วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ศาสนาเชน : ศาสนาที่คล้ายศาสนาพุทธมากอย่างเหลือเชื่อ









ศาสนาเชน เป็นศาสนาที่เกิดขึ้นจากการปฏิรูปศาสนาพราหมณ์ หรือฮินดูในด้านคำสอน ความเชื่อถือ และศาสนาพิธี ตลอดทั้งปฏิเสธเรื่องพระเจ้า เป็นศาสนากึ่งอเทวนิยม ที่เรียกว่ากึ่งก็เพราะยังเชื่อว่ามีชีวะหรือวิญญาณหรืออัตตา ถือว่าทุกสิ่งมีวิญญาณ ศาสนาเชนสอนเน้นหนักในการบำเพ็ญทุกกิริยา

คำว่า “เชน” บางทีออกเสียงว่า ไชน์ หรือ ไยน์ มาจากคำว่า “ชินะ” แปลว่า “ผู้ชนะ” เพราะฉะนั้น ศาสนาเชนจึงหมายความว่าศาสนาแห่งผู้ชนะ (ชนะตนเอง)

ศาสดา

ศาสดาของศาสนาเชนคือ พระมหาวีระ มีนามเดิมว่า วรรธมานะ แปลว่า ผู้เจริญ ประสูติ ณ นครเวสารี แคว้นวัชชี ในภาคเหนือ ของอินเดีย ในราว 635 ปีก่อนคริสต์ศักราช

ในวันประสูติของเจ้าชายวรรธมานะ ได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองสมโภชที่นครเวสารีอย่างใหญ่โต มโหฬาร พระเจ้ากรุงเวสาลีทรงบำเพ็ญทานโปรดให้แจกจ่ายสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคแก่คนยากไร้อนาถา และให้ประกาศนิรโทษแก่นักโทษที่ถูกจองจำ ยิ่งกว่านั้นบรรดา นักพรตและเหล่าอาจารย์พราหม ต่างก็ได้พยากรณ์ว่า เจ้าชายจะทรงเป็นผู้มีอนาคตที่ยิ่งใหญ่ โดยมีคติเป็น 2 คือ ถ้าอยู่ครองฆราวาส จะได้เป็นพระจักรพรรดิ แต่ถ้าทรงออกผนวชจะได้เป็นศาสดาเอกของโลก

เมื่อพระชนมายุได้ 30 พรรษา มหาวีระ ก็ได้ตัดสินพระทัยอย่างเด็ดเดี่ยวออกจากกรุงเวสารีไป พร้อมอธิษฐานจิตว่า “ตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไปเป็นเวลา 12 ปี จะไม่ยอมพูดจาอะไรกับใครแม้แต่คำเดียว” เมื่อเวลาถือปฏิญาณครบ 12 ปี พระมหาวีระก็ทรงคิดและมั่นพระทัยว่าพระองค์ทรงพบคำตอบ ต่อปัญหาชีวิตครบถ้วนแล้ว จึงเสด็จออกไปเพื่อเผยแพร่ความคิดคำสอนใหม่ของพระองค์ ทรงตั้งศาสนาใหม่เรียกว่า ศาสนาเชน ศาสนาของผู้ชนะตนเอง

ภาพ รูปเคารพในศาสนาเชน ซึ่งคล้ายกับของศาสนาพุทธความแตกต่างอยู่ที่ของศาสนาเชนจะเปลือยหมด ไม่สวมจีวรแบบพระพุทธรูป และภาพพระนักบวชชายนิกายทิฆัมพร และนักบวชหญิงของนิกายเศวตัมพร

พระมหาวีระผู้ชนะได้ใช้เวลาในการสั่งสอนสาวก และประสบผลสำเร็จตลอดมาเป็นเวลา 30 ปีเศษ เมื่อพระชนมายุได้ 72 ปี ทรงประชวรหนัก ทรงทราบว่าวาระสุดท้ายของชีวิตจะมาถึง จึงเรียกประชุมบรรดาสาวกทั้งหลาย และสั่งสอนเป็นโอกาสสุดท้ายพระมหาวีระดับขันธ์ในเช้าวันต่อมา สรีระของพระมหาวีระได้กระทำการฌาปนกิจที่เมืองปาวา จึงเป็นสังเวชนียสถาน ที่ควรไปดูไปทำสักการะ

(หมายเหตุ: บางข้อมูลบอกว่า ศาสนาเชนมีพระศาสดาด้วยกัน 24 พระองค์ แต่สำหรับศาสนิกชนเชนเรียกพระศาสดาของตนเองว่า “พระติรถังกร” แปลว่า ผู้กระทำซึ่งท่า(น้ำ)เพื่อพาคนข้ามฟากจากมนุษยภูมิไปสู่นิรวาณ(ภาษาปรากฤต)หรือนิพพานในศาสนาพุทธ พระติรถังกรทั้ง 24 พระองค์ มีคนละชื่อ เกิดเมืองซ้ำกันบ้างต่างกันบ้าง แต่องค์สุดท้ายคือมหาวีระ)

คัมภีร์ของศาสนาเชน

คัมภีร์ของศาสนาเชนชื่อ อาคมะ ตามหลักฐานปรากฏว่าได้จารึกเป็นอักษรปรากฤตประมาณ 200ปีภายหลังสมัยของพระมหาวีระ ส่วนคำอธิบายคัมภีร์ และวรรณคดีของเชนในสมัยต่อมาล้วนเป็นภาษาสันสกฤต


หลักคำสอนสำคัญบางประการของศาสนาเชน 

อนุพรต คือ ข้อปฏิบัติพื้นฐาน มีศีล 5 หรือข้อห้าม 5 ข้อ ที่สอนให้งดเว้นสิ่งที่ไม่ดี คือ 1. อหิงสา การไม่เบียดเบียนให้คนอื่น สัตว์อื่น สิ่งอื่น 2. สัตยะ การไม่พูดเท็จ 3. อัสตียะ การไม่ลักขโมย 4. พรหมจริยะ เว้นจากการประพฤติชั่วทางกาย 5. อัปริคคหะ ความไม่โลภ

มหาพรต คือ ข้อปฏิบัติสำคัญและยิ่งใหญ่ 1. สัมยัคทรรศนะ ความเชื่อที่ถูกต้อง 2. สัมยัคญาณะ ความรู้ที่ถูกต้อง 3. สัมยัคยาริตะ ความประพฤติที่ถูกต้อง


พิธีกรรมของศาสนาเชน

การบวชเป็นบรรพชิต เป็นการเปลี่ยนแปลงภาวะของคนธรรมดาสู่ความเป็นนักพรต ครองผ้า 3 ผืน ต้องโกนผมด้วยวิธี ถอนผมตนเอง ฉันอาหารเท่าที่แสวงหามาได้การถืออัตตกิลมถานุโยค ศาสนาเชนถือว่าการทรมานตนให้ได้รับการลำบากต่างๆ เช่นการอดอาหาร การไม่พูดจากับใครจะสามารถทำให้บรรลุโมกษะ


จุดหมายปลายทางสูงสุดของศาสนาเชน

ศาสนาเชนมีจุดหมายปลายทางสูงสุดของชีวิต อันเป็นความสุขที่แท้จริงและนิรันดร คือ นิรวารณะ หรือ โมกษะ (ความหลุดพ้น)

ผู้หลุดพันจากเครื่องผูก คือ กรรม ได้ชื่อว่า สิทธะ หรือ ผู้สำเร็จ เป็นผู้ไม่มีชั้นวรรณะ ไม่รู้สึกกระทบกระเทือนต่อกลิ่น ปราศจากความรู้สึกเรื่องรส ไม่มีความรู้สึกที่เรียกว่า เวทนา ไม่มีความหิว ความเจ็บปวด ความเสียใจ ความดีใจ ไม่เกิด แก่ ตาย ไม่มีรูป ไม่มีร่างกาย ไม่มีกรรม เสวยความสงบอันหาที่สุดมิได้ วิธีที่จะบรรลุจุดหมายปลายทางนั้นจะต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัดตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานที่เรียกว่า อนุพรต 5 จนถึงอย่างสูงที่เป็นข้อปฏิบัติอันยิ่งใหญ่และสำคัญคือ มหาพรต 3


สัญลักษณ์ของศาสนาเชน


สัญลักษณ์โดยตรงของศาสนาเชนก็คือ รูปปฏิมาของศาสดามหาวีระ ซึ่งในโบสถ์หรือในวัดเชนทั่ว ๆ ไปจะมีรูปปฏิมาของศาสดาประดิษฐานอยู่ หรือภายในบ้านของศาสนิกชนเชนก็มีรูปปฏิมาโลหะไว้บูชาเช่นเดียวกับชาวพุทธมีพระพุทธรูปไว้บูชาทั้งในบ้าน ในวัด โรงเรียน และในโบสถ์ รูปปฏิมาของศาสดามหาวีระที่เก่าแก่ที่สุด ได้แก่ ที่ประดิษฐานที่เมืองโลหะนิปุระ ใกล้ ๆ กับเมืองพิหาร หล่อขึ้นมาในสมัยราชวงศ์เมารยะ และได้ขุดค้นพบที่เมืองกันกาลิทิลา แคว้นมธุระ มากมาย รูปปฏิมาในยุคแรก ๆ ทุกองค์ไม่สวมเสื้อผ้า รูปปฏิมาอีกรูปที่หล่อด้วยทองสำริดอายุเก่าแก่ที่สุด พบได้ในพิพิธภัณฑ์ปรินซ์ออฟเวลล์


รูปเคารพของศาสนาเชนคล้ายกับพระพุทธรูปแต่ความแตกต่างอยู่ที่ของเชนจะเป็นรูปเปลือย ซึ่งแสดงถึง"ความสละสิ้นจากการยึดติดในกิเลส"


นิกายในศาสนาเชน

ศาสนาเชนมีนิกายที่สำคัญอยู่ 2 นิกาย
1. นิกายเศวตัมพร หรือนิกายนุ่งผ้าขาว ถือว่าสีขาวเป็นสีบริสุทธิ์ นักบวชจะนุ่งผ้าขาว
2. นิกายทิคัมพร หรือนิกายนุ่งลมห่มฟ้า (เปลือยกาย) นักบวชก็จะเปลือยกาย 

นักบวช 

มีทั้งนักบวชชายและหญิง นักบวชของนิกายเศวตัมพรจะุนุ่งผ้าขาว แต่นิกายทิฆัมพร ซึ่งแปลว่า ท้องฟ้า ก็จะต้องเปลือยกายหมด

--นิกายเศวตัมพร (นิกายนุ่งผ้าขาว) - นิกายนี้แยกเป็นนิกายย่อยอีก ไม่ต่ำกว่า 84 นิกาย ที่ต่างกันโดยมากเรื่องความเห็นและการปฏิบัติ เช่น นิกายหนึ่งถือว่า ต้องบูชารูปตีรถังกรคือเจ้าลัทธิหรือศาสดา อีกนิกายหนึ่งถือว่า เพียงเคารพนับถือก็พอไม่ต้องบูชา เพราะตีรถังกร มิใช่พระเจ้า นิกายหนึ่งถือว่า ควรสร้างรูปเคารพ แต่อีกนิกายหนึ่งถือว่าไม่ควรสร้าง นิกายหนึ่งเคารพคัมภีร์ แต่ไม่เคารพรูปเคารพเหล่านี้เป็นต้น

นักบวชนิกายเศวตัมพร นอกจากจะใส่ชุดขาวห่มขาว ยังต้องมีผ้าปิดปาก ว่ากันว่าเพื่อมิให้ฆ่าหรือทำลายเชื้อโรค หรือไม่ทำให้เชื้อโรคตาย (เพื่อจะได้ไม่ผิดศีลห้ามฆ่าสัตว์เลย)

--นิกายทิฆัมพร (นิกายเปลือยกาย) - นักบวชชายนิกายทิคัมพร ต้องเปลือยกายตลอด และโกนศรีษะด้วย สิ่งที่นักบวชเหล่านี้ต้องการมีเพียง 2 อย่าง คือ 1.ไม้กวาด เวลาเดินไปไหนจะต้องกวาดเพื่อไม่ให้เหยียบสัตว์ที่มีชีวิต 2. ผ้ากรองน้ำ (ธมกรก) เพื่อจะไม่ต้องดื่มสัตว์มีชีวิตเข้าไปกับน้ำ

นอกจากนี้ นักบวชนิกายนุ่งลมห่มฟ้านี้ยังมีหลักปฏิบัติที่เคร่งครัดจริงอีก 3 ข้อดังนี้
1.ไม่กินอาหารใดๆ แม้น้ำก็ไม่ให้ล่วงลงไปในลำคอในเวลาปฏิบัติ
2.ไม่มีสมบัติใดๆ ติดตัวแม้แต่ผ้านุ่ง สัญจรไปด้วยตัวเปล่าเปลือยกาย
3.นิกายนี้ไม่ยอมให้ผู้หญิงปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น เว้นแต่จะได้เกิดเป็นชายเสียก่อน

แม้จนทุกวันนี้ นักบวชพวกนี้อยู่ไม่เป็นที่เป็นทาง เดินไปเรื่อย ๆ ไม่นุ่งอะไรเลย ร้อนหนาวก็ต้องทนได้ มีสมบัติชิ้นเดียวติดตัวก็คือแส่ ที่เอาไว้ปัดแมลง ไม่นอนที่เดียวเกินหนึ่งคืน ไม่มีลูกศิษย์ถาวร เพราะนักบวชจะเดินทางเปลี่ยนที่ไปเรื่อย ๆ หาตัวไม่เจอ คนอินเดียนับถือกันมาก ว่าเป็นพระอรหันต์

ชาวบ้านที่เห็นนักบวชเหล่านี้ ก็มักจะรีบวิ่งมากราบหลายทีแล้วก็เดินตามไปส่งถึงสุดทางหมู่บ้านของตน เมื่อข้ามไปหมู่บ้านอื่นก็ไปเจอชาวบ้านอย่างนี้อีก เขาก็เข้ามากราบหลายทีแล้วก็เดินไปส่งแบบเดียวกัน นี่เป็นวัฒนธรรมในทุกวันนี้

ยิ่งกว่านั้น ทั้งฝ่ายหญิงและชายไม่ค่อยมีผม ไม่ใช่โกน แต่ใช้วิธีถอนเอา ถอนทั้งหัว ใช้มือถอนด้วยมือเปล่าเท่าที่ถอนได้
มักจะต้องปล่อยให้ยาว พอที่จะถอนได้ แล้วค่อย ๆ ถอนไปเรื่อย ๆ



ภาพ รูปเคารพในศาสนาเชน ซึ่งคล้ายกับของศาสนาพุทธความแตกต่างอยู่ที่ของศาสนาเชนเปลือยกายหมด ไม่สวมจีวรแบบพระพุทธรูป ภาพพระนักบวชชายนิกายทิฆัมพรที่เปลือยกาย ถือแต่ไม้กวาดและปัดยุง และนักบวชชายแลพหญิงของนิกายเศวตัมพร ที่นุ่งห่มขาว ภาพรองเท้าคีบของนักบวช มักจะมีชาวบ้านเอาดอกไม้มาวางด้วยความเคารพ



ความแตกต่างและเหมือนกันของศาสนาเชนกับศาสนาพุทธ

ส่วนที่เหมือนกันมาก ๆ คือ
1. เป็นกึ่งอเทวนิยม ไม่ถืออำนาจศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้าว่าสามารถบันดาลทุกข์สุขให้ได้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับกรรม คือ การกระทำ
2. ไม่เบียดเบียนตนและสัตว์อื่นให้ลำบาก
3. ศีลเหมือนกันมาก โดยเฉพาะศีลพื้นฐาน

ส่วนที่แตกต่างกันคือ นักบวช กับรูปปั้น นักบวชไม่ใส่เสื้อ ส่วนรูปปั้นจะเหมือนพระพุทธรูปมาก โดยเฉพาะปางประทับนั่งจะเหมือนกันมากแต่สังเกตที่กลางหน้าอกจะมีรูปดอกจันทน์ ส่วนปางประทับยืนนี้แตกต่างชัดเจน เพราะพระพุทธเจ้าทรงจีวร ส่วนศาสดามหาวีระยืนเปลือยกายเห็นทุกอย่างได้ชัดเจน

ดูเหมือนเราอาจเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องยอมรับว่า ศาสนาเชนเป็นต้นแบบในหลายประการให้แก่พุทธศาสนา

ศาสนาเชนในปัจจุบัน

ปัจจุบันมีเชนศาสนิกชนประมาณ 6 ล้านคน ทั่วอินเดีย โดยมากมีฐานะดี เพราะเป็นพ่อค้าเสียส่วนใหญ่ ทุกวันนี้ก็ยังมีนักบวชเปลือยเดินธุดงค์ตามถนนหนทาง แต่ศาสนานี้เก็บตัวเงียบ ๆ อยู่แต่ในอินเดียเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าเผยแผ่ไปสู่ต่างประเทศเลย


---
บรรณานุกรม

www.indiaindream.com/ศาสนาเชน/ศาสนาเชนในปัจจุบัน.html
www.eduzones.com/knowledge-2-3-43343.html
wikipedia

1 ความคิดเห็น:

  1. อ่านแล้ว ผมว่า ต่างกับพุทธ เพราะ ของเขา สุดโต้ง ของพุทธสายกลาง / เขายอมรับไม่ต่อต้าน ยอมเป็นตามกรรมเก่า พุทธต้องทำกรรมใหม่ให้ดี ไม่ยอมรับกรรมเก่า สอนให้คนพัฒนาตนให้ดีขึ้น

    ตอบลบ