วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ศีลอด

แทบทุกศาสนามักจะมีการจำศีลหรือถือศีลอดอาหาร (religious fasting) มีหลายรูปแบบ และไม่ได้มีแต่ผู้ที่เป็นนักบวชเท่านั้น แม้แต่ศาสนิกชนทั่วไปก็ยังมีการให้ถือศีลอดอาหารในบางช่วงเวลาในรอบปีด้วย เพื่อให้มีวุฒิภาวะด้านจิตใจ และอารมณ์

ในศาสนาพุทธ มีการถือศีลอด เป็นศีลข้อ 6 ของ "ศีลแปด" เนื้อความบอกว่า

"วิกาลโภชนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ" แปลว่า ให้เว้นจากการบริโภคอาหารในยามวิกาล หมายถึงอดตั้งแต่หลังเที่ยงวันถึงรุ่งเช้าของวันใหม่

ศีลแปด หรือ อุโบสถศีล เป็นศีลของคฤหัสถ์ หมายถึง อุบาสกอุบาสิกาทั่วไป มิใช่สงฆ์ (ซึ่งมีศีลเฉพาะตนอยู่แล้ว) โดยมักจะรับศีลแปดในวันพระ นิยมรักษาศีลแปดเป็นเวลา 1 วัน หรือ 3 วัน จัดเป็นศีลขั้นต่ำของพระอนาคามี

ซึ่งที่จริงแล้ว การถือศีลอดใน "ศีลแปด" ของศาสนาพุทธนั้น ไม่ได้อดเฉพาะอาหารเท่านั้น

ในศีลข้อ 3 "อพฺรหฺมจริยา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ" ให้เว้นจากการประพฤติผิดพรหมจรรย์ หรือเว้นจากการมีเพศสัมพันธ์ (แต่ศีล 5 ยังอยู่ใกล้กันได้)

ศีลข้อ 7 "นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา มาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ" เว้นจากการฟ้อนรำขับร้อง ประโคมดนตรี และประดับร่างกายด้วยดอกไม้ของหอม เครื่องประดับ เครื่องทา เครื่องย้อม

และศีลข้อ 8 "อุจฺจาสยนมหาสยนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ" ให้เว้นจากการนั่งนอนเหนือเตียงตั่ง ที่เท้าสูงเกิน ภายในมีนุ่นหรือสำลี

สรุปคือ ศีลแปดไม่ใช่เพียงให้เว้นการทำบาปเท่านั้น แต่ให้เว้นความสุขที่มากเกินไปด้วย




I

ในศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก มีกฎให้จำศีลอดอาหารก่อนรับศีลมหาสนิท 1 ชั่วโมง ยกเว้นผู้ป่วย และในกรณีอันตรายถึงแก่ชีวิต

พระสันตะปาปาปีโอที่ 12 เป็นผู้ยกเลิกกฎเดิมที่ให้อดอาหารตั้งแต่เที่ยงคืน ก่อนจะรับศีลมหาสนิท เพราะสภาพเศรษฐกิจและสังคมได้เปลี่ยนไป และพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 (30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1963 ) ประกาศว่าพระสังฆราชท้องถิ่น อนุญาตให้บรรดาพระสงฆ์ผู้ต้องถวายมิสซา 2-3 มิสซาในวันเดียวกัน ยกเว้นจากกฎนี้ และในวันที่ 21 พฤศจิกายน 1964 ได้ลดให้อดอาหารก่อนรับศีลมหาสนิทเหลือ 1 ชั่วโมง

พระศาสนจักรได้สอนให้ปฏิบัติตามแบบอย่างของพระเยซูคริสตเจ้า (มธ. 6:16 ;มก 2:20 ;9:29) และบรรดาอัครสาวก (กจ 13:2 ; 14:23 ; 2คร 2: 27) คริสตชนสมัยแรกอดอาหารและอดเนื้อสัปดาห์ละ 2 วัน คือ วันพุธ และวันศุกร์ ต่อมาในค.ศ. 1917 ให้อดเนื้อทุกวันในเทศกาลมหาพรต

พระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6 (6 กุมภาพันธ์ 1966) ได้ปรับปรุงข้อกำหนดเรื่องอดอาหาร และอดเนื้อ ให้ "ทุกวันศุกร์ตลอดปี" และทุกวันในเทศกาลมหาพรต เป็นวันพลีกรรมในพระศาสนจักร

สำหรับประเทศไทยสภาพระสังฆราชฯ กำหนดวิธีการจึงกำหนดวิธีการอดเนื้อและอดอาหาร รวมทั้งงดดื่มสุราและเบียร์ งดสูบบุหรี่ และละเว้นความฟุ้งเฟ้อต่างๆ

การอดอาหารของคาทอลิกในที่นี้ คือ หมายถึงการรับประทานอาหารอิ่มเพียงมื้อเดียว

II

ส่วนศาสนาอิสลามนั้น มีการถือศีลอดในเดือนรอมอฎอนของทุกปี โดยจะงดอาหาร และน้ำ รวมทั้งงดเรื่องเพศด้วย เพื่อจะได้รับรู้ความยากลำบากคนที่ยากไร้ โดยจะเริ่มตั้งแต่แสงพระอาทิตย์ขึ้น แสงพระอาทิตย์เริ่มตกดิน และเมื่อถึงเวลาละศีลอด มักจะรับประทานอินทผลัม โดยได้แบบอย่างมาจากท่านนบีมูฮำมัด

Iv

โมเสส หรือ นบีมูซา อดอาหารอยู่บนภูเขาในทะเลทรายไซนาย

โยคีอดอาหารเพื่อให้สามารถควบคุมจิตใจ ชำระร่างกายให้สะอาด เพื่อให้ร่างกายมีความกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น

ชาวฮินดูกลุ่มหนึ่งจะอดอาหาร ไม่หลับนอนในยามค่ำคืน พร่ำอ่านคัมภีร์ โดยมีเป้าหมายเพื่อชำระจิตใจให้สะอาดหมดจดจากกิเลศตัณหา

เมื่อพระพุทธเจ้ากำลังแสวงหาการบรรลุธรรม ท่านต้องเข้าป่าและถือศีลอดอาหาร เมื่อพระเยซูกำลังฝึกตนและแสวงหาพระประสงค์ของพระบิดาท่านต้องเข้าไปยังท่ามกลางทะเลทรายและถือศีลอดอาหารถึง 40 วัน

ขณะที่นบีมุฮัมมัด เมื่อครั้งที่อพยพไปยังเมืองมะดีนะฮ์ ชาวยิวที่นั่นต่างถือศีลอดในวันอาชูรอฮ์ นบีจึงถามพวกเขาว่า “วันนี้เป็นวันอะไร ? ” พวกเขากล่าวว่า “นี่เป็นวันที่ยิ่งใหญ่พระองค์อัลลอฮ์ทรงให้ความปลอดภัยแก่นบีมูซา (โมเสส) และหมูชนของท่าน (อิสราเอล) และทรงให้ฟาโรห์และเหล่าทหารของเขาจมน้ำตาย นบีมูซาจึงถือศีลอดเพื่อขอบคุณพระองค์ เราจึงถือศีลอดในวันนี้ด้วย” ท่านนบีก็กล่าวว่า “เราสมควรที่จะดำเนินตามมูซายิ่งกว่าพวกท่าน” แล้วท่านนบีก็ถือศีลอดและใช้ให้บรรดาซ่อฮาบะฮ์ถือสีลอดด้วย” นี่เป็นบันทึกโดย อัลบุคอรีย์และมุสลิม จากอิบนิ อับบาส

ชาวยิวมีวันถือศีลอดใน 7 เทศกาลด้วยกัน ตั้งแต่เทศกาลวันยมคีปูร์ หรือวันลบบาป และวันรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญของชาติต่างๆ

การถือศีลอดและการอดอาหารมีความเกี่ยวข้องกับทุกศาสนานับตั้งแต่การใช้ชีวิตของชนชาติโบราณ เช่น ชาวอียิปต์โบราณ ชาวกรีกโบราณ ชาวโรมัน จนกระทั่งบรรดาผู้ที่นับถือศาสนาในปัจจุบัน โดยที่วิธีการถือศีลอดมีความแตกต่างกันไป ทั้งทางด้านเวลาและการงดอาหาร บางศาสนางดรับประทานอาหารบางชนิด บางศาสนาก็งดเว้นการรับประทานอาหารทั้งหมด บางศาสนาจำกัดการรับประทานอาหารเพียงบางชนิด ชาวจีนถือศีลกินเจ โดยงดเว้นการรับประทานอาหารบางอย่าง

มหาตะมะคานที กล่าวว่า “การอดอาหารเพื่อเข้าใจความทุกข์”

พูดได้ว่า ศาสนาใหญ่ๆล้วนพยายามช่วยเหลือผู้คนอย่างหนึ่งตรงกัน คือ ป้องกันและฝึกฝนจิตใจผู้คนไม่ให้หลงยึดติดในความสุขฝ่ายโลกหรือฝ่ายร่างกายมากเกินไป ต้องให้คนฝึกห้ามใจตัวเองจากสิ่งเหล่านี้



ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น