วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ศาสนายุคโพสท์โมเดิร์น

ระบบความคิดของโลกนี้ไม่ได้หยุดนิ่ง แต่มีพัฒนาการมาเป็นลำดับ เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างจากสัตว์ คือเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่สามารถเรียนรู้ จดจำ และคิดต่อจนเกิดเป็นความรู้ใหม่ความคิดใหม่ ไปจนถึงสามารถถ่ายทอดความรู้และความคิดนั้นไปยังมนุษย์รุ่นต่อๆ ไปได้ จนกระทั่งเกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า “อารยธรรม” และด้วยเหตุที่ระบบความรู้และความคิดของมนุษยชาติในโลกมีการเคลื่อนตัวเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ต้นมาจนปัจจุบัน  


นักประวัติศาสตร์นิยมแบ่งประวัติศาสตร์เชิงระบบความคิดของโลกเป็นยุคๆ ได้แก่
หนึ่ง ยุคก่อนประวัติศาสตร์
สอง ยุคโบราณ
สาม ยุคกลาง
สี่ ยุคใหม่ หรือยุคโมเดิร์น (Modern age)
และห้า ยุคหลังสมัยใหม่ หรือที่เรียกว่ายุคโพสต์โมเดิร์น (Post-modern age) ซึ่งก็คือยุคปัจจุบันนั่นเอง



ต่อไปนี้เรามาลองดูรายละเอียดของแต่ยุค เพื่อให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของแนวคิดของ “กระแสโลก” ดังนี้


1. ยุคก่อนประวัติศาสตร์
โดยทั่วไปหมายถึงช่วงเวลาที่ไม่มีการบันทึกเรื่องราวต่างๆ โดยมนุษย์ หรือในบางครั้งหมายถึง ช่วงเวลาก่อนมีอารยธรรมมนุษย์ เริ่มตั้งแต่ช่วงเวลาที่มีสิ่งมีชีวิต ที่เรียกว่าโฮโมเซเปียนส์ (ซึ่งถือได้ว่าบรรพบุรุษของมนุษย์) กำเนิดขึ้นจนถึงก่อน 3,500 ปีก่อนคริสตกาล

กล่าวได้ว่า มนุษย์ในยุคนี้ยังไม่มีอารยธรรมเลย เนื่องจากมนุษย์ยุคนี้ยังไม่รู้จักประดิษฐ์คิดค้นตัวอักษรขึ้นมาสำหรับบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ยุคนี้นับรวมตั้งแต่ยุคหินจนถึงยุคโลหะ
ยุคนี้มนุษย์จึงยังไม่มีแนวคิดอะไร

2. ยุคโบราณ
เป็นยุคสมัยที่มนุษย์รู้จักการตั้งถิ่นฐานถาวร สร้างอารยธรรม วัฒนธรรม อักษรต่างๆ ขึ้นมา สมัยโบราณโดยเฉลี่ยของโลกจะตรงกับ 3,500 ปีก่อนคริสตกาล – ค.ศ. 476 เพราะในช่วงเวลาดังกล่าว อารยรรมที่โด่งดังจำนวนมากของโลกถือกำเนิดในช่วงนี้ เช่น อารยธรรมโรมัน กรีก เมโสโปเตเมีย จีน อียิปต์ ฯลฯ นักประวัติศาสตร์ทั่วโลกจึงกำหนดช่วงเวลาดังกล่าวให้เป็นสมัยโบราณโดยเฉลี่ยของโลก

แนวคิดของกระแสโลกยุคโบราณคือ การเชื่อในไสยศาสตร์ นิทาน เทพเจ้าเทพนิยาย ผีสางเทวดา แม้ว่าจะมีความรู้อยู่บ้างก็เป็นความรู้พื้นฐานที่ยังไม่มีการพัฒนา เต็มไปด้วยความงมงาย

แต่ถึงกระนั้นทางด้านอารยธรรมสมัยโบราณในแถบยุโรป ก็ได้เกิดมีอารยธรรมที่น่าสนใจเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น อารยธรรมอียิปต์ กรีก โรมัน อารยธรรมที่เกิดขึ้นนี้่มีคุณค่าสูงมาก และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงแนวคิดของโลกครั้งใหญ่และส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงยุคปัจจุบัน ยุคนี้ถึงกับถูกเรียกว่าเป็นยุคคลาสสิกหรือสมัยคลาสสิก

สมัยคลาสสิก (classical era หรือ classical period) เป็นคำที่ใช้กว้างๆ สำหรับสมัยประวัติศาตร์วัฒนธรรมที่มีศูนย์กลางอยู่ในบริเวณเมดิเตอเรเนียนที่ประกอบด้วยการผสมผสานระหว่างกรีกโบราณและโรมันโบราณที่เรียกว่าโลกกรีก-โรมัน สมัยคลาสสิกเป็นสมัยที่วรรณคดีกรีกและลาตินมีความรุ่งเรือง

สมัยคลาสสิกถือกันว่าเริ่มขึ้นเมื่อมีการบันทึกวรรณกรรมกรีกเป็นครั้งแรกที่เริ่มด้วยมหากาพย์ของโฮเมอร์ราวศตวรรษที่ 8 ถึง 7 ก่อนคริสต์ศตวรรษ และดำเนินต่อมาจนกระทั่งถึงสมัยการเผยแพร่ของคริสต์ศาสนา และ การล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน ในคริสต์ศตวรรษที่ 5 จนมาสิ้นสุดลงในปลายสมัยโบราณตอนปลาย ราว ค.ศ. 300 ถึง ค.ศ. 600 ผสานต่อไปยังสมัยกลางตอนต้น (ค.ศ. 600-ค.ศ. 1000) ยุคสมัยอันยาวนานนี้ครอบคลุมวัฒนธรรมที่แตกต่างกันในหลายบริเวณของช่วงระยะเวลานั้น สมัยคลาสสิกอาจจะหมายถึงสมัยอันเป็นสมัยอุดมคติโดยผู้คนในสมัยต่อมา ตามคำกล่าวของเอดการ์ อัลเลน โพ ที่ว่า “ความรุ่งโรจน์ของกรีก, ความยิ่งใหญ่ของโรมัน”

วัฒนธรรมของกรีซโบราณได้สร้างสรรค์อย่างยิ่งใหญ่ในด้าน ภาษา ระบบการปกครอง ระบบการศึกษา ปรัชญา วิทยาศาสตร์ ศิลปะ และสถาปัตยกรรม ซึ่งได้มีอิทธิพลเป็นอันมากต่ออารยธรรมในยุคต่อๆ มา และเป็นเชื้อที่นำมาสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาต่อมาในยุโรปตะวันตก และต่อมาในยุคฟื้นฟูคลาสสิกในคริสต์ศตวรรษที่ 18 และ 19

สมัยโบราณโดยเฉลี่ยของโลก สิ้นสุดใน ค.ศ. 476 เมื่อจักรวรรดิโรมันตะวันตกล่มสลายลง เหลือแต่จักรวรรดิโรมันตะวันออก ที่เปิดเมืองรับเอาศาสนาคริสต์เข้ามามีบทบาทสูงในสังคมโรมัน และอิทธิพลของโรมันก็แผ่ขยายไปทั่วยุโรป และไปทั่วโลก ทำให้โลกโดยรวมออกจากสมัยโบราณ เข้าสู่สมัยกลาง

โดยสรุป แนวคิดของคนยุคโบราณคือ โดยพื้นฐานแล้วจะเชื่อในไสยศาสตร์ เทพเจ้าและผีสางนางไม้ ตามตำนาน เทพนิยาย และความรู้ขั้นพื้นฐานที่พิสูจน์ได้ตามประสาทสัมผัสพื้นฐาน และเชื่ือตามๆ กันตามบรรพบุรุษและผู้นำชุมชน แต่ถึงกระนั้นในโลกยุคโบราณก็มีสิ่งเหลือเชื่ือเกิดขึ้นคือ วัฒนธรรมกรีกส่วนหนึ่งได้สร้างแนวคิดแบบปรัชญา ซึ่งเป็นการถกเถียงโดยใช้เหตุผล ไปจนถึงแนวคิดทางตรรกวิทยา คณิตศาสตร์และเรขาคณิต วิทยาศาสตร์ขั้นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ทำให้ผู้คนยุคนั้นเริ่มเกิดแนวคิดที่ใช้เหตุผลในการพิสูจน์ให้รู้ความจริงแท้ ไม่ได้ใช้แต่ความเชื่อ กล้าตั้งคำถามท้าทายและกล้าคิดแตกต่างจากความเชื่อตามธรรมเนียมประเพณีเดิมๆ ที่ผู้คนในยุคโบราณเชื่อถือกันมาโดยตลอด

แต่ถึงกระนั้นก็เริ่มเกิดแนวคิดกระแสใหม่ขึ้นมาควบคู่กับปรัชญาและมีอำนาจครอบงำปรัชญาอีกทีหนึ่งก็คือ แนวความเชื่อของคริสตศาสนา ที่เป็นเช่นนี้เพราะ จักรวรรดิโรมันได้รับคริสตศาสนาเป็นศาสนาทางการเพียงหนึ่งเดียวของทั่วทั้งจักรวรรดิ ทำให้ยุโรปทั้งหมดกลายเป็นจักรวรรดิคริสเตียน และอยู่ภายใต้การชี้นำทางความคิดของศาสนจักรคาทอลิก


ศิลปะโพสท์โมเดิร์น


3. ยุคกลาง (Medieval Age/ Middle Ages)

นักประวัติศาสตร์ถือว่า การล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตกในค.ศ. 476 เป็นจุดเริ่มต้นของสมัยกลาง การล่มสลายของมหาอำนาจทำให้ยุโรปแตกเป็นอาณาจักรมากมายและไม่มีขื่อแป จนตกเป็นเหยื่อของการรุกรานจากชนชาติภายนอก คริสต์ศาสนาจึงกลายเป็นที่พึ่งและสถาบันสูงสุดของยุโรปสมัยกลาง จนในศตวรรษที่ 15 ชาติต่าง ๆ ในยุโรปสามารถรวมตัวกันเป็นรัฐชาติ (Nation-States) จนพัฒนากลายเป็นประเทศต่าง ๆในปัจจุบันได้
อย่างไรก็ตาม ยุคกลางนี้ถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งด้วยว่าเป็น “ยุคมืด” (Dark Ages หรือ Dark Age) หมายถึงช่วงเวลาของความเสื่อมโทรมทั้งทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจและทางสังคมในยุโรปหลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน

ในยุคมืดนี้ อารยธรรมโรมันค่อยๆสูญสลาย เมื่อบ้านเมืองไม่มีขื่อแป การค้าขาย สภาพเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตจึงเสื่อมลง มีเพียงสถาบันของคริสตศาสนาหรือศาสนจักรโรมันคาทอลิกที่ยังคงประดิษฐานมั่นคงเป็นที่พึ่งของประชาชน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคริสตศาสนาภายใต้การนำของศาสนจักรคาทอลิกจะมีทั้งอำนาจและอิทธิพลต่อความคิดของยุโรปทั้งหมด แต่ทั้งหลักคำสอนและการปกครองของศาสนจักรคาทอลิกกลับครอบงำทำให้ผู้คนตกอยู่ในความเชื่อที่งมงายไร้เหตุผลอยู่มาก อีกทั้งศาสนจักรยังใช้อำนาจบังคับไม่ให้ผู้คนกล้าคิดแตกต่างจากคำสอนของตน รวมทั้งลงโทษคนที่ฝ่าฝืนอย่างรุนแรงอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดเกิดจากการที่ศาสนจักรตีความหมายพระคัมภีร์ในแบบที่ตรงตามตัวอักษรและคับแคบ

แต่ในอีกทางหนึ่ง แนวความคิดเชิงปรัชญาและวิทยาศาสตร์ที่เป็นมรดกความคิดจากวัฒนธรรมกรีก-โรมันในยุคโบราณก็ยังคงอยู่ และสืบทอดพัฒนาต่อมาเรื่อยๆ แต่มักต้องทำในทางลับหรือทำโดยไม่ให้ขัดแย้งกับศาสนจักรคาทอลิก ซึ่งหลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิไบแซนไทน์ ในปี ค.ศ. 1453 ก็มีผลทำให้ความรู้ของกรีกและโรมันเหล่านี้แพร่กระจายไปทั่วยุโรป เกิดการฟื้นฟูศิลปวิทยา จึงเริ่มต้นเข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของสมัยกลางของสากลโลก และเปิดโลกเข้าสู่สมัยใหม่

4. ยุคใหม่ หรือยุคโมเดิร์น (Modern Age)
นักวิชาการได้กำหนดช่วงเวลาที่เป็น “สมัยใหม่” ของสากลโลกไว้ให้เป็นช่วง ค.ศ. 1453-ค.ศ. 1945 โดยเริ่มนับจากการล่มสลายของจักรวรรดิไบแซนไทน์และสิ้นสุดลงหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติ

ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา เป็นช่วงเวลาหนึ่งที่อยู่ในช่วงปลายสมัยกลางถึงต้นสมัยใหม่ ซึ่งการเริ่มต้นของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาในช่วงปลายสมัยกลาง เป็นปัจจัยสำคัญที่ชักนำโลกเข้าสู่สมัยใหม่ คือ แนวคิดและวิทยาการต่างๆ จากกรีก-โรมัน เริ่มถูกฟื้นฟูขึ้นมาและแผ่กระจายไปในแถบยุโรป

นับตั้งแต่สมัยกลางตอนปลายเป็นต้นมา ผู้คนเริ่มสงสัยในความเชื่อและเนื้อหาตำราเรียนแบบเก่า ๆ ที่เชื่อกันมายาวนาน และไม่นานความเชื่อเก่าๆ และอำนาจการปกครองที่เด็ดขาดของศาสนจักรคาทอลิกเริ่มเสื่อมถอยลง ไม่มีอำนาจต่อสังคมเหมือนอย่างในยุคกลางอีกแล้ว เพราะดินแดนต่างๆ ทั่วยุโรปได้พากันตั้งตัวเป็นประเทศที่ไม่อยู่ภายใต้อำนาจของศาสนจักรอีกต่อไป

แนวคิดตามกระแสโลกของยุคนี้คือ ผู้คนเริ่มเชื่อว่ามนุษย์สามารถลิขิตชีวิตของตนได้ด้วยการกระทำของตนเอง จึงเริ่มดิ้นรนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า และมีการคิดค้นทฤษฎี สิ่งประดิษฐ์ รวมไปถึงศิลปะขึ้นมากมาย ทำให้เข้าสู่สมัยใหม่ในที่สุด

ยุคใหม่ หรือ สมัยใหม่ นับเป็นช่วงเวลาที่อารยธรรมมนุษย์มีความคิดแบบวิทยาศาสตร์เต็มที่ เน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ มีแนวคิดที่ยึดหลักความจริงที่พิสูจน์ได้ หลุดพ้นจากความเชื่องมงาย จากความเชื่อทางศาสนาและไสยศาสตร์ หรือความรู้ตามตำนานนิทานเทพนิยายหลายอย่างในอดีต แต่ในอีกด้านหนึ่ง คนในยุคนี้ก็เริ่มที่จะเสื่อมถอยในความเชื่อในพระเจ้าเป็นอย่างมาก ผู้คนในยุโรปละทิ้งความเชื่อเป็นจำนวนมาก แต่ข่าวประเสริ็ฐกลับเดินทางไปเกิดผลมากในสหรัฐอเมริกา อเมริกาใต้ อัฟริกา และเอเชีย

อย่างไรก็ตาม เมื่อมนุษย์ได้เชื่อตัวเองมาก และภาคภูมิใจที่ตนเองดูเหมือนจะมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์มากมาย และสามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้อย่างอัศจรรย์และไม่รู้จบ รวมทั้งสามารถสร้างหลักคิดหลักปรัชญาและศาสตร์ต่างๆ ที่ใช้เหตุผลอย่างสูง

นอกจากนี้แล้ว จากการที่ประเทศต่างๆ ในยุโรป (รวมถึงสหรัฐซึ่งเป็นชาวยุโรปที่อพยพมาอยู่) ซึ่งล้วนแต่มาจากโลกฝั่งตะวันตกและเป็นชนผิวขาว มีความเจริญในทุกด้านมากกว่าประเทศในโลกฝั่งตะวันออก หรือโลกในทวีปอื่นๆ รวมทั้งชนชาติในดินแดนเหล่านั้นก็ไม่ใช่ชนผิวขาว เป็นผิวดำและผิวเหลือง กระแสโลกในยุคนี้ก็เลยเกิดเป็นแนวคิดด้วยว่า ตะวันตกเหนือกว่าตะวันออก ผิวขาวเหนือกว่าผิวสีอื่น

ในเวลาเดียวกันก็มีการกำเนิดของระบอบการปกครองแบบใหม่เข้ามาแทนที่ระบอบกษัตริย์มีสิทธิขาด (หรือสมบูรณาญาสิทธิราช) มีทั้งแบบเผด็จการทหาร แบบคอมมูนิสต์ และแบบประชาธิปไตย ในด้านเศรษฐกิจก็เกิดระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ระบบสังคมนิยมหรือคอมมูนิสต์ และแบบผสม

แต่ถึงกระนั้นก็กลับกลายเป็นว่า ในช่วงปลายของสมัยใหม่ วิทยาการและแนวคิดที่มนุษย์คิดประดิษฐ์ขึ้นอย่างภาคภูมิใจนั้นกลับไม่อาจช่วยมนุษย์ได้อย่างแท้จริง ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถูกใช้ไปในทางการเข่นฆ่ากันเองของมนุษย์ มีการล่าอาณานิคมอย่างโหดร้ายทารุณไปทั่วโลก มีการจับคนผิวดำในอัฟริกาไปขายเป็นทาส ประเทศตะวันตกที่เจริญเอาเปรียบประเทศที่ด้อยกว่า และท้ายที่สุดก็เกิดสงครามโลกถึงสองครั้ง ผู้คนถูกเข่นฆ่าล้มตายไปหลายสิบล้านคน

ในที่สุดคนก็เริ่มตั้งคำถามว่าแนวคิดแบบเหตุผลของยุคใหม่หรือยุคโมเดิร์นนี่ดีที่สุดแล้วหรือ

5. ยุคปัจจุบันคือ ยุคหลังสมัยใหม่ หรือยุคโพสท์โมเดิร์น (Postmodern Age)

นักวิชาการมักถือกันว่า ยุคใหม่หรือยุคโมเดิร์นได้สิ้นสุดลงและเข้าสู่ยุค “หลังสมัยใหม่” หรือโพสท์โมเดิร์น ตั้งแต่ ค.ศ. 1945 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในที่นี้จะขอพูดถึงแนวคิดของยุคมากเป็นพิเศษ เพราะเราในปัจจุบันกำลังต้องเผชิญหน้ากับมันอยู่

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า โลกยุคก่อนคือยุคใหม่ หรือยุคโมเดิร์นนั้น เป็นยุคที่กระแสโลกเชื่อมั่นในความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เรื่องเศรษฐกิจของตนเอง แต่ท้ายที่สุดมนุษย์กลับพบว่าสิ่งที่ตนเองคิดค้นขึ้นด้วยความภูมิใจนั้นกลับไม่ดีพอที่จะทำให้ชีวิตของมนุษยชาติผาสุก แต่ดูเหมือนว่ากลับจะทำให้เลวร้ายลงเรื่อยๆ แนวคิดของกระแสโลกยุคหลังสมัยใหม่ หรือโพสต์โมเดิร์นจึงเป็นการตั้งคำถามกับแนวคิดของยุคสมัยใหม่ว่า ที่เคยคิดน่ะจริงแน่หรือ ถูกต้องแน่หรือ ดีที่สุดแล้วแน่หรือ?



เราจะเห็นแนวคิดนี้เกิดในสังคมโลกในแทบทุกด้าน เริ่มจากการที่โลกยุคหลังสมัยใหม่ เป็นสถานการณ์ที่โลกเพิ่งจบจากสงครามโลก เกิดองค์การสหประชาชาติ ประเทศอาณานิคมทั่วโลกเริ่มได้รับเอกราชมากขึ้นเรื่อยๆ จากการต่อสู้ของคนพื้นเมืองต่อเจ้าอาณานิคมจากประเทศตะวันตก เกิดแนวคิดเรื่องชาตินิยม รวมทั้งการต่อต้านตะวันตกและชนผิวขาว แนวคิดเรื่องความเท่าเทียมกัน สิทธิมนุษยชน ภราดรภาพ ไปจนถึงมีแนวคิดย้อนกลับว่า ความคิดแบบตะวันออกไม่ด้อยกว่าตะวันตก หรือแบบเรียบง่ายดังสมัยโบราณไม่ด้อยกว่าสมัยใหม่

แนวคิดในการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมก็เริ่มเปลี่ยนไปโดยจากเดิมที่เน้นเอาผลผลิตมากแต่กลับทำให้สังคมและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ก็ต้องหันมาคิดถึงความสมดุลต่อชีวิตมนุษย์และสิ่งแวดล้อมในระยะยาวมากขึ้น

ประเทศที่ใช้การปกครองแบบคอมมูนิสต์ที่ดูเหมือนจะดีในตอนแรกก็ทยอยกันเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยกันหมด ระบอบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมก็กลืนระบอบแบบคอมมูนิสต์ด้วยเช่นกัน แต่ก็ยังเห็นปัญหาตามมาว่าการปกครองแบบประชาธิปไตยและระบอบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมในหลายประเทศก็ไม่ได้สร้างความผาสุกให้กับประชาชนอย่างแท้จริง กลับเต็มไปด้วยการกดขี่เอารัดเอาเปรียบ เกิดการผูกขาดทางอำนาจและเศรษฐกิจ คนรวยก็รวยขึ้นเรื่อยๆ คนจนก็จนลงเรื่อยๆ การคอรัปชั่นและการซื้อเสียงเลือกตั้งก็มากมาย

ความเจริญมั่งคั่งในในฝ่ายวัตถุที่ยุคหนึ่งเคยเชื่อว่าจะนำความผาสุกมาให้ก็กลับพบว่าไม่สามารถให้ความสุขที่แท้จริงกับสังคมและชีวิตของปัจเจกบุคคลได้อย่างแท้จริง ทำให้คนเริ่มหันมาสนใจเรื่องเชิงจิตใจและจิตวิญญาณมากขึ้น รวมทั้งเริ่มหันจากการมุ่งแสวงหาชีวิตที่สะดวกสบายแบบตะวันตก กลับมาสนใจเรื่องวิถีชีวิตที่เรียบง่ายแบบตะวันออกมากขึ้น

แนวคิดด้านศาสนาก็เปลี่ยน โลกตะวันตกโดยเฉพาะยุโรปได้ถดถอยในคริสตศาสนาอย่างมาก และหันไปสู่สภาพของการไม่นับถือศาสนามากขึ้นเรื่อยๆ อเมริกาก็คงที่ แต่คริสตศาสนาได้กลับไปเติบโตในประเทศแถบเอเชียและอัฟริกาและอเมริกาใต้ ในขณะที่ศาสนาอิสลามและพุทธก็เติบโตในโลกตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ แนวคิดส่วนใหญ่จะถือในความดีสากลของทุกศาสนา ทุกศาสนาต่างมีความจริงบางอย่าง มีความดีบางอย่าง ยอมรับสิทธิของการไม่นับถือศาสนามากขึน และถือว่าประเทศควรแยกศาสนาออกจากการเมืองการปกครอง ไม่ควรมีศาสนาประจำชาติ และให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาอย่างเท่าเทียม รวมทั้งยอมรับเรื่องที่ในทางศาสนาถือว่าผิดศีลธรรมได้มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ยอมรับการการรักร่วมเพศและการแปลงเพศ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ทำให้ความคิดของยุคหลังสมัยใหม่นี้จึงมุ่งตั้งคำถามกับแนวความคิดความเชื่อเดิมของยุคสมัยใหม่ และนี่ก็คือแนวคิดแบบโพสต์โมเดิร์น

แนวคิดแบบโพสต์โมเดิร์นเป็นอย่างไร และส่งผลอย่างไร?

การที่แนวคิดแบบโพสต์โมเดิร์น ก็คือการตั้งคำถามกับแนวคิดของยุคโมเดิร์น คือถามว่าที่ยุคโมเดิร์นเคยคิดนั้นถูกแน่หรือ? ที่จริง ปรัชญาแบบโพสต์โมเดิร์นเกิดมาในช่วงประมาณปี 1900 เศษๆ จากปรัชญาภาษาศาสตร์ ก็เกิดเป็นปรัชญาโพสต์ โมเดิร์นขึ้น จนเป็นกระแสแรงในราวทศวรรษ 1950 ปรัชญาที่บอกว่า ภาษามันเป็นพื้นฐานของมนุษย์ ความเป็นมนุษย์เกิดจากภาษา มนุษย์จะคิดได้ก็ต้องคิดผ่านภาษา ซึ่งทุกคนสามารถทดสอบดูได้ ไม่ว่าจะคิดอะไรจะมีคำมีภาษาเข้ามา นี่เป็นการปฏิวัติทางปรัชญาครั้งใหญ่

จากที่บอกว่าความคิดสำคัญที่สุด จากที่เคยบอกว่าภาษาเป็นเครื่องมือของความคิดเฉยๆ ทีนี้ภาษากลับมีความสำคัญแล้วเพราะเราจะคิดไม่ได้ถ้าเราไม่มีภาษา ก็เริ่มต้นศึกษาภาษา เข้าใจภาษา

ซึ่งว่าไปแล้ว ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น สังคมมีการสร้างวาทกรรมหลายๆ อย่าง ให้เกิดขึ้นในสังคมเพื่อให้คนในสังคมได้คุ้นชินและซึมซับเข้าไป ซึ่งเป็นการสร้างสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาโดยการใช้ภาษาเป็นเครื่องมือทั้งการพยายามสร้างวัฒนธรรมที่เป็นสากล โพสท์โมเดิร์นจึงตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นอยู่เพื่อจะชี้ให้เห็นถึงการครอบงำทางสังคมผ่านกระบวนการต่างๆ โดยเฉพาะจากแนวคิดของโลกตะวันตกที่ดูเหมือนครอบงำความคิดโลกในยุคโมเดิร์น

ประโยชน์ที่สำคัญของแนวคิดแบบโพสต์โมเดิร์น ก็คือ มันทำให้เราสามารถหวนกลับไปมองสังคมโมเดิร์นหรือพฤติกรรมที่ผ่านมาของมนุษย์ หรือความคิดความเชื่อของเราอย่างเป็นอิสระมากขึ้น การบอกว่าโลกเป็นโพสต์โมเดิร์น หรือเป็นโลกหลังสมัยใหม่ ช่วยทำให้มนุษย์สามารถมองโลกสมัยใหม่อย่างอิสระ เพื่อวิพากษ์วิจารณ์มันได้ชัดเจนมากขึ้น

ในทางความรู้ก็ทำให้หลุดพ้นจากกรอบสมมติฐานแบบโมเดิร์น อย่างเช่น ปรัชญาความเป็นสากล ปรัชญาความก้าวหน้า หรือปรัชญาประเภทที่ต้องมีแก่นแท้ มั่นคง ถาวร เป็นอมตะ ความจริงแท้สมบูรณ์เพียงอันเดียว แต่แนวคิดหรือปรัชญาแบบโพสต์โมเดิร์นจะแย้งกับความเป็นสากล หรือความเป็นแก่นแท้ที่ขัดแย้งไม่ได้ ล้มล้างไม่ได้ ถกเถียงไม่ได้

ปรัชญาแบบโพสต์โมเดิร์นไม่เชื่อว่า มนุษย์สามารถเข้าถึงความจริงได้โดยตรง แต่เห็นว่า มนุษย์ต้องมองต้องคิดผ่านแว่นของภาษา จึงมองว่าความจริงเป็นแค่สิ่งที่เราสร้างขึ้นโดยระบบของภาษา ในเมื่อพวกโพสต์โมเดิร์นมองว่า ความจริงเป็นสิ่งที่คนเราสร้างขึ้น โดยระบบภาษา โดยสำนวนโวหาร โดยการจูงใจ โดยการบิดเบือน โดยการหลอกลวงซ่อนเร้นภายใต้ความขลังของทฤษฎีหรือวาทกรรมแบบต่างๆ หรือภายใต้ระบบปรัชญาที่ซับซ้อนหรือด้วยภาพลักษณ์ที่ง่ายๆ ก็ได้

เพราะฉะนั้นพวกโพสต์โมเดิร์นจึงนิยมมองโลกข้างนอกทุกๆ อย่างเป็นเสมือนพื้นที่ว่างที่เราจะใส่ความคิดความเชื่อของเราลงไปยังไงก็ได้ ฉะนั้นในสายตาของพวกโพสต์โมเดิร์น โลกทางสังคม วัฒนธรรม และการเมืองของมนุษย์จึงเป็นเสมือนพื้นที่ว่างที่มีการช่วงชิงกันเติมความหมาย ความคิดเห็นลงไป

การเมืองในยุคโพสต์โมเดิร์นอย่างในยุคปัจจุบัน จึงเป็นการเมืองของการช่วงชิงพื้นที่ด้านต่างๆ ปรัชญาแบบโพสต์โมเดิร์นไม่เชื่อว่ามีความจริงเพียงหนึ่งเดียวอยู่แล้ว แต่เห็นว่า “ความจริง” เป็นสิ่งที่มองได้หลายมุมมอง และควรผสมผสานมุมมองที่หลากหลายต่างๆ เข้าด้วยกัน ปรัชญาแบบโพสต์โมเดิร์นปฏิเสธอำนาจของกรอบ ระเบียบ โครงสร้าง รูปแบบจารีตเดิม และมุ่งแสวงหาการคิดนอกกรอบและแหวกแนวอยู่ตลอด นักคิดแนวโพสต์โมเดิร์นไม่เชื่อในโลกความจริงที่อยู่นอกเหนือไปจากโลกของภาษา ซึ่งถ้าหากว่าสิ่งนอกเหนือต่าง ๆ มีอยู่จริงเขาก็ไม่สนใจที่จะต้องไปถกเถียงกัน เพราะว่าถกเถียงไปก็ไม่มีข้อสรุปว่าสิ่งไหนถูกผิด เนื่องจากทุกสิ่งถูกการมองโดยโลกของภาษา ซึ่งมีลูกเล่นแพรวพราวทั้งตัวภาษาเองและตัวผู้ใช้ภาษา พวกเขาจึงสนใจที่จะศึกษาเรื่องของภาษา วาทกรรม ตัวบท


แนวคิดโพสท์โมเดิร์นวิพากษ์สังคมตะวันตกในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1. โลกโมเดิร์นไม่ได้นำไปสู่ความเป็นเหตุเป็นผล ความก้าวหน้า หรือความสงบสุขของมนุษย์ แต่มีหลายช่วงที่นำไปสู่ความรุนแรง เช่น สงครามโลก และการฆ่าล้างเผ่าพันต่างๆ
2. ระบบการเมืองของสังคมโมเดิร์นของตะวันตกไม่ได้สะท้อนการกระจายอำนาจที่ดีเพียงพอ พวกเขาจึงเสนอให้มีการกระจายอำนาจสู่ชุมชน อำนาจของประชาสังคม อำนาจของภาคพลเมืองเพิ่มเวทีหรือพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ทางการเมืองให้คนด้อยสิทธิต่าง ๆ
3. สถาบันระบบคุณธรรมของตะวันตก ยังมีคนบีบบังคับ กดดัน บีบคั้นผู้ด้อยกว่า เช่น แรงงานอพยพต่างๆ คนกลุ่มน้อย และยังมีการกระทำแบบเดียวกันต่อประเทศอื่นๆ ด้วย
4. องค์ความรู้ของตะวันตกที่สร้างมาในยุคโมเดิร์นมีส่วนสร้าง รับใช้สถาบันทางการเมือง สังคม ศีลธรรม คุก โรงพยาบาล ยังมีส่วนในการปิดกั้นและกีดกันผู้ด้อยโอกาสในสิทธิอำนาจตามประเด็นที่สาม

แนวคิดโพสต์โมเดิร์นมองว่าถึงแม้ว่าอดีตประเทศอาณานิคมจะได้รับเอกราชมานานแล้วแต่ก็ยังมีความคิดที่เป็นอาณานิคมคือคล้อยตามระบบความคิดที่เป็นแบบแนวสมัยใหม่ (modernization) ที่นิยมชื่นชมความคิด ค่านิยม ศิลปวัฒนธรรม ที่เป็นองค์ความรู้ที่เป็นตะวันตกเป็นอย่างมาก โพสท์โมเดิร์นมองว่าองค์ความรู้ตั้งแต่ปรัชญา จริยธรรม การเมือง การปกครอง วรรณกรรมคลาสสิค ฯลฯ ทั้งหมดเป็นเพียงเพื่อสร้างภาพสร้างตัวตนที่ดีงามมีเหตุผลให้ตะวันตก ซึ่งสิ่งเหล่านั้นไปกดทับ เพิกเฉย ละเลย ลืมประวัติศาสตร์ของตัวตน การดำรงอยู่ของวัฒนธรรมของผู้อื่นหรือคนอื่น เป็นการยกย่องประวัติศาสตร์และให้คุณค่าในเรื่องของตนเองและลดคุณค่าในเรื่องที่เป็นของผู้อื่น ซึ่งเป็นวิธีการคิดแบบแยบยล ไม่เพียงด้่านการเมืองเท่านั้น แต่แนวคิดโพสท์โมเดิร์นยังส่งผลต่อแนวคิดทางศิลปะแขนงต่างๆ ด้วยเช่นกัน

ลักษณะศิลปะแนวโพสท์โมเดิร์นเปลี่ยนไปจากยุคโมเดิร์นดังนี้คือ

1. การปฏิเสธศูนย์กลาง ซึ่งก็คือ การปฏิเสธอำนาจครอบงำ เน้นชายขอบซอกมุม เพื่อปลดเปลื้องการครอบงำทางเวลา เทศะและอัตลักษณ์ที่ยังหลงเหลืออยู่ ดังปรากฏในสถาปัตยกรรมจำนวนมากที่เลิกเน้นศูนย์กลาง
2. การปฏิเสธความเป็นเอกภาพ หรือ องค์รวม ภาพเขียนหรือสถาปัตยกรรมจึงไม่จำเป็นต้องจบสมบูรณ์ อาจเป็นหลายเรื่องซ่อนเร้นกัน
3. คัดค้านโครงสร้าง ระเบียบ ลำดับ ไม่ยึดติดกับโครงสร้างเพราะถือได้ว่าเป็นแนวคิดหลังโครงสร้างนิยม
4. ปฏิเสธจุดเริ่มต้น จึงปฏิเสธประวัติศาสตร์แต่โหยหาอดีต เนื่องจากความไม่มั่นคงทางอัตลักษณ์ อดีตของพวกเขาไม่ใช่ประวัติศาสตร์ แต่เป็นการทำลายประวัติศาสตร์เพราะมันถูกนำมาอยู่ในปัจจุบันหรือหลุดไปจากบริบทอย่างสิ้นเชิง

ความคิดโพสต์โมเดิร์นเป็นทั้งการวิพากษ์และการตั้งคำถามที่มีต่อโลกแบบโมเดิร์นของตะวันตก ซึ่งมองว่าการสร้างสังคมสมัยใหม่ของโลกตะวันตกที่ได้กำเนิดมานั้นไม่ได้พัฒนาความสุข การหลุดพ้น หรือชีวิตที่เป็นเหตุเป็นผล อย่างที่กล่าวอ้างกัน เป็นเพียงการสร้างวาทกรรมผ่านภาษา เพียงเพื่อครอบงำสังคมอื่นเพื่อชิงความได้เปรียบในหลายปัจจัย

ศาสนาได้รับผลกระทบอย่างไรจากแนวคิดโพสต์โมเดิร์น???



โดยพื้นฐานแล้วต้องยอมรับว่า แนวคิดแบบโพสต์โมเดิร์นมีรากฐานแนวคิดที่ขัดแย้งกับศาสนาในระดับหนึ่ง เช่น ศาสนามักจะเชื่อในความจริงแท้อันเดียว พระเจ้าเดียว ทางรอดเดียว มาตรฐานจริยธรรมเดียว ในขณะที่แนวคิดโพสท์โมเดิร์นมักจะยึดถือว่าไม่มีอะไรผิดไม่มีอะไรถูก ทุกอย่างเป็นเรื่องความคิดเห็นของแต่ละคนที่แตกต่างกันได้

เรื่องนี้ตามหลักการของศาสนิกโดยทั่วไปซึ่งยึดถือคำสอนของพระศาสดาและพระคัมภีร์ ก็มักจะยึดถือหลายเรื่องว่าเป็นความจริงสูงสุด เป็นความจริงที่เด็ดขาด และไม่อาจประนีประนอมได้

แต่ถึงกระนั้น แนวคิดแบบโพสต์โมเดิร์น ก็ได้ก่อให้เกิดศาสนิกแบบโพสท์โมเดิร์นด้วยเช่นกัน เช่น มี Postmodern Christianity, Postmodern Buddhist รวมไปถึงศาสนาเกิดใหม่ที่สอดคล้องกับแนวคิดโพสท์โมเดิร์นมากด้วย ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วศาสนิกแบบโพสท์โมเดิร์นก็คือกลุ่มแนวคิดแบบเสรีนิยม หรือลิเบอรัล (Liberalism) ซึ่งเป็นแบบที่เปิดกว้างกว่าแนวศาสนศาสตร์แบบอนุรักษ์นิยม (Conservativism) หรือพวกแนวศาสนศาสตร์ที่ถือตามหลักคำสอนดั้งเดิมอย่างเคร่งจัด (Fundamentalism)

แนวคิดแบบโพสต์โมเดิร์นไม่ได้ส่งผลต่อหลักความเชื่อทางศาสนาแบบดั้งเดิมเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดรูปแบบทางศาสนาและพิธีกรรมแบบใหม่ๆ ด้วย เช่น แทนที่จะเน้นพระสงฆ์หรือนักบวช ก็หันมาเน้นฆราวาสมากขึ้น ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้น หรือแม้แต่มีการยอมรับคนรักร่วมเพศมากขึ้น ศาสนสถานแบบเดิมก็เริ่มเปลี่ยนไป หรือหันไปใช้สถานที่ทั่วไปแทนศาสนสถานดั้งเดิม รูปแบบพิธีกรรมก็เปลี่ยนไป บางอย่างก็หายไป เป็นต้น

นอกจากนี้ที่สำคัญคือ โลกยุคโพสท์โมเดิร์นต้องการศาสนาที่สามารถมีเหตุผล รวมทั้งให้ประสบการณ์จริงที่จับต้องได้ ไม่ใช่แค่หลักความเชื่อตามคัมภีร์และพิธีกรรม

ในบทความนี้ผู้เขียนไม่ได้คาดหวังให้ผู้อ่านต้องเปลี่ยนจุดยืนของศาสนาของตนในทุกเรื่องให้เป็นแบบเสรีนิยม แต่อาจลองพิจารณาและฉวยจุดดีจากกระแสโลกที่เราเผชิญอยู่เอามาเป็นประโยชน์ได้บางประการ ส่วนที่ไม่ดีเราก็ไม่ต้องใช้

สิ่งที่น่าจะพิจารณาในประการแรกก็คือ ศาสนิกควรใช้จุดดีของโพสต์โมเดิร์นในแง่ที่ไม่ด่วนยึดถือความคิดดั้งเดิมโดยไม่เคยคิดและตั้งคำถามว่า “จริงหรือที่เคยเชื่อกันว่า?” “ทำไมต้องเป็นเช่นนั้น?” ศาสนิกควรกล้าแสวงหาความรู้ที่แท้จริง โดยรู้จักคิด กล้าตั้งคำถาม กล้าคิดแตกต่าง กล้าพิสูจน์ ไม่เพียงแต่เชื่อตามสิ่งที่เคยถูกสอนทั้งนอกและในประเพณีเดิม หรือถูกโฆษณาชวนเชื่อ หรือเห็นแบบอย่างมา หรือติดอยู่กับความเคยชิน คิดไปเองตามมายาคติโดยไม่เคยค้นหาความจริงอย่างถ่องแท้

แน่นอนว่า ศาสนิกยังต้องเชื่อศรัทธาในเรื่องความจริงสูงสุด แต่เราก็ต้องพยายามวิเคราะห์ให้ถ่องแท้ลึกซึ้งจริงๆ ว่าสิ่งที่เรายึดถือยึดมั่นนั้นเป็นความจริงสูงสุดแน่หรือเปล่า เพราะบางครั้งเราอาจเข้าใจผิด ซึ่งก็มักเกิดจากตีความพระคัมภีร์ผิด ไม่เคยวิเคราะห์ถึงเบื้องหลังของคัมภีร์ และไม่รู้ประวัติศาสตร์และพัฒนาการทางศาสนาของเรา หรือบางทีบางเรื่องก็อาจมีความจริงแบบ paradox คือความจริงสองอย่างที่ดูเหมือนขัดแย้งกันแต่ก็จริงทั้งคู่ เช่น “ความตายเป็นจุดสิ้นสุดของชีวิตแต่ก็เป็นการเริ่มต้นแห่งชีวิต”

ในพุทธศาสนามีคำสอนเรื่อง "กาลามสูตร" เพื่อไม่เราเชื่ออะไรง่ายๆโดยไม่ได้พิจารณา ของคริสตศาสนาก็มีคำสอนของท่านเปาโลที่ว่า “จงพิสูจน์ทุกสิ่ง สิ่งที่ดีนั้นจงยึดถือไว้ให้มั่น” (1 เธสะโลนิกา 5:21; 1 ยอห์น 4:1)

ประการที่สอง ศาสนิกต้องกล้าที่จะไม่เดินตามกระแสโลกไม่ว่าจะแบบโพสท์โมเดิร์นหรือแบบอะไรก็ตาม กล้าที่จะทวนกระแส ที่ผิดต่อหลักการที่ถูกต้องของศาสนิกทั้งด้านหลักความเชื่อและหลักจริยธรรม
แต่ถึงกระนั้น ประการที่สองนี้ก็ยังมีข้อแม้ในประการที่สามด้วย นั่นคือ

ประการที่สาม ศาสนิกจะต้องกล้าที่จะยอมรับสิ่งใหม่ หรือปรับเข้าสู่กระบวนทัศน์ใหม่ หากไม่ผิด หรือเห็นว่ามีคุณค่า แต่ยังต้องอยู่ในขอบเขตของหลักการที่ถูกต้องของศาสนิกทั้งด้านหลักความเชื่อและหลักจริยธรรม

ประการที่สี่ ศาสนิกควรเรียนรู้และกล้าที่จะยอมรับความแตกต่างที่ไม่ผิด รวมทั้งสามารถยอมรับความหลากหลายที่ไม่ผิด โพสท์โมเดิร์นทำให้เห็นว่า ความจริงหรือความถูกต้องไม่จำเป็นต้องมีหนึ่งเดียว ในหลายเรื่องความจริงหรือความถูกต้องสามารถมีหลายแง่ หรือปรากฎในหลายรูปแบบ

มีสิ่งต่างๆ มากมายที่เราน่าจะลองตรวจสอบดูอีกที การตรวจสอบเรื่องเหล่านี้เราคงต้องมีการตรวจสอบและทบทวนตัวเองเสมอ เพื่อเราจะได้รู้เท่าทันกระแสโลก และดำรงอยู่ในความจริงแท้ท่ามกลางโลกที่มีทั้งเท็จกับจริง ถูกกับผิดผสมกันอยู่



ดร. ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์

(2012) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น