วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เทวนิยมสารพัดแบบ และอเทวนิยม

"เทวนิยม"   มาจากอังกฤษว่า Theism สร้างมาจากคำว่า theos ในภาษากรีกที่แปลว่า เทพ คำว่าเทวนิยมมีความหมายอย่างกว้างหมายถึงความเชื่อว่ามีพระเป็นเจ้าหรือเทพเจ้า ความหมายอย่างแคบคือเชื่อแบบเอกเทวนิยมว่ามีพระเจ้าองค์เดียวและทรงสัมพันธ์กับการดำรงอยู่ของเอกภพ

เทวนิยมยังเชื่อว่าพระเจ้าทรงเป็นบุคคล และมีอำนาจปกครองและจัดการโลกและเอกภพ
แนวคิดตามแบบแผนนี้อธิบายพระเจ้าในเชิงเอกเทวนิยมซึ่งปรากฏในศาสนายูดาห์ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม และศาสนาฮินดูในบางสำนัก


"เทวัสนิยม" (deism)

(ดูดีๆครับ คล้ายกับอันบนมาก) แนวคิดนี้เชื่อเหมือนเทวนิยมที่ว่า เชื่อว่ามีพระเจ้าเป็นอุตตรภาวะสูงสุด แต่พระเจ้ามิได้ทรงแทรกแซงโลกตามธรรมชาติ และมนุษย์รู้จักพระองค์ได้ด้วยการใช้เหตุผล ไม่ใช่โดยการวิวรณ์(การเผยสำแดง) แม้่ว่าแนวนี้จะเชื่อในพระเจ้าแต่ก็เชื่อมั่นในเหตุผลและคิดว่าจะสามารถใช้เหตุผลพิสูจน์ในเรื่องพระเจ้าได้ กลุ่มนี้เชื่อต่อไปอีกว่าเหตุผลเท่านั้นที่จะช่วยให้เราเกิดความเข้าใจศาสนาและศีลธรรมอย่างถูกต้อง กลุ่มนี้ถือว่าแม้พระเจ้านั้นมีอยู่ แต่หลังจากที่ทรงสร้างโลกแล้วก็มิได้ลงมายุ่งเกี่ยวกับมนุษย์อีกเลย

พวกนี้ยอมรับศาสนาในสมัยแรกเริ่มก่อตั้งแต่ก็มักจะโจมตีศาสนาในระยะหลังที่มีพิธีกรรมต่างๆ และมีพระเป็นผู้สืบศาสนา กลุ่มนี้เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีเหตุผลอยู่ในตัว เพียงแต่ว่าคนส่วนใหญ่ไม่สามารถจะบังคับในตัวเองให้ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ ทำให้พระเข้ามามีบทบาทได้ ทั้ง ๆ ที่แท้จริงแล้ว มนุษย์ทุกคนเข้าถึงและรู้เข้าใจเกี่ยวกับศาสนาเป็นอย่างดี

ตัวอย่างผู้มีความเชื่อแบบเทวัสนิยม ได้แก่ เบนจามิน แฟรงคลินและวอลแตร์



"สรรพเทวนิยม" (Pantheism)

Pantheism มีคนบัญญัติศัพท์ไทย "สรรพเทวนิยม"  แต่บ้างก็เรียก "สกลเทพนิยม"  แนวคิดคือการเชื่อว่าสรรพสิ่งคือพระเจ้า เป็นแนวคิดซึ่งเชื่อว่าเอกภพ (ธรรมชาติ) กับพระเป็นเจ้านั้นเป็นสิ่งเดียวกัน ดังนั้นผู้ที่เชื่อในสรรพเทวนิยมจึงไม่เชื่อในแนวคิดพระเจ้าที่เป็นตัวบุคคล หรือที่มีรูปร่างแบบมนุษย์(anthropomorphism) หรือพระผู้สร้าง   แต่สรรพเทวนิยมคิดว่า "พระเจ้า" นั้นควรถูกมองในวิถีทางที่เกี่ยวข้องกับเอกภพจึงจะดีที่สุด แม้ว่าจะมีความแตกต่างในสรรพเทวนิยมอยู่บ้าง   อันเป็นแนวคิดที่มีรากฐานมาจากแนวสสารนิยม    คือสสารนิยมเป็นความเชื่อว่า ความจริงแท้ของโลกนี้ไม่ใช่จิต แต่เป็นสสาร  (ซึ่งตรงนี้ค้านกับจิตนิยม)   และเมื่อมีการรับรองความมีอยู่ของสสารหรือวัตถุธาตุ ความคิดทางศาสนาก็ปรับตัวเองให้เข้าได้กับความคิดใหม่ ณ บัดนี้พระเป็นเจ้ากลายเป็นไม่ใช่บุคคลไป หากเป็นธรรมชาติทั้งหมดซึ่งมีอยู่,อันมีใจครอง การถือทั้งหมดซึ่งมีอยู่เป็นพระเป็นเจ้านี้ คือ "สรรพเทวนิยม"

ตัวอย่างของศาสนาแบบสรรพเทวนิยมอย่างเช่น  ศาสนาของจีนในบางยุค ที่เชื่อว่าโลกประกอบด้วยธาตุทั้งห้า คือดิน น้ำ ไฟ ไม้ และทอง    หรือศาสนาเต๋า  ที่เน้นว่า เต๋าคือทุกอย่างและอยู่ในทุกอย่าง  หรือศาสนาพราหมณ์ที่บอกว่า "พรหม" หรือ "อาตมัน" เป็นวิญญาณของทุกสรรพสิ่ง

พระเจ้าตามสรรพเทวนิยมจะเน้นว่า พระเจ้าเป็นเอกภาพที่รวมสรรพสิ่งทั้งหลายเข้าไว้ ฉะนั้น ทั้งหมดจึงรวมเข้าเป็นหนึ่ง และหนึ่งนั้นคือพระเป็นเจ้า   

ระยะหลังๆ สรรพเทวธรรมชาตินิยมได้รับความเชื่อถือมากยิ่งขึ้นในหมู่ผู้ที่เชื่อว่าไม่มีพระเจ้า หรือ อเทวนิยม (atheist) จากการที่มีคำอธิบายสรรพเทวนิยมว่า "เป็นอเทวนิยมที่น่าสนใจขึ้น"


"พหุเทวนิยม" (polytheism)

เชื่อว่ามีเทวดาหลายองค์ แต่ละองค์มีอำนาจต่างๆ กันไป เป็นการบูชาหรือความเชื่อในพระเจ้าหลายองค์ ซึ่งตรงข้ามกับเอกเทวนิยม ซึ่งเป็นความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียว ผู้ที่นับถือพหุเทวนิยมไม่บูชาพระเจ้าทุกองค์เสมอกันตลอด แต่อาจบูชาเฉพาะพระเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งเป็นพิเศษก็ได้ ศาสนาพหุเทวนิยม เช่น พหุเทวนิยมกรีกและโรมัน เทพปกรฌัมสลาฟ ศาสนาฮินดู ศาสนาชินโต ศาสนาพื้นบ้านของจีน ลัทธิเต๋า เป็นต้น


"สรรพัชฌัตเทวนิยม" (panentheism)

แนวคิดนี้เชื่อว่าพระเจ้าปรากฏอยู่ทุกหนแห่งในจักรวาล และในทางทฤษฎีแล้วมีอยู่ "นอกเหนือจาก" หรือ "พ้น" จักรวาลในฐานะผู้สร้างและผู้ค้ำจุน ดังนั้น สรรพัชฌัตเทวนิยมจึงไม่ใช่อย่างเดียวกับสรรพเทวนิยม ซึ่งพระเจ้ากับจักรวาลนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน และไม่มีส่วนใดของพระเจ้าอยู่แยกออกจากจักรวาล

เป็นเทวนิยมรูปแบบหนึ่งที่เชื่อว่าพระเป็นเจ้าทรงสถิตแทรกซึมอยู่ทั่วโลก (ตลอดทั้งจักรวาล) มีลักษณะเป็นแนวคิดสายกลางระหว่างแนวคิดแบบเอกเทวนิยมด้ังเดิมที่มองว่าพระเป็นเจ้าทรงอยู่แยกขาดจากโลก กับแนวคิดสรรพเทวนิยมที่มองว่าพระเป็นเจ้ากับโลกเป็นสิ่งเดียวกัน สรรพัชฌัตเทวนิยมจึงเสนอว่าพระเป็นเจ้าทรงปรากฏพระองค์ในโลก (ไม่ได้แยกขาดจากกัน) แต่พระองค์ก็ไม่ใช่ภาวะเดียวกับโลก แนวคิดนี้ปรากฏในสาขาปรัชญาและเทววิทยามาหลายศตวรรษ แต่มาเฟื่องฟูมากในโลกตะวันตกเมื่อสองศตวรรษที่แล้ว เมื่อศาสนาคริสต์ต้องปรับตัวเข้ากับแนวคิดทางวิทยาศาสตร์

ศาสนาที่มีแนวคิดแบบสรรพัชฌัตเทวนิยม เช่น ศาสนาฮินดูสำนักวิศิษฏาไทฺวตะ เวทานตะ และลัทธิอนุตตรธรรม เป็นต้น


อเทวนิยม (Atheism)

เป็นการปฏิเสธความเชื่อแบบเทวนิยมในความหมายกว้าง คือไม่เชื่อว่ามีพระเจ้าองค์เดียว แต่บางแนวก็บอกว่าหมายถึงภาวะที่ไม่เชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆเลย

แต่ถ้าปฏิเสธพระเจ้าในความหมายแคบ จะเรียกว่า เทวัสนิยม สรรพเทวนิยม พหุเทวนิยม ตามแต่ลักษณะของความเชื่อ

ถ้าเห็นว่าพระเจ้าหรือเทวดาจะมีอยู่หรือไม่เราก็รู้ไม่ได้เรียกว่าอไญยนิยม (agnosticism)

ถ้าเชื่อว่ารู้ได้ (ว่ามีหรือไม่มี) ก็ถือว่าเป็นเทวนิยมหรืออเทวนิยม (ตามแต่ลักษณะความเชื่อ)

เทวนิยมและอเทวนิยมจึงเป็นการยืนยันหรือปฏิเสธการดำรงอยู่ของพระเจ้า แต่อไญยนิยมปฏิเสธการรับรู้


คำถามยอดฮิต#1 "ศาสนาพุทธถือเป็น อเทวนิยม ใช่หรือไม่?"

ศาสนาพุทธอาจจัดว่าเป็นทั้งเทวนิยมและอเทวนิยม นิกายเถรวาทและนิกายเซน เชื่อในกฎธรรมชาติ สร้างสรรพสิ่ง จัดเป็นอเทวนิยม แต่ก็มีปัญหาโต้แย้งว่า การที่พุทธเถรวาทเชื่อในการมีอยู่ของเทวดาและผีหรือเปรต จะยังถือว่าเป็นอเทวนิยมหรือไม่? บางคนก็ถือว่าพุทธเถรวาทเป็น "กึ่งเทวนิยม" หรือ "กึ่งอเทวนิยม"

ส่วนนิกายสุขาวดีและวัชรยาน เชื่อว่ามีพระอาทิพุทธะเป็นผู้สร้างโลกและสรรพสิ่งเฉกเช่นพระเจ้า จึงอาจจัดนิกายเหล่านี้เป็นเทวนิยมได้


คำถามยอดฮอิต#2: อศาสนา เป็นอันเดียวกับ อเทวนิยม ใช่ไหม?

อศาสนา (irreligion) หมายความว่า ภาวะที่ไม่นับถือศาสนา ไม่มีศาสนา ไม่แบ่งแยกศาสนา หรือเป็นปรปักษ์ต่อศาสนา ผู้ที่มีภาวะดังกล่าวเรียก อศาสนิกชน ว่ากันตามแต่ละนิยามหรือความเข้าใจของบุคคล ฉะนั้น อศาสนาจึงอาจเข้าได้ว่าหมายถึงทั้งพวก อเทวนิยม (atheism), เทวัสนิยม (deism), อไญยนิยม (agnosticism), ศาสนวิมตินิยม (religious skepticism) หรือ โลกียมนุษยนิยม (secular humanism)

อศาสนิกชนอาจมีความเข้าใจในภาวะอศาสนาเท่า ๆ กับศาสนิกชน เช่น ผู้นับถือลัทธิมนุษยนิยมมีความเชื่ออย่างลึกซึ่งยิ่งในวัตรปฏิบัติของตนเองพอๆ กับความลึกซึ้งของความเชื่อที่ศาสนิกชนมีต่อศาสนาของตน เป็นต้น ถึงแม้ว่าคนที่ระบุว่าตนเองเป็นอศาสนิกชนจะมิได้รับนับถือศาสนาใด ๆ ก็ตาม

และที่สำคัญคือ อศาสนิกชนบางกลุ่มยังคงเชื่อถือในเทวะหรือผีสางนางไม้เป็นต้น เช่น คนที่นับถือผีหรือเชื่อโชคลาง แต่ไม่ได้ประกอบพิธีกรรมใด ๆ หรือไม่ได้เป็นศาสนิก เป็นต้น

พึงทราบว่า ในบางประเทศเช่น ซาอุดิอาระเบีย บังคับให้พลเมืองต้องเป็นศาสนิกชน หรือ ประเทศไทย อศาสนิกชนอาจถูกระบุในทะเบียนบ้านเป็นพุทธศาสนิกชน หรือไม่ระบุว่าเป็นอศาสนิกชน

ดังนั้น จำนวนของอศาสนิกชนในโลกนี้จึงยังไม่อาจระบุให้เป็นที่แน่นอนได้


--------
เรียบเรียงและปรับปรุงจาก wikipedia 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น