขาอัลไตตั้งแต่บริเวณแลปป์แลนด์ (Lappland) ทางทิศตะวันตก ไปจนถึงบริเวณช่องแคบแบริ่ง (Bering Straits)

แต่เดิมลัทธิซาแมน เป็นศาสนาวัฒนธรรมของชนชาติร่อนเร่ล่าสัตว์เป็นอาหาร คือ ชาวเอเชียโบราณ แก่นสาระสำคัญของลัทธินี้ก็คือ การติดต่อกับวิญญาณ ฉะนั้น ลัทธิซาแมนจึงวางรากฐานอยู่ในเรื่องวิญญาณนิยม แต่มีพื้นฐานสูงกว่า กล่าวคือ เมื่อมนุษย์ได้รับเอาวิญญาณนิยมมาเป็นพื้นฐาน แนวความคิดซาแมนจึงเริ่มต้นหาทางติดต่อกับวิญญาณ และที่ผู้ทำที่หน้าที่ติดต่อกับวิญญาณเรียกว่า “ซาแมน” (shaman) หมายถึงพระหมอผู้วิเศษ หรือที่ท้องถิ่นไทยมักเรียกกันว่า "หมอผี" นั่นเอง

ลัทธิความเชื่อนี้ยังมีความเชื่อในเรื่องการมีชีวิตต่อเนื่องของทุกดวงวิญญาณหลังจากร่างกายดับสิ้นไปแล้ว ความเชื่อเช่นนี้ เป็นรากฐานของการทำให้เกิดลัทธิบูชาบรรพบุรุษ (Ancestor worship) ขึ้นมาอีก

การมีพระหมอผีผู้วิเศษ หรือซาแมนถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการมีพระผู้ทำหน้าที่รักษาความเชื่อของแต่ละศาสนาไว้ไม่ให้สูญสิ้น เป็นการดำรงไว้ของศาสนาทุกศาสนาในเวลาต่อมา และซาแมนในฐานะเป็นนักบวช นอกจากจะมีหน้าที่ทำการติดต่อกับโลกของวิญญาณแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อกับเทพเจ้า ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีหน้าที่ในการทำพิธีบูชายัญ ทำนายโชคชะตาและรักษาโรคภัยไข้เจ็บอีกด้วย  และบางทีก็ถึงขั้นเป็นร่างทรงของวิญญาณต่างๆ ได้ด้วย


ศาสนาบูชาธรรมชาติ (Nature Worship) 

ลัทธินับถือธรรมชาติ เป็นลัทธิที่ถือว่า อำนาจหรือพลังมีอยู่ในธรรมชาติซึ่งได้รับการเคารพนับถือหรือความเกรงกลัว พลังชนิดนี้ เรียกว่า “มานา” (Mana) คำว่า “มานา” เป็นคำของชาวโพลินีเซีย (Polynesian) และชาวเมลานีเซีย (Melanesian) ซึ่งนักโบราณคดีชาวตะวันตกในศตวรรษที่๑๙ เอามาใช้เพื่อหมายถึงความเชื่อในอำนาจของธรรมชาติในสังคมของมนุษย์ยุคบุพกาล บางครั้งคำว่า มานา หมายถึง “อำนาจไม่มีตัวตน” หรือ “อำนาจเหนือธรรมชาติ” หรือ “พลังอันยิ่งใหญ่” แต่บางครั้งก็ว่า มานาเป็นอำนาจที่ออกมาจากบุคคล หรือบุคคลรับเอามานามาใช้

การเคารพอำนาจเหนือธรรมชาตินี้แสดงออกกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติมากมาย เช่น เกี่ยวกับดวงดาวบนท้องฟ้าในฐานะเป็นเทพหรือพระอาทิตย์ในฐานะที่เป็นเทพเจ้า สุริยคราสและจันทรคราส ดวงดาวและกลุ่มดวงดาว เช่น ดาวศุกร์ (Venus) และกลุ่มดาวลูกไก่ เป็นต้น ส่วนการบูชาธรรมชาติอื่นๆ ก็เช่น การบูชาไฟในอารยธรรมต่างๆ



ศิลป์ชัย  เชาว์เจริญรัตน์

(อ่านต่อ "จากศาสนาผี สู่ศาสนาเทพ")

2 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณท่าน ดร ที่ ค้นคว้า เรียบเรียง และแบ่งปันอย่างลุ่มลึก

    ตอบลบ
  2. ยินดีหลายๆครับอาจารย์

    ตอบลบ