คัมภีร์ทางศาสนาของอินเดียที่ประกอบกันขึ้นเป็นพระเวทนั้น ประกอบด้วยงานเขียน ๔ ประเภท คือ มันตระ พราหมณะ อารัณยกะ อุปนิษัท
อันแรกที่เรียกว่า "มันตระ" นั้นเป็นคัมภีร์เล่มแรกและเก่าแก่ที่สุดของพระเวท ก็ยังมีลักษณะเป็น "ชุดคัมภีร์" อีกเช่นกัน ซึ่งชุดคัมภีร์มันตระนี้ก็ประกอบด้วยคัมภีร์อีก ๔ เล่ม คือ ฤคเวท สามเวท ยัชุรเวท และอาถรรพเวท
อันแรกที่เรียกว่า "มันตระ" นั้นเป็นคัมภีร์เล่มแรกและเก่าแก่ที่สุดของพระเวท ก็ยังมีลักษณะเป็น "ชุดคัมภีร์" อีกเช่นกัน ซึ่งชุดคัมภีร์มันตระนี้ก็ประกอบด้วยคัมภีร์อีก ๔ เล่ม คือ ฤคเวท สามเวท ยัชุรเวท และอาถรรพเวท
ฉะนั้น "คัมภีร์ฤคเวท" จึงเป็นคัมภีร์เล่มแรกของชุดคัมภีร์มันตระ ซึ่งเป็นหนึ่งในชุดคัมภีร์พระเวทนี่เอง
ฤคเวท (Rigveda) ถูกจัดว่าเป็นคัมภีร์ศาสนา และตำราทางศาสนาที่เก่าที่สุดในโลก แต่งขึ้นเมื่อราว ๓,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล ที่เชื่อกันเช่นนั้นก็เพราะเหตุว่า เนื้อหาด้านชาติพันธุวิทยาและภูมิศาสตร์ที่ปรากฏในฤคเวทนั้น เป็นหลักฐานแสดงว่าฤคเวทนั้นมีมานานกว่า ๓ พันปีก่อนคริสตกาล
ส่วนหนึ่งของสำเนาคัมภีร์ฤคเวท |
ฤคเวท เป็นคัมภีร์เล่มแรกในชุดวรรณคดีพระเวท (หรือคัมภีร์พระเวท) อันประกอบไปด้วยบทสวดที่วางท่วงทำนองในการสวดไว้อย่างตายตัว กล่าวถึงบทสรรเสริญคุณและอำนาจแห่งเทพเจ้าต่างๆ หลายองค์ และประวัติการสร้างโลก รวมถึงหน้าที่ของพระพรหมผู้สร้างมนุษย์และสรรพสิ่ง มีการกล่าวถึงพระเจ้าหลายองค์ โดยมิได้ระบุอย่างแน่ชัดว่าองค์ใดเป็นประมุขของทวยเทพ ลักษณะการเขียนมีลักษณะการรวบรวมเอาบทสวดแด่เทพยดาต่างๆ เข้าไว้ ซึ่งก็คงเป็นเทพยดาประจำเผ่าต่างๆ และคงจะเป็นการรวบรวมบทสวดบูชาเทพเจ้าของเผ่าต่างๆ ของชาวอารยัน เข้าด้วยกัน
การจัดรวบรวมบทสวดในคัมภีร์ฤคเวทนี้ เรียกว่า ฤคเวทสังหิตา มีบทสวดทั้งหมด ๑,๐๒๘ บท และนับเป็นบทสวดที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษยชาติ
บทสวดเหล่านี้จะถูกจดจำสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน โดยเชื่อกันว่าไม่มีการหลงลืมหรือบิดเบือน เนื่องจากความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรมและความศักดิ์สิทธิ์ของคำสวดทุกพยางค์ จนกระทั่งมาถึงเมื่อประมาณศตวรรษที่ ๘ ก่อนคริสตกาลจึงมีการจดบันทึกฤคเวทลงเป็นลายลักษณ์อักษร
คัมภีร์ฤคเวทนี้ถือว่าเป็นคัมภีร์ของพวกนักบวชอย่างแท้จริงเพราะ นอกจากจะเป็นผู้แต่งขึ้นแล้วก็ยังเป็นผู้ใช้ในการประกอบพิธีกรรมสังเวยเทพยดาอีกด้วย
บทสวดในคัมภีร์ฤคเวท บูชาเทพยดาองค์ใดบ้าง
มัณฑละที่ ๑ เป็นบทสวดสรรเสริญพระอัคนิ พระอินทร์ พระวรุณ พระมิตร เหล่าพระอัศวิน เหล่าพระมรุต พระอุษัส (อุษา) พระสูรยะ, พระฤภุส, พระวายุ, พระพฤหัสบดี, พระวิษณุ, สวรรค์และโลก (ในฐานะเทพบิดร) และวิศเวเทวา (ทวยเทพทั้งปวง)
มัณฑละที่ ๒ เนื้อหาส่วนใหญ่สรรเสริญพระอัคนิและพระอินทร์
มัณฑละที่ ๓ ส่วนใหญ่เป็นบทสวดสรรเสริญพระอัคนิ พระอินทร์ และวิศเวเทวา
มัณฑละที่ ๔ สรรเสริญเทพเจ้าหลายองค์ นอกจากพระอัคนิ พระอินทร์แล้ว ยังมีพระฤภุส, อัศวิน, พฤหัสบดี วายุ อุษา เป็นต้น
มัณฑละที่ ๕ สรรเสริญพระอัคนิ พระอินทร์ และวิศเวเทวา รวมทั้งพระมรุต พระมิตร-วรุณ และเหล่าอัศวิน
มัณฑละที่ ๖ ส่วนใหญ่สรรเสริญพระอัคนิ พระอินทร์ และวิศเวเทวา
มัณฑละที่ ๗ สรรเสริญเทพ และเทพีสรัสวดี (เทพแห่งแม่น้ำและการเรียนรู้)
มัณฑละที่ ๘ สรรเสริญเทพทั้งหลาย
มัณฑละที่ ๙ เนื้อหาทั้งหมดกล่าวถึงโสม ปวมาน หรือการทำพิธีด้วยน้ำโสม
มัณฑละที่ ๑๐ นอกจากสรรเสริญเทพเจ้าแล้ว ยังเป็นบทสวดในพิธีสมรส หรืองานศพด้วย.
ในช่วงท้ายนี้ขอเพิ่มเติมเรื่องชุดคัมภีร์ "มันตระ" สักหน่อย มันตระ แปลว่า ภาษิต, บทเพลง, มนต์ จัดว่าเป็นคำประพันธ์ที่เก่าที่สุดของวรรณคดีพระเวท เป็นคัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นศาสนาฮินดู คัมภีร์นี้ไม่ปรากฏผู้แต่งและเวลาแต่ง สันนิษฐานว่าเริ่มแต่งขึ้นประมาณ ๑๕๐๐ ปีก่อนคริสตกาล และท่องจำเล่าสืบต่อกันมาโดยไม่มีการเขียน ต่อมาได้มีการรวบรวมเข้าด้วยกัน
โคลงกลอนซึ่งประกอบเป็นพระเวทนั้นใช้สำหรับร้องสรรเสริญบูชาเทวดาในพิธีบวงสรวงเทพยดา ซึ่งคงจะเป็นเทพยดาประจำเผ่า นอกจากนี้ยังใช้ท่องบ่นในพิธีแต่งงาน พิธีศพ ซึ่งตามประเพณีของฮินดูแล้ว การแบ่งหมวดหมู่ของคัมภีร์พระเวทนี้ วยาส ( ผู้แต่งมหากาพย์ มหาภารตะ ) เป็นผู้ทำขึ้นโดยรับคำสั่งจากพระพรหม
ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น