รัฐโลกวิสัย (Secular state) คือรัฐหรือประเทศที่เป็นกลางทางด้านศาสนา ไม่สนับสนุนหรือต่อต้านความเชื่อหรือการปฏิบัติทางศาสนาใด ๆ รัฐโลกวิสัยจะปฏิบัติต่อประชาชนอย่างเท่าเทียมไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ส่วนใหญ่จะไม่มีศาสนาประจำชาติ หรือหากมีศาสนาประจำชาติ ศาสนานั้นก็จะมีความหมายทางสัญลักษณ์และไม่มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชน (หมายเหตุ: คำว่า secular state บางคนก็แปลว่ารัฐโลกียวิสัย หรือ รัฐโลกียะ หรือรัฐฆราวาส ผู้เขียนขอใช้คำว่ารัฐโลกวิสัย ตรงข้ามกับ religious state ซึ่งก็แปลว่า รัฐศาสนา หรือรัฐโลกุตระวิสัย)
แผนภาพนี้แสดงให้เห็น Secular state ทั่วโลก “สีแดง” หมายถึงเป็น secular แท้ๆ “สีเหลือง” หมายถึงเป็นรัฐที่มีศาสนาประจำชาติ “สีเทา” หมายถึงรัฐกึ่งๆ สรุปยาก หรือไม่ก็ไม่มีข้อมูล
สิ่งที่น่าสนใจคือประเทศต้นกำเนิดศาสนาใหญ่ๆหรือนิกายใหญ่ๆ อย่าง ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมัน อินเดีย เนปาล จีน ญี่ปุ่น เกาหลี รัสเซีย ล้วนเป็น secular state ทั้งสิ้น
จากแผนภาพนี้ระบุว่าไทยมีสีเหลือง ก็คือเป็นรัฐที่มีศาสนาประจำชาติ (พุทธศาสนา) โดยในกลุ่มประเทศที่เป็น “รัฐศาสนา” จะจัดว่า ไทย เป็น 1 ใน 5 ประเทศพุทธศาสนา
รัฐธรรมนูญเป็นตัวชี้เบื้องต้นที่สำคัญว่าเป็นรัฐโลกวิสัยหรือไม่?
ประเทศไทยก็มีดีเบตมาโดยตลอดว่าควรจะใส่ “พุทธศาสนา” เป็นศาสนาประจำชาติหรือไม่ในรัฐธรรมนูญ ?
ถ้าในแง่รัฐธรรมนูญไทยจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ถูกระบุว่า "คลุมเครือ" เนื่องจากในรัฐธรรมนูญ(ปี 2550) ไม่ได้ระบุศาสนาประจำชาติไว้ แต่เอาไปซ่อนโดยผูกไว้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื้อหาระบุว่า " มาตรา ๙ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก"
หากลองดูตัวอย่างจากประเทศอื่นที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนานั้น มีเพียงกัมพูชาประเทศเดียว ที่ระบุไว้โดยใช้ถ้อยคำตรงไปตรงมาเช่นนั้น ทั้งนี้รัฐธรรมนูญของกัมพูชา ระบุว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ (Buddhism shall be the religion of the State)
แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือประเทศศรีลังกา ซึ่งเป็นต้นกำเนิดพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ และประชาชนนับถือพระพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ เขาเลือกวิธีที่จะไม่ระบุโดยตรงว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่เขาเลือกใช้ถ้อยคำว่า "สาธารณรัฐศรีลังกายกย่องพระพุทธศาสนาไว้ในลำดับแรก พร้อมกันนั้นก็เป็นหน้าที่ของรัฐ ที่จะต้องพิทักษ์ และอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ขณะเดียวกันกับที่ต้องคุ้มครองศาสนาอื่นโดยเท่าเทียม และให้หลักประกันว่าบุคคลมีสิทธิและเสรีภาพตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนี้..."
ประเทศในโลกนี้ซึ่งมีจำนวนรวมเกือบสองร้อยประเทศ ส่วนใหญ่ไม่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญว่าศาสนาใดเป็นศาสนาประจำชาติ มีประเทศฝ่ายข้างน้อยเพียง 28 ประเทศที่มีบทบัญญัติในทำนองดังกล่าว ในจำนวนนี้มี 18 ประเทศเป็นประเทศมุสลิม
ระบุไม่ระบุเรื่องศาสนาประจำชาติสำคัญอย่างไร?
สำคัญตรงที่การบัญญัติกฎหมายและตัดสินคดีความ ประเทศที่ไม่ได้ตรากฎหมายและตัดสินคดีความโดยเอาหลักศาสนามาเป็นที่ตั้งก็จะไม่มีความจำเป็นที่ต้องระบุเป็นถ้อยคำเรื่องศาสนาประจำชาติ แต่ประเทศมุสลิมมักจะถือว่าจำเป็นมาก เพราะในประเทศมุสลิมนั้นหลักธรรมและข้อกำหนดในศาสนานั้น มีฐานะเป็นที่มาของกฎหมาย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือได้รับการยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบกฎหมายบ้านเมืองเลยทีเดียว ศาลของประเทศมุสลิมนอกจากจะพิพากษาอรรถคดีตามตัวบทกฎหมายแล้ว ยังต้องพิพากษาคดีตามหลักกฎหมายที่ปรากฏในศาสนาอีกด้วย
ด้วยเหตุผลเช่นนี้ จึงจำเป็นที่รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกติกาของการปกครองประเทศ และเป็นความตกลงร่วมกันของประชาชนในสังคม เพื่อระบุบ่งชี้ว่าประเทศนี้จะใช้กฎหมายอะไร มาจากที่ใด จะต้องระบุไว้ในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนเพื่อรับรองสถานะศาสนาอิสลาม และหลักกฎหมายอิสลามเข้าไว้ในระบบกฎหมายของประเทศ
ยกตัวอย่างง่ายๆว่า ในประเทศพุทธ สมมุติว่าใครคนหนึ่งถูกฟ้องว่าฆ่าคนตาย ศาลก็จะตัดสินลงโทษจำเลยเพราะกระทำความผิดฐานฆ่าคนตายตามประมวลกฎหมายอาญา มิใช่เพราะจำเลยทำผิดศีลข้อหนึ่งในเบญจศีลที่ว่าห้ามฆ่าสัตว์ แต่ถ้าเป็นศาลของประเทศมุสลิม เขาลงโทษเพราะผิดศีลหรือล่วงละเมิดข้อห้ามทางศาสนา
ฉะนั้น ในบรรดาประเทศมุสลิมทั้งหลาย เมื่อมีแนวคิดเช่นนี้ เลยต้องระบุว่าศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติอยู่ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งการระบุก็ยังเข้มข้นไม่เท่ากันอีก บางทีถึงกับผูกไว้แน่นหนาถึงสามชั้นเลยทีเดียวคือ 1. ระบุว่าอิสลามคือศาสนาประจำชาติ 2. กฎหมายศาสนา(ชารีอะห์)ถือเป็นที่มาของกฎหมายประเทศ และ 3. ประธานาธิบดีหรือประมุขประเทศต้องนับถือศาสนาอิสลาม
แน่นอนว่าหากเป็นรัฐโลกวิสัยก็ต้องไม่มีระบุทั้งเรื่องศาสนาประจำชาติ เรื่องกฎหมายที่อิงศาสนา และเรื่องที่ผู้ปกครองประเทศและประมุขของประเทศที่ต้องนับถือศาสนา รวมทั้งที่ต้องอุปถัมป์ศาสนาด้วย
ดังที่ในตอนแรกได้พูดถึงรัฐธรรมนูญไปแล้วว่า หากประเทศใดต้องการเป็นรัฐโลกวิสัยจริงๆ สิ่งที่ต้องทำอย่างแรกเลยคือ ในรัฐธรรมนูญต้องไม่มีระบุเรื่องศาสนาประจำชาติ เรื่องกฎหมายที่อิงศาสนา และเรื่องที่ผู้ปกครองประเทศและประมุขของประเทศที่ต้องนับถือศาสนา รวมตั้งต้องอุปถัมป์ศาสนาด้วย
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังต้องให้สิทธิเสรีภาพทางศาสนา และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องศาสนาอย่างเต็มที่ ไม่มีกฎหมายหมิ่นศาสนา หรือแม้แต่กฎหมายห้ามการแสดงออกที่ก่อให้เกิดการเกลียดชังเว้นแต่การขู่อาฆาต
รัฐไม่มีการใช้งบประมาณจากภาษีของประชาชนไปเพื่อสนับสนุนศาสนา หรือหากมีก็ต้องมาจากภาษีส่วนของประชากรที่เป็นศาสนิกของศาสนานั้นๆเอง
ในรัฐพิธีต่างๆ ต้องไม่มีพิธีกรรมที่มีนัยทางศาสนา ซึ่งประเทศที่ทำเรื่องนี้ชัดเจนที่สุดคือ จีน แต่หลายประเทศที่แสดงว่าเป็นรัฐโลกวิสัยแต่ในรัฐพิธีก็จะให้น้ำหนักกับบางศาสนาและบางนิกายเป็นพิเศษ และใอาจมีศาสนาอื่นมาร่วมด้วยแต่มีบทบาทน้อยกว่า
รัฐไม่ให้มีการติดตั้งสัญลักษณ์ทางศาสนาและพิธีทางศาสนาในสถานที่ราชการ
ต้องยกเลิกวันหยุดทางศาสนา หรือหากมีก็ไม่ใช่วันหยุดภาคบังคับ เป็นตัวเลือกของคนในศาสนานั้นเท่านั้น และไม่มีการให้สิทธิพิเศษหรือริดรอนสิทธิแก่ศาสนิกของศาสนาใดเป็นพิเศษ และทดแทนวันหยุดทางศาสนาด้วยวันหยุดที่มีความหมายอื่นๆของชาติ
รัฐต้องไม่ให้สิทธิพิเศษแก่ข้าราชการที่ไปทำกิจกรรมทางศาสนาใดศาสนาหนึ่ง เช่น ไม่มีการให้ลาหยุดพิเศษโดยได้ค่าตอบแทนสำหรับข้าราชการที่ลาไปบวช หรือลาไปทอดกฐิน หรือลาไปพิธฮัจฉ์ เป็นต้น
ค้องไม่มีระบุศาสนาในบัตรประชาชน และทะเบียนบ้าน เพื่อให้การนับถือศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัว เปลี่ยนแปลวเมื่อใดก็ได้ นับถือกี่ศาสนาก็ได้ ไม่นับถือศาสนาเลยก็ได้ ไม่มีบันทึกประวัติของทางการที่อาจนำไปสู่การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุทางศาสนา
ต้องออกกฎหมายที่ห้ามมีการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุทางศาสนาในทุกเรื่อง ไม่ว่าการอยู่อาศัย การซื้อขาย การศึกษา การประกอบอาชีพ การสมัครงาน การรับราชการ การเมือง การรักษาพยาบาล การตาย ฯลฯ
ในสถานศึกษา และหลักสูตรการศึกษาต้องมีความเป็นกลางทางศาสนา ให้ศาสนาเป็นทางเลือก ไม่ใช่เรื่องบังคับ และมีเนื้อหาสำหรับการไม่นับถือศาสนา ไม่มีพิธีทางศาสนาในสถานศึกษา เว้นแต่เป็นโรงเรียนเอกชนที่แสดงชื่อและวัตถุประสงค์ทางศาสนาโดยตรงและเปิดเผย
รัฐจะต้องสนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ รู้จักคิดวิเคราะห์ด้วยเหตุผล กล้าวิพากษ์วิจารณ์ศาสนา ไม่กลัวการขู่ของศาสนา
รัฐยังต้องกำหนดแนวทาง "จริยธรรมสากลที่ไม่อิงศาสนา" เพื่อให้ประชาชนรู้ว่าหลักแห่งการเป็นคนดีที่ไม่อิงศาสนาเป็นได้อย่างไร และให้จัดเป็นหลักสูตรให้ประชนได้ศึกษาเรียนรู้
การทำพิธีศพและการเก็บศพรัฐต้องจัดสรรให้สามารถจัดพิธีศพและการเก็บศพแบบไม่มีศาสนา ยกตัวอย่างประเทศไทยเวลานี้ หากคนศาสนาอื่นอยากทำศพด้วยการเผาจะต้องพึ่งบริการของวัดเท่านั้น ซึ่งบางแห่งหากไม่ใช่ศาสนิกของเขาก็จะไม่ให้ใช้ คนศาสนาอื่นหรือไม่มีศาสนาไม่สามารถหาสถานที่ที่เป็นกลางทางศาสนาได้
รัฐต้องออกกฎหมายปกป้องสิทธิให้คนสามารถเลือกนับถือศาสนา เปลี่ยนศาสนา หรือไม่นับถือศาสนา เด็กต้องไม่ถูกบังคับให้เข้าพิีธีทางศาสนา โดยเฉพาะที่อันตรายหรือผูกมัดมาก จนกว่าจะถึงวัยที่เขาสามารถตัดสินใจเองได้
ต้องไม่มีองค์กรศาสนาใดได้รับการอุปถัมป์หรือได้สิทธิพิเศษจากรัฐ เหนือกว่าองค์กรการกุศลที่ทำงานจริงจัง
องค์กรศาสนายังต้องได้รับการตรวจสอบจากภาครัฐ ทั้งเรื่องคำสอน การบริหาร การเงิน การปฏิบัติต่อศาสนิก และการเผยแพร่
ถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านคงเห็นได้ว่าต้องมีมาตรการหลายอย่างทีเดียวถึงจะเป็นรัฐโลกวิสัยที่แท้จริงได้ ท่านคิดว่า การเป็นรัฐโลกวิสัยอย่างแท้จริงเป็นเรื่องยากหรือง่าย และดีหรือไม่ดีอย่างไร?
การเป็นรัฐศาสนามีผลดีผลเสียอย่างไร?
ผลดีคือ:
1. ทำให้ศาสนา(และนิกาย)ของรัฐได้รับการปกป้องและอุปถัมป์จากรัฐบาล ทำให้เป็นหลักประกันว่าจะไม่สูญหายไปจากประเทศนั้น ไม่ว่าจะเกิดจากการข่มเหงจากศาสนาอื่น หรือจากความเสื่อมภายในนตัวศาสนาเอง
2. ทำให้ศาสนาและนิกายของรัฐ ได้รับการอุ้มชูและอุปถัมป์เป็นพิเศษ จะได้รับเกียรติ อำนาจ และงบประมาณจากรัฐบาลมาสนับสนุน เหล่าผู้นำศาสนา สมณะ และศาสนสถานก็จะได้รับอำนาจและการอุดหนุน
3. ทำให้ศาสนานั้นมีศาสนิกเป็นจำนวนมากเนื่องจากประชาชนจะมาสมัครเป็นศาสนิกอย่างมากมายเพื่อให้ได้รับสิทธิพิเศษหรือไม่เสียสิทธิจากรัฐ
4. ศาสนานั้นยังอาจได้รับการอุดหนุนจนกระทั่งสามารถส่งคนไปเผยแพร่และก่อตั้งยังประเทศอื่นๆได้อย่างรวดเร็ว
5. หากศาสนาของรัฐนั้นเป็นศาสนาที่ดีมาก ก็ย่อมส่งผลดีต่อสังคมไม่มากก็น้อย เช่น ช่วยจรรโลงศีลธรรมของประชาชน
ผลเสีย:
1. เกิดความไม่เท่าเทียมกันและการเลือกปฏิบัติในทางศาสนา(และนิกาย) หรือถึงกับขาดสิทธิเสรีภาพทางศาสนา ทั้งที่เป็นการกระทำจากภาครัฐและจากประชาชนด้วยกันเอง ศาสนิกของรัฐก็จะได้รับสิทธิพิเศษเหนือกว่าเสมอ หรือศาสนิกอื่นก็มักจะถูกรอนสิทธิหรือถูกรังเกียจในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งก็จะส่งผลให้เกิดการต่อต้านในที่สุด
2. เนื่องจากคนจำนวนมากมาเป็นศาสนิกเพราะเรื่องเชิงสังคมและการเมือง ไม่ใช่เพราะศรัทธาอย่างแท้จริง สมณะและศาสนิกก็จะไม่ได้มีศรัทธาที่จริงใจ ความตั้งใจปฏิบัติตามศาสนาอย่างแท้จริงก็จะไม่มี
3. เนื่องจากศาสนาของรัฐได้รับการอุดหนุนทางอำนาจและการเงิน สมณะก็จะมีแนวโน้มที่จะหวังอำนาจลาภยศผลประโยชน์ที่ได้จากภาครัฐ จนไม่ได้มุ่งที่ความศรัทธาอย่างจริงใจของตัวศาสนิกเอง และสนใจกับการตรวจสอบของภาครัฐซึ่งทำให้บิดเบี้ยวได้ง่ายด้วยสินบนและเส้นสาย มากกว่าที่จะสนใจการตรวจสอบของศาสนิกเอง
4. อาจจะทำให้เกิดการไม่ให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในการวิจารณ์ศาสนาของรัฐเนื่องจากจากศาสนานั้นได้รับการปกป้องจากรัฐเป็นพิเศษ
5. ผลข้างเคียงที่นึกไม่ถึงก็คือ รัฐศาสนามีแนวโน้มจะถือว่า การเป็นคนดีคือการนับถือและปฏิบัติตามศาสนาของรัฐ ซึ่งนิยามคนดีของศาสนานั้น มีลักษณะที่คับแคบ เฉพาะกลุ่ม รวมเรื่องการปฏิบัติศาสนพิธี ซึ่งมักขาดความเป็นสากลที่ได้รับการยอมรับจากทุกศาสนาและทุกสังคม ซึ่งในที่สุดสังคมก็จะสับสนและสูญเสียความเข้าใจเรื่อง "ความดีสากล" ที่แท้จริงไป สับสนกับ "ความดีเชิงศาสนา"
6. หากศาสนาของรัฐมีข้อเสีย(ซึ่งมักจะมีบ้าง) ข้อเสียก็จะตกอยู่แก่สังคมอย่างฝังแน่นและแก้ยาก เพราะรัฐสนับสนุนและปกป้องไว้
7. ศาสนานั้นอาจถูกรัฐใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อและมอมเมาประชาชน จนทำให้สังคมเสียหาย และตัวศาสนาเองก็เสียหาย
โดย ดร.ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น