วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

เศรษฐกิจแบบพอ

ปีที่แล้วช่วงหลังโควิดมา ที่มหาลัยในนิวซีแลนด์จัดเรื่องเศรษฐกิจแบบพอหลายครั้ง หลายที่  และได้อ่านหนังสือของขบวนแนวคิดของฝรั่งเกี่ยวกับเรื่อง "เศรษฐกิจแบบพอ" หลายเล่ม จะเรียก พอเพียงหรือเพียงพอ หรือพอดี หรือจะเรียกอะไรก็แล้วแต่เถิด แนวคิดนี้แนวนี้มันเริ่มถูกพูดถึงมากช่วงใกล้ปีคศ. 2000 เป็นต้นมา พอเลยช่วงปี 2010 ก็ดังมาก มีหนังสือออกมาหลายเล่ม 


สาเหตุก็คือ นักเศรษฐศาสตร์ฝรั่งหลายคน ที่จบมหาลัยไอวีลีกกันทั้งนั้น เริ่มตระหนักว่า อ้ายเจ้าระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีหรือตลาดเสรีแบบที่โลกใช้ขับเคลื่อนตัวเองมานานนั้น มันเริ่มไม่ใช่คำตอบที่สมบูรณ์แบบที่เคยเชื่อกันมาตลอดอีกแล้ว 

เพราะยิ่งนานวันมันยิ่งสร้างปัญหาที่นำไปสู่วิกฤติมากขึ้นเรื่อย ๆ  โดนเฉพาะปัญหาหนี้สิน ปัญหาความยากจนและเหลื่อมล้ำ และปัญหาสิ่งแวดล้อม 

จากช่วงต้นปีสองพันที่แนวคิดนี้เริ่มดัง จนมาถึงตอนถึงตอนนี้สองพันยี่สิบกว่า  คงไม่น่าจะมีใครถามอีกแล้วว่าปัญหาพวกนี้เกิดจริงไหม เพราะมันได้กลายเป็นวิกฤตใหญ่โตของทั่วโลก จนแม้แต่สหรัฐฯเองซึ่งเป็นเจ้าแห่งทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เศรษฐกิจทุนนิยมเสรีกลายเแ็นประเทศที่มีหนี้ล้นพ้นตัว หนี้มากที่สุดในโลก 

นี่ถ้าตลาดไม่ใหญ่ ไม่ได้พิมพ์แบงค์เอง ไม่ได้เป็นมหาอำนาจ ก็อาจล้มละลายไปแล้ว ค่าเงินดอลลาร์ทุกวันนี้อาจไม่เหลือค่า 

หนังสือแนว "เศรษฐกิจพอ" ที่ว่านี้จะพูดคล้าย ๆ กันหลักใหญ่ ๆ คือ ต้องมีเหตุผล รอบคอบ ไม่เกินตัว ยั่งยืน หรือดีในระยะยาว 

ถ้าพูดแบบภาคปฏิบัติก็คือ ต้องเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องคอยพึ่งใตรหรือเป็นภาระของใคร ยืมจมูกคนอื่นหายใจ ำม่ต้องกลัวใครกลั่นแกล้ง

สอง ไม่บริโภคมากเกินไปจนเอาเงินในอนาคตมาใช้ หรือไม่บริโภคจนเป็นหนี้นั่นแล  ถ้าเป็นหนี้ก็ให้มันเป็นเรื่องจำเป็นจริงๆ 

สาม เป็นเศรษฐกิจที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม  ไม่ว่าจะเรื่องการสร้างภาวะโลกร้อน การใช้ทรัพยากรธรรมชาติสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น เรื่องน้ำ เรื่องมลพิษ ฯลฯ  แบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

สี่ เป็นเศรษฐกิจที่แบ่งปัน ไม่ใช่คนรวยก็กินรวบ จนรวยล้นไม่รู้จบ ส่วนคนจนก็อับจนไม่มีทางสู้ หรือถึงกับไม่มีปัจจัยสี่  

สุดท้าย เจ้าเศรษฐกิจพอแบบที่ว่าต้องนำไปสู่ความยั่งยืนของสังคม  ซึ่งก็เลยทำให้เกิดคำใหม่ว่า sustainable economy หรือเศรษฐกิจแบบยั่งยืน

"เศรษฐกิจพอ" แบบที่ว่ามันไม่ได้หมายถึง ทุกคนต้องไปปลูกผักเลี้ยงไก่ไว้กินเองไม่ต้องซื้ออะไรอีกต่อไป  แต่มันหมายถึงระบบเศรษฐกิจที่ทำให้มีสิ่งจำเป็นเพียงพอสำหรับตัวเราแต่ละคน เพียงพอสำหรับทุกคนในสังคมและในโลก  เพียงพอสำหรับทุกคนในปัจจุบันและอนาคต 

เศรษฐกิจแบบปลูกผักเลี้ยงไก่กินเอง ไม่ต้องซื้ออะไรใครเลย มันมีอีกชื่อนึง เรียกว่า self-sufficiency economy หรือ "เศรษฐกิจพอในตัวเอง"  อันนี้ก็ถือว่าเป็นส่วนเสี้ยวหนึ่งของระบบเศรษฐกิจพอเช่นกัน แต่ใครจะไม่ทำแบบนี้ก็ได้ 

ระบบแบบนี้ถ้าเอาจริงมากก็จะไปถึงขั้นไม่ต้องใช้ไฟฟ้าน้ำประปาจากทางการเลย ทำเอาเองหมดทั้งไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ทำน้ำกรองเอง  เรียกว่า "off-grid self-sufficiency economy" คือ เศรษฐกิจพอในตัวเองแบบ "นอกระบบ" ไปเลย 

แต่จากที่ศึกษามา ถ้าพูดแบบยุติธรรม ก็ต้องบอกว่า กษัตริย์รัชกาลที่เก้าของไทย พูดเรื่องนี้ไว้ตอนราวช่วงปี 1997 และไม่ใช่แค่พูดเป็นหลักนามธรรมลอยๆ แต่พยายามเอาหลักการนามธรรมพวกนี้มาทำให้เป็นรูปธรรม คือหวังให้สามารถปฏิบัติได้จริและได้ผลจริง และปฏิบัติได้ไม่แค่บางบุคคล แต่เป็นระดับมวลชนและมหาชน ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปมักจะพูดเป็นหลักการนามธรรมมากกว่า เรื่องนี้ยังพูดได้อีกยาว 

ประเด็นที่คนถามกันมากก็คือ "เศรษฐกิจพอ" มันดีกว่าระบบอื่นไหม ระบบไหนดีที่สุด?  ก็ต้องบอกว่า 

ระบบที่มีอยู่ก็คือระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีหรือระบบตลาด แบบที่ใช้มานั่นแล ระบบต่อมาก็แบบคอมมิวนิสต์ซึ่งไม่มีใครใช้จริงในทางปฏิบัติ  ส่วนใหญ่ก็คือระบบผสมผสานกันทั้งนั้น ระบบที่ให้รัฐควบคุมมากหน่อย มีสวัสดิการรัฐใากหน่อยก็ระบบสังคมนิยม 

ระบบเศรษฐกิจแบบพอ มันเป็นระบบที่อยู่มาก่อนใคร อยู่มาแต่โบราณ แทรกอยู่กับระบบไหนก็ได้ มันอยู่ได้มาตลอด และจะอยู่ตลอดไป 

ਗ਼মᒏర౬ ഽరๅݎ᪒নਭலᣅᢅᡇ

ศาสนวิทยา ผู้ลี้ภัย ณ นิวซีแลนด์