ในขณะที่ทุกศาสนาต่างบอกว่าศาสนาของตนถูกต้องที่สุด แต่เราก็พบความจริงว่า ทุกศาสนายังมีการแตกเป็นนิกายย่อยๆ อีก เช่น พุทธศาสนาแตกเป็น 18 นิกาย โดยเริ่มแตกมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 ศาสนาอิสลามแตกเป็น 9 นิกาย (เป็นอย่างต่ำ) และแต่ละนิกายก็แบ่งเป็นกลุ่มย่อยอีกมากมาย ส่วนคริสตศาสนาแตกเป็น 3 นิกาย และแต่ละนิกายก็แบ่งเป็นกลุ่มย่อยอีกมากมาย มีรายงานว่าโปรเตสแต๊นท์แบ่งออกมากที่สุดเป็นกว่า 37,000 กลุ่มหรือนิกายย่อย
นี่บ่งชี้ว่าอะไร? อาจบ่งชี้หลายอย่าง แต่เรื่องหนึ่งที่แน่ๆ ก็คือ อย่างน้อยก็บ่งชี้ว่า ในทางศาสนานั้น เป็นเรื่องยากมาก หรืออาจเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะหาสิ่งที่ “ถูกต้องแท้จริงแบบที่ไม่อาจโต้แย้งได้อย่างสิ้นเชิง” หรือ ที่เรียกว่า “the absolute truth”
ฉะนั้น การที่หลายคนมักคิดว่า ศาสนาหรือนิกายของตนดีที่สุด โดยไม่เคยตรวจสอบหรือแม้แต่ตั้งข้อสงสัยเลยนั้น ถือได้ไหมว่าเป็น “ศรัทธาแบบตาบอด” หรือ blind faith แบบหนึ่งได้เหมือนกัน
แต่ประเด็นที่น่าคิดก็คือ ทำไมศาสนาต่างๆ ที่ว่าดีแท้หรือจริงแท้นั้น จึงไม่สามารถคงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไว้ได้ตลอดไป ทำไมสิ่งดีแท้จริงแท้สุดท้ายจะต้องมีอันเกิดความเห็นต่างแล้วก็นำไปสู่การแตกเป็นนิกายใหม่เสมอๆ?
คำถามนี้มีคำตอบในทางศาสนวิทยา (Religiology) ว่ามีหลายๆ สาเหตุ ได้แก่…
1. ความคิดและทัศนคติของคนไม่หยุดนิ่ง เพราะมนุษย์คิดอยู่เสมอ หรือตั้งคำถามเสมอ
และเมื่อคิดเสมอตั้งคำถามเสมอ ก็ย่อมจะเกิดเหตุผลใหม่ และความคิดใหม่ขึ้นมา และความคิดใหม่นี้เมื่อคิดจนตกผลึกก็จะถึงขั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดอย่างถาวรไปเลย การคิดหรือการตั้งคำถามนี้ อาจเป็นคิดเอง หรือได้รับความคิดหรือการตั้งคำถามจากคนอื่นต่อมาอีกที ก็เลยทำให้เกิดความคิดใหม่ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความคิด เมื่อความคิดเปลี่ยน ความเชื่อ(ทางศาสนา)ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความคิด ก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย
2. เกิดการค้นพบความรู้ใหม่ ๆ หรือสภาพสังคมใหม่ๆ ที่ทำให้ต้องปรับความคิด
เช่น ความรู้จากการสังเกตุปรากฏการณ์ของชีวิตที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความรู้ที่ได้จากการทดลองหรือการสำรวจ เช่น คำสอนของบางศาสนาในอดีตเคยสอนว่าโลกแบน หรือใต้โลกมีปลาใหญ่หนุนอยู่ เมื่อมีการค้นพบความจริงว่าไม่ใช่ ความเชื่อเหล่านั้นก็จะเปลี่ยนแปลงไป คำสอนของบางศาสนาสอนว่า ถ้าสามีตายภรรยาก็ต้องกระโดดเข้ากองไฟตายตามสามีไปด้วย เรื่องทำนองนี้ในยุคโบราณผู้คนก็ยังรับได้ เพราะผู้หญิงต้องพึ่งผู้ชา แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ผู้คนก็ไม่ยอมรับอีกต่อไป หรืออย่างเช่น ผู้คนรู้สึกว่านิกายเดิมที่อยู่เคร่งครัดเกินไป ก็เลยขอแยกนิกายใหม่ที่เคร่งครัดน้อยลง หรือกลับกันก็คือรู้สึกว่านิกายเดิมไม่เคร่งครัดจึงก่อตั้งนิกายใหม่ที่เคร่งครัดกว่าของเดิม
3. เกิดการตีความคำสอนของคัมภีร์ในทัศนะใหม่
3. เกิดการตีความคำสอนของคัมภีร์ในทัศนะใหม่
การตีความใหม่อาจเป็นผลตามมาจากเหตุผล 2 ข้อข้างต้น หรืออาจเกิดจากการศึกษาพระคัมภีร์แล้วได้แง่คิดใหม่เองก็ได้ และในการตีความคัมภีร์ในทัศนะใหม่นั้นมักจะมีเหตุผลหลายอย่าง อาจมีเหตุจากปัญหาเรื่องต้นฉบับ เรื่องภาษาเดิม สารบบเอกสารที่นับรวมเป็นคัมภีร์ หรืออาจเป็นปัญหาการตีความที่เห็นแตกต่างกัน เช่น บางคนตีความคัมภีร์ทุกอย่างตามตัวอักษร ซึ่งเป็นแนวคิดดั้งเดิมของกลุ่มอนุรักษ์นิยมถือเคร่ง ในขณะที่ความคิดใหม่ก็มักจะมีการตีความแบบอื่นๆ ตามมา เช่น การตีความให้เข้ากับความเชื่อขององค์กรศาสนาของตน (Dogmatic) การตีความแบบเปรียบเทียบอุปมาอุปมัยและเป็นสัญญลักษณ์ การตีความหมายเชิงบริบทประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและจิตวิทยา (ตามยุคสมัยของผู้เขียนและผู้อ่าน) การตีความแบบใช้เหตุผลหรือปรัชญา การตีความแบบได้รับการสำแดงโดยตรงเฉพาะตัวแบบลึกลับ การตีความแบบมีความหมายลึกลับหรือรหัสลับแฝงอยู่ในตัวอักษร (เช่นแนวคิดเรื่อง การเล่นอักษรหรือเล่นคำในคัมภีร์แบบน่าพิศวง)
และเมื่อเกิด “ความคิดใหม่” เพราะมีการตีความพระคัมภีร์ใหม่ (หรือจะเป็นการตีความหมายพระคัมภีร์ใหม่จนเกิดความคิดใหม่ก็ตาม) สิ่งที่ตามมาก็คือ จะเกิดการคิดแตกต่างกัน จากแตกต่างก็ไปถึงขั้นแตกแยกทางความคิด และหากรู้สึกว่าไม่สามารถจะประนีประนอมได้ คือ ฝ่ายที่คิดใหม่ก็บอกว่าจะให้กลับคิดเหมือนเดิมก็ไม่ได้ ฝ่ายที่คิดแบบเดิมก็บอกว่ารับความคิดใหม่ไม่ได้ และยอมให้คิดแตกต่างกันก็ไม่ได้ด้วย และยิ่งหากต่างฝ่ายต่างมีพรรคพวก สาวก หรือผู้สนับสนุนพอสมควรด้วยแล้ว นิกายใหม่ก็จะเกิดขึ้น
4. การแยกนิกายเพราะความขัดแย้งทางอำนาจและผลประโยชน์ หรือความขัดแย้งทางการเมือง
และเมื่อเกิด “ความคิดใหม่” เพราะมีการตีความพระคัมภีร์ใหม่ (หรือจะเป็นการตีความหมายพระคัมภีร์ใหม่จนเกิดความคิดใหม่ก็ตาม) สิ่งที่ตามมาก็คือ จะเกิดการคิดแตกต่างกัน จากแตกต่างก็ไปถึงขั้นแตกแยกทางความคิด และหากรู้สึกว่าไม่สามารถจะประนีประนอมได้ คือ ฝ่ายที่คิดใหม่ก็บอกว่าจะให้กลับคิดเหมือนเดิมก็ไม่ได้ ฝ่ายที่คิดแบบเดิมก็บอกว่ารับความคิดใหม่ไม่ได้ และยอมให้คิดแตกต่างกันก็ไม่ได้ด้วย และยิ่งหากต่างฝ่ายต่างมีพรรคพวก สาวก หรือผู้สนับสนุนพอสมควรด้วยแล้ว นิกายใหม่ก็จะเกิดขึ้น
4. การแยกนิกายเพราะความขัดแย้งทางอำนาจและผลประโยชน์ หรือความขัดแย้งทางการเมือง
ตัวอย่างการเกิดนิกายใหม่ด้วยการขัดแย้งทางอำนาจและผลประโยชน์ก็เช่น นิกายเดิมมีแต่กลุ่มนี้ตระกูลนี้ที่ได้เป็นผู้นำ จึงตั้งนิกายใหม่เพื่อให้กลุ่มของตนเป็นผู้นำบ้าง การแยกนิกายด้วยเหตุผลความขัดแย้งนี้ไม่จำเป็นว่า ผู้ที่แยกต้องเป็นฝ่ายผิด อาจเป็นฝ่ายถูกหรือชอบธรรมก็ได้ เช่น อาจแยกเพราะเห็นว่านิกายเดิม ผู้นำทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และไม่เห็นหนทางแก้ไข ก็เลยแยกนิกายใหม่ ส่วนการเกิดนิกายใหม่เพราะความขัดแย้งทางการเมืองก็เช่น เจ้าเมืองหรือผู้นำประเทศต้องการให้ประชาชนของตนหลุดพ้นจากอำนาจของนิกาย เดิมซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ในเขตแดนประเทศอื่น ก็เลยหาทางตั้งนิกายใหม่ และให้มีศูนย์กลางอยู่ในประเทศของตัวเองเสียเลย ประชาชนของตนจะได้ไม่ต้องเดินทางไปประเทศที่เป็นศูนย์กลางนิกายเดิม
กรณีตัวอย่าง
ขอยกตัวอย่างกรณีการแยกนิกายของศาสนาพุทธ บรรดาผู้รู้ได้วิเคราะห์ไว้คล้ายๆกันว่ามาจากสองสาเหตุหลัก
ประการแรก “มูลเหตุของการแตกแยก มีสมุฏฐานมาจากความขัดแย้งในทางปฏิบัติพระวินัยและคำอธิบายในพระพุทธวจนะไม่ตรงกัน สงฆ์ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ควรแก้ไขผ่อนปรนในการปฏิบัติวินัยบางข้อ โดยอ้างพระพุทธานุญาตที่มีไว้กับพระอานนท์ในสมัยจวนดับขันธ์ปรินิพพานว่า “ดูก่อนอานนท์ ถ้าสงฆ์ต้องการ ก็ให้ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้” (มหาปรินิพพานสูตร 10/141) สงฆ์อีกฝ่ายหนึ่งไม่เห็นพ้องด้วย โดยอ้างเหตุผลว่า คำว่าสิกขาบทเล็กน้อย ไม่อาจทราบพระพุทธประสงค์ได้ว่า หมายความถึงสิกขาบทข้อไหน พระอานนท์เองก็ไม่ได้ทูลถามให้ชัดเจนว่า ได้แก่สิกขาบทหมวดไหน ฉะนั้น อย่าเพิกถอนสิกขาบททั้งหมดเลยแหละดี ควรจะรักษาเอาไว้ทุกอย่างอย่างเคร่งครัด” (เหตุการณ์ช่วงนี้ยังไม่มีการแยกนิกาย เป็นแต่เพียงเชื้อแห่งการแบ่งแยก)
กรณีตัวอย่าง
ขอยกตัวอย่างกรณีการแยกนิกายของศาสนาพุทธ บรรดาผู้รู้ได้วิเคราะห์ไว้คล้ายๆกันว่ามาจากสองสาเหตุหลัก
ประการแรก “มูลเหตุของการแตกแยก มีสมุฏฐานมาจากความขัดแย้งในทางปฏิบัติพระวินัยและคำอธิบายในพระพุทธวจนะไม่ตรงกัน สงฆ์ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ควรแก้ไขผ่อนปรนในการปฏิบัติวินัยบางข้อ โดยอ้างพระพุทธานุญาตที่มีไว้กับพระอานนท์ในสมัยจวนดับขันธ์ปรินิพพานว่า “ดูก่อนอานนท์ ถ้าสงฆ์ต้องการ ก็ให้ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้” (มหาปรินิพพานสูตร 10/141) สงฆ์อีกฝ่ายหนึ่งไม่เห็นพ้องด้วย โดยอ้างเหตุผลว่า คำว่าสิกขาบทเล็กน้อย ไม่อาจทราบพระพุทธประสงค์ได้ว่า หมายความถึงสิกขาบทข้อไหน พระอานนท์เองก็ไม่ได้ทูลถามให้ชัดเจนว่า ได้แก่สิกขาบทหมวดไหน ฉะนั้น อย่าเพิกถอนสิกขาบททั้งหมดเลยแหละดี ควรจะรักษาเอาไว้ทุกอย่างอย่างเคร่งครัด” (เหตุการณ์ช่วงนี้ยังไม่มีการแยกนิกาย เป็นแต่เพียงเชื้อแห่งการแบ่งแยก)
ประการที่สอง บรรดาอาจารย์ผู้สอนมีความเห็นแตกต่างกันระหว่างอาจารย์ด้วยกัน สงฆ์ฝ่ายนิกายมหาสังฆิกะ มหายาน (ผู้เขียน)เป็นพวกที่ต้องการแก้ไขผ่อนปรนในการปฏิบัติพระวินัย และถืออรรถาธิบายพระพุทธวจนะของพระอาจารย์เป็นใหญ่ (เสถียร โพธินันทะ,ชุมนุมพระสูตรมหายาน, บรรณาคาร, 2516, หน้า ช-ฉ.)
สรุปว่า มูลเหตุของการแตกแยกนิกายมี 2 ประเด็นหลัก คือ
1. เพราะการปฏิบัติพระวินัยไม่สม่ำเสมอเหมือนกัน เรียกว่า ความวิบัติแห่งศีลสามัญญตา
2. เพราะทัศนะในหลักธรรมอธิบายไม่ตรงกัน เรียกว่า ความวิบัติแห่งทิฏฐิสามัญญตา
มูลเหตุหลัก 2 ประการนี้ มีความสำคัญในการทำให้เกิดความคิดความเข้าใจ การตีความหลักธรรมแตกต่างๆกันไป จนกลายเป็นนิกายต่างๆ อย่างไรก็ตามในช่วง พุทธปรินิพพาน ยังไม่ถึง 100 ปี ยังไม่มีการแบ่งแยกเป็นนิกายชัดเจน จนถึงหลังจากพระพุทธองค์ปรินิพพานได้ 100 ปี ในการสังคายนาครั้งที่ 2 ได้มีคณะสงฆ์ มหาสังฆิกะ ซึ่งมีจำนวนมาก ได้แยกจากกลุ่มเถรวาทเดิม โดยมีมูลเหตุจากความเห็นที่แตกต่างเรื่องหลักปฏิบัติของภิกษุ และมหาสังฆิกะได้แยกกลุ่มนิกายย่อยออกไปอีก 18 นิกาย ในกาลต่อๆ มา เนื่องจากมีทัศนะ อุดมคติ การตีความหลักธรรม และวัตรปฏิบัติที่แตกต่างกัน
พัฒนาการของนิกายใหม่
แยกนิกายแล้ว อย่างไรต่อ… จากนั้น นิกายต่างๆ เมื่อแยกออกไปตั้งเป็นสถาบันกันจนมั่นคงแล้ว ก็จะมีสถานะเท่ากับศาสนาเท่ากับศาสนาๆ หนึ่ง ซึ่งก็จะถือว่ามีศักดิ์ศรีของตน และไม่อยากไปรวมกับลัทธินิกายเดิมหรือนิกายใดๆ
และความภูมิใจในศักดิ์ศรีในนิกายของตนนี้ก็จะยิ่งมากขึ้นไปอีกเมื่อมีปัจจัยประกอบต่างๆ มาช่วยเสริม ได้แก่ การมีจำนวนสาวกหรือศาสนิกของนิกายมาก มีความใหญ่โตของโครงสร้างองค์กร มีความมั่งคั่งด้านทรัพย์สินหรือวัตถุ มีระยะเวลายาวนาน มีประวัติศาสตร์ที่่ดูน่าภูมิใจ มีอำนาจทางการเมือง ครอบคลุมประเทศ ทวีป หรือเชื้อชาติ หรือยิ่งแพร่ไปได้ในหลายประเทศ และหลายเชื้อชาติ ความรู้สึกภูมิใจในศักดิ์ศรีของนิกายตนหรือศาสนาของตนก็จะยิ่งมากขึ้นไปอีกหลายเท่าทวีคูณ
ความภูมิใจในนิกายของตนมีความหมายรวมไปถึงว่า ฉันไม่สนใจที่จะถูกนิกายดั้งเดิมกล่าวหาว่าเป็นคำสอนเท็จหรือคำสอนผิดเพี้ยน เพราะนิกายของฉันก็อยู่ได้มั่นคงแล้ว ไม่ต้องพึ่งไม่ต้องง้อนิกายเดิม และเผลอๆ ก็อาจใหญ่โตกว่านิกายดั้งเดิมเสียอีก
ในทางศาสนศาสตร์และศาสนวิทยา มีการถามยอดฮิตในเรื่องนี้ว่า เป็นไปได้ไหมที่นิกายต่างๆ ทางศาสนาจะกลับมารวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกันเหมือนสมัยพระศาสดายังมีชีวิตอยู่? นี่เป็นแนวคิดและความพยายามของกลุ่มที่แสวงหารวมนิกายหรือแสวงหาความเป็นเอกภาพของนิกายของทุกศาสนาถามคำถามนี้กันทั้งนั้น และจะว่าไปศาสนิกแต่ละคนก็คงถามคำถามนี้อยู่ในใจด้วย
คำตอบก็น่าจะเป็นว่า ถ้าดูจากสภาวะข้างต้นที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว ก็เชื่อว่าการรวมนิกายไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เลย เพราะเมื่อแต่ละนิกายได้ตั้งขึ้นจนมั่นคงแล้ว ทุกนิกายต่างก็ย่อมต้องการรักษาชื่อของนิกายของตนไว้ (จะให้ชื่อนิกายถูกลบไปได้อย่างไร บางคนถึงกับบอกว่าชื่อนิกายนี้ถูกจดไว้บนสวรรค์แล้ว!) และยังต้องรู้สึกว่าต้องรักษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของนิกายรวมทั้งเกียรติของผู้ก่อตั้งและบรรพบุรุษของนิกาย นี่เป็นเรื่องศักดิ์ศรีที่ยิ่งใหญ่ และนี่ยังไม่นับเรื่องของตำแหน่งต่างๆ ที่มีอำนาจและผลประโยชน์ในโครงสร้างของนิกาย และทรัพย์สินต่างๆ อีกมากมาย จะทำอย่างไร ถ้าไปรวมนิกาย บรรดาผู้ที่มีตำแหน่งในนิกายก็จะสูญเสียสิ่งเหล่านี้ไป ใครจะยอมหรือ?
และเมื่อดูจากประวัติศาสตร์ทั้งหมดจนถึงปัจจุบัน ทุกศาสนาก็ยังไม่เคยสามารถรวมนิกายกันได้เลย มีแต่จะแตกนิกายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (หมายเหตุ: อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้เริ่มเกิดขึ้นบ้าง แต่ไม่ใช่ในลักษณะของการรวมนิกาย แต่เป็นการที่บางกลุ่มในนิกายหนึ่งขอแยกออกจากนิกายหนึ่ง ไปเข้ากับอีกนิกายหนึ่ง)
แต่จะว่าไป จะบอกว่า เป็นไปไม่ได้ และไม่เคยเกิดขึ้นได้เลย ก็ไม่ถูกทั้งหมดเสียทีเดียวนัก เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นในบางประเทศที่เป็นเผด็จการหรือคอมมิวนิสต์ โดยรัฐบาลได้สั่งขับมิชชันนารีและองค์กรศาสนาจากต่างประเทศออกจนหมด และบังคับให้ยุบและเลิกชื่อคณะนิกายต่างๆ ที่มีที่มาจากต่างประเทศให้หมด และให้เป็นนิกายเดียวของประเทศนั้นๆ
เมื่อมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้น ก็ต้องถือว่า การรวมนิกาย หรือยุบนิกายเกิดขึ้นได้ และเกิดขึ้นมาแล้วในเงื่อนไขเดียวคือ การถูกข่มเหงจากรัฐ
นอกจากนี้ ยังมีคำถามเกี่ยวเนื่องตามมาอีกประเด็นหนึ่ง และข้อนี้ก็ถามกันมาก ก็คือ เป็นไปได้ไหมว่า จะมีวันใดวันหนึ่งที่มีนิกายใดนิกายหนึ่ง เกิดสำนึกได้ขึ้นมาว่า นิกายของตนนั้นเริ่มมาด้วยเหตุผลที่ผิดหรือดำเนินมาผิด ของเดิมนั้นถูกต้องอยู่แล้ว หรือของเดิมนั้นอาจเคยผิด แต่เดี๋ยวนี้เขาเปลี่ยนแปลงแก้ไขจนถูกต้องแล้ว ฉะนั้น ให้เรากลับไปรวมนิกายกับของเดิมดีกว่า …เป็นไปได้ไหม?
คำตอบก็ยังคงจะเป็นดังคำถามที่แล้ว คือ ไม่น่าจะเป็นได้ และ ยังไม่เคยเกิดขึ้นได้ หรือ อาจจะได้ในเงื่อนไขเดียวก็คือ การถูกข่มเหงหรือถูกบังคับจากรัฐให้ยุบรวม ซึ่งอันนี้เกิดขึ้นมาแล้วในประเทศคอมมิวนิสต์ เช่น จีน และลาว
สิ่งที่เกิดขึ้นมากกว่าคือ หากคิดได้ว่าตนเองผิด แทนที่จะยุบกลับไปรวมกับนิกายเดิม นิกายนั้นจะเลือกแอบค่อยๆปรับเปลี่ยนสิ่งที่คิดว่าผิดนั้นให้ดีขึ้นมากกว่า ส่วนจะเปลี่ยนแบบลับๆ หรือเปลี่ยนแบบเปิดเผย หรือเปลี่ยนเร็วหรือเปลียนช้าก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ที่จริง ในทางศาสนวิทยายังเหลืออีกประเด็นหนึ่งก็คือ หากการรวมนิกายยังเป็นไปไม่ได้ขนาดนี้ แล้วเรื่องการรวมศาสนาจะเป็นไปได้หรือไม่
ท่านผู้อ่านคงมีคำตอบในใจแล้ว
สวัสดี
ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์
(เขียนไว้ตั้งแต่ปี 2012)
(เขียนไว้ตั้งแต่ปี 2012)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น