วันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ไทยนับถือศาสนาผี ไม่ว่าก่อนหรือหลังรับศาสนาพราห์ม-พุทธ

โดย สุจิตต์ วงศ์เทศ

ก่อนรับศาสนาพราหมณ์-พุทธ คนพื้นเมืองมีหินตั้งเป็นวัฒนธรรมเนื่องในศาสนาผี

หลังรับศาสนาพราหมณ์-พุทธ หินตั้งก็ยังมั่นคงดำรงอยู่สืบมา เนื่องในศาสนาผี เพียงแต่มีพราหมณ์-พุทธมาประดับประดาปะปนให้ดูดีเท่านั้น

ศาสนาผี คือ ระบบความเชื่อพื้นเมืองดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ของบรรพชนคนสุวรรณภูมิ (รวมคนไทยด้วย) ในอุษาคเนย์ ไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว ก่อนรับศาสนาพราหมณ์-พุทธ

ผี หมายถึง อำนาจเหนือธรรมชาติที่คนแต่ก่อนเชื่อว่าบันดาลให้เกิดได้ทั้งเหตุดีและเหตุร้าย (คำว่าผีมีความหมายเดียวกับคำว่า เจ้า, เทวดา)

คนนับถือศาสนาผีเมื่อหลายพันปีมาแล้ว ต้องเซ่นวักฟ้าดิน เพราะเชื่อว่าผีฟ้าผีดินบันดาลให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์เลี้ยงดูผู้คนได้ จึงแสดงออกด้วยพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ คือ ก่อ (สร้าง) กองดินหรือไม้หรือหิน (ที่เรียกอีกอย่างว่า เส้า) ดังมีในคำบอกเล่าเก่าแก่ว่า
“ก่อเป็นดินเป็นหญ้าเป็นฟ้าเป็นแถน” “ก่อเป็นดินเป็นหญ้าเป็นฟ้าเหมือนเห็ด ก่อเป็นดินเจ็ดก้อน...”

น่าเชื่อว่าลักษณะแบบหนึ่งของการก่อหรือสร้าง คือก่อดินเป็นกองมีไม้ปักตรงกลาง ต่อมาใช้หิน แล้วเรียกกันภายหลังว่า “หินตั้ง” มีรูปแบบหลายอย่างต่างๆ กัน เช่น พบบนยอดเขาพุหางนาค อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

พุหางนาค เป็นชื่อทางน้ำที่มีต้นน้ำอยู่บนยอดเขา ระหว่างเขาพระทางด้านเหนือกับเขาทำเทียมทางด้านใต้ แล้วไหลผ่านซอกเขาลงที่ราบกว้างขวางอันเป็นที่ตั้งชุมชนยุคหินและยุคโลหะ กระทั่งมีพัฒนาการต่อมาเข้าสู่คูเมืองอู่ทอง เพื่อกักเก็บไว้ใช้ในเมืองซึ่งเป็นที่ตั้งของวังกับวัดสำคัญอันเป็นศูนย์กลางของอำนาจศักดิ์สิทธิ์

พุ คือ น้ำที่พุ่งขึ้นมาจากใต้ดิน เรียกน้ำพุ บางทีก็เรียกน้ำผุด, น้ำคำ, น้ำซำ (ซัม), น้ำซึม, น้ำซับ มีแหล่งน้ำอยู่ใต้ดินเรียกบาดาล อันเป็นที่อยู่ของนาคซึ่งเป็นเจ้าบาดาลคอยควบคุมคุ้มครองน้ำ

ชาวบ้านที่อู่ทอง เล่าว่าทางน้ำที่ไหลจากพุบนเขาลูกเตี้ยๆ ระหว่างเขาพระเขาทำเทียมคดเคี้ยวเหมือนส่วนหางของนาค คนจึงเรียกทางน้ำนี้ว่าพุหางนาค

ทิวเขาพระ-เขาทำเทียมเป็นแหล่งน้ำกับแหล่งสมุนไพรรักษาโรค บรรพชนคนพื้นเมืองเมื่อหลายพันปีมาแล้ว ตั้งแต่ยุคหิน, ยุคโลหะ ย่อมยกย่องเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่สิงสถิตของผีฟ้าดิน ต้องก่อสร้างหินตั้งไว้เซ่นวักผีฟ้าดินผู้บันดาลความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะพื้นที่บนยอดเขาพุหางนาค

ราวหลัง พ.ศ. 1000 รับศาสนาพราหมณ์-พุทธจากชมพูทวีปกับลังกาทวีป ศาสนาผียังเป็นแกนหลักความเชื่อของคนพื้นเมืองดั้งเดิม แต่มีพราหมณ์-พุทธมาประดับประดาประสมประสานด้วย ดังพบศาสนสถานและวัตถุที่เขาพระ และเขาทำเทียม ตลอดจนสองฝั่งทางน้ำพุหางนาค ตรงเจดีย์หมายเลข 11 พบธรรมจักรและเสาหินอโศก

แต่บริเวณพุหางนาคซึ่งอยู่ตรงกลางยังเป็นหินตั้งเซ่นวักศาสนาผีอย่างเหนียวแน่น แม้จะมีพราหมณ์-พุทธมาปะปนบ้างก็ยังมีแก่นเป็นผีเหมือนเดิม มิได้หายไปไหน

มีกรณีตัวอย่างอยู่บริเวณชายแดนไทย-พม่า ที่เจดีย์สามองค์ (อ.สังขละ จ.กาญจนบุรี) เริ่มจากกองดินหินสามก้อน เป็นหินสามกอง ดังมีคำบอกเล่าของ อ.สุรินทร์ เหลือลมัย (ที่ปรึกษาสำนักศิลปะและวัฒนธรรม ม.ราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ราชบุรี พิมพ์ในเมืองโบราณ ฉบับตุลาคม–ธันวาคม 2548 หน้า 56-57 ) ว่า

“สมัยก่อนเป็นธรรมเนียมคนเดินป่า มอญและกะเหรี่ยงเมื่อเดินทางออกนอกพื้นที่จะทำพิธีตั้งหินสามก้อนแทนดอกไม้ธูปเทียน บูชาเทพารักษ์ที่สถิตอยู่ในป่าเขา ขออย่าให้ตนเจ็บไข้ได้ป่วยหรือมีอันตรายใดๆ ต่อมาคติความเชื่อเปลี่ยนจากผีเป็นพุทธ หินสามกองจึงกลายเป็นเจดีย์สามองค์”

หินสามก้อน หรือหินสามกอง จัดวางเป็นสามเหลี่ยมมีสามมุม ต่อไปข้างหน้าจะกลายเป็นเฉลว เครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์ป้องกันผีร้าย

ประเทศไทยทุกวันนี้ยังนับถือศาสนาผีที่เป็นมรดกตกทอดจากอดีตหลายพันปีมาแล้ว เช่นจากพุหางนาค

เรื่องนี้ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยเขียนอธิบายมาก่อนแล้วว่าตราบจนปัจจุบันนี้ ไทยนับถือศาสนาผีเป็นฐานรากอันแข็งแกร่ง (เพื่อรักษากฎเกณฑ์ทางสังคม) แล้วรับเอาสิ่งละอันพันละน้อยของศาสนาพราหมณ์กับศาสนาพุทธ (ที่ใช้รักษากฎเกณฑ์ทางจิตวิญญาณของบุคคล) โดยเลือกเอาส่วนที่ไม่ขัดกับหลักผี เข้ามาประดับประดาศาสนาผีเพื่อให้ดูดีมีความทันสมัย มีสง่าราศี จนน่าศรัทธาเลื่อมใสมากขึ้นเท่านั้น

บวชนาค, ทำขวัญนาค, บายสีสู่ขวัญ, เก็บศพหลายวัน, ฯลฯ ล้วนเกี่ยวข้องกับศาสนาผีที่เคลือบด้วยพุทธ

(ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม 2555 หน้า 20)

www.sujitwongthes.com/2012/08/siam09082555

1 ความคิดเห็น:

  1. ติดตามงานของท่านอาจารย์มานานแล้วค่ะขอบคุณข้อมูลดีๆเช่นนี้ค่ะ

    ตอบลบ