วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ปู่แสะย่าแสะ และประเพณีเลี้ยงดง...เชียงใหม่

ตำนานเชียงใหม่ปางเดิม ของสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บันทึกความเป็นมาของพิธีเลี้ยงดงเอาไว้ว่า ในอดีตย่านนี้เป็นบ้านเมืองของชาวลัวะ ชื่อว่า “บุรพนคร” ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำปิงและดอยอ้อยช้าง (อุจฉุคีรี) อยู่มาวันหนึ่งชาวเมืองได้รับความเดือดร้อนจากยักษ์พ่อแม่ลูก 3 ตน ที่มาจับชาวเมืองไปกินทุกวัน จนชาวเมืองต้องพากันอพยพหลบหนีไปอยู่ที่อื่น

ตำนานบอกต่อว่า องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับรู้ด้วยพระสัมมาสัมโพธิญาณ เห็นความเดือดร้อนของชาวเมืองบุรพนคร พระองค์พร้อมด้วยเหล่าสาวกจึงเสด็จมาประทับที่ดอยใต้ ได้มีชาวลัวะ 4 คน เข้าเฝ้าด้วยความเลื่อมใสถวายอาหารที่นำติดตัวมา
พระองค์ทรงอนุโมทนาและแสดงธรรมโปรดจนชาวลัวะทั้งสี่เห็นธรรมและขอบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์

พระพุทธองค์ได้มีพุทธทำนายว่า ในภายภาคหน้า เมืองของชาวลัวะแห่งนี้จะได้ชื่อว่า “เมืองชีใหม่” (ต่อมาเพี้ยนเป็นเชียงใหม่) โดยเรียกตามเหตุการณ์ที่ชาวลัวะบวชใหม่ (ในอดีตเรียกพระว่าชี) จากนั้นพระพุทธเจ้าได้สนทนากับพระลัวะทั้ง 4 รูป จนรับรู้ความเดือดร้อนของชาวเมืองโดยตลอด รับสั่งให้พระอานนท์ไปตามยักษ์ทั้ง 3 ตนมาพบ ทรงแสดงอภินิหารให้เห็นและแสดงธรรมให้ฟังจนเกิดความเลื่อมใส ยักษ์ทั้งสามจึงได้สมาทานศีลห้าด้วยความปีติ

ต่อมายักษ์นึกขึ้นได้ว่า ตนเองเป็นยักษ์จำเป็นต้องกินเนื้อเป็นอาหาร จึงต่อรองขอกินสัตว์หูยาวแทนมนุษย์ ยักษ์ทูลขอกินควายวันละตัว พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาต ยักษ์จึงทูลขอกินควายเดือนละตัว พระพุทธองค์ก็ไม่ทรงอนุญาต ที่สุดยักษ์จึงทูลขอกินควายปีละตัว พระพุทธองค์ไม่ตอบ ยักษ์จึงขอกับเจ้าเมือง เจ้าเมืองตกลงให้กินปีละตัว โดยยักษ์ปู่แสะขอกินควายเผือกเขาคำ ส่วนยักษ์ย่าแสะขอกินควายดำกลีบเผิ้ง ลักษณะเป็นควายรุ่น เขาเสมอหู กีบเท้าสีน้ำผึ้ง ที่ยังไม่เคยลงไถคราดดิน นำมาชำแหละเอาเครื่องในออก ทั้งเนื้อ หนัง และหัวที่มีพร้อมเขาแผ่นอนไว้กลางลาน โดยตั้งข้อแม้ว่า ยักษ์ต้องรักษาพระพุทธศาสนาให้ครบ 5,000 ปี ตลอดจนปกปักรักษาชาวเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุข

พระพุทธเจ้าได้มอบหมายให้ยักษ์สองผัวเมียดูแลรักษาดอยคำและดอยอ้อยช้าง ส่วนลูกยักษ์ได้บวชเป็นพระภิกษุ ต่อมาลาสิกขาออกมาถือเพศเป็นฤๅษี มีนามว่า “สุเทพฤๅษี” ส่วนดอยอ้อยช้าง หรือดอยเหนือ ต่อมาเรียกว่าดอยสุเทพ ตามชื่อฤๅษีสุเทพซึ่งบำเพ็ญพรตอยู่ที่ถ้ำฤๅษีหลังดอยสุเทพ (ปัจจุบันปรากฏร่องรอยของบ่อน้ำ ชาวบ้านเรียกกันว่า บ่อฤๅษี) จากตำนานดังกล่าวข้างต้น ได้สืบทอดความเชื่อมาจวบจนปัจจุบัน ภายหลังปู่แสะย่าแสะเสียชีวิตแล้ว ชาวบ้านชาวเมืองยังคงเกรงกลัวอิทธิฤทธิ์ และต้องการให้วิญญาณปู่แสะย่าแสะช่วยรักษาพระศาสนาและปกป้องคุ้มครองชาว เมือง จึงจัดให้มีพิธีเซ่นสรวงเป็นประจำทุกปีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 เหนือ (เป็งเดือนเก้า)

ตำนานพื้นเมืองเชื่อกันว่า ปู่แสะย่าแสะเป็นบรรพชนของชาวลัวะ ซึ่งส่วนหนึ่งได้สืบเชื้อสายมาเป็นชาวเชียงใหม่ในปัจจุบัน มีหน้าที่ดูแลรักษาเมืองเชียงใหม่ ดังนั้น เจ้าเมือง เสนาอำมาตย์ และราษฎร จะต้องร่วมกันทำพิธีเลี้ยงปู่แสะย่าแสะ โดยเชื่อกันว่า หากไม่ทำพิธีเลี้ยงปู่แสะย่าแสะ บ้านเมืองจะเกิดภัยพิบัติ ดังในสมัยพระเจ้าเมกุฏิ เจ้าเมืองเชียงใหม่ บ้านเมืองเดือดร้อนทุกข์เข็ญอย่างสาหัส ชาวบ้านโจษจันว่า เป็นเพราะพระเจ้าเมกุฏิสั่งห้ามชาวบ้านชาวเมืองทำพิธีเซ่นสรวงปู่แสะย่าแสะ เป็นเหตุให้เมืองเชียงใหม่ต้องเสียเอกราช ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า (เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์นี้ถูกจับไปเป็นองค์ประกันที่พม่า ภายหลังสิ้นพระชนม์ได้กลายเป็นแนต [nat] ที่ชาวพม่าให้ความเคารพศรัทธามากตนหนึ่ง)

ต่อมาในสมัยของเจ้าแก้วน วรัฐ เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์สุดท้าย ได้มีการฟื้นฟูพิธีกรรมเลี้ยงดงหรือพิธีบวงสรวงปู่แสะย่าแสะขึ้นอีกครั้ง และปฏิบัติสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน





พิธีเลี้ยงปู่แสะย่าแสะทำสืบต่อกันมาจนถึง พ.ศ. 2480 ทางราชการได้สั่งห้ามจัดพิธี (กรณีนี้คล้ายกับที่ได้มีการห้ามจัดพิธีรำผีมอญที่พระประแดงในยุคหนึ่ง เพราะทางการเกรงว่าการทำนายทายทักในทางร้ายของร่างทรงหรือผู้อำนวยพิธีจะทำ ให้ชาวบ้านชาวเมืองตื่นกลัว) จนถึงสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา จึงได้รับการรื้อฟื้นขึ้นอีกครั้งแต่ให้ทำพิธีทางทิศตะวันออกบริเวณเชิงดอย คำ โดยมีชาวบ้านเชิงดอยสุเทพและบ้านแม่เหียะเป็นผู้ทำพิธี ซึ่งข้อกำหนดอย่างหนึ่งของการเป็นร่างทรง (ม้าขี่) ก็คือ บุคคลหนึ่งห้ามเป็นร่างทรงติดต่อกันเกิน ๓ ปี โดยรอบบริเวณลานพิธีเลี้ยงดงเป็นป่าสมบูรณ์ ล้วนแต่ไม้ขนาดใหญ่ เช้านั้นฝนโปรยปรายลงมาแต่เช้า ยอดหญ้าฉ่ำน้ำ ผืนดินนุ่มไร้ฝุ่น ท้องฟ้าครึ้มด้วยเมฆขาวหม่น บรรยากาศขรึมขลังชวนศรัทธา สิ่งที่ดูจะขัดแย้งกับบรรยากาศก็คือ เสียงล้อรถเสียดสีกับถนนและแตรรถกลบเสียงวงฆ้องกลอง (ปี่พาทย์) รถนานาชนิดจอดเรียงรายยาวเหยียด รวมทั้งรถตู้นักท่องเที่ยวหลากสัญชาติ เมื่อถึงปากทางมองเห็นผาม (ปะรำพิธี) แต่ไกลกลางลานโล่ง สองรายทางเต็มไปด้วยร้านค้าแผงลอยอาหารเครื่องดื่ม (รวมทั้งเหล้าสี เหล้าขาว และเหล้าตอง แต่ปีหลังจากนี้คงจะไม่มี ภายหลังหน่วยงานส่งเสริมสุขภาพได้เข้าไปสนับสนุนกิจกรรมชาวบ้าน และอาจจะรวมไปถึงการนำควายมาต้มก่อนเซ่นสรวง) ด้านขวาเกือบสุดทางเดินก่อนถึงผาม เป็นอาสน์สงฆ์ ด้านซ้ายเป็นเต๊นท์กองอำนวยการ มีเสียงประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงและผลงานของนักการเมืองท้องถิ่น และโฆษณาขายผืนผ้าพระบฏจำลอง ขณะที่ผมเดินทางไปถึงนั้น ผ้าพระบฏ (ภาพเขียนพระพุทธเจ้า) ถูกนำออกจากหีบพระบฏ ขึงโยงไว้กับยอดไม้สูงเหนือหัวแล้ว ต่อจากนั้นพิธีกรรมก็เริ่มขึ้น ร่างทรงปู่แสะย่าแสะขึ้นไปบนผาม เปลี่ยนชุดตามแบบโบราณ เน้นผ้านุ่งผ้าห่มสีแดง ทำพิธีเซ่นสรวงเชิญวิญญาณปู่แสะย่าแสะเข้าร่าง รับหมากใส่ปากเคี้ยว สูบบุหรี่มอญมวนใหญ่ กระโจนลงจากผาม มุ่งตรงไปยังซากควายกลางลานพิธี เกลือกร่างไปบนซากแล้วขึ้นขี่หลัง ฉีกเนื้อควายใส่ปาก มือวักเลือดในภาชนะขึ้นดื่ม หิ้วเนื้อควายติดตัวไปบางส่วน เดินตรวจตราศาลบูชาขนาดเล็กที่ตั้งอยู่โดยรอบลานพิธี ทั้ง 12 ศาล ตามจำนวนปู่แสะย่าแสะ ลูก หลาน และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญของเมือง ภายในศาลวางกระทงใบตองตึงบรรจุเครื่องเซ่นนานาชนิด

หลังปู่แสะย่าแสะรับเครื่องเซ่นแล้วครู่ใหญ่ก็เกิดเหตุอัศจรรย์ ภาพพระบฏแกว่งไกว ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นปาฏิหาริย์ซึ่งจะเกิดขึ้นทุกปี โดยไม่มีลมพัดต้องแม้แต่น้อย ภาพพระบฏที่แกว่งไปมาทำให้ร่างทรงปู่แสะย่าแสะต้องรีบกลับเข้าผาม เปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นชุดสีขาว เข้าไปไหว้สาพระบฏ อันเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของพระพุทธเจ้า จากนั้นปู่แสะย่าแสะก็จะเดินเยี่ยมเยียนชาวบ้าน มีการเข้าทรง “เจ้านาย” เพื่อพยากรณ์ความเป็นอยู่และความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง การบอกกล่าวฝากฝังนักการเมืองและผู้นำชุมชนให้บำรุงรักษาป่าไม้ ไม่ให้ใครบุกรุกทำลาย สาปแช่งคนบุกรุกให้มีอันเป็นไป (โชคดีที่ป่าผืนนั้นอยู่ในเขตทหาร คำสาปแช่งของปู่แสะย่าแสะจึงยังคงความศักดิ์สิทธิ์) ให้ชาวบ้านสามัคคีช่วยกันแก้ไขปัญหา

นอกจากตำนานจะกล่าวอ้างถึงชาวลัวะ ชนพื้นเมืองของเชียงใหม่แล้ว ยังเป็นการผสานความเชื่อเรื่องผีที่มีมาแต่เดิม ผนวกเข้ากับความเชื่อทางพุทธศาสนาที่เข้ามาภายหลัง ให้ดำเนินคู่กันไปอย่างกลมกลืน



www.cmprice.com/forum/?content=detail&wb_type_id=1&topic_id=178102

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น