"ความชั่วร้ายที่จำเป็น" หรือ Necessary Evil
ในชีวิตจริง มนุษย์ต้องตัดสินใจเลือกทางจริยศาสตร์หลายแบบ
ไม่ใช่แค่เลือกระหว่าง ดี กับ ชั่ว เท่านั้น
แต่ยังต้องเลือกระหว่าง ดี กับ ดีกว่า
และที่ยากที่สุดคือ หลายครั้งต้องเลือกระหว่าง ชั่ว กับ ชั่วน้อยกว่า
การจำเป็นต้องเลือกความชั่วที่น้อยกว่า เป็นเรื่องที่ได้รับการยอมรับมากในทางการเมืองการปกครอง ถึงกับมีการบัญญัติศัพท์เทคนิคคำว่า "ความชั่วร้ายที่จำเป็น" (Necessary Evil)
คำว่า "ความชั่วร้ายที่จำเป็น" มีความหมายตรงตัว คือ เป็นเรื่องที่มนุษย์เราเห็นว่าเป็นความชั่วแน่ๆ แต่ก็จำเป็นต้องมีต้องทำอย่างเลี่ยงไม่ได้
ขอยกตัวอย่างเช่น เรื่องของอบายมุข ไม่ว่าจะเป็นสุรายาสูบ การพนัน กีฬาความรุนแรงบางชนิด โสเภณี เป็นต้น แทบทุกคนบอกว่าไม่ควรมี แต่ในทางปฏิบัติมันไม่มีไม่ได้ เพราะ
1. มันสามารถให้ความสุขในบางด้านแก่มนุษย์ ทำให้คลายเครียด เช่น คนชอบสนุกที่ได้ตื่นเต้นได้เสี่ยง ได้เห็นความรุนแรง
2. มีอุปสงค์และอุปทาน ที่เกิดด้วยความเต็มใจของทุกฝ่าย ไม่ใช่การบังคับ
3. เป็นสิทธิเสรีภาพ
4. มีอยู่คู่โลกมานาน ไม่มีทางปราบได้หมด
5. หาไม่ได้ในประเทศก็ไปหานอกประเทศ ไม่ให้ทำเปิดเผยก็หลบทำใต้ดิน
6. ยิ่งปราบให้หมดจะยิ่งชั่วร้าย จะนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่กว่า
เมื่อเป็นเช่นนี้ การพยายามปราบความชั่วบางอย่างไม่ให้เหลือเลย อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด แต่อาจเปลี่ยนเป็นการ "ปราม" ให้อยู่ในระดับที่ไม่เลวร้ายจนเกินไป หรืออาจถึงกับทำให้กลายเป็นประโยชน์บางอย่างด้วย เช่น ทำให้อบายมุขถูกกฎหมายเพื่อควบคุมระดับความชั่วได้ ทำให้อบายมุขกลายเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้รัฐเพื่อนำมาพัฒนาสังคม ไม่ใช่รายได้ของผู้มีอิทธิพลและนักการเมืองฉ้อฉล
เรื่อง "ความชั่วร้ายที่จำเป็น" เช่นนี้ยังมีตัวอย่างอีกมาก ในทางการเมืองการปกครอง
เราต้องยอมรับว่า เรื่องของการเมืองการปกครองของมนุษย์เต็มไปด้วยเรื่อง "ความชั่วร้ายที่จำเป็น" เนื่องจากการเมืองการปกครองคือการพยายามทำให้ทุกคนในสังคมพึงพอใจ ซึ่งนี่เป็นเรื่องยากมาก ซับซ้อนมาก มนุษย์แต่ละคนล้วนมีความเห็นแก่ตัว และแต่ละคนต่างก็มีความต้องการและความคิดที่หลากหลาย ไม่มีทางคิดตรงกันได้หมด จึงไม่มีทางเลยที่จะมีการปกครองใดที่ทำให้ทุกคนพอใจอย่างสมบูรณ์ จะมีคนพอใจมาก พอใจน้อย ไม่พอใจ จนถึงขมขื่นใจ
และจะเป็นเช่นนี้เสมอไป
(ดูภาพข้างบน) ธอมัส เพนน์กล่าวไว้ว่า "รัฐบาล ถึงที่ดีที่สุดก็เป็นได้แค่ 'ความชั่วร้ายที่จำเป็น' ส่วนถ้าแย่ที่สุดก็คือ อันที่ไม่อาจทนได้"
ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น