การที่ประเทศใช้นโยบายรัฐศาสนา รัฐที่มีศาสนาประจำชาติ หรือ รัฐที่ใช้อำนาจในการเป็นผู้ให้การรับรองแก่ศาสนาต่างๆและนิกายต่างๆ แทนที่จะใช้นโยบายรัฐโลกวิสัย หรือรัฐที่ให้สิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมทางศาสนาอย่างแท้จริง
ผลคือ รัฐจะกลายเป็นผู้ที่มีส่วนสร้างความขัดแย้งระหว่างศาสนา ความขัดแย้งภายในศาสนา ความขัดแย้งระหว่างนิกายในศาสนา และความขัดแย้งภายในนิกาย และเป็นความขัดแย้งในเชิงอำนาจและผลประโยชน์
ทั้งนี้ก็เพราะนโยบายรัฐศาสนาทำให้ทุกฝ่ายในศาสนาล้วนต้องพยายามอิงแอบอำนาจรัฐหรืออิงแอบผู้มีอำนาจเข้าไว้ เพื่อให้ฝ่ายของตนเองได้รับการรับรองทางศาสนาจากรัฐ ซึ่งหมายถึงนั่นจะทำให้ฝ่ายตนมีอำนาจทางศาสนาในหมู่ศาสนิกของตนไปด้วย
ศาสนาไหนหรือนิกายไหนหรือกลุ่มไหนได้รับการรับรองจากรัฐ ก็เหมือนกับฉันเป็นฝ่ายถูก สอนถูก ใครไม่ได้รับรับรองแกก็เป็นฝ่ายผิด สอนผิด แต่ที่แน่ๆคือ แกเถื่อน
และอ้ายการที่ได้เป็นศาสนาที่รัฐรับรองนี้แหละเป็นตัวที่ทำให้ศาสนาสอนชั่วและทำชั่วได้อย่างสนิทใจ และผู้คนก็สยบยอมหลงเชื่อได้ง่ายเพราะเห็นว่าเขามีรัฐรับรอง
นอกจากนี้ นี่ยังทำให้ทุกศาสนาและทุกนิกายทุกสังกัดในประเทศไทยต่างพยายามจะมี พรบ.ของศาสนาและนิกายของตัวเอง ตลอดจนการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐ
... แทนที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นรัฐโลกวิสัยที่มีเสรีภาพและความเท่าเทียมทางศาสนา
ขอพูดชัดๆอีกครั้ง ณ ที่นี้ว่า ผู้เขียนถือว่า นโยบายทางศาสนาของรัฐไทย สรุปได้สั้นๆดังนี้
"ให้เสรีภาพทางศาสนา แต่ไม่ให้มีความเท่าเทียมทางศาสนา
เพราะยกชูหนึ่งศาสนา และรับรองอีกสี่ศาสนา
อีกทั้งยกชูการมีศาสนา และรังเกียจการไม่มีศาสนา"
ศาสนาเชิงองค์กรรัฐ หรือ state religion หรือ institutional religion จะพยายามโชว์ว่าฉันมีอำนาจรัฐ อำนาจเงิน และเป็นชนชั้นสูงเสมอ รวมทั้งจะชอบโชว์อาคาร ทรัพย์สิน และคนที่มีตำแหน่งมีเงินมีชื่อเสียง
และไม่ต้องห่วง ศาสนิกจำนวนไม่น้อยก็ชอบแบบนี้ เพราะพวกเขาไม่ได้คิดอะไรเรื่องสารัตถะและความจริงแท้ของศาสนาเท่าใดนัก พวกเขาต้องการศาสนาเพื่อการได้เข้าสังคมที่ชอบและได้ความสบายใจมากกว่า
ซึ่งการเข้าสังคมที่อิงแอบอำนาจรัฐย่อมได้ผลประโยชน์และความสบายใจมากกว่า
แต่ไม่ต้องพูดถึงการเข้าถึงสัจธรรม ความจริง ความดี และความเป็นธรรมที่แท้จริง
รัฐที่ใช้นโยบายรัฐศาสนา จะยิ่งทำให้ศาสนาเลว และประชาชนลุ่มหลง
.
ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น