วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ศาสนาชินโต: ศาสนาเพื่อการปกครองและชาตินิยม


ศาสนา “ชินโต” (Shintoism) คำนี้มาจากอักษรจีนสองตัว ชิน แปลว่าเทพทั้งหลาย โตหรือเต๋า แปลว่าทาง รวมความแล้วแปลว่า "วิถีทางแห่งเทพทั้งหลาย"

สัญลักษณ์ของศาสนาชินโต คือประตูโทริอิ คือประตูอันมีเสา 2 เสา มีไม้ 2 ท่อนขวางอยู่ข้างบน เป็นเครื่องหมายแสดง บริเวณศาลเจ้าของชินโต กับอีกอันคือ ซานชูโน-ซิงกิ ประกอบด้วยของ 3 อย่างคือ กระจก ดาบและรัตนมณี
กระจก เป็นเครื่องหมายแห่งปัญญา
ดาบ เป็นเครื่องหมายแห่งความกล้าหาญ

รัตนมณี เป็นเครื่องหมายแห่งการบำเพ็ญประโยชน์

ชินโตเป็นศาสนาแบบพหุเทวนิยม(Polytheism) คือนับถือเทพเจ้าหลายองค์ เช่น เทพเจ้าแห่งภูเขา ลำธาร การเรียนและบุคคลที่ได้รับการยกย่องเป็นเทพเจ้า คือพระจักรพรรดิ วีรบุรุษทั้งหลาย

ไม่อีกศาสนาที่ไม่ปรากฏว่าใครเป็นศาสดา บูชาเทพเจ้า เชื่อถือเวทมนต์ คาถา บูชาธรรมชาติและบรรพบุรุษ

ศาสนานี้เกิดก่อน พ.ศ. ประมาณ 117 ปี คิดตามสมัยจักรพรรดิญี่ปุ่นองค์แรก กำเนิดในประเทศญี่ปุ่น โดยชนชาติญี่ปุ่นสมัยโบราณมีเผ่าต่างๆ หลายเผ่า แต่ละเผ่าเคารพบูชาบรรพบุรุษและเทพเจ้า แต่เดิมไม่มีชื่อเรียกศาสนานี้ เมื่อพุทธศาสนา และศาสนาขงจื๊อได้แพร่ไปสู่ประเทศญี่ปุ่นจึงเรียกศาสนานี้ว่า “ชินโต” เพื่อให้ต่างจากศาสนาพุทธและศาสนาขงจื๊อ

ชินโตเป็นศาสนาแนวชาตินิยม คือเกิดเติบโตและอยู่ในชนชาติหรือเชื้อชาติเดียว คล้ายศาสนายิว จำนวนศาสนิกประมาณ 4,000,000 คน (ปี ค.ศ.2005)

ภาพประตูโทริอิ สัญลักณ์ศาสนาชินโต
ในด้านคำสอน คำว่า “ชินโต” แปลว่า วิถีของพระเจ้า คำสอนจึงมุ่งให้บุคคลปฏิบัติตนตามทางของสวรรค์ ภักดีต่อพระเจ้า ซึ่งหมายถึงธรรมชาติรอบตัวมนุษย์ ศาสนาชินโตยึดถือคำสอนสืบเนื่องมาจากศาสนาเต๋าและขงจื๊อหลายประการ รวมทั้งมีเทพนิยายของญี่ปุ่นโบราณเล่าสืบต่อกันมาว่า พระอาทิตย์เป็นผู้สร้างเกาะญี่ปุ่น และชาวญี่ปุ่นทั้งหลายเป็นลูกหลานของพระอาทิตย์

เทพเจ้าของศาสนาชินโตมี 1. เทพผู้สร้างสูงสุด คือ อามาเตระสุ-โอมิคามิหรือสุริยเทพี กับซีกิโยมิหรือจันทรเทพ
2. เทพประจำสิ่งต่างๆในธรรมชาติ ที่มนุษย์ชื่นชอบหรือเกรงกลัว รวมทั้งวิญญาณที่มีอำนาจบันดาลให้สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้น เรียกว่า กามิ (Kami) 3. มนุษย์ที่ทำความดี เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว ถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์

และจุดหมายปลายทางของชีวิตในศาสนาชินโต คือ การเข้าถึงพระเจ้า

ชินโตเป็นอีกหนึ่งศาสนาที่กดผู้หญิงไว้ใต้ผู้ชาย ศาสนาชินโตสอนให้ผู้หญิงเคารพผู้ชาย ส่วนผู้ชายก็ให้คุ้มครองผู้หญิง และต่างฝ่ายต่างต้องรักและสามัคคีกัน

แนวคิดเรื่องความตาย ชินโตไม่พูดถึงเรื่องโลกหน้า เชื่อว่า วิญญาณเป็นอมตะ ความตายเป็นเสมือนการเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวใหม่ ดวงวิญญาณจะคอยปกป้องวงศ์ตระกูลของตนอยู่เสมอ

ข้อปฏิบัติตามศาสนาชินโต คือ จงรักภักดีต่อเทพเจ้า ต่อจักรพรรดิและปฏิบัติตามหลักจริยธรรมเพื่อบำเพ็ญความดีสูงสุด 4 ประการ คือ 1. ให้มีความคิดเบิกบาน 2. ให้มีความคิดบริสุทธิ์ 3. ให้มีความคิดถูกต้อง 4. ให้มีความคิดเที่ยงตรง

ชินโตเป็นศาสนาที่เน้นการบูชาธรรมชาติ เชื่อว่า เทพแห่งพระอาทิตย์ทรงสร้างเกาะญี่ปุ่น และธรรมชาติทั้งหลาย เช่น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ มหาสมุทร แม่น้ำ ภูเขา น้ำตก ต้นไม้ สิ่งที่พระเจ้าทรงสร้าง จึงมีฐานะสูงควรแก่การเคารพบูชา

ในเรื่องจักรวาล ชินโตสอนว่า กามิ (Kami) หรือเทพเจ้าเป็นเจตภูตที่ไม่มีรูปร่าง ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นนิรันดร กามิเป็นเทพเจ้าในธรรมชาติ เหตุการณ์ต่างๆ ในจักรวาลมาจากการบันดาลของกามิ กฎแห่งธรรมชาติทั้งปวงคือ ทางแห่งเทพเจ้า

ชินโตเป็นอีกศาสนาที่มีเพื่อการปกครอง และการสร้างชาติด้วยลัทธิชาตินิยม เรียกว่าโดยเฉพาะเลยก็ว่าได้ ดูจากอะไร?

1. เนื่องจากเน่้นการบูชาจักรพรรดิ เพราะถือว่าเป็นผู้สืบสายมาจากดวงอาทิตย์โดยไม่ขาดสาย

2. เน้นการบูชาบรรพบุรุษ เชื่อว่า คนญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบันสืบเชื้อสายมาเป็นสายเลือดเดียวกัน การบูชาบรรพบุรุษของญี่ปุ่น มีทั้งบรรพบุรุษของครอบครัวและบรรพบุรุษของชาติ

3. การบูชาผู้กล้าหาญ ญี่ปุ่นเป็นคนรักชาติมาก ผู้ใดอุทิศชีวิตให้ชาติ วิญญาณของผู้นั้นจะได้รับการยกย่อง ทหารญี่ปุ่น จึงรบด้วยความกล้าหาญ เพราะรู้ว่า ถ้าตายก็จะมีผู้เคารพบูชา

คำสอนเหล่านี้มีผลทำให้คนญี่ปุ่นเป็นคนรักชาติ รักบรรพบุรุษของตนอย่างยิ่ง เกิดเป็นหลักธรรมประจำใจที่เรียกว่า บูชิโด ซึ่งเป็นวินัยของนักรบในกลุ่มชาวญี่ปุ่น



ตอนนี้มาดูระบบคุณธรรมของศาสนาชินโต

ศาสนาชินโตยกย่องความกล้าหาญ ให้กล้าหาญที่จะมีชีวิตอยู่และไม่กลัวตาย เมื่อเป็นเช่นนี้ ความขลาดหรือความขี้ขลาดซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับความกล้าหาญจึงถือเป็นความชั่ว ความขลาดถือว่าเป็นบาปและบาปใหญ่ ชินโตจึงมีคติว่า บาปทุกอย่างนั้นจะได้รับอภัยเมื่อสำนึกผิด ยกเว้นความขลาดกับการลักขโมย

คุณธรรมตัวต่อมาที่ถูกยกย่องสูงมากคือ ความจงรักภักดี ชินโตสอนให้จงรักภักดีต่อจักรพรรดิเป็นอันดับหนึ่ง อันดับต่อมาคือครอบครัวและสังคม

คุณธรรมอีกอันหนึ่งคือความสะอาด ฉะนั้นสิ่งตรงข้ามคือความสกปรกจึงถือเป็นบาป เป็นความผิดต่อเทพเจ้า ผู้ทำตนให้สะอาดเป็นผู้เคารพเทพเจ้า และจากความเชื่อนี้ การอาบน้ำในสังคมญี่ปุ่นจึงเป็นทั้งพิธีกรรมทำตนให้สะอาด และเป็นพิธีกรรมชำระบาปด้วย

จริยธรรมทางสังคมของชินโต

คุณธรรมสูงสุดได้แก่ ความจริง ความซื่อสัตย์และความเคารพต่อบรรพบุรุษและผู้ใหญ่
ต่อมาคือความภักดีต่อจักรพรรดิและราชวงศ์ ต่อมาคือความซื่อสัตย์ต่อเพื่อน รักและสามัคคีกับคนในชาติ รักคนอื่นให้เท่ากับรักตนเอง

ผู้เยาว์ต้องอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ ชายต้องซื่อสัตย์ต่อชาติ และหญิงต้องเคารพชาย
รักและเคารพบิดามารดา รักและสามัคคีกับคนในครอบครัว

ทำงานด้วยความซื่อสัตย์ และมีความประหยัด
ไม่ตอบแทนความชั่วด้วยความชั่ว แต่ต่อสู้เมี่อถูกรังแก และแก้แค้นให้ผู้ที่เราเคารพ
ไม่กลัวตาย

ฝึกตนเองให้มีความคิดเบิกบาน ความคิดบริสุทธิ์ ความคิดถูกต้อง ความคิดเที่ยงตรง

การที่จริยธรรมชินโตให้คุณค่าเรื่องการเคารพและซึื่อสัตย์ภักดีต่อบรรพบุรุษ จักรพรรดิ ชาติ ความกล้าหาญ ไม่กลัวตาย เช่นนี้ มีผลทำให้เกิดลัทธิหรือแนววัฒนธรรมหนึ่งขึ้นมาในสังคมญี่ปุ่นขึ้นมา เรียกว่า "ลัทธิบูชิโด"

ลัทธิบูชิโดนี้คือ ลัทธิที่ยกย่องคนกล้า ซึ่งคนญี่ปุ่นเรียกว่า "ซามูไร" (Samurai) คำว่า "บูชิโด" แปลว่า "หนทางของอัศวินนักสู้" หลักประพฤติของซามูไรญี่ปุ่นในสมัยนั้น มีดังนี้ คือ

1. ซามูไรทุกคนจะต้องอยู่ในสังกัดของเจ้านายในระบบศักดินา และจะต้องจงรักภักดีต่อเจ้านายซามูไรจะต้องรำลึกบุญคุณเจ้านายอยู่เสมอและหาทางตอบแทนบุญคุณนั้นให้ได้ เพราะการตอบแทนหนี้บุญคุณถือว่าเป็นความดีสูงสุด พันธะหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับเจ้านายเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าครอบครัว และครอบครัวของซามูไรทุกคนจะต้องสนับสนุนการกระทำของพวกเขาจึงจะได้รับยกย่องจากสังคม

2. ซามูไรจะต้องเป็นผู้มีความกล้าหาญ ไม่กลัวความตาย การตายที่มีเกียรติของซามูไรคือ การทำฮาราคิริ (Harakiri) หรือเซ็ปปุกุ (Seppuku) การตายแบบนี้เป็นการแสดงความกล้าหาญอย่างสูง ที่จะต้องเผชิญกับความเจ็บปวด โดยการใช้มีดสั้นแทงที่หน้าท้องใต้เอวขวา กรีดมาทางซ้าย แล้วดึงมีดขึ้นข้างบน เป็นการเปิดช่องท้อง และตัดลำไส้ให้ขาด

3. ซามูไรจะต้องยอมตายเพื่อรักษาเกียรติ

4. ซามูไรจะต้องจงรักภักดี อ่อนน้อมถ่อมตนต่อเจ้านาย

5. ซามูไรจะต้องมีความเที่ยงธรรม มีเมตตา รักความยุติธรรม และช่วยเหลือผู้ตกทุกข์


แม้แต่คัมภีร์ของศาสนาชินโตก็มีลักษณะที่เอื้อต่อการปกครองและความเป็นชาตินิยมสุดๆ


คัมภีร์ทางศาสนาที่สำคัญของชินโตมี 4 เล่ม

1. คัมภีร์โคยิกิ เป็นจดหมายเหตุโบราณ รวบรวมขึ้นในปีพ.ศ. 1255 บันทึกจากคำท่องจำ เนื้อหาเริ่มจากตำนานการเกิดของเกาะญี่ปุ่น เป็นการตีความเทพนิยายและตำนานเก่าๆ เริ่มตั้งแต่การกำเนิดของพระเจ้า บรรยายเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์นับแต่จักรพรรดิองค์แรก คือ ยิมมู (พ.ศ. 1171) จนถึงสมัยที่มีการรวบรวมคัมภีร์โคยิกิขึ้น และกล่าวถึงพิธีกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ข้อห้าม การปฏิบัติต่อเทพเจ้าต่างๆของชาวญี่ปุ่นโบราณ

2. คัมภีร์นิฮองงิ แปลว่า จดหมายเหตุ ประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1263 ซึ่งเป็นเวลาที่ญี่ปุ่นเริ่มติดต่อกับยุโรปและชาวญี่ปุ่นเริ่มเกิดสำนึกทางชาตินิยมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ถือว่าเป็นวรรณคดีชั้นสูง เขียนด้วยอักษรภาษาจีนล้วน กล่าวถึงเรื่องของพระเจ้าตามเทพนิยายดั้งเดิมมาเหมือนกันถึงสมัยจักรพรรดินีบีโด (พ.ศ. 1350) เล่มนี้ เและบรรยายเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ระบุอำนาจของจักรพรรดิ กำหนดให้ประชาชนเคารพและจงรักภักดีต่อจักรพรรดิ วันประสูติของจักรพรรดิถือเป็นวันสำคัญที่สุด

3. เยนงิ - ชิกิ เป็นบทสวดและพิธีกรรมในสมัยเยนงิ (ระหว่าง พ.ศ. 1444 - 1566) อธิบายเรื่องพิธีกรรมต่าง ๆในสมัยโบราณ และบทสวด (Nori - to)

4. มันโย - ชิว ประกอบด้วยคำโคลงบรรยายการเกิดของสวรรค์ การที่สุริยเทพทรงสร้างเกาะญี่ปุ่น เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าคัมภีร์ทางศาสนาทั้งหมดเขียนขึ้นเกี่ยวกับญี่ปุ่น นี่คือศาสนาของญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่น และเพื่อญี่ปุ่นโดยแท้



ที่นี้มาดูเรื่องนิกาย

แม้แต่ศาสนาที่มีความแคบเพื่อคนชาติเดียวก็ยังมีการพัฒนาการจนแตกแขนงนิกายได้เช่นกัน

ชินโตในระยะแรกไม่มีการสร้างศาลเจ้า จนกระทั่งศตวรรษที่3-4 ในศตวรรษที่4 เมื่อรัฐบาลยะมะโตะรวบรวมญี่ปุ่นจัดตั้งเป็นประเทศได้แล้ว ทำให้ชินโตถูกแบ่งเป็น 2ระดับคือ อะมะทสึ-คะมิ และ คคุทสึ-คะมิ

คำสอนอันแรกของชินโตที่ปรากฏขึ้นในกลางสมัยเฮอัน คือ ฮนจิสุยจะขุ ที่ได้ผนวกคำสอนของนิกายเทนได และ นิกายชินเง็น เข้าไว้ด้วยกัน เป็นการรวมคำสอนของพระพุทธเจ้ากับเทพเจ้าที่มีมาตั้งแต่สมัยเฮอัน มาแยกเป็นทฤษฎีที่ให้ความสำคัญกับพระพุทธเจ้าเป็นหลักและเทพเจ้าสำคัญเป็นรอง โดยกล่าวว่าเทพเจ้าต่างๆในญี่ปุ่นล้วนเป็นปางหนึ่งของพระพุทธเจ้าที่เสด็จลงมาโปรดนั่นเอง

ในสมัยใหม่กลุ่มนิกายเช่น นิกายอิเสะ นิกายโยะชิดะ และนิกายฟุคโค ได้สร้างทฤษฎีที่เน้นความเป็นอิสระของชินโต

เมื่อเข้าสู่สมัยเมจิได้มีการทำให้คำสอนกับพิธีกรรมของศาลเจ้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยยึดถือพิธีกรรมของพระราชวงศ์เป็นหลัก นักบวชของชินโตมีหน้าที่ประกอบพิธีกรรมเท่านั้น ส่วนประชาชนทุกคนถือเป็นสาวกกลายเป็นนิกายคกคะ ชินโต หรือนิกายชินโตที่เป็นของรัฐ

หลังสงครามโลก ชินโตแต่ละนิกายได้ถูกบัญญัติให้เป็นศาสนาถูกต้องตามกฎหมาย

ทุกวันนี้ ชินโตมีการถือปฏิบัติกันในสี่ระดับ

1. ชินโตแห่งราชสำนัก _ชินโตกลุ่มนี้มีศูนย์กลางอยู่ที่การประกอบพิธีกรรมถวายดวงวิญญาณของบรรพชนของพระจักรพรรดินับตั้งแต่สมัยโบราณเป็นต้นมา โดยพระจักรพรรดิจะเป็นผู้ทรงประกอบพิธีกรรม ในปัจจุบันประเพณีนี้ยังมีอยู่ รัฐรับรองและสนับสนุนและวางข้อบังคับให้นักบวชซึ่งเป็นคนของราชการปฏิบัติกิจเฉพาะทางราชการ แต่ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม

2. ชินโตศาลเจ้า _ ชินโตกลุ่มนี้เป็นการผสมผสานระหว่างความเชื่อแบบชินโตในสมัยโบราณกับความเชื่อแบบชินโตในปัจจุบัน ระบบความเชื่อและพิธีกรรมของทั้งสองแบบถูกนำมาปฏิบัติร่วมกันที่ศาลเจ้าเพื่อบูชาเทพเจ้า ซึ่งเป็นที่สิงสถิตของกามิและเป็นที่สำหรับสวดมนต์ภาวนา

3. ชินโตนิกาย _หมายถึง กลุ่มกระบวนการทางศาสนาที่อิงอยู่กับศาสนาประจำชาติของญี่ปุ่น แต่แยกเป็นนิกายต่างๆกันซึ่งส่วนมากมีกำเนิดในศตวรรษที่18 จนถึงช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 อันเป็นช่วงสุดท้ายของยุคเอโด ที่มีระบบการปกครองแบบเจ้าขุนมูลนาย จนกระทั่งถึงช่วงต้นของยุคเมจิ รัฐบาลของยุคเมจิที่เกิดขึ้นใหม่ได้สร้างชินโตของรัฐขึ้นมา และให้กลุ่มศาสนาเหล่านี้อยู่ภายใต้การปกครองของชินโตของรัฐโดยอนุญาตให้ทำพิธีกรรมต่างๆ ลักษณะของชินโตกลุ่มนี้คือ ความสนใจเกี่ยวกับปัญหาในชีวิตประจำวันและสวัสดิภาพของมนุษย์ในโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะในชุมชนชาวกสิกรรม

4. ชินโตพื้นบ้าน _ ชินโตกลุ่มนี้นำเอาความคิดของพุทธศาสนา ศาสนาเต๋า และศาสนาขงจื๊อ มาผสมผสานกับความเชื่อแบบชินโต เกิดเป็นแนวคิดแบบไสยศาสตร์ผสมกับหลักปฏิบัติทั่วไปของชาวบ้าน ช่วยเสริมความมั่นคงทางจิตใจ ทำให้คนรู้สึกปลอดภัยจากอันตราย กลายเป็นวิถีชีวิตประจำวันมากกว่าศาสนา

ปัจจุบันนี้ยังคงมีชาวญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาชินโตอยู่มากความเป็นชินโตอยู่ในลักษณะของจิตสำนึก และอยู่ในรูปของวัฒนธรรมญี่ปุ่น


ระบบพิธีกรรม


ศาลเจ้าและนักบวชของชินโต

ศาลเจ้าชินโตเป็นที่สิงสถิตของกามิ และเป็นที่สำหรับสวดมนต์ อ้อนวอน ถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ นิยมสร้างในแถบชนบท เช่น บนภูเขา น้ำตก หรือบนเกาะ

ศาลเจ้าของญี่ปุ่นมีรูปแบบเรียบง่าย ทำด้วยไม้และกระดาษ ทางเข้ามีประตูโทริอิ ที่สร้างด้วยไม้หรือหิน ภายในศาลเจ้ามีสัญลักษณ์ของกามิคือกระจก แต่บางแห่งอาจจะสร้างรูปเสื้อผ้า หรือดาบ มีที่สำหรับตั้งอาหารเซ่นไหว้ เช่น ข้าว ผัก ปลา เป็ด ไก่ รวมทั้งเหล้าสาเก แต่ต้องไม่เซ่นไหว้ด้วยเลือดเพราะถือเป็นของไม่บริสุทธิ์

นักบวชของชินโตมีทั้งชายและหญิง นักบวชหญิงจะต้องประพฤติพรหมจรรย์ นักบวชชายบางนิกายมีครอบครัวได้ ส่วนผู้ทำหน้าที่รับใช้ในวัดจะเป็นผู้ชาย และมีหัวหน้านักบวชทำหน้าที่ดูแลศาลเจ้ารวมทั้งเป็นประธานในพิธีกรรมต่าง ๆ

นักบวชในศาสนาชินโต จะไม่ประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความตาย ให้เป็นหน้าที่ของพระในพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุนี้ชาวญี่ปุ่นจึงนับถือศาสนาชินโตและศาสนาพุทธไปพร้อมกัน

ความเชื่อในเครื่องรางของขลัง วิญญาณและไสยศาสตร์เป็นเหตุให้เกิดการสร้างรูปสัญลักษณ์เพื่อเป็นที่พึ่ง ตามบ้านของคนนับถือชินโตจะมีที่บูชาวิญญาณ และปากทางเข้าหมู่บ้านนิยมสลักตุ๊กตาหินกามิเพื่อพิทักษ์รักษาหมู่บ้าน

การไหว้เทวสถานหรือศาลเจ้า ก็มีพิธีการดังนี้ - อาบน้ำแต่งตัวสะอาด - เข้าไปโค้งคำนับหน้าศาลเจ้า- ล้างมือ ปากและหน้าอีกครั้ง - หลับตา ตบมือเรียกวิญญาณมารับการเคารพ - ไม่ต้องนำสิ่งของไปไหว้เจ้า พระหรือนักบวชได้เตรียมเครื่องบูชาไว้แล้ว ได้แก่ เหล้าสาเก 4 ถ้วย ข้าวปั้น 16 ก้อน ปลาสด ผลไม้ที่ออกผลครั้งแรกในฤดูกาล สาหร่ายทะเลและส้ม - นำเครื่องเซ่นไปทิ้งแม่น้ำหรือทะเล ถือว่าเป็นการนำบาปไปลอยน้ำ

จุดมุ่งหมายในการบูชาเทพเจ้า เพื่อให้วิถีชีวิตของผู้บูชาเป็นที่พอใจของเทพเจ้า วันเทศกาลหรือวันนักขัตฤกษ์ มีขบวนแห่ มีการบรรเลงดนตรีและเต้นรำ พระทำพิธีอ่านบทสวดเบี้องหน้าเทพเจ้าแห่งศาลเจ้าเพื่ออำนวยสิริมงคล




เทศกาลและพิธีที่สำคัญของชินโต

1. พิธีถวายสักการะพระจักรพรรดิที่เป็นองค์บรรพบุรุษ สถานที่ถวายความเคารพซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี คือ วิหารไดจิงจู ตำบลอิเซ อันเป็นสถานที่สำคัญที่ประดิษฐานพระคันฉ่อง ซึ่งเชื่อกันว่าสุริยะเทพีได้ทรงประทานให้แก่บรรพบุรุษดั้งเดิมของญี่ปุ่น เชื่อกันว่าอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิตจะต้องเดินทางไปสักการะพระคันฉ่อง เพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิต

2. พิธีฉลองเก็บเกี่ยวในฤดูใบไม้ร่วง ตรงกับวันที่ 23 พฤศจิกายน ในวันนี้แต่เดิมพระจักรพรรดิ์ของญี่ปุ่นทรงเป็นผู้ทำพิธีโดยเซ่นไหว้ด้วยผลไม้และผลผลิตที่ได้จากการเก็บเกี่ยวในครั้งแรก แต่ปัจจุบันนี้นิยมกระทำตามท้องถิ่นต่าง ๆ ในระหว่างเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน

3. พิธีชำระล้างบาป

4. วันปีใหม่ มีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษด้วยอาหารพิเศษ และนิยมไปเคารพกราบไหว้ตาม ศาลเจ้าเพื่อขอพร

5. เทศกาลตุ๊กตา วันที่ 3 มีนาคม ของทุกปี วันนี้เป็นวันรื่นเริงของเด็กหญิง มีการแต่งตุ๊กตาอย่างสวยงามด้วยชุดสมัยโบราณ ครอบครัวที่มีลูกสาวเลี้ยงฉลอง เป็นการให้ความสำคัญแก่เพศหญิง

6. วันเด็กชาย วันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันที่ครอบครัวแสดงความยินดีต่อการเติบโตของเด็กชายในตระกูล จุดประสงค์หลักของวันนี้เพื่อเตือนให้มีความกล้าหาญ ความเข้มแข็ง และความรับผิดชอบต่อครอบครัว


ศาสนาชินโตในปัจจุบัน

ฐานะปัจจุบัน ประเทศทที่ทันสมัยอย่างประเทศตะวันตกได้ถือว่า ชินโต เป็นศาสนาของชาวญี่ปุ่นโดยเฉพาะ นอกประเทศญี่ปุ่นผู้นับถือส่วนใหญ่ก็็จะเป็นผู้มีเชื้อสายญี่ปุ่นที่ไปตั้งรกรากในประเทศนั้น ๆ เช่น ที่ ฮาวาย บราซิล และ ออสเตรเลีย เป็นต้น

เนื่องจากญี่ปุ่นได้พ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพสัมพันธมิตรจึงประกาศยุบศาสนาชินโตแห่งรัฐเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2488 เหลือแต่ เรียวหะ ชินโต หรือ ชินโตของราษฎร เนื่องจากไม่มีกิจกรรมเกี่ยวกับสงครามและราชการจึงยังคงดำเนินประกอบพิธีกรรมได้ตามศรัทธา

เนื่องจากญี่ปุ่นต้องการปรับปรุงพัฒนาประเทศให้ทันสมัยอย่างประเทศตะวันตก จึงได้ละทิ้งชินโต อันเป็นรากเหง้าแห่งวัฒนธรรมในอดีตของตนเสีย แต่ศาลเทพเจ้าก็ยังมีผู้คนเข้าไปนมัสการไม่น้อยกว่าปีละ 80 ล้านคนในช่วงเทศกาลปีใหม่

ปัจจุบันมีผู้นับถือศาสนาชินโตประมาณ ๓.๒ ล้านคน ปี ๑๙๕๗ มีผู้นับถือศาสนาชินโตในญี่ปุ่น ๗๙ ล้านคน

และที่สำคัญ ปัจจุบันนี้ ลัทธิชินโตถือให้เป็นเพียงลัทธิความเชื่อพื้นเมืองประจำประเทศญี่ปุ่น ซึ่งแตกต่างจากพุทธศาสนาอย่างสิ้นเชิง



--------
บรรณานุกรม

อ. มธุรส ศรีนวรัตน์
wikipedia

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น