วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2558

หลักจริยธรรมของรัฐโลกวิสัย

รัฐทุกรัฐย่อมต้องมีกฎหมาย  และกฎหมายย่อมต้องตั้งอยู่บนกฎจริยธรรม   แต่การที่รัฐแต่ละรัฐมีหลักจริยธรรมที่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว  ก็ทำให้แนวคิดในการบัญญัติกฎหมายหมายจึงต่างกันไปด้วย 
และสิ่งหนึ่งที่ทำให้หลักจริยธรรมในการบัญญัติกฎหมายไม่เหมือนคือเรื่องของศาสนา   

รัฐที่เป็นรัฐศาสนา  หรือรัฐที่มีการระบุศาสนาประจำชาติ  หรือรัฐที่อิงศาสนาใดมาก การบัญญัติกฎหมายก็ต้องโน้มเอียงไปในทางการปกป้องศาสนานั้น และควบคุมสังคมให้ทำตามคำสอนของศาสนานั้น
  

ตัวอย่างเช่น กฎหมายของประเทศที่เป็นรัฐอิสลามหลายประเทศ จะมีกฎหมายที่ห้ามดูหมิ่นศาสนาอิสลาม  ศาสดา และคัมภีร์อัลกุรอาน   รวมทั้งจะมีกฎหมายห้ามในสิ่งที่คัมภีร์ศาสนาระบุว่าเป็นเรื่องต้องห้าม  เช่น  ห้ามการไม่นับถือศาสนา   ห้ามมีรูปเคารพรูปปฏิมาไม่ว่าจะของศาสนาใด   ห้ามการมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน   ห้ามมีสัมพันธ์กับคู่รักก่อนแต่งงาน   ห้ามสตรีไปในที่สาธารณะโดยไม่คลุมศีรษะ   อย่างนี้เป็นต้น  

หรือในประเทศที่มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติบางประเทศ ก็จะระบุในรัฐธรรมนูญว่า  ประมุขของประเทศจะต้องนับถือศาสนาพุทธเท่านั้น  หรือห้ามผู้ใดแต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์   หรือห้ามดื่มสุราใกล้เขตศาสนสถาน  หรือห้ามขายเนื้อสัตว์หรือขายสุราในวันสำคัญทางศาสนา  เป็นต้น  

หรืออย่างน้อยที่สุด ประเทศที่อิงศาสนามาก  ถึงแม้ไม่อิงศาสนาใดศาสนาหนึ่ง  แต่ก็จะอิงกับวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลจากบางศาสนาพอสมควร   ตัวอย่างเช่น  ห้ามวิจารณ์ศาสนา ซึ่งก็มักหมายถึงศาสนาที่มีผู้นับถือในสังคมนั้นมากๆ    หรืออย่างเช่น ห้ามแต่งกายที่ผิดต่อวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนา  เช่น ห้ามแต่งกายที่มีลักษณะข้ามเพศ   ห้ามสักหรือเจาะร่างกาย   อย่างนี้เป็นต้น 

แต่สำหรับสำหรับรัฐโลกวิสัยจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิง  เพราะหลักการพื้นฐานของของรัฐโลกวิสัยคือ เป็นรัฐที่แยกศาสนาออกจากการเมือง   ฉะนั้น การบัญญัติกฎหมายของรัฐโลกวิสัยก็ย่อมจะต่างจากรัฐศาสนา

นั่นคือ...รัฐโลกวิสัยจะออกกฎหมายโดยไม่ใช้คำสอนทางศาสนาหรือวัฒนธรรมที่อิงศาสนามาเป็นรากฐานหรือไม่นำมาประกอบการพิจารณาเลย

คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วถ้าอย่างนั้นจะใช้หลักการอะไรล่ะ?    บรรทัดฐานของจริยธรรมของรัฐโลกวิสัย มีหลักการหลายประการประกอบกัน  

หลักการแรกสุดคือ  เสรีภาพ    ในขณะที่รัฐศาสนาจะพยายามควบคุมประชาชนไม่ให้มีลักษณะ "สุขนิยม" และ "ตามใจตนเอง" มากเกินไป  แต่รัฐโลกวิสัยจะพยายามให้ประชาชนของรัฐมีสิทธิเสรีภาพมากที่สุด    จะรักษาสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างเต็มที่    และแม้แต่ในการหาความสุขก็เปิดโอกาสให้แสวงหาได้เต็มที่    จะพยายามไม่ควบคุมการกระทำ คำพูดและความคิด   จะห้ามเฉพาะในสิ่งที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น   และจะไม่เอากฎศีลธรรมเชิงศาสนามาควบคุม   ตัวอย่างเช่น กฎหมายของรัฐโลกวิสัยจะไม่บัญญัติให้การล่วงประเวณีตามความหมายของศาสนา มาเป็นสิ่งผิดกฎหมาย   ไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีพิธีสมรส  การนอกใจ  หรือการรักเพศเดียวกัน   หรือแม้แต่การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักหรือปาก  

แน่นอนว่า รัฐโลกวิสัยจะเน้นการให้สิทธิเสรีภาพในเรื่องศาสนาอย่างมาก  จะไม่มีการบัญญัติศาสนาใดเป็นศาสนาประจำชาติหรือศาสนาที่ได้รับอภิสิทธิ์   ประชาชนมีเสรีภาพเต็มที่ในการนับถือศาสนา  ทำพิธีศาสนา  ประกาศศาสนา   เปลี่ยนศาสนา   แยกนิกายศาสนา  ตั้งศาสนา   ไม่นับถือศาสนา  จนถึงการวิจารณ์ศาสนา       

หลักประการที่สองคือ  ความเสมอภาค   หลักการเสรีภาพและเสมอภาคต้องไปด้วยกันเสมอในรัฐโลกวิสัย    เพราะหากให้เสรีภาพแต่ไม่มีความเสมอภาค  ก็ย่อมจะทำให้เกิดความอยุติธรรมในสังคม  ซึ่งความอยุติธรรมก็ย่อมจะก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิและความวุ่นวายในที่สุด  

และความเสมอภาคที่ว่านี้คือต้องให้ความเสมอภาคทางศาสนากับประชาชนทุกคน  ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือ ไม่เอาแนวทางของศาสนาใดมามีอภิสิทธิ์เหนือศาสนาอื่น 

ประการที่สามคือ  หลักแห่งประโยชน์สุขของส่วนรวม    แม้ว่ารัฐโลกวิสัยจะเน้นการห้เสรีภาพของปัจเจกบุคคลมาก  แต่ก็ต้องคำนึงถึงประโยชน์สุขของสังคมส่วนรวมร่วมด้วย  เพราะหากสังคมส่วนรวมดำรงอยู่ไม่ได้  ปัจเจกบุคคลก็ย่อมต้องทุกข์ยากเช่นกัน     แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะเห็นแก่ประโยชน์สุขของสังคมมากเสียจนยอมละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของสังคม   แต่ทั้งสองสิ่งต้องสมดุลกัน  

หลักประโยชน์สุขอันนี้ก็คือหลัก "ประโยชน์นิยม" นั่นเอง  คือ  "สิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุด ต่อคนจำนวนมากที่สุด สิ่งนั้นย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุด"    และแน่นอนว่า ในแต่ละสถานการณ์ ความเป็นประโยชน์ที่สุดต่อคนหมู่มากที่สุดอาจไม่เหมือนกันเสมอไป   ความถูกผิดก็จะแตกต่างกันไปตามสถานการณ์ด้วย 

หลักประการที่สี่ คือ  ยึดเหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ร่วมสมัย    เรื่องนี้เป็นข้อแตกต่างที่สำคัญมากสำหรับรัฐโลกวิสัย   เนื่องจากการออกกฎหมายที่อิงหลักศาสนามักจะอิงจากคำสอนของคัมภีร์ศาสนาซึ่งหลายเรื่องก็ไม่อาจพิสูจน์ความจริงในเชิงวิทยาศาสตร์ได้่    หรือไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าจะส่งผลเสียจริงตามที่ศาสนาบอกหรือไม่    หรือยังเป็นความจริงในสถานการณ์ปัจจุบันอยู่หรือไม่     

"เหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ร่วมสมัย" ที่ว่านี้  หมายถึงการพยายามใช้เหตุผลที่เป็นความจริงอันสามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนจนสิ้นสงสัย  โดยไม่ต้องใช้ความเชื่อหรือการคาดเดา  ซึ่งอาจเกิดจากการมีหลักฐาน  หรือมีการทดลองแบบวิทยาศาสตร์หรือการวิจัยโดยผู้เชี่ยวชาญ   หรือมีเหตุผลที่ชอบด้วยตรรกะ   นอกจากนั้นยังต้องเป็นความจริงร่วมสมัย คือเป็นความจริงที่เป็น "ปัจจุบัน" นั่นคือต้องเป็นความจริงล่าสุดที่มีการค้นพบ  ไม่ใช่ย้อนไปยึดถือความจริงเก่าที่ล้าสมัยไปแล้ว  

ในรัฐโลกวิสัย การจะออกกฎหมายห้ามอะไร ต้องสามารถพิสูจน์ความจริงเชิงวิทยาศาสตร์ปัจจุบันได้ว่า สิ่งนั้นส่งผลร้ายต่อบุคคลและสังคมอย่างแท้จริงๆ   ไม่ใช่อ้างว่าเพราะศาสนาบอกว่าอย่างนั้น  หรือมีวัฒนธรรมที่เชื่อตามกันมาอย่างนั้น    ตัวอย่างเช่น กฎหมายของรัฐศาสนาอย่างมาเลเซีย ที่ห้ามการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก   แน่นอนว่ากฎหมายดังกล่าวนี้ตั้งอยู่บนคำสอนและวัฒนธรรมของบางศาสนาอย่างชัดเจน    แต่กระนั้นก็มีการให้เหตุผลประกอบที่ไม่ใช่เหตุผลทางศาสนาด้วยว่า  เพราะการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักจะนำไปสู่การเกิดโรคร้ายแรงถึงชีวิต  โรคติดต่อ  โรคทางพันธุกรรม   โรคจิตประสาท   หรือทำให้เกิดการเบี่ยงเบนพฤติกรรมทางเพศ   หรือแม้แต่จะทำให้เกิดภัยพิบัติทางสังคม    กรณีเช่นนี้ หากเป็นกรณีของรัฐโลกวิสัย จะต้องไม่พิจารณาโดยเอาแง่มุมของคำสอนและวัฒนธรรมทางศาสนามาเป็นประเด็นพิจารณาอย่างสิ้นเชิง  แต่ต้องใช้ความรู้ที่เป็น "ความจริงเชิงวิทยาศาสตร์ร่วมสมัย" มาเป็นเกณฑ์ตัดสินว่า เป็นความจริงตามนั้นหรือไม่   หากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ร่วมสมัย สามารถพิสูจน์ได้ว่าจริง  ก็ออกกฎหมายห้ามการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก    แต่ถ้าความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ร่วมสมัยพิสูจน์ไม่ได้   ก็ต้อง "ไม่ห้าม" การกระทำดังกล่าว  

ซึ่งแน่นอนว่า ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ก็จะก้าวหน้าไปเรื่อยๆ 

หลักประการสุดท้ายคือ เสียงส่วนใหญ่ของพลเมือง    จริยธรรมของรัฐโลกวิสัยย่อมจะยอมรับมติแห่งเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ในสถานการณ์ที่ยึดหลักสามประการแรกแล้วและไม่อาจหาความจริงเชิงวิทยาศาสตร์ปัจจุบันสนับสนุนได้     การตัดสินด้วยประชามติของพลเมือง อาจแสดงออกด้วยการทำประชาพิจารณ์  ประชามติ  หรือการเลือกตั้งที่มีการชูนโยบายที่ชัดเจน  นี่ก็ถือว่าเป็นสิทธิอำนาจอันสำคัญในการกำหนดกฎหมายเช่นกัน  

มิใช่ใช้แนวทางของศาสนาหรือวัฒนธรรมประเพณีที่อิงศาสนา  ซึ่งศาสนา "ส่วนใหญ่" นั้น มักยึดหลักการที่อยู่ในยุคโบราณ  และมักยึดถือตามคัมภีร์ตามตัวอักษรอย่างตายตัว และไม่ยึดหยุ่น  



หลักการเดียวกันนี้ก็ใช้พิจารณาในเรื่องอื่นๆ ด้วย  ไม่ว่าจะเป็น  การสูบกัญชา  การมีเพศสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ จนถึงการรักเพศเดียวกัน  การแต่งกาย  การเล่นการพนัน   โสเภณี   และอื่นๆ อีกมากมาย  

หลักจริยธรรมทั้ง ๕ นี้มีผลทำให้หลักจริยธรรมแห่งรัฐโลกวิสัยมีลักษณะ "สัมพัทธ์" ไม่ใช่ "สัมบูรณ์"  คือ ไม่ยึดหลักเกณฑ์ถูกผิดตายตัวตลอดเวลา  หลักเกณฑ์ถูกผิดสามารถผันแปรตามเงื่อนไขของแต่ละสถานการณ์และบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา  

ยังไม่เพียงเท่านั้น  จริยธรรมแบบรัฐโลกวิสัยที่นำไปสู่การกำหนดกฎหมายแบบรัฐโลกวิสัย ยังรวมไปถึงว่า การกำหนดโทษความผิดต่างๆ แบบรัฐโลกวิสัยก็จะแตกต่างจากรัฐศาสนาด้วย    รัฐศาสนาหลายแห่งใช้วิธีการลงโทษความผิดตามที่คำสอนทางศาสนาที่มีมาแต่โบราณกำหนดไว้   ซึ่งวิธีลงโทษก็มักจะรุนแรง ป่าเถื่อน ด้วยเหตุผลตามสภาพการณ์ของยุคสมัยโบราณนั้นๆ เช่น ลงโทษรุนแรงและทำในที่สาธารณะ ก็เพื่อให้ทั้งสังคมร่วมรับรู้และหวาดกลัวจะได้ไม่มีใครกล้าเอาเยี่ยงอย่าง   หรือที่ต้องประหารชีวิตแทนที่จะจำคุก ก็เนื่องจากยุคสมัยนั้นไม่มีเรือนจำมากพอ หรือไม่มีงบประมาณสำหรับเลี้ยงดูนักโทษ   จึงต้องใช้การประหารชีวิตอย่างเดียว    แต่จริยธรรมของรัฐโลกวิสัยทำให้ต้องกำหนดบทลงโทษทางกฎหมายให้มีเหตุผลและเหมาะสมกับยุคสมัย


ขอสรุปหลักการทั้งหมดนี้เป็นถ้อยคำสั้นๆว่า

"หลักจริยธรรมของรัฐโลกวิสัย คือ  การมุ่งให้ประชาชนมีเสรีภาพให้มากที่สุด  พร้อมกับความเสมอภาค  ตราบเท่าที่ไม่กระทบประโยชน์สุขส่วนรวม  โดยยึดเหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ร่วมสมัย  และทำตามเสียงส่วนใหญ่ของพลเมือง  โดยไม่คำนึงถึงหลักการของศาสนาใดๆ" 






แน่นอนว่า  เกณฑ์ "จริยธรรมของรัฐโลกวิสัย" ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ย่อมไม่สามารถเป็นที่พอใจของคนทุกคนในสังคมได้   เพราะคนในแต่ละศาสนาและวัฒนธรรมย่อมมีบรรทัดฐานที่แตกต่างกัน   แต่ถึงกระนั้น รัฐโลกวิสัยก็ต้องพยายามยึดถือ "จริยธรรมของรัฐโลกวิสัย" อันนี้เป็นแนวทางในการบริหารและปกครองสังคม    ทั้งนี้ก็เพื่อมุ่งทำให้สังคมเกิดเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาให้มากที่สุด   แม้ว่าคนในศาสนานั้นศาสนานี้อาจตำหนิว่าเป็น "รัฐไร้จริยธรรม" ก็ตาม    แต่ในภาพรวมและในระยะยาวแล้ว...  

พวกเขาและลูกหลานจะ "ขอบคุณ" หลักจริยธรรมของรัฐโลกวิสัย



ศิลป์ชัย  เชาวเจริญรัตน์  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น