วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ศาสนาขงจื้อ: ปรัชญาที่กลายเป็นศาสนาโดยอุบัติเหตุ


ศาสนาขงจื๊อ (ภาษาอังกฤษเรียก Confucianism) มีต้นกำเนิดมาจาก ขงจื้อ ซึ่งเป็นนักปราชญ์หรือนักปรัชญาชาวจีน มีชีวิตอยู่ระหว่างปี ๕๕๑ ถึงปี ๔๗๙ กคศ. เป็นที่ถือกันว่าขงจื้อเป็นนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในอารยธรรมจีน ชาวจีนรวมทั้งชาวเอเซียตะวันออกพากันเลื่อมใสยกย่องขงจื๊อติดต่อกันมากว่าสองพันห้าร้อยปีแล้ว

ในหมู่นักวิชาการมีข้อถกเถียงกันมากว่าเป็นศาสนาหรือเป็นลัทธิหรือแนวคิดกันแน่? หลายคนถือว่าขงจื้อน่าจะเป็นเพัยงลัทธิขงจื้อ ไม่น่าเป็นศาสนา ด้วยเหตุผลที่ว่า

1. ขงจื้อเริ่มต้นจากการเป็นระบบแนวคิดในด้านจริยธรรมและปรัชญา ซึ่งพัฒนาจากการสอนของตัวขงจื๊อเอง ซึ่งตอนแรกนั้นยังไม่ถือเป็นศาสนา เป็นเพียงแนวคิด หรือจะเรียกว่า "ลัทธิขงจื๊อ" ก็ได้ จนถือกำเนิดขึ้นเป็น "งานสอนด้านจริยธรรม-สังคมการเมือง" ในยุคชุนชิว แต่ภายหลังในสมัยราชวงศ์ฮั่น ลัทธิขงจื้อมีการพัฒนาส่วนที่เป็นอภิปรัชญาและจักรวาลวิทยา

2. ขงจื๊อเป็นอุดมการณ์มนุษยนิยมและอเทวนิยม และไม่ข้องเกี่ยวกับความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติหรือในพระเจ้าที่มีตัวตน คำสอนของขงจื้อไม่มีการกล่าวถึงพระเจ้าหรือกำเนิดของจักรวาล ไม่สนใจให้คำอธิบายเรื่องภพหน้าหรือชีวิตหลังความตาย



3. แก่นของลัทธิขงจื๊อเป็นเรื่องมนุษยนิยม ซึ่งเป็นความเชื่อที่ว่า มนุษย์สามารถสอน พัฒนาและทำให้สมบูรณ์ได้ผ่านความพยายามส่วนตนและร่วมกับสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การฝึกตนและการเกิดขึ้นเอง (self-creation) ขงจื๊อมุ่งเน้นการพัฒนาคุณธรรมและการธำรงรักษาจริยธรรม โดยมีหลักพื้นฐานที่สุด คือ เหริน (rén) ยี่ (yì) และหลี่ (lǐ)

เหรินเป็นข้อผูกมัดปรัตถนิยมและความมีมนุษยธรรมแก่ปัจเจกบุคคลอื่นภายในชุมชน ยี่เป็นการค้ำจุนความชอบธรรมและอุปนิสัยทางศีลธรรมในการทำดี และหลี่เป็นระบบจารีตและความเหมาะสมซึ่งตัดสินว่า บุคคลควรปฏิบัติตนอย่างไรให้เหมาะสมภายในชุมชน ลัทธิขงจื๊อถือว่า บุคคลควรยอมถวายชีวิตให้ หากจำเป็น เพื่ออุทิศแก่การค้ำจุนค่านิยมทางศีลธรรมหลัก เหรินและยี่

4. ขงจื๊อเองก็ไม่เคยอ้างว่า ตนเป็นต้นคิดคำสอนเหล่านั้น ท่านย้ำอย่างอ่อนน้อมถ่อมตนเสมอว่า เป็นแต่เพียงผู้รวบรวมความคิดของนักคิดนักปราชญ์ในอดีตกาล เพื่อถ่ายทอดให้แก่ชนรุ่นหลัง นั่นคือท่านไม่เคยตั้งตนเป็นศาสดา และไม่เคยกำหนดให้ผู้เลื่อมใสคำสอนของท่านสละการครองเรือนมาเป็นนักบวช

รูปปั้นขงจื่อกำลังสอนศิษย์ สะท้อนให้เห็นความเชื่อในคำสอนของขงจื่อ
และมักจะมีการสร้างรูปเคารพบริเวณหน้าวัดจีนหลายแห่ง 

บางวาทะของขงจื๊อ ซึ่งจะเห็นว่ามีลักษณะเป็นปรัชญาชีวิตมากกว่าศาสนา
1. ลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะตน
2. เดินหมากรุกยังต้องคิด เดินหมากชีวิตจะไม่คิดได้อย่างไร
3. ตาสามารถมองเห็นสิ่งที่ไกลได้ แต่ไม่สามารถมองเห็นคิ้วของตน
4. ผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือผู้ที่ทำตนให้เล็กที่สุด
5. นกทำรังให้ดูไม้ ข้าเลือกนายให้ดูน้ำใจ
6. การบริหารคือการทำงานให้สำเร็จโดยอาศัยมือผู้อื่น
7. สุภาพชนสามัคคีกันแต่ไม่สมคบกัน คนถ่อยสมคบกันแต่ไม่สามัคคีกัน

ทีนี้ก็เป็นปัญหาตามมาว่า ถ้าเดิมเป็นเพียงลัทธิขงจื้อ ไม่ใช่จัดเป็นศาสนา แล้วพิธีกรรมของศาสนาขงจื้อเกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

เรื่องพิธีทางศาสนาต่างๆของศาสนาขงจื้อ ที่จริงแล้วเป็นประเพณีโบราณซึ่งมีมาก่อนหน้านั้นหลายพันปีแล้ว นั่นคือประเพณีการบูชาฟ้าดิน และการบูชาบรรพบุรุษด้วย ซึ่งขงจื๊อเห็นความสำคัญต่อจิตใจผู้คน จึงได้รับเอาประเพณีทั้ง 2 เข้ามาปฏิบัติ รวมทั้งรวบรวมและเรียบเรียงประเพณีอื่นๆไว้เป็นจำนวนมากด้วยไว้ในตำราของท่าน สุดท้ายก็ประเพณีโบราณเหล่านี้ก็เลยกลายเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาขงจื๊อไปด้วย

แล้วตอนหลัง หลังจากที่ขงจื้อตายไปนานแล้วถึงราว 300 ปี ก็ยังมีพิธีบูชาขงจื๊อเกิดขึ้นด้วย เริ่มต้นเมื่อปี 195 ก่อน ค.ศ. (พ.ศ. 348) พระจักรพรรดิจีนได้นำสัตว์ที่ฆ่าแล้ว ไปทำพิธีบูชาที่หลุมฝังศพของขงจื๊อ และมีคำสั่งเป็นทางการให้มีการเซ่นไหว้ขงจื๊อเป็นประจำ และให้สร้างศาลของขงจื๊อขึ้นในหัวเมืองสำคัญ เพื่อทำพิธีเซ่นไหว้ กำหนดให้วันที่ 27 สิงหาคมซึ่งถือเป็นวันเกิดของขงจื๊อ เป็นวันหยุดราชการประจำปีของจีน โดยต่อมาได้เปลี่ยนเป็นวันที่ 28 กันยายน

ฉะนั้นจึงพูดได้ว่า เดิมทีเดียวในสมัยที่ขงจื๊อยังมีชีวิตอยู่ มิได้ถือกันว่าคำสั่งสอนที่ขงจื๊อรวบรวมจากความคิดของนักคิดนักปราชญ์ในอดีตกาลเป็นศาสนา แต่เมื่อขงจื๊อสิ้นชีวิตแล้ว ผู้นิยมในคำสอนต่างยกย่องสรรเสริญ และต่อมาถึงร่วมสามศตวรรษจึงค่อยมีประกาศเป็นทางการให้บูชาขงจื๊อในฐานะศาสดา

จึงสรุปได้ว่า ขงจื้อ เป็นศาสนาที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ เพราะตัวผู้สอนก็ไม่ได้ตั้งใจ แต่เป็นการผสมผสานของคำสอนทางปรัชญาทางชีวิตและสังคมที่มีปัญญา แล้วถูกนำไปหลอมรวมเข้ากับประเพณีโบราณของพื้นบ้าน เนื่องจากขงจื้อไม่ได้ต่อต้านประเพณีเก่า แต่หยิบฉวยเอามาใช้ประโยชน์

แต่ที่สำคัญคือ ได้รับการอุปถัมป์จากจักรพรรดิให้กลายเป็นศาสนาประจำชาติจีนขึ้นมา และตั้งขงจื้อให้เป็นศาสดา ตั้งศาลเจ้าบูชาเป็นเทพองค์หนึ่งขึ้นมา ขงจื้อก็เลยยิ่งกลายเป็นที่ยอมรับในฐานะของศาสนาอย่างเต็มที่ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เรียกได้ว่า เป็น "ปรัชญาที่กลายเป็นศาสนาโดยอุบัติเหตุ" โดยแท้

อย่างไรก็ตาม ศาสนาขงจื้อก็มีชะตากรรมที่ผกผันในช่วงที่เหมาเจ๋อตุง ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนปกครองแดนมังกรนั้น ได้ประณามและโจมตีขงจื๊ออย่างรุนแรงว่า มีแนวคิดที่คร่ำครึ ล่าสมัย เพราะลัทธิคอมมิวนิสท์ถือว่าศาสนาคือยาฝิ่น เป็นเรื่องเหลวไหลหลอกลวงมวลชน ต้องกำจัดให้หมดสิ้น

แต่ปรากฎว่า เมื่อวันเวลาผ่านไป คนจีนคอมมิวนิสท์จำนวนไม่น้อยเริ่มย้อนกลับไปสู่แนวทางและแนวคิดแบบขงจื๊อ ซึ่งเป็นคำสอนของบรรพบุรุษที่ได้มอบให้

เดิมทีปัญญาชนจีนสมัยใหม่ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 มองว่าแนวคิดแบบขงจื่อเป็นอุปสรรคขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของประเทศ และในยุคปฏิวัติสังคมนิยมของเหมาเจ๋อตง ขงจื่อกลายเป็นสัญลักษณ์ทางลบของสังคมศักดินา ดังที่เหมาได้จัดให้มีการรณรงค์วิพากษ์ขงจื่อขึ้นในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมเมื่อ ค.ศ. 1974 แต่เมื่อเข้าสู่ยุคเปิดประเทศและปฏิรูปของเติ้งเสี่ยวผิงในทศวรรษ 1980 ขงจื่อกลับได้รับการยกย่องเชิดชูสถานะขึ้นอีกครั้ง โดยทางการจีนได้เริ่มจัดงานฉลองวันเกิดของเขาตั้งแต่ ค.ศ. 1984 และได้นำเอาแนวคิดแบบขงจื่อมาใช้ประโยชน์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกด้วย

โปสเตอร์ภาพยนต์ "ขงจื้อ" ที่รัฐบาลจีนลงทุนสร้าง ฉายปี 2553

นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน รวมทั้งการปรับปรุงกองทัพจีนให้ทันสมัยได้สร้างความกังวลให้กับประเทศโลกตะวันตก รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศที่มีปัญหาในความสัมพันธ์กับจีน จนนำไปสู่การแพร่หลายของแนวคิดเรื่อง “ภัยคุกคามจากจีน” (China Threat Theory) ซึ่งส่งผลในทางลบต่อภาพลักษณ์ของจีน

ด้วยเหตุนี้ทางการจีนจึงได้พยายามทำให้ชาวโลกมีความเข้าใจที่ “ถูกต้อง” เกี่ยวกับจีน ไม่ว่าจะเป็นการออกสมุดปกขาวว่าด้วยการป้องกันประเทศ รวมทั้งการประกาศหลักการด้านนโยบายต่างประเทศที่สร้างสรรค์ เช่น ความมั่นคงแบบใหม่ (New Security Concept) การทะยานขึ้นอย่างสันติ (Peaceful Rise) โลกแห่งความกลมเกลียว (Harmonious World) เป็นต้น และอีกสิ่งหนึ่งที่ทางการจีนมักยกขึ้นมาอ้างก็คือ แนวคิดเรื่องสันติภาพแบบขงจื่อ ซึ่งมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมทางยุทธศาสตร์ของจีน 

ในทัศนะของทางการจีน อิทธิพลของแนวคิดแบบขงจื่อเป็นหลักประกันว่าการทะยานขึ้นของจีนในคริสต์ศตวรรษที่ 21 จะเป็นไปอย่างสันติ และจะไม่ซ้ำรอยประวัติศาสตร์การขึ้นเป็นมหาอำนาจของประเทศอื่นๆ ในอดีต ดังเช่นกรณีของเยอรมนีและญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสอง


ศิลป์ชัย  เชาว์เจริญรัตน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น