วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ศาสนาบรรพกาล (Primitive religion)

นักวิชาการศาสนาส่วนมาก นิยมจัดให้ศาสนาและความเชื่อทั้งหลายในยุคก่อนประวัติศาสตร์อยู่ในกลุ่มของศาสนาบรรพกาล (Primitive religion) ซึ่งหมายถึงศาสนาที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาทางความคิด  ยังหลงยึดติดในเรื่องของไสยศาสตร์และโชคลาง ปัจจุบันศาสนาดั้งเดิมนี้ยังคงหลงเหลืออยู่บ้างในชนเผ่าที่ล้าหลังทางวัฒนธรรม เช่น ศาสนาของชาวอเมริกันอินเดียน ศาสนาของชาวพื้นเมืองในออสเตรเลีย และศาสนาของชาวพื้นเมืองแอฟริกัน เป็นต้น ศาสนาบรรพกาลนี้มีลักษณะดังนี้

1. การมีความเชื่อในเรื่องพลังอำนาจที่ไร้ตัวตนแต่มีมหิทธานุภาพ (Impersonal power) 

พลังอำนาจที่ชาวเกาะเมลานีเซียนเรียกว่า “มานา” เป็นความเชื่อพื้นฐานดั้งเดิมที่ นักการศาสนาส่วนมากสันนิษฐานว่า น่าจะเกิดขึ้นก่อนความเชื่อในเรื่องผี (Anima) ความเชื่อชนิดนี้ เป็นความศรัทธาในอำนาจที่ไม่มีตัวตน  เป็นอบุคคล (impersonal) เป็นความเชื่อของมนุษย์ในระยะแรกๆ ที่มีต่ออำนาจของธรรมชาติ แล้วจึงพัฒนามาเป็นความเชื่อในเรื่องผี 

ผู้ที่มีความเชื่อเช่นนี้จะแสดงออกด้วยการทำความเข้าใจในกฎเกณฑ์ธรรมชาติ แล้วกระทำตามความเชื่อนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง หรืออาจเลี่ยงการกระทำบางชนิดที่จะทำให้เกิดโทษ จึงกลายเป็นข้อห้ามต่างๆ (Taboo) ที่ปฏิบัติกันสืบมา จนดูเหมือนว่าเป็นการกระทำที่งมงายไร้เหตุผล เพราะผู้ปฏิบัติตามส่วนมากไม่ต้องการคำอธิบายในการกระทำนั้นๆ เพียงแต่รู้ว่าต้องไม่ทำสิ่งนั้นๆ เพราะเป็นข้อห้าม และถ้าทำไปเมื่อใดจะทำให้เกิดโทษอย่างรุนแรงแก่ตน และบางครั้งอาจถึงชีวิตได้ อำนาจอันทรงพลังนี้จึงต่างจากผี เพราะผีอาจให้คุณหรือโทษแก่เราได้ ขึ้นอยู่กับการเซ่นไหว้ และการเอาอกเอาใจเป็นพิเศษ แต่มนุษย์สามารถหลีกเลี่ยงอำนาจของ มานาได้ ถ้าเราทำถูกต้องตามกฎหรือข้อห้าม อำนาจอันทรงพลังนี้อาจมีชื่อเรียกเป็นอย่างอื่นได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภาษาของแต่ละท้องถิ่น 

แจ็ค ไฟน์กัน ได้อธิบายว่า อำนาจอันทรงพลังนี้ในอเมริกามีชื่อเรียกหลายอย่าง เพราะในอเมริกามีชนเผ่าอินเดียนแดงหลายกลุ่ม และแต่ละกลุ่มก็เรียกพลังอำนาจของธรรมชาติ แตกต่างกัน เช่น เผ่าอัลกอนควินส์ (Algonquins) เรียก “มานิตู” (Manitou) เผ่าอีโรคัวส์ (Iroquois) เรียก “โอเรนดา” (Orenda) เผ่าซูซ์ (Sioux) เรียก “วากันดา” (Wakanda) 

2. การมีความเชื่อในเรื่องวิญญาณหรือผี (Animism)

มนุษย์ในยุคดั้งเดิมมักมีความเชื่อว่า โลกที่อาศัยอยู่นี้มีพลังวิญญาณที่สามารถติดต่อกับมนุษย์ได้ วิญญาณเหล่านี้มีอยู่ในทุกๆ สิ่ง เช่น สัตว์ พืช ก้อนหิน ก้อนดิน ลำธาร แม่น้ำ ภูเขา สายลม ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และสามารถให้คุณหรือโทษแก่ผู้ที่กระทำไม่ถูกต้องได้ วิญญาณนี้มีลักษณะเป็นตัวตน นักการศาสนาเรียกว่า “อนิมา” (Anima) ซึ่งมาจากภาษาละติน แปลว่า “ลมหายใจแห่งชีวิต” 

ความเชื่อแบบอนิมาหรือผี ทำให้คนสมัยนั้นนิยมการเซ่นไหว้ หรือกระทำพิธีกรรมต่างๆ เพื่อให้ผีหรือวิญญาณเกิดความพอใจ จะได้รับสิ่งที่ตนปรารถนา ความเชื่อในเรื่องนี้ไม่ได้มีความหมายเฉพาะผีเปรต ผีตานี ผีตะเคียน ผีป่า ผีบ้าน หรือผีบรรพบุรุษเท่านั้น แต่รวมไปถึงเทวดา นางฟ้า เจ้าป่า เจ้าเขา และสิ่งต่างๆ ที่เป็นวิญญาณมีอำนาจบันดาลให้เกิดเป็นสรรพสิ่ง  คนสมัยก่อนเมื่อเวลาเข้าป่าล่าสัตว์มักจะทำพิธีบวงสรวงเซ่นไหว้เพื่อขออนุญาตล่าสัตว์ พร้อมกับ ขอพรให้ล่าสัตว์ได้มากๆ และถ้าตัดต้นไม้ก็ต้องทำพิธีกรรมขออนุญาตตัดต้นไม้เท่าที่จำเป็น พร้อมทั้งให้สัญญาว่าจะใช้ประโยชน์จากไม้เหล่านี้ให้มากที่สุด แม้แต่ก้อนดิน ก้อนหิน ภูเขาและลำธาร คนสมัยก่อนจะให้ความเคารพยำเกรงกันมาก ซึ่งเราจะสังเกตได้ว่า พวกที่นับถือผีหรือวิญญาณต่างๆ มักเป็นพวกที่พยายามเข้าใจชีวิต และมีความนับถือบูชาในธรรมชาติเป็นอย่างยิ่ง 

แม้แต่ศาสนาโดยทั่วๆ ไปที่มีพัฒนาการสูงกว่าศาสนาดั้งเดิม ก็ให้ความเคารพนับถือในธรรมชาติด้วยเช่นกัน เช่น ชาวฮินดูยกย่องแม่น้ำคงคาว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ จึงเกิดความนิยมที่จะทิ้งซากศพหรือแม้แต่อาบน้ำล้างหน้าในแม่น้ำสายนี้  ชาวอิสลามให้ความเคารพก้อนหินสีดำ ซึ่งเรียกว่า หินกาบะห์ ตั้งใจเดินทางไกลข้ามน้ำข้ามทะเลไปแสวงบุญ เพื่อจะได้จุมพิตหินสีดำศักดิ์สิทธิ์นี้ ชาวคริสต์นิยมนำต้นไม้ประดับที่บ้านในวันคริสต์มาส ทั้งๆ ที่ต้นไม้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเกิดของพระเยซู และชาวพุทธก็ให้ความนับถือในธรรมชาติเช่นกัน ในพระวินัยได้มี ข้อห้ามภิกษุสงฆ์ตัดต้นไม้ทุกชนิด โดยเฉพาะต้นไม้ใหญ่ ผู้ใดตัดต้องอาบัติสังฆาทิเสส ศาสดาของศาสนาส่วนมากให้ความสำคัญแก่ธรรมชาติเป็นอย่างยิ่ง แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ความนับถือธรรมชาติในแง่ของการเห็นความสำคัญและคุณค่าได้ถูกเปลี่ยนไปโดยศาสนิกชนรุ่นหลัง ทำให้เกิดเป็นความหลงมงาย ปะปนกับความเชื่อเรื่องผีหรือวิญญาณ ทำให้ศาสนาเหล่านี้มีลักษณะทางความคิดของศาสนาพื้นฐานดั้งเดิมแฝงอยู่ด้วยเช่นกัน

3. การมีความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์ (Magic)

ไสยศาสตร์จัดเป็นความเชื่อเก่าแก่ของมนุษยชาตินับตั้งแต่เริ่มมีศาสนา เป็นสิ่งที่คู่กันมา กับอารมณ์อันปราศจากเหตุผลของมนุษย์ ซึ่งเป็นความรู้สึกล้วนๆ ตามธรรมชาติของสัตว์โลก และเป็นความพยายามของมนุษย์ที่จะบังคับบางสิ่งบางอย่างให้เป็นไปตามเป้าหมายของตน โดยอาศัยอำนาจอันลึกลับเหนือธรรมชาตินั้น
ไสยศาสตร์มี 2 แบบ คือ “ไสยดำ” หรือ “ไสยศาสตร์” (black magic) เป็นไสยศาสตร์ฝ่ายดำที่ให้โทษแก่มนุษย์ ทำให้เกิดความเสียหาย ความเดือดเนื้อร้อนใจกับมนุษย์ ส่วนแบบ “ไสยขาว”หรือ “ไสยศาสตร์ขาว” (white magic) เป็นฝ่ายดีหรือฝ่ายที่ทำคุณให้กับมนุษย์ 

อาจารย์กีรติ บุญเจือ ได้จำแนกชนิดของไสยศาสตร์ เป็น 5 ชนิดดังนี้ 

(1) ไสยศาสตร์แบบตัวแทนผูกมัด (Representative magic)   ไสยศาสตร์ชนิดนี้เป็นไสยศาสตร์ที่ผู้มีพลังจิต หรือมีคาถาอาคมกระทำต่อวัตถุอย่างใด อย่างหนึ่งที่ถือเป็นตัวแทนของบุคคลที่ตนต้องการกระทำ เช่น การปั้นชายหญิงให้กอดกันแล้วทำพิธีตามลัทธิก็จะเกิดผลสะท้อนไปถึงชายหญิงที่ต้องการ ให้มีความปรารถนาซึ่งกันและกัน การทำเสน่ห์ยาแฝด การฝังรูปฝังรอยนี้ ผู้ถูกกระทำจะมีลักษณะหงุดหงิดง่าย ใบหน้าหมองคล้ำ ขอบตาเขียว วิธีแก้ไขยากมาก นอกจากครูอาจารย์ที่เจริญศีลบริสุทธิ์ และทรงพุทธาคมขั้นสูงจึงจะทำได้ นอกจากนี้ยังมีวิธีการใช้เข็มทิ่มแทงตุ๊กตา ซึ่งเป็นตัวแทนของศัตรู เพื่อทำให้เกิดความเจ็บปวดทรมานจนกระทั่งตาย พิธีกรรมชนิดนี้นิยมกันมากในแอฟริกา และในบางกลุ่มของชนชาวเขาในประเทศไทย การทำไสยศาสตร์แบบตัวแทนผูกมัดนี้เริ่มมาตั้งแต่สมัยของมนุษย์โครมันยอง พวกเขานิยมเขียนภาพสัตว์บนผนังถ้ำ แล้วใช้อาวุธกระหน่ำแทงไปที่รูปภาพเหล่านั้น หรือบางภาพอาจเขียนภาพสัตว์ที่กำลังถูกล่าหรือถูกแทงจนบาดเจ็บ เพื่อเป็นการ ตัดไม้ข่มนามก่อนออกล่าสัตว์ ซึ่งจะทำให้จับสัตว์ได้ง่ายมากขึ้น 


(2) ไสยศาสตร์แบบชิ้นส่วนผูกมัด (Part for all magic)   ไสยศาสตร์ชนิดนี้เกิดจากการนำเอาชิ้นส่วนของร่างกายบางส่วนมากระทำตามพิธีกรรม เพื่อให้เป็นไปตามความปรารถนาของตนที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ ซึ่งอาจเป็นไปเพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือเพื่อเป็นโทษแก่ผู้อื่น เช่น การใช้ขี้ไคลของตนมาทำตามพิธีกรรมแล้วใส่ในน้ำหรืออาหารให้ชายหรือหญิงที่ตนหลงรักได้กินเข้าไป จะทำให้เกิดความลุ่มหลงอย่างขาดสติสัมปชัญญะเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรมอื่นๆ อีก ได้แก่ การใช้ชิ้นส่วนต่างๆ ของฝ่ายตรงข้าม เช่น ผม เล็บ ขน หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายมากระทำพิธีเสกเป่าด้วยคาถาอาคมเพื่อให้คนๆ นั้นได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ 

(3) การเข้าทรง (Being Medium)   ไสยศาสตร์ชนิดนี้เกิดจากการยินยอมให้วิญญาณใดวิญญาณหนึ่ง ล่องลอยมาสิงอยู่ ในตัวและกระทำการต่างๆ โดยอาศัยร่างทรงเป็นสื่อ 

(4) การปลุกเสกเครื่องรางของขลัง (Fetichsm)   ไสยศาสตร์ชนิดนี้เกิดจากใช้วัตถุอย่างใดก็ได้เป็นสื่อชักนำพลังอำนาจที่เหนือธรรมชาติเข้ามาสิงสถิตอยู่ในวัตถุนั้นๆ โดยใช้คำพูดหรือภาษาบางอย่างที่ถูกเคล็ด ซึ่งเรียกว่า คาถาอาคม ทำให้วัตถุชิ้นนั้นมีฤทธิ์ มีอำนาจพิเศษ สามารถใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เป็นเจ้าของได้ ในการทำเครื่องรางของขลังนี้ อาจใช้วัสดุได้หลายชนิด เช่น ไม้ โลหะ หิน กระดูกสัตว์ ขนนก ขนสัตว์บางชนิด (เช่น ขนเม่น และขนหางช้าง เป็นต้น) หรือในบางครั้งอาจจะใช้พวกอาวุธต่างๆ มาลงอาคมก็ได้ เพื่อทำให้อาวุธนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น มีฤทธานุภาพในการประกอบกิจกรรมตามที่ตนต้องการ 

(5) หมอผี /ชามาน (Shamanism) 

ไสยศาสตร์ชนิดนี้เกิดจากการที่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ฝึกฝนตนเองจนมีฤทธิ์อำนาจ สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ตลอดจนใช้ฤทธิ์อำนาจนั้นกระทำการต่างๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย

ชามานของมองโกเลีย
นอกจากนี้ ชามาน อาจหมายถึงบุคคลที่มีฤทธิ์โดยธรรมชาติ จนสามารถทำบางสิ่ง บางอย่างได้ เช่น รักษาโรคได้ ห้ามฝนไม่ให้ตก และมีความสามารถในการมองเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้า เป็นต้น ตัวอย่างในกรณีที่รักษาโรคได้ เช่น ความเชื่อที่ว่า ลูกคนสุดท้องมีฤทธิ์รักษาโรคต้อที่ตาได้โดยการทำพิธีตัดเม็ดข้าวสารบนทะนานตาเดียว ความเชื่อที่ว่าคนที่เกิดมาโดยเอาเท้าออกก่อน มีอำนาจสามารถใช้เท้าเขี่ยข้างนอกลำคอทำให้ก้างหรือกระดูกที่ติดคอหลุดได้

4. การมีความเชื่อในเรื่องการทำนายเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอนาคต (Divination)
การทำนายเหตุการณ์ในอนาคตเป็นความสามารถอย่างหนึ่งของพ่อมดหรือเจ้าคาถาอาคมในยุคดึกดำบรรพ์ เราอาจกล่าวได้ว่าเป็นหน้าที่สำคัญของบุคคลเหล่านี้ที่จะต้องกระทำควบคู่ไปกับการรักษาโรค และป้องกันภัยพิบัติให้กับกลุ่มชนของตน การทำนายเหตุการณ์ ล่วงหน้านี้ อาจกระทำได้หลายอย่างคือ 

(1) การนั่งทางในติดต่อกับวิญญาณหรืออำนาจที่อยู่เหนือธรรมชาติเพื่อบอกความเป็นไปในอนาคต
(2) การนั่งทางในโดยใช้อำนาจพิเศษที่มีอยู่ในตนเองให้เห็นความเป็นไปในอนาคต
(3) โดยการเสี่ยงทาย เช่น การเสี่ยงทายของคนจีนโบราณเมื่อต้องการล่วงรู้อนาคต ด้วยการนำเอากระดองเต่ามาเผาให้ร้อนจนแตกแล้วทำนายเหตุการณ์ โดยอ่านจากรอยแตกของกระดองเต่า
ในประเทศกรีกยุคโบราณ คนในสมัยนั้นนิยมไปหานักบวชในวิหารเดลฟี (Delphi) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นวิหารศักดิ์สิทธิ์ของเทพอพอลโล นักบวชผู้หญิงจะเป็นคนติดต่อกับเทพเจ้า โดยนั่งบนเก้าอี้สามขา แล้วสูดไอดินของวิหารเข้าไป จากนั้นจะพูดออกมาเป็นภาษาที่นักบวชชาย จะเป็นผู้ตีความหมายและทำหน้าที่รับข่าวสารจากเทพเจ้ามาบอกคนอื่นๆ ส่วนมากแล้วข่าวสาร เหล่านั้นเป็นเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

5. การมีความเชื่อในเรื่องข้อห้าม (Taboo)

วิถีชีวิตของมนุษย์ในยุคดั้งเดิมมีข้อห้ามต่างๆ มากมาย ข้อห้ามเหล่านี้เป็นกฎเกณฑ์ที่ระบุวิธีการหลีกเลี่ยงการกระทำบางอย่างที่อาจทำให้เกิดโทษ ชาวหมู่เกาะโพลีเนเซียนเรียก ข้อห้ามเหล่านี้ว่า “ตาบู” โดยทั่วๆ ไปแล้วข้อห้ามเหล่านี้จะเกี่ยวกับบุคคลพิเศษของคนใน สมัยนั้น ได้แก่ กษัตริย์ หัวหน้าเผ่า นักรบ พระ คนทรง และหมอผี เป็นต้น 

ข้อห้ามเหล่านี้ ได้แก่ ข้อห้ามที่เกี่ยวกับการจับหรือแตะต้องสิ่งของต่างๆ ที่ผู้มีอำนาจสูงใช้ โดยขาดความเคารพยำเกรง หรือแตะต้องโดยไม่ขออนุญาต ซึ่งข้อห้ามเหล่านี้ในประเทศไทยก็ได้ปฏิบัติกันมาแต่โบราณกาล แม้แต่ในประเทศญี่ปุ่นสมัยก่อนก็มีปฏิบัติเช่นเดียวกัน และรวมไปถึงข้อห้ามที่ไม่อนุญาตให้สามัญชนมองพระพักตร์ขององค์จักรพรรดิ ถึงแม้ว่าพระองค์จะเสด็จประพาสป่าล่าสัตว์ ผู้ที่พบเห็นจะต้องก้มหน้าทุกคน ทั้งนี้เพราะแต่ก่อนมาเชื่อกันว่ากษัตริย์และองค์จักรพรรดิจัดว่าเป็นบุคคลที่มีศักดิ์สูง ศักดิ์สิทธิ์ เป็นสมมติเทวราชหรือ อาจเป็นโอรสของพระอาทิตย์ ห้ามมิให้ผู้ใดล่วงละเมิดในทุกๆ ทาง ผู้ที่ล่วงละเมิดจะต้องได้รับโทษถึงแก่ชีวิต 

ชาวไอยคุปต์โบราณมีข้อห้ามบุคคลเข้าไปในสถานที่ฝังศพของฟาโรห์ ข้อห้ามนี้ก็จัดอยู่ในทำนองเดียวกับที่กล่าวมาแล้วใน ตอนต้น ผู้ละเมิดจะต้องถูกทำลายด้วยอำนาจคำสาปแช่ง ที่พระได้กระทำพิธีกรรมไว้แล้วก่อนปิดสุสานหรือปิรามิด 

นอกจากนี้ ยังมีข้อห้ามที่เกี่ยวกับพวกนักบวชและหมอผี ได้แก่ ข้อห้ามบางอย่างที่ไม่ อนุญาตให้คนทรง นักบวช หรือหมอผี กินพืชหรือสัตว์บางชนิด เพราะอาจทำให้อาคมเสื่อมหรืออาจเป็นโทษแก่บุคคลนั้นๆ ได้ ในบางกลุ่มหรือบางเผ่าพันธุ์ มีข้อห้ามนักบวชหญิงที่เป็น พรหมจรรย์แตะต้องชายใดแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม อาจมีผลทำให้เธอถูกลงโทษโดยอำนาจ ศักดิ์สิทธิ์ที่คนในกลุ่มนั้นนับถือ
นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามอื่นๆ ที่ใช้บังคับพฤติกรรมคนทั่วๆ ไป ทั้งนี้โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความสงบสุขแก่ตนเองและสังคม ซึ่งมีดังต่อไปนี้คือ

- ห้ามเหยียบหัวเรือ เพราะเชื่อว่ามีแม่ย่านางหรือนางเรือ ซึ่งอาจให้โทษทำให้เรือคว่ำได้
- ห้ามหญิงมีระดูประกอบพิธีกรรมสำคัญของกลุ่ม ในบางแห่งถึงขั้นจับแยกให้อยู่ต่างหากจากครอบครัวในขณะที่มีระดู- ห้ามกินพืชบางชนิด เช่น น้ำเต้า สำหรับพวกที่มีเครื่องรางของขลังบางคน อาจารย์ผู้เป็นเจ้าของวิชาจะสั่งห้ามกินน้ำเต้าหรือพืชผักบางชนิด เพราะจะทำให้ของขลังและอาคมเสื่อม
- ห้ามใช้มีดเขี่ยขี้เถ้าในกองไฟ
- ห้ามนั่งบนถังตวงข้าว
- ห้ามลอดราวตากกระโปรงผ้านุ่งและผ้าถุงของผู้หญิงอย่างเด็ดขาด มิฉะนั้นจะทำให้โชคไม่ดี และถ้าใส่เครื่องรางของขลังจะทำให้ของเหล่านั้นหมดความศักดิ์สิทธิ์

6. การมีความเชื่อในเรื่องรูปสัญลักษณ์หรือโตเต็ม (Totem)

ได้แก่เครื่องหมายประจำกลุ่มที่มีบทบาทพิเศษสำหรับคนในกลุ่มนั้นๆ จนอาจกลายเป็น เครื่องรางได้ ผู้ที่เชื่อในเครื่องหมายเหล่านี้จะนำมาทำเป็นสัญลักษณ์ประจำตระกูลหรือประจำหมู่ของตน ศรัทธาเช่นนี้เรียกว่า ลัทธิโตเต็ม (Totemnism) เช่น พวกนับถืองูจะไม่ยอมทำร้ายหรือกินเนื้องู แต่จะยกย่องและให้ความเคารพอย่างสูงสุด จนถึงขั้นทำเป็นรูปลักษณ์ประจำ เผ่าพันธุ์ของตน ในบางกลุ่มอาจจะนับถือลิงหรือนกยูง เช่น คนบางกลุ่มในประเทศอินเดีย

ลัทธิโตเต็มส่วนมากมีอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ ออสเตรเลียและแอฟริกา ลักษณะของศรัทธาเช่นนี้มีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อทางสังคม (Social Customs) เพราะมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ในเผ่าพันธุ์ของตน

Totem
คำว่า โตเต็ม มาจากคำว่า “โอโตเตมัน” (Ototeman) ซึ่งเป็นภาษาของพวกอินเดียนแดง เผ่าโอจิบวา (Ojibwa) ซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณทะเลสาปเกรท เลค (Great Lake) ของประเทศสหรัฐอเมริกา “โตเต็ม” มีความหมายว่า ความเป็นพี่น้อง ในปี ค.ศ. 1791 คำว่า “โตเต็ม” ได้ถูกนำมาใช้ในประเทศอังกฤษ ทำให้ความหมายเปลี่ยนแปลงไปเป็นความเชื่อในเรื่องวิญญาณที่คอยปกป้องคนแต่ละคน โดยวิญญาณเหล่านี้จะปรากฏออกมาในรูปของสัตว์

ความเชื่อในเรื่องโตเต็มมักจะผสมผสานไปกับการใช้เวทมนตร์คาถา พิธีบูชาบรรพบุรุษ และความเชื่อในเรื่องวิญญาณ จึงทำให้เกิดความยากลำบากที่จะแยกความเชื่อแบบโตเต็มออกมาจากความเชื่อแบบอื่นๆ
นักวิชาการทางศาสนวิทยาบางท่าน ได้จำแนกลัทธิโตเต็มออกเป็น ๒ ประเภท คือ 

Totem
(1) ลัทธิโตเต็มส่วนบุคคล คือ การแสดงออกซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสัตว์หรือพืชบางชนิด หรือความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสิ่งอื่นๆ ที่มีอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนมีอำนาจพิเศษที่สามารถปกป้องคุ้มครองบุคคลแต่ละคนที่มีความผูกพันกับสิ่งนั้นๆ เช่น อินเดียนแดง บางคนอาจจะถูกกำหนดให้มีโตเต็มมาตั้งแต่เกิด อันเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวหรือบุตรอาจได้รับโตเต็มผ่านทางบิดาหรือมารดาก็ได้ มีข้อน่าสังเกตคือบุคคลใดที่มีโตเต็มเฉพาะบุคคลอย่างเดียวกันมักจะชอบอาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกัน จึงทำให้เกิดลัทธิโตเต็มของกลุ่มชน ลัทธิโตเต็มส่วนบุคคลนี้มักปรากฏอยู่ในพวกพื้นเมืองเดิมในทวีปออสเตรเลีย

(2) ลัทธิโตเต็มของกลุ่มชน คือ การแสดงออกซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชนกับสัตว์หรือพืชบางชนิด รวมทั้งสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องผูกพันกับกลุ่มชนนั้นๆ และถ่ายทอดต่อๆ กันมาจนเป็นมรดกตกทอด บางกลุ่มจะสร้างตราหรือสัญลักษณ์ รวมทั้งกฎ ข้อห้ามของโตเต็ม สัตว์หรือพืชที่ถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์จะถูกห้ามฆ่าห้ามนำมากิน ประเภทนั้นๆ โตเต็มของกลุ่มชนเป็นมรดกทางบิดาหรือมารดาก็ได้ กลุ่มที่นับถือโตเต็มใดก็จะเชื่อกันว่า กลุ่มชนนั้นสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับสัตว์หรือพืชที่เป็นโตเต็ม ของกลุ่มชนนั้น 

ลัทธิโตเต็มของกลุ่มชนนี้ยังคงมีอยู่ในทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปอเมริกาใต้ และประเทศอินเดีย เป็นต้น 

7. การมีความเชื่อในเรื่องการบูชายัญ (Sacrifice) 

การบูชายัญ หรือบางทีก็เรียกว่าการสังเวย  หมายถึง การบูชาและร้องขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้ดลบันดาลให้เกิดความสำเร็จในสิ่งที่ตนปรารถนา ซึ่งเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งของศาสนาบรรพกาลที่นิยมกระทำกัน  ตามแต่วิธีการหรือเงื่อนไขตามความเชื่อของคนแต่ละเผ่าพันธ์ุ

การฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญในศาสนาฮินดู
สิ่งที่นิยมนำมาบูชายัญหรือสังเวยส่วนมากเป็นสัตว์ เช่น วัว แพะ แกะ ไก่ หมู เป็ด นก และปลา ฯลฯ  สิ่งเหล่านี้จะถูกปรุงแต่งเป็นอาหารอย่างดี แล้วแต่การจินตนาการของแต่ละบุคคลที่จะทำให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้พอใจมากที่สุด นอกจากนี้อาจจะบวงสรวงและสังเวยด้วยอาหารประเภท ข้าว นม เนย น้ำ ผลไม้ เครื่องประดับ และอาวุธ เป็นต้น  ในบางแห่งถ้ามีการทำสงครามกัน ฝ่ายที่แพ้ถูกจับเป็นเชลยอาจจะถูกนำมาสังเวยเทพเจ้าของพวกที่ชนะ การนำมนุษย์มาสังเวยเช่นนี้ มักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งในยุคดั้งเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกที่รักมากที่สุด หรือคนหนุ่มคนสาว นิยมถูกเลือกให้เป็นเครื่องสังเวยบนแท่นพิธี ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่าอาจจะทำให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์พอใจและดลบันดาลให้เกิดความสำเร็จสมความปรารถนา

การบูชายัญมนุษย์
วิธีการบวงสรวงและสังเวยกระทำได้หลายแบบ ถ้าเป็นพวกของเหลวประเภท น้ำ นม และเหล้า จะใช้วิธีเทลงพื้นดินจนชุ่มและสมมติว่า พลังอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์นี้ได้รับการเซ่นไหว้แล้ว แต่ถ้าเป็นพวกอาหาร เช่น ข้าว ขนม ผลไม้ และเนื้อสัตว์ อาจจะใช้วิธีจัดวางในภาชนะไปตั้งวาง ณ ที่ใดที่หนึ่ง บางครั้งอาจจะใช้เนื้อสัตว์หรือพวกเมล็ดพืชต่างๆ มาเผา และสมมติกันว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นได้สูดเอาควันของอาหารนั้นแทนการกินทางปาก เมื่อบวงสรวงและสังเวยเรียบร้อยแล้ว อาหารที่เหลือจะนำมาแบ่งกันกินในกลุ่มของตน เพื่อแสดงถึงสายใยผูกพันระหว่างสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาตินั้นกับคนบวงสรวง 

นอกจากการบูชายัญแล้ว  มีพิธีกรรมที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งปรากฏในหลายแห่งของเมืองไทย เรียกว่า “บัตรพลีกรรม” หรือ “บัตรพลี” คำว่า “บัตร” คือ “ใบ” หมายถึง “ใบไม้” เช่น ใบตองที่นำมาเย็บเป็นกระทงใส่อาหาร “พลี” คือการ “เซ่นไหว้” รวมความแล้วคำว่า “บัตรพลี” ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายว่า เครื่องเซ่นสรวงสังเวย ในที่นี้ได้จำแนกบัตรพลีออกเป็น 4 อย่าง ตามลักษณะที่มีอยู่ทั่วไปในประเทศไทย 

1. บัตรเทวดา เครื่องเซ่นสรวงนิยมทำด้วยกาบกล้วย เป็นรูปกระโจม มีพื้น ๓ ชั้น สำหรับใส่เครื่องเซ่นถวายเทวดา ในประเทศอียิปต์โบราณ ก็มีการถวายเครื่องเซ่นเทวดา ด้วยวัสดุที่มีรูปร่างคล้ายๆ กันนี้ ซึ่งพบได้จากภาพเขียนในสุสานของฟาโรห์บางองค์
2. บัตรพระเกตุ เครื่องเซ่นสรวงทำคล้ายบัตรเทวดาแต่มีพื้น ๙ ชั้น (ตามกำลังของ พระเกตุ) สำหรับใส่เครื่องเซ่นสรวง ทำคล้ายบัตรเทวดานวเคราะห์ บัตรเหล่านี้พบมากในพิธีโกนจุกและพิธีฉลองอายุ โดยมีพราหมณ์เป็นผู้ทำพิธีกรรม
3. บัตรสามเหลี่ยมหรือบัตรคางหมู ทำด้วยหยวกกล้วย เป็นรูปถาดสามเหลี่ยมสำหรับใส่เครื่องเซ่นถวายพระยายักษ์
4. บัตรสี่เหลี่ยม ทำด้วยหยวกกล้วยประดิษฐ์เป็นรูปถาดสี่เหลี่ยมสำหรับใส่เครื่อง เซ่นไหว้พระภูมิเจ้าที่
บัตรทั้ง 4 อย่างนี้ ให้เลือกทำอย่างใดก็ได้ ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยและจุดมุ่งหมายที่กระทำ สำหรับผีอื่นๆ ที่ไม่ใช่เทวดา หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีฤทธิ์อำนาจสูง อาจทำเพียงแค่การเซ่นไหว้ ตามธรรมดา สำหรับภาชนะใส่อาหารใช้ใบตองที่เจียนให้กลมหรืออาจฉีกใบตองจากต้นโดย ไม่ต้องเจียนเลยก็ได้ แล้วใช้ของกินวางบนนั้น 

8. พิธีกรรม (Rites of Passage)

การปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาที่จัดวางอย่างเป็นระบบมีขั้นตอน เรียกว่า พิธีกรรม ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่มีลักษณะสากลและเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น พิธีการตั้งชื่อ พิธีการล้างบาป พิธีรับศีล พิธีโกนจุก พิธีแต่งงาน พิธีทำศพ และพิธีบวช เป็นต้น

นอกจากนี้อาจจะรวมไปถึงศิลปะแห่งการทำให้ชีวิตอยู่รอดปลอดภัย เช่น การตั้งพิธีกรรมเพื่อการล่าสัตว์ ตัวอย่างที่พบมากในประเทศไทยคือการตั้งพิธีกรรมบวงสรวงเทวดาเพื่อล่าปลาบึกในแม่น้ำโขง การทำพิธีกรรมอีกอย่างหนึ่งที่พบเป็นประจำทุกปี คือ การทำพิธีแรกนาขวัญ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเกษตรกรรม และพิธีกรรมอีกชนิดหนึ่งที่พบมากในแถบ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในฤดูร้อน คือ พิธีเซิ้งบั้งไฟเพื่อขอฝน

พิธีกรรมเป็นการแสดงออกของจิตสำนึกที่มีความเชื่อและศรัทธาในพลังอำนาจ อันลึกลับที่อยู่เหนือธรรมชาติ ในบางครั้งพิธีกรรมอาจมีจุดมุ่งหมายถึงการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์เพื่อเรียกความโชคดีเข้ามาสู่ตน เช่น การรดน้ำมนต์ การลุยไฟ และการปัดรังควาน เป็นต้น 

9. การมีความเชื่อในเรื่องการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ (Ancestor Worship) 

คุณลักษณะของศาสนาดั้งเดิมในข้อนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากความเชื่อในเรื่องผีและวิญญาณของบรรพบุรุษ เช่น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย จนถึงระดับหัวหน้าเผ่าพันธุ์และกษัตริย์ เมื่อบรรพบุรุษล่วงลับไปแล้วจึงเป็นหน้าที่ของลูกหลานที่จะต้องให้ความเคารพด้วยการเซ่นไหว้อยู่เสมอ ถ้าลูกหลานคนใดไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องอาจจะถูกลงโทษต่างๆ นานา ดังนั้นการทำศาลปู่ตา การทำซุ้ม การทำปิรามิด ตลอดจนพิธีกรรมต่างๆ ที่เซ่นไหว้ปู่ ย่า ตา ยาย ล้วนมีเหตุมาจากความเชื่อในเรื่องผีและวิญญาณ ก็ทำให้เกิดการสร้างสถานที่เฉพาะ หรือการหาอาหารมาเซ่นไหว้ ทั้งนี้เพื่อให้วิญญาณเหล่านี้มาปกปักรักษาหรือดลบันดาลให้เกิดความสำเร็จในกิจการต่างๆ การบูชาบรรพบุรุษจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเซ่นไหว้และการทำ พลีกรรม

อนึ่งในการเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษนี้อาจไหว้ด้วยเนื้อสัตว์ ข้าว ผลไม้ เหล้า ฯลฯ และใน บางแห่งอาจนำมนุษย์มาฆ่าเพื่อเซ่นไหว้ดวงวิญญาณเหล่านี้ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของผู้ไหว้ และขึ้นอยู่กับความเข้มข้นตามแรงปรารถนาของผู้ไหว้


ศาสนาของมนุษย์ยุคบรรพกาล
ที่นับถือศาสนาบรรพกาลเป็นอย่างไร?
   

คุณลักษณะของศาสนาพื้นฐานดั้งเดิมทั้ง 9 ประการ ที่ได้กล่าวมาแล้วนี้  จะปรากฏอยู่ในความเชื่อของมนุษย์นับตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์แล้วสืบทอดกันต่อๆ มา ซึ่งสามารถศึกษาได้จากความเชื่อของชนพื้นเมืองเผ่าต่างๆ ทั่วโลก ในที่นี้จะศึกษาเฉพาะความเชื่อของ ชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกาเหนือและทวีปแอฟริกา เพราะความเชื่อของชนพื้นเมืองทั่วๆ ไปมีลักษณะคล้ายคลึงกัน และวัฒนธรรมความเชื่อของแต่ละพื้นที่ ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิศาสตร์ ทำให้เกิดความแตกต่างในส่วนย่อย แต่แกนหลักแห่งความเชื่อโดยทั่วๆ ไปยังคงมีลักษณะร่วมกัน ซึ่งเราจะศึกษากันในรายละเอียดต่อไป

1. ศาสนาและความเชื่อของมนุษย์นีแอนเดอธัล (Neanderthal)

การกำเนิดศาสนาดั้งเดิม เราสามารถสืบย้อนขึ้นไปถึงยุคของมนุษย์นีแอนเดอธัล (Neanderthal) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงระหว่างประมาณ ๑๐,๐๐๐-๒๕,๐๐๐ ปี ก่อนคริสตกาล มนุษย์กลุ่มนี้นิยมหาอาหารด้วยการล่าสัตว์และหาผลไม้ตามป่าเขา ในสมัยนี้ยังไม่มีการเขียนบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เราจึงไม่สามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับศาสนาและความเชื่อของพวกเขา นอกจากอาศัยหลักฐานต่างๆ ทางโบราณคดีจากการขุดค้นพบกระดูกสัตว์และ เครื่องมือต่างๆ ทำให้นักโบราณคดีบางคนสันนิษฐานว่า ในสมัยนั้นนิยมฝังอาหารและภาชนะตลอดจนเครื่องมือและอาวุธต่างๆ ไปกับศพ เพื่อให้คนตายนำไปใช้ หรือไม่ก็นำไปถวายแก่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือ 

นอกจากนี้นักโบราณคดียังพบกระดูกหมีในหลุมศพ มีการจัดวางกระดูกเหล่านั้นอย่างเป็นระเบียบ แสดงถึงการให้ความเคารพอย่างสูง แต่ก็ไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่าพวกมนุษย์ นีแอนเดอธัลมีความคิดอย่างไรต่อชีวิตหลังความตาย หรือมีความคิดอย่างไรเกี่ยวกับศาสนา แต่มีนักปราชญ์บางท่านได้สันนิษฐานว่า การที่มนุษย์นีแอนเดอธัลพยายามจะฆ่าหมีเนื่องจากมีความเชื่อว่า กะโหลกและกระดูกของหมีมีพลังอำนาจที่จะปกป้องคุ้มครองพวกเขาจากอันตราย จึงนิยมฆ่าหมีกันมากโดยนำซากกะโหลกของหมีไปกองรวมที่เดียวกันในที่พัก 

2. ศาสนาและความเชื่อของมนุษย์โครมันยอง (Cro-Magnon)

เป็นมนุษย์อีกพันธุ์หนึ่งที่สืบต่อจากพวกนีแอนเดอธัล มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาประมาณ ๒๕,๐๐๐ ปี ก่อนคริสตกาล มนุษย์พันธุ์นี้ตัวใหญ่และสมองใหญ่กว่ามนุษย์นีแอนเดอธัล มักจะอาศัยอยู่ตามถ้ำ และยังคงล่าสัตว์เป็นอาหาร ในสมัยนี้ยังไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้นการศึกษาประวัติความเป็นมาทางด้านศาสนาของคนกลุ่มนี้ ยังคงอาศัยหลักฐานทางโบราณคดี เช่น เครื่องมือเครื่องใช้และอาวุธต่างๆ ที่ถูกฝังรวมอยู่กับศพของคนตายในสมัยนั้น หลุมศพบางหลุมอาจพบกระดูกที่ทาสี
มนุษย์โครมันยองมีความชำนาญในการวาดรูปมาก ภาพตามฝาผนังถ้ำที่มีชื่อเสียง ส่วนใหญ่จะปรากฏผลงานของมนุษย์เผ่าพันธุ์นี้ ภาพที่วาดมักจะอยู่ลึกเข้าไปในถ้ำ เนื้อหาของภาพเกี่ยวกับสัตว์ที่กำลังถูกล่า เช่น พวกควายไบซัน ม้า หมี และวัว ภาพทั้งหมดมีลักษณะเหมือนจริง บางภาพเป็นภาพของสัตว์ที่กำลังถูกล่าหรือถูกธนูยิงเข้าไปในกล้ามเนื้อ ซึ่งนักการศาสนาและนักโบราณคดีส่วนมากเชื่อว่าอาจเป็นฝีมือของพวกพ่อมดหมอผีที่วาดภาพเหล่านี้ขึ้นมาก่อนการล่าสัตว์ เหมือนกับเป็นการตัดไม้ข่มนามเพื่อจะได้ประสบความสำเร็จในการล่าสัตว์ภาพเขียนมักวาดตามฝาผนังซึ่งอยู่ในที่ลับตาคน 

นอกจากภาพเขียนแล้วพวกโครมันยองยังนิยมแกะสลักหญิงเปลือยเป็นรูปสลักขนาดเล็ก งานแกะสลักที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันดี คือ วีนัสแห่งวิลเลนดอร์ฟ (Venus of Willendorf) เป็นงานแกะสลักหญิงเปลือยรูปร่างอวบอ้วน หน้าอก สะโพกและหน้าท้องใหญ่ ไม่มีตา จมูก ปากและหู ทำเป็นรูปศีรษะกลมๆ ท่านผู้รู้ทางศาสนาสันนิษฐานกันว่า จุดประสงค์ของการสร้างงานนี้ขึ้นมาก็เพื่อบูชาให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นมหามาตาเทวีองค์แรกของโลกที่มีการค้นพบอย่างเป็นหลักเป็นฐาน

3. ศาสนาและความเชื่อของมนุษย์ยุคหินใหม่ 

มนุษย์ยุคนี้อยู่ในช่วงระยะเวลาประมาณ 7,000-3,000 ปีก่อนคริสตกาล มีความก้าวหน้าทางวิทยาการมากขึ้น ศาสนาของมนุษย์ในยุคหินใหม่นี้จะเกี่ยวกับพัฒนาการทางเกษตรกรรม อันเป็นวิถีชีวิตของคนสมัยนี้ ในสมัยนี้มนุษย์รู้จักปลูกพืช ทำนา ทำไร่ และ เลี้ยงสัตว์ ทำให้รู้จักตั้งหลักแหล่งและสร้างบ้าน จึงเกิดความจำเป็นที่จะทำให้พื้นที่เพาะปลูกมีความสมบูรณ์อยู่เสมอ มนุษย์ในสมัยนี้รู้จักสังเกตความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเกิดน้ำขึ้นน้ำลง การเกิดข้างขึ้นข้างแรมและการเคลื่อนไหวของดวงดาวว่าล้วนมีผลต่อการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ การพัฒนาทางศาสนาของมนุษย์ในยุคนี้ จึงมีพื้นฐานอยู่บนความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติเท่าๆ กับความอุดมสมบูรณ์ของมนุษย์และสัตว์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดแนวคิดในเรื่องเทพปกีรณัม ซึ่งมีที่มาจากความเชื่อในพลัง อันลึกลับของธรรมชาติแล้วให้ภาพลักษณ์เป็นเทพต่างๆ แทนพระอาทิตย์ พระจันทร์ ดวงดาว และฤดูต่างๆ 

จากการขุดค้นพบหลุมศพต่างๆ ของนักโบราณคดีมีข้อน่าสังเกต คือ หลุมศพเหล่านั้นมักจะมีขนาดใหญ่และฝังหลายๆ คนรวมกัน มีการค้นพบกระดูกของผู้ชาย ผู้หญิง สัตว์ รวมทั้งเครื่องมือ เครื่องใช้ ตลอดจนอาวุธและเครื่องประดับ ทำให้สันนิษฐานกันว่าหลุมศพขนาดใหญ่เหล่านี้น่าจะเป็นหลุมของคนในระดับชั้นผู้นำ ส่วนกระดูกผู้หญิงนั้นน่าจะเป็นกระดูกของภรรยา และพวกคนใช้ตลอดจนสัตว์เลี้ยงต่างๆ ที่เคยเป็นเจ้าของหรือเป็นสัตว์เลี้ยงตัวโปรด การฝังสิ่งเหล่านี้รวมกันในที่เดียวกัน มีจุดประสงค์เพื่อจะได้ตามไปรับใช้ในโลกหน้า
นอกจากนี้ในยุคหินใหม่ยังมีกองหินขนาดใหญ่หลายก้อนกองรวมกัน ซึ่งลักษณะเช่นนี้ มักจะพบหลายแห่งทั่วโลก เช่น กองหินที่สโตนเฮนจ์ (Stonehenge) ในประเทศอังกฤษและกองหินที่บริตตานี (Brittany) ในประเทศฝรั่งเศส กองหินเหล่านี้มักจะถูกนำมาจากที่ไกลๆ ซึ่งยากแก่การขนส่ง แสดงว่านำมากองไว้ในบริเวณเหล่านี้ เพื่อการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และอ้อนวอนร้องขอต่อพลังอันศักดิ์สิทธิ์จะได้ประทานในสิ่งที่ตนปรารถนา 

4. ศาสนาและความเชื่อของพวกอเมริกันอินเดียน

ชาวอเมริกันอินเดียนเป็นพวกพื้นเมืองเดิมที่อาศัยอยู่ในทวีปอเมริกา ซึ่งมีหลายเผ่าพันธุ์ ทำให้เกิดความแตกต่างทั้งในด้านการแต่งกายและภาษาพูด ชาวอเมริกันอินเดียนเหล่านี้มีความเชื่อทางด้านศาสนา ที่มีลักษณะร่วมกันดังนี้ คือ 

(1) ความเชื่อในเรื่องวิญญาณ (Animism)

ชาวอเมริกันอินเดียนโดยทั่วๆ ไป ให้ความเคารพในธรรมชาติและเชื่อว่าธรรมชาติมีพลังอำนาจที่อาจให้คุณหรือโทษแก่มนุษย์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเข้าใจในเคล็ดลับของการใช้พลังอำนาจ ธรรมชาติไม่ใช่สิ่งที่พระเจ้าผู้มีอำนาจสร้างขึ้น แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์จะต้องพยายามนำมาใช้ให้เกิดความกลมกลืนแก่ตนเอง ชาวอเมริกันอินเดียนจึงพยายามที่จะมีชีวิตกลมกลืนกับธรรมชาติ เช่น การล่าสัตว์ ก่อนการล่าสัตว์พวกเขาจะต้องสวดมนต์ให้แก่วิญญาณของสัตว์ที่ตนจะล่า และต้องปฏิบัติตามข้อห้ามต่างๆ อันเป็นการป้องกันภัยพิบัติ โดยเฉพาะหญิงที่กำลังมีระดู เป็นสิ่งต้องห้ามที่ผู้ล่าจะต้องหลีกหนีให้ห่างไกล ถ้าบังเอิญระดูหยดลงบนเส้นทางที่กำลังจะไปล่าหรือหยดลงบนอาวุธแม้เพียงเล็กน้อย การล่าสัตว์ในครั้งนั้นจะต้องถูกยกเลิก เพราะถ้ายังคงล่าต่อไป การล่าสัตว์จะล้มเหลวหรืออาจโชคร้าย สำหรับสัตว์ที่ล่ามาได้นั้น ทุกส่วนของร่างกายจะต้องใช้หรือกินให้คุ้มค่า บางเผ่าถึงขนาดเก็บรักษากระดูกไว้เป็นอย่างดีเพื่อเป็นเคล็ดว่าจะได้เกิดความสำเร็จในการล่าสัตว์ครั้งต่อไป
นอกจากการล่าสัตว์แล้ว การทำกสิกรรม เช่น การปลูกข้าว หรือการเก็บเกี่ยวพืชผลต่างๆ รวมทั้งการขุดดินปั้นหม้อ กิจกรรมเหล่านี้จะต้องมีพิธีกรรม และข้อห้ามแฝงอยู่เช่นเดียวกัน แต่ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นไปเพราะความเชื่อในอำนาจอันทรงพลังของธรรมชาติ ชาวอเมริกันอินเดียนจึงพยายามใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างผู้สำนึกในพระคุณเหมือนกับว่าสิ่งเหล่านั้นมีความรู้สึกนึกคิดและจิตใจเช่นเดียวกับมนุษย์ ถ้าพวกเขาใช้ธรรมชาติอย่างผู้ทำลาย พวกเขาอาจได้รับภัยพิบัติจากธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่น เผ่าปาปาโก (Papago) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของรัฐอาริโซนา (Arizona) เมื่อทำหม้อหุงต้มจากดินเหนียว จะขุดดินมาใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น ไม่ทิ้งขว้าง โดยขอยกคำพูดของหญิงเผ่าปาปาโก (Papago) มาเป็นเครื่องยืนยันในเรื่องนี้ว่า 

“ฉันนำมันมาใช้เท่าที่ฉันต้องการ มันถูกนำมาใช้หุงต้มสำหรับพวกลูกๆ ของฉัน”
(I take only what I need. It is to cook for my children.)

และชาวฟอกซ์ซึ่งเป็นชาวอเมริกันอินเดียนอีกเผ่าหนึ่งในทวีปอเมริกาก็มีความเชื่อ เช่นเดียวกับพวกปาปาโก โดยได้ยกคำพูดของพวกฟอกซ์ มาเป็นเครื่องยืนยันในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดีว่า
“เราไม่ชอบการทำลายต้นไม้ เมื่อใดที่เราทำเช่นนั้น เราก็จะเซ่นด้วยยาสูบก่อนที่จะตัด เราไม่เคยทำลายต้นไม้ แต่เราจะใช้มันอย่างคุ้มค่า ถ้าเราไม่คิดถึงความรู้สึกของมัน ต้นไม้ในป่าที่เหลืออยู่จะร้องไห้ และถ้ามันร้องไห้ก็จะทำให้ใจของเราทุกข์ระทมไปด้วย”
(We do not like to harm the trees. Whenever we can, we always make an offering of tobacco to the trees before we cut them down. We never waste the wood, but use all that we cut down. If we do not think of their feelings, all the other trees in the forest would weep, and that would make our hearts sad, too.)

จากคำกล่าวที่ยกมานี้ จะเห็นว่า พวกอเมริกันอินเดียนยกย่องธรรมชาติและเชื่อว่าทุกๆ สิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติล้วนมีจิตวิญญาณแฝงอยู่ มนุษย์จึงควรใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด 

(2) ความเชื่อในเรื่องสิ่งต้องห้าม (Taboos) 

ชาวอเมริกันอินเดียนโดยทั่วๆ ไปจะหลีกเลี่ยงสิ่งชั่วร้ายต่างๆ โดยปฏิบัติตามกฎและข้อห้ามที่ได้วางไว้ตั้งแต่บรรพบุรุษ กฎข้อห้ามเหล่านี้ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี ได้แก่ การห้ามติดต่อกับหญิงที่มีระดู เพราะระดูของหญิงเป็นสิ่งที่มีพลังมาก หญิงเหล่านี้จะต้องถูกกันออกไปอยู่ในกระท่อมพิเศษต่างหากจากเผ่าของตน
นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามอื่นๆ เช่น การหลีกหนีศพคนตาย ถ้าคนที่เรารักตายไป วิญญาณของพวกเขาจะวนเวียนอยู่ใกล้และพยายามชักชวนพวกญาติมิตรที่สนิทให้ไปอยู่ด้วย พวกนี้ชอบหลอกหลอนตลอดเวลา จึงอาจทำให้ฝันร้ายได้ ดังนั้น เมื่อมีคนตายจึงต้องรีบฝังหรือเผาทันที เพื่อป้องกันไม่ให้วิญญาณกลับมาได้อีกและห้ามเอ่ยชื่อคนตายด้วย พวกสัปเหร่อที่ทำศพ กลายเป็นบุคคลที่ไม่สะอาดสำหรับสังคมของเผ่านั้นๆ สัปเหร่อจึงมีชีวิตที่ถูกแยกออกต่างหากจากเผ่า และถูกห้ามกินอาหารร่วมกับคนอื่นๆ ในเผ่านั้นๆ

(3) ความเชื่อในประเพณีและพิธีกรรม 

ชาวอเมริกันอินเดียนส่วนมากเชื่อกันว่าการทำพิธีกรรมต่างๆ นั้น มีส่วนช่วยให้เกิดสัมฤทธิ์ผล พิธีกรรมจึงเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกวิญญาณ (Spirit World) ให้เป็นไปด้วยดี พิธีกรรมที่นิยมทำกันมากที่สุดก็คือ การเต้นรำ การเต้นรำเป็นวิธีหนึ่งที่มนุษย์ใช้ติดต่อกับโลกวิญญาณในวาระต่างๆ เช่น ก่อนการล่าสัตว์ ก่อนเพาะปลูก ก่อนการทำสงคราม และเมื่อมีคนตาย ชาวอเมริกันอินเดียนจะนิยมตีกลอง และสั่นลูก กระพรวนเป็นจังหวะซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งมีไม่กี่จังหวะ ดนตรีจึงบรรเลงเพื่อปลุกวิญญาณ หรือพลังที่มีอยู่ในมนุษย์ให้ตื่นขึ้น และพร้อมที่จะใช้พลังนั้นๆ กระทำอะไรบางอย่าง 

(4) การมีความเชื่อในการสร้างภาพนิมิตและการอดอาหารว่าสามารถติดต่อกับวิญญาณต่างๆ ได้

ชาวอเมริกันอินเดียนส่วนมากพยายามที่จะสร้างอำนาจให้เกิดขึ้นในตนเอง ด้วยการ สร้างภาพนิมิตขึ้นมาเพื่อติดต่อกับวิญญาณต่างๆ พวกเขาจะถูกฝึกตั้งแต่อายุประมาณ ๙-๑๐ ปีขึ้นไป โดยถูกปล่อยให้อยู่ในป่าตามลำพังจนกว่าจะสามารถติดต่อกับวิญญาณเหล่านั้นได้ การติดต่อกับวิญญาณอาจกระทำโดยการสร้างภาพนิมิตขึ้นมา แต่ภาพนิมิตไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เด็กๆ ที่ถูกฝึกอาจต้องอดอาหารหลายวัน บางครั้งก็อดน้ำและเปลือยกาย บางครั้งอาจต้องระบายสีบนใบหน้าและร่างกายเพื่อแสดงสัญลักษณ์ของเผ่า ภาพนิมิตที่ปรากฏขึ้น อาจเป็นภาพสัตว์ ผู้ชาย หรือผู้หญิง ถ้าภาพนิมิตไม่เกิดขึ้นภายใน ๒ หรือ ๓ วัน แม้ว่าจะอดอาหารและสวดมนต์อ้อนวอนแล้วก็ตาม เด็กนั้นจะต้องเพิ่มความเข้มข้นในการติดต่อ เช่น การตัดนิ้วของตัวเองเพื่อแสดงความจริงใจต่อพวกวิญญาณ เมื่อภาพนิมิตได้เกิดขึ้นแก่เด็กที่ถูกฝึกแล้ว เขาจึงจะกลับบ้านได้ และเป็นสมาชิกของเผ่าอย่างสมภาคภูมิ การสร้างภาพนิมิตจัดว่าเป็นศักยภาพอันสำคัญยิ่งของชนเผ่าอเมริกันอินเดียน เพราะทำให้พวกเขาสามารถติดต่อกับวิญญาณทำให้ล่วงรู้เหตุการณ์ในอนาคต 

(5) ความเชื่อในผู้นำทางศาสนา 

ศาสนาของชนเผ่าอเมริกันอินเดียนเกือบทุกกลุ่มในทวีปอเมริกา มีความเชื่อในเรื่องผีหรือวิญญาณที่แฝงอยู่ในธรรมชาติ โดยเฉพาะพระอาทิตย์ซึ่งถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชนเผ่าต่างๆ เกือบทุกเผ่า จึงนิยมให้มีการเต้นรำถวาย หน้าที่พื้นฐานทางศาสนาเป็นหน้าที่ของทุกๆ คนในเผ่า การสวดมนต์ การเต้นรำ การสร้างภาพนิมิตเป็นหน้าที่ของทุกๆ คนที่ต้องกระทำ มิใช่หน้าที่เฉพาะของพวกหมอผี (Medicine man)
อย่างไรก็ตาม มีพิธีกรรมบางอย่างซึ่งถูกจำกัดเฉพาะหมอผีเท่านั้นที่จะกระทำได้ เพราะหมอผีเป็นคนพิเศษที่มีอำนาจสูง สามารถติดต่อกับวิญญาณโดยใช้การสร้างภาพนิมิต ทำให้สามารถรักษาโรคและพวกวิญญาณอาจจะบอกข้อห้ามบางอย่างผ่านทางหมอผี นอกจากนี้ คำสาปแช่งของหมอผี อาจนำมาซึ่งภัยพิบัติและความตาย พวกหมอผีจึงได้รับการยกย่องนับถือจากคนในเผ่าไม่น้อยไปกว่าหัวหน้าเผ่า หรืออาจจะมากกว่าหัวหน้าเผ่า 

สำหรับการรักษาโรคของหมอผีโดยทั่วๆ ไป มักจะใช้วิธีดูดวิญญาณออกมาจากคนไข้ด้วยการร้องเพลง เต้นรำ ขอพร และท่องคาถาอาคมต่างๆ ซึ่งวิธีการอาจดูคล้ายกับชามานของพวกไซบีเรีย แต่ชามานกับหมอผีมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน คือ หมอผีมีความสามารถติดต่อกับวิญญาณโดยผ่านภาพนิมิต แต่ชามานสามารถเป็นร่างทรงให้กับวิญญาณเพื่อติดต่อกับมนุษย์ คนที่เป็นร่างทรงนี้ ก่อนรับวิญญาณมาเข้าร่างมักมีอาการเจ็บป่วยจนไม่สามารถรักษาได้จนกว่าคนคนนั้นจะยินยอมและสัญญาว่าจะยอมให้ร่างกายของตนเป็นร่างทรงของวิญญาณนั้น หรือยอมให้วิญญาณนั้นใช้ร่างกายของตนเป็นสื่อและเป็นทาสรับใช้วิญญาณนั้นไปจนกว่าจะตายไป 

(6) ความเชื่อในเรื่องความตายและชีวิตหลังความตาย เนื่องจากชาวอเมริกันอินเดียนมีหลายเผ่าจึงมีวัฒนธรรมหลากหลาย ความเชื่อในเรื่องความตายและการปฏิบัติต่อผู้ตายจึงมีหลายวิธี และมีข้อห้ามเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

ชาวอเมริกันอินเดียนโดยทั่วๆ ไปเชื่อว่ามีวิญญาณ ๒ ดวง แต่ไม่ได้เป็นอมตะอย่างที่เข้าใจกันทั่วไป วิญญาณดวงหนึ่งคือลมหายใจและชีวิตซึ่งเกิดดับพร้อมกับร่างกาย วิญญาณดวงที่สองเป็นวิญญาณอิสระ ล่องลอยไปมาในขณะที่เราฝันหรือเจ็บป่วย วิญญาณดวงนี้จะกลับไปสู่ดินแดนแห่งความตายทันทีที่เราตายไป และดินแดนแห่งความตายก็มีลักษณะหลากหลายขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละเผ่า บ้างก็เชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งความสุข บ้างก็เชื่อว่าเป็นดินแดน แห่งความทุกข์ เป็นสถานที่น่าเศร้าใจ พวกที่เชื่อในแบบหลังนี้จะพยายามช่วยเหลือคนตายด้วยการฝังอาหารและน้ำหรือสังเวยสัตว์ เพื่อให้เป็นมัคคุเทศน์ค้นหาทางไปสู่ดินแดนแห่งความตาย เช่น พวกอินเดียนแดงในแถบมิสซิสซิปปี (Mississippi) เมื่อมีผู้นำตาย ภรรยาและลูก รวมทั้งญาติและมิตรสหายที่สนิทกัน ตลอดจนสัตว์เลี้ยงทั้งหมดต้องถูกฆ่าให้ตายตามหัวหน้าเผ่า ความเชื่อแบบนี้คล้ายกับความเชื่อของจีนในยุคต้น ความเชื่อของอินเดีย ความเชื่อของชาวสุเมเรีย และถ้าย้อนไปถึงยุคหินใหม่ก็มีลักษณะความเชื่อแบบนี้เช่นกัน 

(7) ความเชื่อที่ว่ามีวิธีการที่จะติดต่อกับดวงวิญญาณอันสูงสุด

ชาวอเมริกันอินเดียนเป็นชนเผ่าที่นิยมการสูบกล้อง แต่การสูบกล้องนี้ไม่ใช่สูบเป็นชีวิตประจำวัน แต่จะสูบกล้องได้เฉพาะในพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้น ยาเส้นจึงเปรียบเสมือนเครื่องกำยาน อันเป็นส่วนสำคัญในการทำพิธีกรรมเกือบทุกเรื่อง โดยเฉพาะเวลาที่ต้อง หารือกันในเรื่องสงครามและสันติภาพ การสูบกล้องจึงเป็นหัวใจสำคัญของการสนทนา กล้องยาเส้นจะถูกส่งผ่านจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง โดยผลัดเปลี่ยนกันสูบราวกับว่ากล้องยาเส้น เป็นเครื่องรางของขลังอันสำคัญยิ่ง ยาเส้นของชาวอเมริกันอินเดียนจึงเข้มข้นมาก กลิ่นฉุนจัด อาจทำให้เมาได้ 

ชาวอเมริกันอินเดียนเชื่อว่า กล้องยาสูบเป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถติดต่อกับ ดวงวิญญาณอันสูงสุดได้ เช่น พวกซูซ์เชื่อว่ากล้องยาสูบเป็นของศักดิ์สิทธิ์เป็นที่รวมของเอกภพและจักรวาล จึงสามารถติดต่อกับวิญญาณที่บริสุทธิ์ได้ พวกเขาเรียกวิญญาณนี้ว่า “วากันทันกา” (Wakan Tanka) ซึ่งเป็นวิญญาณใหญ่ (The Great Spirit) ที่เป็นอิสระไม่มีขอบเขตจำกัด กล้องยาสูบประกอบด้วยส่วนที่เป็นถ้วยสำหรับใส่ยาเส้น ทำจากหินสีแดงซึ่งหมายถึงดิน ส่วนต่อมาก็คือ ส่วนที่แกะลึกเข้าไปในหินต่อจากถ้วยที่ใส่ยาเส้น หมายถึง ลูกควายซึ่งเป็นตัวแทน ของสัตว์ทั้งหลาย พวกซูซ์ให้ความสำคัญแก่ควายมากเพราะเป็นสัตว์ที่มีคุณค่าต่อมนุษย์ เนื้อหนังของมันใช้เป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่มและที่พักอาศัย มนุษย์อยู่ได้ก็เพราะสัตว์เหล่านี้และสัตว์อยู่ได้ก็เพราะดินหรือแม่พระธรณี ซึ่งเปรียบเหมือนมารดาโลก ส่วนด้ามที่ทำด้วยไม้ หมายถึงสรรพสิ่งที่เติบโตมาจากแม่พระธรณี ขนนกซึ่งใช้แขวนที่ตัวกล้องสูบยา เป็นขนนกอินทรีลายจุด

สรรพสัตว์ที่มีอยู่ในจักรวาลจะถูกเชื่อมโยงโดยการสูบกล้องยานี้ และผู้สูบยาก็สามารถติดต่อกับวิญญาณสูงสุด กล้องยาจึงเป็นที่รวมพลังอำนาจของโลก การสูบกล้องยาจึงจัดเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่มนุษย์พยายามติดต่อกับพลังเหนือโลก ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าเป็นวิญญาณอันยิ่งใหญ่ เป็นบ่อเกิดของสรรพสิ่งและเป็นสิ่งที่ประทานอำนาจมาให้มนุษย์สามารถมีตาทิพย์เห็นภาพนิมิตที่บอกเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

5. ศาสนาและความเชื่อของชาวพื้นเมืองแอฟริกา

ทวีปแอฟริกามีขนาดกว้างใหญ่ มีประชาชนหลายเผ่าพันธุ์ พื้นที่ในทวีปแอฟริกาอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ จึงถูกชาวผิวขาวรุกรานนำมาเป็นเมืองขึ้น ทำให้ทวีปแอฟริกาประกอบไปด้วยชนชาติต่างๆ ที่นับถือศาสนาแตกต่างกัน แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
(1) กลุ่มศาสนาที่ไม่ได้มีอยู่แต่เดิม เช่น ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ศาสนายิว และศาสนาฮินดู
(2) กลุ่มศาสนาที่มีอยู่แต่เดิม 

ซึ่งจะขอกล่าวถึงเฉพาะกลุ่มศาสนาที่มีอยู่แต่เดิม โดยสรุปลักษณะร่วมทางศาสนา ดังนี้ 

(1) นับถือพระเจ้าสูงสุด (The High God)  ชาวพื้นเมืองแอฟริกันมีความเชื่อว่า เทพเจ้าของแต่ละท้องถิ่นนั้นต่างอยู่ในภายใต้อำนาจของพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ พระองค์มีอำนาจสูงสุดสามารถสร้างโลกและสรรพสิ่ง พระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียวที่อยู่เหนือเทวะทั้งหลาย แต่พระองค์จะติดต่อกับโลกเรานี้น้อยมาก เมื่อพระองค์ทรงสร้างโลกแล้วก็ทรงปล่อยโลกอย่างอิสระ โดยพระองค์เฝ้าดูอยู่ห่างๆ ความเข้าใจพระเจ้าในลักษณะนี้จะพบได้ในตำนานธรรมของพวกโยรูบา (Yoruba) ซึ่งเป็นชนพื้นเมือง กลุ่มหนึ่งในแอฟริกา ซึ่งเชื่อว่ามีพระเจ้าอันสูงสุดพระนามว่า “โอโลรัน” (Olorun) พระองค์ได้มอบงานสร้างโลกให้แก่บุตรคนโต แต่เขาไม่สามารถทำงานให้สำเร็จลุล่วงได้ โอโลรันจึงให้บุตรคนเล็กทำแทนแต่ก็ทำไม่สำเร็จเช่นกัน พระองค์จึงสร้างโลกด้วยพระองค์เอง และสั่งให้พวกเทวะทั้งหลายซึ่งพวกแอฟริกันเรียกว่า “โอริชา” (Orisha) เป็นผู้ช่วย เมื่อโอโลรันได้สร้างโลกสำเร็จสมบูรณ์ดีแล้ว พระองค์ก็เสด็จขึ้นสวรรค์และติดต่อกับโลกที่พระองค์สร้างน้อยมาก โดยปล่อยให้โอริชาเป็นเทวะประจำหมู่บ้านคอยดูแลทุกข์สุขของพวกโยรูบาตั้งแต่นั้นมา 

(2) ความเชื่อในเรื่องของดวงวิญญาณ ชาวพื้นเมืองแอฟริกันเชื่อว่า โลกนี้เต็มไปด้วยวิญญาณต่างๆ ซึ่งแฝงอยู่ในธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ ลำธาร พื้นดิน ทะเล ท้องฟ้า และภูเขา ฯลฯ บางหมู่บ้านในแถบแอฟริกาตะวันตกนิยมสร้างวัดถวายหรืออาจให้พระทำพิธีเซ่นไหว้แม่พระธรณีหรือเซ่นไหว้เทพแห่งพายุ ชาวพื้นเมืองแอฟริกันบางเผ่านิยมทำพิธีกรรมโดยใช้น้ำเพราะเชื่อว่า น้ำเป็นสื่อสำคัญและเป็นสื่ออัน ศักดิ์สิทธิ์ในขั้นพื้นฐานของการทำพิธี ยกตัวอย่างเช่น พิธีอาบน้ำ เด็กแรกเกิด นิยมใช้ “น้ำเป็น” อาบเด็กทารก “น้ำเป็น” หมายถึง น้ำที่ไม่ได้ต้ม การต้มน้ำเป็นการทำลายวิญญาณหรือพลังที่อยู่ในน้ำซึ่งเป็นการขาดความเคารพ ในพิธีกรรมสำคัญอื่นๆ ก็นิยมใช้น้ำหรือของเหลวอื่นๆ ประเภทเบียร์หรือเหล้าไวน์เทลงบนพื้นดินเซ่นไหว้ไปพร้อมกับอาหาร โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้วิญญาณทั้งหลายเกิดความพอใจ และดลบันดาลสิ่งที่ปรารถนา 

(3) ความเชื่อในอำนาจของวิญญาณบรรพบุรุษ หรือวิญญาณบรรพชน

ศาสนาของพวกชนพื้นเมืองแอฟริกัน จะแยกวิญญาณบรรพบุรุษออกเป็นคนละส่วนกับวิญญาณที่แฝงอยู่ในพลังธรรมชาติ พวกเขาเชื่อว่าเมื่อบรรพบุรุษตายไปแล้ว วิญญาณที่อยู่ในโลกแห่งวิญญาณจะทำหน้าที่ดูแลลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่ต่อไป ดังนั้นจึงปรากฏบ่อยครั้งที่ชาวแอฟริกันพยายามติดต่อกับวิญญาณเพื่อขอคำปรึกษาในด้านการรบ ในด้านการเพาะปลูก และเมื่อเวลามีเด็กเกิดใหม่ ทำให้เกิดข้อห้าม (taboo) ต่างๆ ขึ้นมาในภายหลัง เช่น การห้ามกินผลไม้ หรือพืชผลที่เก็บเกี่ยวครั้งแรก ทั้งนี้เพื่อนำไปเซ่นไหว้เป็นการตอบแทนพระคุณท่านที่คอยขจัดปัญหาให้แก่พวกเขา 

ความเชื่อในเรื่องวิญญาณบรรพบุรุษของชาวพื้นเมืองแอฟริกันแตกต่างจากชาวจีน กล่าวคือ ชาวจีนให้ความเคารพวิญญาณบรรพบุรุษของตนเพื่อแสดงความกตัญญูและขอร้องให้พวกตนอยู่เย็นเป็นสุข ร่ำรวยมั่งคั่ง แต่สำหรับชาวพื้นเมืองแอฟริกันนั้นความเชื่อในเรื่องวิญญาณบรรพบุรุษมีความสัมพันธ์กับความเป็นความตายของเผ่าพันธุ์ พวกเขาเชื่อว่าการที่ภูเขาไฟระเบิด น้ำท่วม แผ่นดินไหว และโรคระบาด เกิดจากการบันดาลของวิญญาณบรรพบุรุษ คำสาปแช่งของท่านเหล่านั้นอาจนำภัยพิบัติมาสู่พวกเขาได้ การให้ความเคารพในวิญญาณบรรพบุรุษ จึงเป็นจิตสำนึกอันสำคัญยิ่งของพวกเขาที่ลูกหลานทุกคนต้องเซ่นไหว้ ด้วยผลผลิตจากแรงงานของพวกเขา และเพื่อเป็นหลักประกันในความจงรักภักดี ชาวแอฟริกันจึงนิยม ฆ่าสัตว์เซ่นด้วยเลือดทุกครั้งที่มีสัตว์เกิดใหม่ครั้งแรกในฝูงนั้น 

วิญญาณของบรรพบุรุษจะติดต่อกับลูกหลานทั้งหลายด้วยการฝัน ซึ่งเป็นวิธีที่ค่อนข้างง่าย ไม่ต้องมีการตีความใดๆ แต่ในบางครั้งวิญญาณของบรรพบุรุษไม่สามารถติดต่อกับลูกหลาน ด้วยการฝัน อาจเป็นเพราะบางเรื่องยากเกินกว่าที่จะเข้าใจ จึงจำเป็นจะต้องอาศัยพวกนักทำนาย (Diviner) มาช่วยตีความ คนที่จะสามารถทำนายทายทักเหตุการณ์ต่างๆ ได้จะต้องเป็นผู้ที่สามารถติดต่อกับวิญญาณของผู้ตายได้ และสามารถล่วงรู้เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นในการทำสงครามแต่ละครั้ง นักทำนายจะถูกเชิญมาเป็นที่ปรึกษาในการทำสงครามเสมอ 

(4) การเซ่นไหว้

เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่จะช่วยเชื่อมโยงสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์กับเทวดา และดวงวิญญาณของเหล่าบรรพบุรุษ ดังนั้นจึงมักปรากฏว่า ชาวพื้นเมืองแอฟริกันบางคนนิยม เซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้เป็นประจำทุกวัน โดยแบ่งน้ำหรืออาหารเล็กน้อยเพื่อเซ่นไหว้ แต่ถ้าในโอกาสที่สำคัญ เช่น เมื่อจะออกรบหรือเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ จะนิยมฆ่าสัตว์แล้วเซ่นด้วยเลือด เช่น นก แกะ แพะ สุนัข วัวและควาย เป็นต้น ชาวพื้นเมืองแอฟริกันจะเริ่มต้นด้วยการเชือดสัตว์แล้วปล่อยให้โลหิตไหลรดลงบนพื้นดิน เมื่อเลือดไหลออกจากร่างจนหมดแล้ว จึงจะนำสัตว์นั้นไปต้มหรือย่าง แล้วแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือส่วนหนึ่งถวายทวยเทพและวิญญาณบรรพบุรุษ ส่วนที่สองมอบให้กับคนทำพิธีกรรม ส่วนที่สามนำมากินกันในครอบครัว การทำเช่นนี้เชื่อกันว่า เป็นการแสดงความสัมพันธ์ต่อกันเหมือนกับเป็นชีวิตเดียวกัน สำหรับการเซ่นไหว้ด้วยมนุษย์นั้นไม่ใคร่เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก นอกจากจะมีเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นแก่หมู่บ้านเท่านั้น และถ้าผู้ทำนายได้ทำนายว่าจะต้องใช้ชีวิตมนุษย์เป็น เครื่องสังเวย จึงจะมีการฆ่ามนุษย์เกิดขึ้น หรือถ้าผู้นำของเผ่าตายไป ความจำเป็นที่จะต้องฆ่าคนเพื่อตามไปรับใช้ในโลกหน้าก็อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อฆ่าแล้วพวกเขาจะไม่นิยมกินเนื้อมนุษย์ด้วยกัน เหตุการณ์เช่นนี้จึงเกิดขึ้นน้อยครั้งมาก 

(5) การทำพิธีกรรม

ชาวพื้นเมืองแอฟริกันมีพิธีกรรมหลายอย่าง ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย โดยเฉพาะการเกิด ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดในชีวิต เพราะเด็กที่เกิดมาล้วนแต่เป็นผลมาจากการอวยพรของพวกโลกแห่งวิญญาณ ส่วนบุคคลที่เป็นหมันไม่สามารถมีบุตรได้ ชาวพื้นเมืองแอฟริกันเชื่อว่าเป็นเพราะคนเหล่านั้นถูกวิญญาณสาปแช่ง ชาวแอฟริกันบางเผ่ารังเกียจการมีบุตรแฝดเพราะเชื่อกันว่าการคลอดบุตรแฝดเป็นผลมาจากการที่แม่เป็นชู้มีสามีหลายคน พวกเด็กแฝดจึงมักถูกฆ่าหรือถูกขับไล่ออกจากหมู่บ้าน 

สังคมของชาวพื้นเมืองแอฟริกันส่วนมากอย่างเช่นชาวอชันติ (Ashanti) ไม่นิยมตั้งชื่อให้กับเด็กแรกเกิด ต้องรอเวลาให้ผ่านพ้นไปประมาณ ๑ สัปดาห์จึงจะตั้งชื่อ เพราะเชื่อกันว่าการที่จะไปตั้งชื่อให้แก่เด็กที่เกิดใหม่นั้น อาจทำให้ผิดหวังได้ เนื่องจากอัตราการตายของเด็กแรกเกิดในแอฟริกาสูงมาก การที่ไปตั้งชื่ออาจทำให้ได้รับความทุกข์เมื่อเด็กตาย และการตั้งชื่อเด็กนั้นส่วนมากได้ชื่อมาจากบรรพบุรุษ 

พิธีกรรมที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การอุ้มเด็กแรกเกิดออกไปอาบแสงจันทร์หรือโยนเด็กขึ้นไปในอากาศอย่างเบาๆ แล้วก็รับ ทำอย่างนี้หลายครั้งเพื่อให้เด็กแรกเกิดเคยชินกับการมองแสงจันทร์ พิธีกรรมแบบนี้กระทำเพียงบางกลุ่มเท่านั้น ในบางกลุ่มอาจรอจนกระทั่งอายุย่างเข้าสู่วัยรุ่น 

เด็กหนุ่มสาวของชาวพื้นเมืองแอฟริกันจะได้รับหน้าที่สำคัญๆ ในสังคม โดยแยกออกเป็นกลุ่มผู้ชายและกลุ่มผู้หญิง วัยรุ่นชายจะได้รับหน้าที่เรียนรู้เกี่ยวกับพิธีกรรมทางศาสนาและถูกทดสอบให้มีความกล้าหาญอดทน ส่วนเด็กผู้หญิงจะเรียนรู้ในเรื่องเพศศึกษาโดยได้รับการฝึกอย่างพิเศษ นอกจากนี้ชาวแอฟริกันหลายเผ่าอนุญาตให้ผู้ชายมีภรรยาได้หลายคน ทั้งนี้เพราะพวกเขามีข้อห้ามไม่ให้สามีมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาในขณะตั้งครรภ์ และอาจรวมไปถึงช่วงเวลาที่เลี้ยงลูกน้อย ดังนั้นสามีหลายคนจึงงดการมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาประมาณ ๒ ปี สามีจึงต้องมีภรรยาหลายคน โดยแยกบ้านอยู่ต่างหาก สำหรับพิธีกรรมที่เกี่ยวกับความตายนั้นมีหลายพิธีด้วยกัน ทั้งนี้เพราะพวกเขาพยายามหาวิธีที่จะทำให้วิญญาณของผู้ตายเกิดความสบายใจที่จะอยู่ในโลกใหม่และไม่คิดที่จะกลับมารบกวนหลอกหลอนญาติพี่น้อง พิธีกรรมที่เกี่ยวกับความตายจึงมีหลายขั้นตอนเพื่อป้องกันการกลับมาอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญิงใดที่สามีตาย หญิงนั้นจะกลัวมากเพราะเกรงว่าสามีที่ตายไปแล้วกลับมาหา และทำให้เธอเป็นหมันไม่สามารถมีลูกต่อไปได้ ชาวแอฟริกันนิยมการฝังศพทันที โดยเฉพาะกษัตริย์เมื่อสวรรคต จะรีบฝังพระศพพร้อมทั้งทรัพย์สินเงินทองและข้าทาสบริวาร 

(6) ความเชื่อในผู้นำทางศาสนา

พิธีกรรมหลายอย่างในแอฟริกาอาจไม่จำเป็นต้องพึ่งพระ เช่น การกรวดน้ำให้กับผู้ตาย การสวดมนต์อ้อนวอนขอพรจากดวงวิญญาณ พิธีกรรมที่พระจะทำพิธีนั้น ต้องเป็นพิธีกรรมที่กระทำในโอกาสพิเศษ ผู้ที่จะเป็นพระได้นั้นต้องผ่านการฝึกฝนในการทำพิธีกรรม ต้องเรียนรู้รหัสพิเศษในลัทธิศาสนาของตน ต้องเรียนรู้เรื่องการเต้นรำเพื่อพิธีกรรมบางอย่าง และต้องเรียนรู้กฎข้อห้ามทางศาสนา 

สำหรับหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางศาสนาในแอฟริกา โดยทั่วไปนิยมให้พวกพ่อมด (Witch doctor) เป็นผู้ทำพิธีกรรม โดยเฉพาะเมื่อเวลาที่มีคนเจ็บป่วยพวกพ่อมดใช้เวทมนตร์และสมุนไพรรักษาคนไข้ นอกจากนี้ถ้ามีการย้ายบ้าน พ่อมดอาจจะถูกเชิญให้มาทำพิธีขับไล่ความชั่วร้าย ก่อนที่เจ้าของบ้านจะย้ายเข้าไปอยู่อาศัย พ่อมดมักจะมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับ ความเจ็บไข้ของคนในเผ่าหรือมีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการใช้เวทย์มนตร์คาถาอาคม 

เนื่องจากชนเผ่าแอฟริกันบางพวกยังคงปกครองแบบกษัตริย์ ทำให้เกิดผู้นำทางศาสนาอีกประเภทหนึ่ง คือ กษัตริย์ พระองค์เป็นผู้อยู่เหนือกฎหมาย จึงได้รับการยอมรับในฐานะเป็นผู้มีความศักดิ์สิทธิ์ มีความสัมพันธ์กับโลกของวิญญาณบรรพชน เมื่อกษัตริย์และราชินีได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการแล้ว จะถูกเปลี่ยนสถานภาพโดยได้รับการยกย่องว่าเป็นเทวดา และสามารถที่จะเข้าไปในดินแดนของวิญญาณแห่งบรรพชน พระมหากษัตริย์เป็นบ่อเกิดของข้อห้ามต่างๆ เช่น ห้ามมองพระพักตร์ ห้ามแตะหรือจับสิ่งของของกษัตริย์ ห้ามยุ่งกับนางสนมและนางกำนัล ผู้ที่เป็นกษัตริย์จะต้องได้รับการดูแลอย่างดี เพื่อให้มีพระพลานามัยดี เพราะการประชวรของพระมหากษัตริย์เท่ากับความป่วยไข้ของประเทศชาติ เมื่อใดก็ตามที่กษัตริย์สวรรคต ข่าวการสวรรคตจะถูกปิดเป็นความลับจนกว่าจะมีการเลือกกษัตริย์องค์ใหม่และประกาศเป็นทางการ ในปัจจุบันนี้ศาสนาดั้งเดิมของชาวแอฟริกันได้ถูกกดดันจากศาสนาอื่นๆ เช่น ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม รวมทั้งแรงกดดันที่มาจากสังคมแบบอุตสาหกรรมทำให้ประชาชน แอฟริกันห่างเหินจากศาสนาดั้งเดิมซึ่งเป็นศาสนาเก่าแก่ของชาติ อย่างไรก็ตามยังคงมีชาวแอฟริกันบางกลุ่มพอใจที่จะมีวิถีชีวิตและความเชื่อตามแนวทางที่บรรพบุรุษของตนได้เคยปฏิบัติมา



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น