วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ไทยเป็นรัฐศาสนาหรือไม่?

มีหลายคนพยายามบอกว่า ไทยไม่ได้เป็นรัฐศาสนาเหมือนประเทศอิสลามสักหน่อย  เราเป็นเพียงประเทศที่ยึดถือศาสนาพุทธและให้เสรีภาพแก่ทุกศาสนาเท่าเทียมกันเท่านั้นเอง    ขอให้ลองพิจารณาจากองค์ประกอบต่างๆ ต่อไปนี้

1. เมื่อดูตามประวัติศาสตร์ไปถึงสมัยกรุงสุโขทัยเป็นต้นมา ก็จะพบว่า ฝ่ายอาณาจักรไทยมีความสัมพันธ์กับฝ่ายศาสนจักรอย่างแน่นแฟ้น พระมหากษัตริย์ไทยและพระราชนิกุลทรงเป็นพุทธมามกะ และหลายพระองค์ทรงผนวชเป็นภิกษุ จึงมีการอุดหนุนค้ำจุนกันระหว่างสถาบันทั้งสองเรื่อยมา 

2. ในปัจจุบันกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม มีหน้าที่กำกับดูแลและรับรองกลุ่มศาสนาซึ่งรับรองเพียงห้าศาสนาหลักเท่านั้น และไม่รับรองกลุ่มศาสนาใดเพิ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา

3. กลุ่มศาสนาที่ได้รับการรับรองมีสิทธิ์ได้รับเงินอุดหนุนและสิทธิ์ประโยชน์ทางภาษี

4. ส่วนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ดูแลพุทธศาสนาโดยเฉพาะ ทั้งสองหน่วยงานรับงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อใช้ในกิจการทางศาสนารวมกันหลายพันล้านบาทต่อปี

5. กระทรวงมหาดไทยเคยเก็บข้อมูลศาสนาและหมู่เลือดของคนไทยและพิมพ์ลงในบัตรประจำตัวประชาชน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเลิกเก็บข้อมูลดังกล่าวแล้ว แต่จะลงในบัตรหรือไม่ให้ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของเจ้าของบัตร การที่ต้องระบุในบัตรทำให้ไม่สามารถเก็บเป็นเรื่องส่วนตัว และอาจเป็นเหตุให้ถูกเลือกปฏิบัติได้

6. นอกจากนี้ในการสมัครงาน ใบสมัครเข้าเรียนในสถานศึกษา หรือประวัติคนไข้ในโรงพยาบาลมักจะสอบถามศาสนาของผู้กรอกข้อมูลด้วย ซึ่งการที่ต้องระบุทำให้ไม่สามารถเก็บเป็นเรื่องส่วนตัว และอาจเป็นเหตุให้ถูกเลือกปฏิบัติได้

7. พุทธศาสนาเป็นวิชาบังคับในโรงเรียนรัฐบาลทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา แต่นักเรียนในโรงเรียนรัฐที่นับถือศาสนาอื่นไม่ต้องสวดมนต์ไหว้พระหลังเคารพธงชาติทุกวัน

8. ในทางกฎหมาย รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ.2550) แม้ไม่พูดชัดว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ก็ได้เขียนผูกไว้เป็นนัยให้คุ้มครองพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ รัฐธรรมนูญไทยฉบับ พ.ศ. 2550 รวมถึงฉบับก่อนหน้าแม้รับรองเสรีภาพในการถือศาสนาของประชาชน แต่ขณะเดียวกันก็บัญญัติไว้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก และกำหนดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐชัดเจนว่ารัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาในมาตรา 79 และแม้ว่าจะมีการเรียกร้องให้บัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวแต่ในที่สุดมาตรานี้มีความเพียงว่า "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน"

กลุ่มพระสงฆ์และชาวพุทธบางกลุ่มที่พยายามเรียกร้องให้บัญญัติประโยคว่า
"พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" ไว้ในรัฐธรรมนูญให้ได้ 

9. ไม่เพียงแต่รัฐธรรมนูญคุ้มครองเท่านั้น แต่พุทธศาสนายังได้รับการคุ้มครองโดย พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งห้ามการกล่าวหมิ่นประมาทพุทธศาสนารวมถึงพระสงฆ์ และคุ้มครองศาสนสถาน ศาสนวัตถุ และศาสนพิธีของศาสนาอื่น ๆ ตามลำดับ

10. เมื่อดูในทางปฏิบัติจะยิ่งเห็นชัดเจนว่า อิทธิพลของศาสนาและความเชื่อในประเทศไทยสะท้อนออกมาในหลากหลายรูปแบบ อาทิเช่น

- ตราแผ่นดินหรือตราประจำหน่วยงานที่มักเป็นเทพเจ้าในศาสนพราหมณ์-ฮินดูที่มีตำนานเกี่ยวข้องกับพันธกิจของหน่วยงาน
- ธงไตรรงค์ที่มีสีขาวเป็นสัญลักษณ์ของศาสนา
- การใช้ปีพุทธศักราช (แต่ยึดปฏิทินสุริยคติตามระบบเกรโกเรียน) ซึ่งประเทศอื่นที่ใช้พุทธศักราชด้วยก็มี พม่า กัมพูชา และศรีลังกา แต่นับต่างกันนิดหน่อย
- การใส่ภาพวัดในพุทธศาสนาลงในเหรียญกษาปณ์และธนบัตร
- การตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่ในหน่วยงานราชการ
- การบูชาพระรัตนตรัยก่อนเริ่มพิธีการ
- การกำหนดวันสำคัญทางศาสนาเป็นวันหยุดประจำชาติ
- มีรัฐพิธีที่เป็นความเชื่อทางศาสนาที่มีมาแต่โบราณ เช่น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย

11. รัฐบาลออกกฎหมายหรือประกาศที่มีเหตุผลจากพุทธศาสนาและสนับสนุนกิจกรรมของพุทธศาสนามากขึ้น เช่น กำหนดให้ห้ามขายสุราในวันหยุดทางศาสนา ออกกฎหมายให้ลาบวชโดยให้เงินเดือนแก่ข้าราชการและเอกชน เป็นต้น


ท่านผู้อ่านคิดว่า จากเหตุผลที่กล่าวมา ประเทศไทยควรถูกจัดว่าเป็นรัฐแบบใด?

ก. รัฐศาสนา
ข. รัฐกึ่งศาสนา
ค. รัฐโลกวิสัย(รัฐฆราวาส) 


ขอเพิ่มเติมด้วยเรื่อง "การหมกเม็ดเรื่องเสรีภาพทางศาสนาในรัฐธรรมนูญไทย"

มีคนถามว่า "การที่รัฐธรรมนูญของประเทศไทยบัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนา ถ้าเช่นนั้น คนไทยอยากจะก่อตั้งพุทธศาสนานิกายใหม่ หรือนำเข้าพุทธนิกายใหม่ ในประเทศไทย ได้หรือไม่?"

ขอตอบว่า ไม่ได้ เหตุผลก็คือ เพราะมี "พระราชบัญญัติคณะสงฆ์" เป็นข้อจำกัดอยู่

ขออธิบายเพิ่มเติมเป็นขั้นๆ ดังนี้

ขั้นแรก แม้รัฐธรรมนูญจะบัญญัติให้ประชาชนมีเสรีภาพทางศาสนา แต่รัฐธรรมนูญก็ได้บัญญัติแสดงความมุ่งหมายไว้ด้วยว่า การใช้เสรีภาพดังกล่าวจะต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมือง และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

อยากชี้ให้เห็นว่า ต่อให้รัฐธรรมนูญบัญญัติให้คนไทยมีเสรีภาพทางศาสนาขนาดไหนก็ตาม มันก็ยังไม่มีเสรีภาพจริง เพราะมันถูกบัญญัติชี้เจตนาไปด้วยว่า เสรีภาพทางศาสนาดังกล่าวต้อง "ไม่ขัดกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน"

เพราะคำถามที่ตามมาคือ ใครจะเป็นคนกำหนดล่ะ ว่าอะไรสิ่งที่ขัดกับ "ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี" ดังกล่าว?


นอกจากรัฐธรรมนูญแล้ว ขั้นต่อมา มีการออก "พระราชบัญญัติทางศาสนา" มากำกับอีกชั้นหนึ่ง 

"พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฯ" ขึ้นเพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ป้องกันมิให้บุคคลผู้มีเจตนาไม่สุจริตอาศัยร่มเงาพระพุทธศาสนาหาประโยชน์ใส่ตน อันเป็นต้นเหตุให้เสื่อมศรัทธาแก่ผู้ที่มีศรัทธาอยู่แล้ว และไม่ก่อเกิดศรัทธาแก่ผู้ที่ไม่มีศรัทธามาก่อน ฉะนั้น พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฯ จึงถูกถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ขั้นสุดท้าย พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฯ มาตรา 18 บัญญัติให้ มหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่ปรากฏบทบัญญัติมาตราใดให้สิทธิพระภิกษุสงฆ์ไทยประกาศแยกตน ไม่ยอมอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฯ ได้

เสร็จแล้วก็ตามมาด้วยการออก "พระราชบัญญัติองค์กรศาสนา" มากำหนดว่า ใครคือผู้มีอำนาจในกำหนด ตัดสิน ควบคุม เรื่องของศาสนาต่างๆ

ทุกวันนี้ที่มีแล้วก็ได้แก่

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 (ฉบับสอง พ.ศ.2535) มีเพื่อควบคุมองค์กรของศาสนาพุทธ นอกจากนี้ยังมีการพยายามออก พรบ.อุปถัมป์และคุ้มครองพุทธศาสนาอีกด้วย

พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 เพื่อควบคุมองค์กรศาสนาอิสลาม

ทางฝ่ายคริสต์ มีพระราชบัญญัติว่าด้วยลักษณะของวัด บาทหลวงโรมันคาธอลิค ในกรุงสยาม ตามกฎหมาย ร.ศ.128 นอกจากนี้ก็ยังกำลังพยายามเสนอ ร่าง พ.ร.บ.การบริหารองค์กรศาสนาคริสต์ โดยพยายามให้คล้ายกับของ พรบ.อิสลามด้วย

พรบ.เหล่านี้เมื่อออกมาได้ก็เท่ากับว่า องค์กรเหล่านี้เป็นผู้มีอำนาจในการควบคุมศาสนาชื่อนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นพุทธ คริสต์ หรืออิสลาม ห้ามใครในศาสนาเหล่านี้ออกนอกแถว ห้ามตีความแตกต่าง ห้ามตั้งตนเป็นเอกเทศ ห้ามตั้งนิกายใหม่ เว้นแต่จะไปตั้งศาสนาใหม่เสียเลย 

ฉะนั้น เสรีภาพทางศาสนาของไทย จึงไม่ใช่เสรีภาพทางศาสนาที่แท้จริง ไม่เหมือนกับอารยประเทศ

ถือได้ว่า นี่คือ การหมกเม็ดเรื่องเสรีภาพทางศาสนาในรัฐธรรมนูญไทย



ศิลป์ชัย   เชาว์เจริญรัตน์

4 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณมากครับ
    บทความนี้ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับศาสนาในประเทศสยามได้ดีมาก ทำให้คนได้ตระหนักถึงปัญหาของเรื่องการนำศาสนามาใช้บังคับประชาชนให้เข้าถือศาสนา และการลำเอียงทางศาสนา

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณมากครับ
    บทความนี้ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับศาสนาในประเทศสยามได้ดีมาก ทำให้คนได้ตระหนักถึงปัญหาของเรื่องการนำศาสนามาใช้บังคับประชาชนให้เข้าถือศาสนา และการลำเอียงทางศาสนา

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ12 กรกฎาคม 2558 เวลา 12:47

    สิ่งใดไม่ดีย่อมเสื่อมไปตามกาลเวลา...ศาสนาก็เช่นกัน

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ23 ธันวาคม 2558 เวลา 06:01

    สรุปว่าความเห็นของ ศิลป์ชัย ดีที่สุด ติคนอื่นไปทั่ว แล้วศาสนาที่สอนคนให้ทำสงครามฆ่ากันจนมีปัญหามาถึงทุกวันนี้ สมควรได้รับการเผยแพร่หรือไม่ ศิลป์ชัย สหรัฐ,แคนนาดา,ออสเตรเลีย ประชาชนเลือกตั้งมาแล้ว ปธน.ก็ยังสาบานต่อพระเจ้าอีก ถือว่าเป็นรัฐศาสนาคริสต์หรือไม่

    ตอบลบ