วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2558

'พระยาแถน' ต้นเรื่องของผู้คนในอินโดจีน

โดย พลาดิศัย

การเกิดของมนุษย์ที่มาจากรูน้ำเต้าลูกเดียวกันนั้น เริ่มต้นเรื่องตรงที่พ่อขุนทั้งสาม คือ ปู่ลางเชิง ขุนคาน และขุนเด็ก ตั้งเมืองอยู่ที่เมืองลุ่ม โดยมีพระยาแถนซึ่งเป็นเทวดาอยู่เมืองฟ้าเป็นผู้ดูแล ต่อมาเกิดไม่เชื่อฟังพระยาแถน ทำให้พระยาแถนเคืองจึงทำให้น้ำท่วมเมืองลุ่ม คนกลุ่มนี้จึงพาเอาลูกเมียลงแพ แต่น้ำได้พัดขึ้นไปเมืองฟ้า

ครั้งนั้นพระยาแถนได้กล่าวเตือนพ่อขุนทั้งสามว่า .. ที่สั่งให้กินข้าวให้บอกให้หมาย กินแลงกินงายให้บอกแถน กินขึ้นให้ส่งขากินปลาให้ส่งรอยแก่แถนนั้น เป็นการยำแถนยำผีเถ้ายำเจ้ายืนกาย ก็ไม่ฟังกัน.. แล้วพระยาแถนก็จัดให้คนเหล่านั้นไปอยู่ที่บึงดอนแถนลอ แต่น้ำแห้งจึงกลายเป็นแผ่นดิน ต่อมาพ่อขุนเหล่านั้นได้ขอว่า อยู่เมืองบนเมืองฟ้าบ่เป็น จึงขอกลับไปอยู่เมืองลุ่มลีดเลียง เมืองเพียงคัดค้อย (หรือเพียงพักยอม)


พระยาแถนจึงส่งลงมาพร้อมกับควายเขาลู่ และตั้งบ้านให้ที่นาน้อยอ้อยหนู ควายนั้นทำนาได้สามปีก็ตาย เขาและซากควายนั้นได้เกิดเครือต้นน้ำเต้าออกเป็นลูกน้ำเต้าใบใหญ่

ภายในน้ำเต้าใบใหญ่นั้นได้เกิดผู้คนร้องส่งเสียงกันอยู่ภายในหลายเผ่าพันธ์ จนปู่ลางเชิงต้องไชให้คนเหล่านั้นออกมา โดยปู่ลางเชิงนั้นเอาเหล็กแดงมาไชน้ำเต้าใบใหญ่ พอไชก็มีผู้คนเบียดเสียดกันออกมาคับคั่ง จึงทำให้มีผิวดำเพราะร้อนไหม้ (เรียกรูชี) เมื่อผู้คนผิวดำเช่นนั้นปู่ลางเชิงก็เอาสิ่วเจาะรูให้ใหม่ทำให้ใหญ่ขึ้น(เรียกว่า รูสิ่ว) ทำให้คนพวกที่ออกทางรูสิ่วมีผิวขาวกว่า คนที่ออกมาทางรูสิ่วนั้นเป็น คนไทย คนที่ออกมาทางไช (รูชี) นั้นเป็นพวกข่า (ข้า) จึงลวด (เลย) เป็นข้อยเป็นไพร่ไป น้ำเต้านี้

เมื่อแตกออกมานั้นมีคนเผ่าออกมาจากน้ำเต้าอีก 5 พวก คือ ไทยลม ไทยลี ไทยเลิง ไทยลอ ไทยควาง

มีผู้รู้บอกว่าไทยพวกนี้ได้แก่พวกข่าแจะ ผู้ไทดำ ลางพุงขาว ฮ่อแกว ทั้งหมดนี้ต่างเคารพนับถือ เป็นพี่น้องท้องเดียวกัน ผู้คนทั้งหมดนั้นปู่ลางเชิง ได้บอกสอนให้รู้จักทำไร่ทำนา ทอผ้าทอซิ่น เลี้ยงชีวิต แล้วทำการปลูกแบ่งแต่งให้เป็นผัวเป็นเมีย มีเหย้ามีเรือน มีลูกหญิงชายออกมาเป็นเผ่าพันธุ์ใหญ่ พวกที่อาศัยอยู่บนที่ราบสูงมีอาชีพทำไร่ พวกที่อยู่ในเขตที่ราบลุ่มมีอาชีพทำนา

พระยาแถนได้ให้ ขุนครู ขุนครอง ลงมาเป็นท้าวพระยาดูแลช่วยเหลือมนุษย์กลุ่มนี้ โดยสร้างบ้านก็บ่เปลือง สร้างเมืองก็บ่กว้าง ได้แต่กินเหล้าทุกมื้อทุกวัน จนไพร่ค้างทุกข์ค้างยาก จนขุนเด็กขุนคานต้องไหว้สาพระยาแถนให้เอาท้าวพระยาทั้งสองกลับไปเมืองบนเมืองฟ้า แล้วให้ขุนบูลมมหาราชาธิราช นำรี้พลลงมาเมืองลุ่มลีดเลียง เมืองเพียงคักค้อย อยู่ที่นาน้อย อ้อยหนู คนที่ฉลาดก็เป็นบ่าวรับใช้แก่ขุนบูลมมหาราชาธิราช ส่วนคนที่ไม่ฉลาด (ใบ้ช้า) ก็เป็นไพร่เป็นข้าอยู่ป่าทำไร่ทำนา

ตำนานมนุษย์จากพงศาวดารลานช้างเรื่องนี้ ได้ทำให้เกิดความเชื่อตามตำนานว่า ชนชาติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในดินแดนสุวรรณภูมิหรือแหลมอินโดจีนนี้ เป็นผู้คนที่ออกมาจากน้ำเต้าใบเดียวกัน หมายถึงแหล่งที่อยู่เดียวกันคือ อินโดจีน

ส่วนข้อเท็จจริงของน้ำเต้าใบใหญ่นี้จะหมายถึง ลุ่มแม่น้ำที่อยู่อาศัย หรือ กลุ่มบรรพบุรุษคนเดียวกัน ก็น่าจะพอฟังได้และสอดคล้องกับการเคลื่อนย้ายของมนุษย์กลุ่มนี้ลงมาทางตอนใต้สู่แหลมอินโดจีน นั่นหมายเอาว่า มีผู้คนพากันมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองลุ่มลีดเลียง และเมืองเพียงคักค้อย นาน้อยอ้อยหนู ส่วนจะอยู่เป็นเมืองใดในแหลมอินโดจีนบ้างต้องศึกษาหาภูมิสถานกันต่อไป

ส่วนขุนบูลมมหาราชาธิราชนั้น เป็นท้าวพระยาที่พระยาแถนไว้วางใจส่งลงมาปกครองบ้านเมืองลุ่มฯ ส่วนจะหมายให้เป็นพระพรหม คือท้าวมหาพรหม หรือพระเจ้าพรหม ผู้สร้างทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นคตินิยมที่เกิดขึ้นในสมัยสร้างตำนานได้

ดังนั้นเรื่องของท้าวฮุ่ง (ขุนเจือง) ที่มีลูกหลานมากมายหลายคน ต่างพากันแยกย้ายออกไปตั้งถิ่นฐานในเมืองต่างๆ จึงมีลักษณะเช่นเดียวกันกับตำนานจีนเรื่อง นางสายี มีบุตร 10 คน และเรื่องเจ้าตระกูลเมือง ที่ตีเมืองชูมีโอรส 9 คน ซึ่งต่างแยกย้ายกันครองหรือสร้างเมือง จึงทำให้มองเห็นการสร้างแปงเมืองของมนุษย์ในหลายท้องถิ่น ที่อาศัยพื้นที่ตามริมแม่น้ำและหาแหล่งน้ำที่สำคัญสำหรับสร้างชุมชนเมือง

เช่นเดียวกันเรื่องของขุนบูลมมหาราชาธิราช ที่พระยาแถน (เทวดา) ส่งลงมาครองเมืองหรือผู้นำชุมชนซึ่งมีผู้นำกลุ่มใหญ่ ภายหลังก็ปรากฏชื่อ ขุนควาง ขุนวี ขุนเลิง ขุนเลน ขุนลอ เป็นผู้นำของกลุ่มคนไทยที่ออกจากน้ำเต้า มาร่วมกันสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นในดินแดนสุวรรณภูมินี้เช่นกัน

แต่ตำนานของจีนนั้นกล่าวถึง ผู้สร้างโลกว่าคือ พานกู้ เมื่อทำการสร้างโลกแล้วก็เกิดหลงใหลโลกอยู่นานถึง 18,000 ปี “พานกู๊” (กู๊-แปลว่า เก่าหรือโบราณ) สำหรับคำว่า “พาน” นั้นออกเสียงใกล้เคียงกับ แผน (แถน) เป็นคำไทโบราณ แปลว่า พรหมผู้สร้างโลก หากเป็นเช่นนี้ก็เชื่อไว้ก่อนว่าทั้ง พาน แผน และแถน (พญาแถนหรือผีแถน) นั้นเรียกคล้ายกัน โดยมีความหมายให้รู้กันว่าคำนี้ หมายถึง พรหมผู้สร้างโลก สร้างมนุษย์

ด้วยเหตุนี้ความเชื่อเรื่อง พานกู๊ พระยาแถน หรือผีแถน ท้าวฮุ่งหรือขุนเจือง จึงเป็นความเชื่อคล้ายกับเรื่อง พระพรหมสร้างโลกดูไม่แตกต่าง จากเรื่องพระผู้เป็นเจ้าของฮินดูหรือพราหมณ์

ดังนั้นเมืองในอินโดจีนจึงมีกำเนิดของเมืองด้วยความเชื่อว่า บุคคลสำคัญดังกล่าวนั้นเป็นผู้สร้างเมือง คติพระพรหม หรือ ท้าวมหาพรหมสร้างเมืองจึงเกิดขึ้นในแถบอินโดจีนมาช้านาน.


25 กรกฎาคม 2548

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น