วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2558

กฎหมายศาสนา...ตอนแรก : กฎหมายฮินดู

ระบบกฎหมายประเภทหนึ่งที่นับว่ามีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อการร่างกฎหมายของหลายประเทศมาก  คือ "กฎหมายศาสนาและประเพณีนิยม"  (Religious and Traditional Law)   ซึ่งคำว่า "ประเพณีนิยม" ที่ว่านี้ก็มักอิงความเชื่อเชิงศาสนาเช่นกัน    มีกลุ่มประเทศจำนวนไม่น้อยที่เอาศาสนาไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายจนวิวัฒนาการกลายเป็นกฎหมายศาสนาขึ้น

การที่กฎหมายประเภทนี้มีอิทธิพลต่อการร่างกฎหมายในหลายประเทศก็เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีความเชื่อในศาสนาใดศาสนาหนึ่งอย่างเคร่งครัด  และศาสนาดังกล่าวก็มีอิทธิพลต่อจิตใจของผู้คนเป็นอย่างมาก
จนรัฐดังกล่าวปรารถนาที่จะประชาชนดำเนินชีวิตอยู่ในกรอบคำสอนของศาสนานั้นๆ   รัฐประเภทนี้จะมีลักษณะเป็น "รัฐศาสนา" ซึ่งก็จะมีหลายระดับความเข้มข้นแตกต่างกันไป    ซึ่งกฎหมายศาสนาทั้งหลายย่อมมีรากฐานที่มาจากคัมภีร์ศาสนาและศาสนประเพณีของศาสนาที่พวกเขานับถือ

ในที่จะกล่าวถึงกฎหมายที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาในสามศาสนาด้วยกัน  คือ กฎหมายฮินดู  กฎหมายคริสต์  และกฎหมายอิสลาม  จะแบ่งกล่าวเป็นข้อเขียน 3 ตอนติดกัน


กฎหมายฮินดู

กฎหมายศาสนาและประเพณีที่มีความสำคัญอย่างมากอีกระบบหนึ่ง ได้แก่กฎหมายฮินดู ซึ่งมีอิทธิพลต่อประชาชนจำนวนมากในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อชาวฮินดูไม่น้อยกว่า 400 ล้านคนในประเทศอินเดีย อย่างไรก็ตาม กฎหมายฮินดูไม่ใช่กฎหมายของชาวอินเดียทั้งหมด เพราะในอินเดียเองมีประชาชนจำนวนไม่น้อยได้ยอมรับนับถือกฎหมายอื่น ได้แก่กฎหมายอิสลาม เป็นต้น ดังนั้น ถ้ากล่าวถึงกฎหมายฮินดูก็ต้องหมายความถึงลัทธิกฎหมายที่ชุมนุมชนต่าง ๆ ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศอินเดียหรือในประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ไทย กัมพูชา ลาว) ได้ยอมรับนับถืออยู่ และนำมาใช้เป็นกฎหมาย หรือได้ยอมรับมาแล้วนำมาแก้ไขดัดแปลงให้เข้ากับความนิยมของชุมชนนั้น ๆ

น่าสังเกตว่าหลักการที่แท้จริงของลัทธิฮินดู ได้แก่การสั่งสอนให้รู้จักวิธีการครองชีวิตและความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ในสังคมนั่นเอง และได้ถ่ายทอดคำสั่งสอนนี้โดยทางผู้รู้ทั้งหลาย โดยอ้างว่าเป็นเทวบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า ตั้งแต่ประมาณ 1500-600 ปีก่อนคริสต์ศักราช หรือประมาณ 2570-3470 ปี มาแล้ว จึงนับว่าเป็นกฎหมายที่เก่าแก่มาก

ที่มาของกฎหมายฮินดู   

1. ศรุติ   ได้แก่หลักการในศาสนาฮินดู ซึ่งปรากฏอยู่ในคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่พระเวท เวทางค์ และอุปนิษัท และได้เกิดขึ้นตั้งแต่ประมาณ 2570-3470 ปีมาแล้ว ในพระคัมภีร์ต่าง ๆ เหล่านี้นอกจากจะมีกฎเกณฑ์ทางกฎหมายแล้ว ยังประกอบไปด้วยบทบัญญัติทางอภิปรัชญา พิธีการทางศาสนา วิชาโหราศาสตร์อีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นหลักการสำคัญขั้นมูลฐานที่จำเป็นแก่มนุษย์ และหลักการดังกล่าวนี้ ได้กำหนดไว้เช่นเดียวกันในศาสนาพราหมณ์

2. ศาสตร์ (Sastras) หรือ สมฤติ (Smritis)  ตามที่กล่าวมาแล้วว่า ศรุติ เป็นบทบัญญัติสำคัญขั้นมูลฐานของกฎหมายฮินดู แต่ศรุติเฉพาะบางส่วนเท่านั้นที่มีความเกี่ยวข้องกับกฎหมาย และโดยทั่วไปมีความเก่าแก่มาก ในการศึกษาหรือการเรียนรู้ต่อไป จึงต้องอาศัยบทบัญญัติที่จัดทำขึ้นต่อมาในภายหลังที่เรียกว่า ศาสตร์ หรือ สมฤติ นี้ ศาสตร์ดังกล่าวนี้ได้บรรยายถึงวิธีการดำรงชีวิตและศิลปะการปกครองของกษัตริย์ ทั้งทางด้านการทหารและการเมือง รวมทั้งศาสตร์ที่เรียกว่ากามคุณ ด้วย

3. ธรรมะ  ได้แก่บทบัญญัติซึ่งกำหนดถึงหน้าที่ ซึ่งผู้นับถือศาสนาฮินดูทั้งหลายจะต้องปฏิบัติ และเป็นที่น่าสังเกตว่าในธรรมะนี้กำหนดได้เฉพาะ “หน้าที่” เท่านั้น แต่ไม่ได้กำหนดถึง “สิทธิ” ควบคู่ไปด้วย หน้าที่ที่กำหนดไว้นี้จะแตกต่างกันออกไปตามแต่ฐานะ และสภาพของบุคคล รวมทั้งความแตกต่างของอายุด้วย และแม้แต่กษัตริย์เองก็ต้องปฏิบัติตามธรรมะในส่วนที่เกี่ยวกับกษัตริย์ด้วย

4. ธรรมศาสตร์  และนิพนธ์   ธรรมะดังที่กล่าวมาแล้ว จะพบอยู่ในตำรากฎหมายซึ่งเรียกว่า “ธรรมศาสตร์” และในบทวิจารณ์ของธรรมศาสตร์ซึ่งเรียกว่า “นิพนธ์” ในส่วนที่เกี่ยวกับธรรมศาสตร์เอง ปรากฏว่ามีอยู่มากมาย แต่ฉบับที่มีชื่อเสียงที่สุดได้แก่ฉบับของมนู ซึ่งชาวตะวันตกนิยมเรียกว่าManu Code และของไทยที่รียกว่าคัมภีร์ธรรมศาสตร์ของมโนสาราจารย์ นอกจากนี้ก็มีคัมภีร์ยัชนวัลย์ (Yajnavalkya) และคัมภีร์นรราช (Narada) เป็นต้น

สำหรับนิพนธ์นั้น มีประโยชน์เพื่อช่วยให้เข้าใจความหมายของธรรมศาสตร์ได้ถูกต้องขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ข้อความในธรรมศาสตร์คลุมเครือไม่ชัดเจน หรือขัดแย้งกันระหว่างธรรมศาสตร์ฉบับต่าง ๆ และสันนิษฐานว่าได้ทำขึ้นระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 11 ถึงตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17
เนื่องจากทั้งธรรมศาสตร์และนิพนธ์มีอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นในท้องถิ่นหนึ่งๆ จึงรู้จักธรรมศาสตร์และนิพนธ์ แต่เพียงฉบับเท่านั้น ทำให้ธรรมศาสตร์และนิพนธ์ที่ใช้ได้ในท้องถิ่นหนึ่งไม่สามารถนำไปใช้ในท้องถิ่นอื่นได้ ดังนั้นจึงมีการแบ่งเขตท้องที่ที่กฎหมายฮินดูสามารถนำมาใช้บังคับได้ โดยยึดถือตามอำนาจบังคับของสำนักกฎหมายฮินดู (School of Hindu Law) ซึ่งได้แก่สำนักใหญ่และมีความสำคัญ 2 สำนักคือ สำนักทิมักชร และสำนักทัยภาค (Dayabhaka) สำนักทัยภาคมีอิทธิพลครอบคลุมอยู่ในเบงกอลกับอัสสัม ส่วนสำนักทิมักชรมีอิทธิพลครอบคลุมส่วนอื่น ๆ ของอินเดียรวมทั้งปากีสถานด้วย สำหรับกฎหมายต่าง ๆ ทางกฎหมายมหาชนที่เรียกว่า อรรถ (Artha) และคำพิพากษาของศาล ไม่ถือว่าเป็นที่มาของกฎหมายฮินดู


อิทธิพลของกฎหมายฮินดูในแต่ละช่วงประวัติศาสตร์ 

กฎหมายฮินดูมีอิทธิพลต่อกฎหมายอื่นๆ  โดยประเทศที่นับถือศาสนาฮินดูและประเทศที่นับถือศาสนาพุทธต่างก็ได้รับอิทธิพลต่อกฎหมายฮินดู ดังนี้

ยุคการครอบครองของอิสลาม - ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ชาวอิสลามได้มีอิทธิพลเข้าครอบครองอินเดีย ดังนั้นศาลต่าง ๆ ในระยะนั้นจึงนำเอากฎหมายอิสลามมาใช้บังคับ ส่วนกฎหมายฮินดูคงนำมาใช้อย่างไม่เป็นทางการ หรือนำมาใช้ในเรื่องการศาสนาเท่านั้น

ยุคการครอบครองของอังกฤษ - ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 อินเดียตกอยู่ภายใต้การครอบครองของอังกฤษ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวมีผลต่อกฎหมายฮินดู เช่น กฎหมายฮินดูได้ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่งและมีผลใช้บังคับต่อประชาชนเช่นเดียวกับกฎหมายอิสลาม แต่ถึงแม้อังกฤษจะยอมให้นำกฎหมายฮินดูมาใช้บังคับ แต่ก็ให้มีการแก้ไขกฎหมายฮินดูดั้งเดิมเสียใหม่และให้กฎหมาฮินดูที่แก้ไขใหม่นี้ใช้บังคับได้แก่ประชาชนในท้องถิ่นที่ถือว่ามีความสำคัญ

แต่เมื่อพิจารณาถึงกฎหมายฮินดูจะมีวิวัฒนาการอย่างยาวนา แต่กฎหมายฮินดูสมัยใหม่ก็ยังคงนำมาใช้บังคับได้แก่เฉพาะชาวฮินดูในอินเดียเท่านั้น ไม่ได้ใช้บังคับแก่ชาวอินเดียทั่วไป ไม่ได้แพร่หลายไปทั่วเหมือนดังเช่นในสมัยก่อนๆ

-----

ดูต่อ ตอนสอง กฎหมายคริสต์(คาทอลิก)  และตอนสาม  กฎหมายอิสลาม 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น