วันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558

จากศาสนาผี สู่ศาสนาเทพ


 กล่าวไปแล้วในเรื่อง "ศาสนาผี" และ "พัฒนาการ" ของศาสนาผี  ทีนี้ผู้เขียนจะพูดถึงในแง่ที่ว่า ศาสนาผี "วิวัฒนาการ" ตัวเองต่อไปอย่างไรจนกระทั่งกลายเป็น "ศาสนาเทพ"  และศาสนาที่มีความเป็นทางการอื่นๆ

เดิมนั้นศาสนาผี เป็นศาสนาที่เกิดจากรากฐานของการความกลัวและความไม่มั่นใจต่อการดำเนินชีวิต  และพื้นฐานก็คือการนับถือบูชาต่อวิญญาณ (ผี) จากผีฟ้าหรือผีแห่งธรรมชาติ  ก็มาสู่ผีบรรพบุรุษ  ผีชนเผ่า ผีประจำตัว  แล้วก็ผีประจำวัตถุของขลัง  

รูปแบบก็จะมีลักษณะที่เรียบง่าย  อิงก็วัตถุและวัสดุตามธรรมชาติดั้งเดิม   ไม่ได้ดัดแปลงมาก   เพราะเป็นการบูชาธรรมชาติ

เทพเจ้ากรีก

แต่ต่อมา  มนุษย์ก็มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น  เชื่อมโยงความเชื่อเดิมเข้ากับสิ่งใหม่ๆ   รวมทั้งพยายามที่จะตอบคำถามที่ยังตอบไม่ได้ให้สมบูรณ์ขึ้น   พยายามสร้างคำอธิบายให้น่าเชื่อถือขึ้น   รวมทั้งทำให้ผีเดิมหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เดิมที่เริ่มไม่ค่อยศักดิ์สิทธิ์แล้ว  หรือเพิ่มความรู้สึกศักดิ์สิทธิ์ยิ่งใหญ่ของผีเดิม ให้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งใหญ่มากขึ้นไปอีก  

วิธีการก็คือ ทำให้วิญญาณหรือผีมีเรื่องราวคล้ายกับสังคมมนุษย์ตามที่เป็นกันอยู่   นั่นคือ     

(๑) จาก "ผีฟ้า" ก็ทำให้กลายเป็น "เทพเจ้าแห่งสวรรค์"  -  จากเดิมที่มนุษย์เชื่อเพียงแค่ว่ามีแค่ท้องฟ้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุด  ก็เริ่มพัฒนาความเชื่อว่าต้องมีที่สถิตของพ่อแม่และบรรพบุรุษที่ตายไป   และคงต้องอยู่สูงกว่าท้องฟ้าที่ตามองเห็น  ก็เลยเกิดแนวคิดเรื่องของสวรรค์   ซึ่งเชื่ออยู่หลังก้อนเมฆหรือสูงกว่านั้น   เหตุฉะนั้น จากผีฟ้าผีดินก็พัฒนากลายเป็นเทพเจ้าหรือเทวดาบนสวรรค์   

(๒) จากนั้นก็ยังสร้างเรื่องราวของวิญญาณให้ซับซ้อนและอัศจรรย์มากยิ่งขึ้นเหมือนกับสังคมมนุษย์   เพื่อเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่วิญญาณ(ผี)    เช่น  จากผีฟ้า  หรือวิญญาณแห่งฟ้า   ก็ยกขึ้นกลายเป็นวิญญาณที่เป็นเจ้าของทั้งฟ้า สวรรค์ และโลก  และเป็นผู้สร้างทุกสิ่ง    ซึ่งมีอำนาจมากและมีเกียรติยศสูงส่งมาก   เช่นเดียวกับที่สังคมมนุษย์จากเดิมที่เป็นหัวหน้าเผ่าก็พัฒนากลายเป็นระบบกษัตริย์และกลายเป็นพระจักรพรรดิ     ฉะนั้นจากวิญญาณหรือผีธรรมดาก็เลยเป็นเทพเจ้าหรือเทวดาในที่สุด  

เหล่าเทพเจ้าจีน
(๓)  สร้างเรื่องราวให้เหล่าเทพเจ้ามีสังคมหรือครอบครัวเลียนแบบสังคมมนุษย์ ที่มีครอบครัวและมีลำดับชนชั้นแห่งการปกครองและสิทธิอำนาจ   จะเห็นได้ว่า  โลกของวิญญาณก็ถูกแต่งเติมสร้างสรรค์จนกระทั่งมีเรื่องของ เทพเจ้าที่สูงสุดที่เป็นเหมือนพระบิดา  และเทพเจ้าผู้เป็นพระมารดา  และเทพที่เป็นบุตร   และเทพที่เป็นพี่น้อง   รวมทั้งหน้าที่และลำดับชั้นแห่งอำนาจของเทพต่างๆ  ที่มีแตกต่างกันไป  เช่นควบคุมธรรมชาติแต่ละอย่างไม่เหมือนกัน  อำนาจไม่เท่ากัน   ไปจนถึงแม้แต่การที่เทพเจ้าต้องร่วมงานกันรวมทั้งขัดแย้งกัน    

(๔)  สร้างให้เกิดขั้วอำนาจของเหล่าวิญญาณ  เพื่อสร้างความแตกต่างระหว่างวิญญาณฝ่ายดีกับวิญญาณฝ่ายชั่ว  (หรือผีดีกับผีชั่ว)   ซึ่งทั้งสองฝ่ายต้องต่อสู้กัน   และฝ่ายฝ่ายวิญญาณดีต้องมีชัยชนะเหนือฝ่ายชั่ว    การพัฒนาความเชื่อเช่นนี้ทำให้มีตัวเปรียบเทียบ  วิญญาณฝ่ายดีจะยิ่งดูสูงส่งมากขึ้น      เพราะฝ่ายดีก็จะกลายเป็นเทพ   ฝ่ายชัวก็จะกลายเป็นมาร    ซึ่งอันนี้ก็จะทำให้เป็นสิ่งจูงใจให้มนุษย์ทำความดีมากกว่าที่จะไปทำชั่ว   เพราะเชื่อว่าความดีจะชนะความชั่วในที่สุด   ความชั่วจะไม่ยั่งยืน  และเพื่อบรรดาเทพเจ้าแห่งความดีจะได้ช่วยเหลืออวยพร   

(๕)  จากนั้นเรื่องราวของวิญญาณของเทพและมาร ก็จะพัฒนารายละเอียดของเรื่องราว  ตั้งแต่ว่าเริ่มต้นมีที่มาอย่างไร   และก่อกำเนิดโลกและมนุษย์ขึ้นมาได้อย่างไร   มีอำนาจและมีผลต่อมนุษย์อย่างไร   มนุษย์ต้องทำอะไรหรือบูชาอย่างไรเทพเจ้าองค์นั้นองค์นี้จึงจะพอใจ     และในบางศาสนาก็อาจไปไกลถึงขั้นว่า มีแผนการณ์ปลายทางสุดท้ายของมวลมนุษย์อย่างไรด้วย

(๖)  เมื่อเนื้อเรื่องของเทพเจ้าหรือเทวดาเกิดขึ้นแล้ว เนื่อเรื่องก็ยังมีพัฒนาการต่อไปได้อีกเรื่อยๆ  เช่น เทพบางองค์อาจมีการอวตารมาเป็นคน   หรือคนธรรมดาที่ทำดีโดดเด่นจนตายไปก็ได้กลายเป็นเทพ   มีเทพที่เป็นผู้ชาย เทพผู้หญิง   มีเทพกึ่งมนุษย์ หรือสัตว์กึ่งเทพ     หรือเทพที่ลงมาสมสู่กับคน  แล้วมีลูกเป็นมนุษย์กึ่งเทพ     ฯลฯ  


ในความรู้สึกของผู้คน  เรื่องราวทางศาสนา หรือตำนานธรรม (religious legend) ในแบบ "ศาสนาเทพ" เช่นนี้ย่อมฟังดูน่าทึ่งและน่าศรัทธา มากกว่าแบบศาสนาผี หรือศาสนาวิญญาณแบบเดิม  ที่ดูพื้นๆแทบไม่มีเรื่องราวอะไรให้ตื่นเต้นเลย     

ยิ่งกว่านั้น  ความนิยมจากสังคมแทนที่ศาสนาผีแบบเดิมมากยิ่งขึ้น ก็คือ "ศาสนสถาน" และ "คัมภีร์ศาสนา"  และ "ศาสนพิธี"  เพื่อสร้างความน่าศรัทธาให้แก่เทพ และตอบสนองความต้องการต่างๆของผู้คน    

การสร้าง "ศาสนสถาน" ที่ใหญ่โตและดูศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ศาสนานั้นดูน่าศรัทธามากยิ่งขึ้น   "คัมภีร์ศาสนา" ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าศาสนานั้นมีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น เพราะคนจะรู้สึกว่าเนื้อหาสาระมีความชัดเจนและแน่นอน  ไม่อาจเปลี่ยนแปลงไปมา   และถ่ายทอดต่อกันไปได้ง่ายขึ้น    ส่วน "ศาสนพิธี" หรือพิธีกรรมต่างๆ เป็นสิ่งที่ทำให้คนปฏิบัติได้อย่างสม่ำเสมออันทำให้เกิดกิจกรรมร่วมที่ผูกพันกับศาสนา 

ด้วยสิ่งเหล่านี้เอง  ในที่สุด ศาสนาเทพก็มาแทนที่ศาสนาผี โดยสมบูรณ์ โดยเป็นศาสนาเทพหลายองค์  หรือ "พหุเทวนิยม" (Polytheism) เป็นเบื้องต้น  

แต่การพูดเช่นนี้ไม่ได้แปลว่า ศาสนาผีถูกกลืนหายไปไหนหมด   ศาสนาผีบางอย่างก็อาจสูญหายไป  โดยอาจถูกลืม หรือถูกกลืน  ถูกลืมคือมีศาสนาใหม่ที่มาแทนที่จนผู้คนลืมเลือนศาสนาผีเดิม   ส่วนถูกกลืนคือ มีศาสนาใหม่ที่มีแนวความเชื่อบางอย่างใกล้เคียงกับศาสนาผีเดิม  แล้วก็เลยทำรวมกันไปโดยถือเป็นอันเดียวกันเพียงแต่เปลี่ยนชื่อเรียกใหม่   เปลี่ยนรายละเอียดเรื่องราวใหม  และเปลี่ยนพิธีกรรมบางอย่างใหม่    ในที่สุดศาสนาผีเดิมก็ถูกลืมเลือนไป  

   แต่ศาสนาผีบางอย่างก็ปรับตัวเองไปใน ๓ ลักษณะ   หนึ่ง ถูกทำให้กลายเป็นศาสนาเทพเจ้า ซึ่งแน่นอนว่าจะมีสถานภาพที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม  โดยกลายเป็นเทพเจ้าองค์ใหม่    หรือ สอง ถูกกลืนให้กลายเป็นเทพองค์หนึ่งในหมู่เทพของศาสนาเทพเจ้าอะไรบางอย่าง    เช่น ผีบ้านผีเรือนหรือผีเมืองของบางถิ่นได้

หรือแบบที่สาม  ยังคงอยู่เหมือนเดิม โดยคนที่นับถือศาสนาเทพอันใหม่ ก็ยังคงนับถือศาสนาผีเดิมไปด้วยในเวลาเดียวกัน   และไม่ถือว่าขัดแย้งกัน   

ตัวอย่างเช่นการถือศาสนาแบบที่คนไทย และคนในภูมิภาคนี้ทำกันอยู่  คือถือศาสนาผสม ผี-พราห์ม-พุทธ  ไปพร้อมๆกัน  ไม่ถือว่าขัดแย้งกัน  

ยังไหว้ทั้งพระ  ทั้งศาลพระภูมิ  และศาลผีตา-ยาย ไปพร้อมๆ กัน

และยังบูชาพระยาแถน (ผีฟ้า)  พระพิฆเณศ  และพระพุทธเจ้า ไปพร้อมๆ กัน 



ศิลป์ชัย   เชาว์เจริญรัตน์


(อ่านประกอบในเรื่อง "ศาสนาผี") 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น