วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2558

การหลอกลวงโดยใช้ศาสนาหรือไสยศาสตร์ ผิดกฎหมายอย่างไร?

การหลอกลวงโดยอ้างความเชื่อเชิงศาสนาหรือไสยศาสตร์ ผิดกฎหมายหรือไม่? แบบไหนผิด แบบไหนไม่ผิด?
.
การหลอกลวง โดยอ้างความเชื่อในด้านศาสนา หรือไสยศาสตร์ ผู้ที่ทำการหลอกลวงจะมีความผิดตามประมวลอาญา มาตรา 341, 342, 343

"มาตรา 341 ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่น ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐาน ฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ"


มาตรา342 ถ้าในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ผู้กระทำ  (1) แสดงตนเป็นคนอื่น หรือ  (2) อาศัยความเบาปัญญาของผู้ถูกหลอกลวงซึ่งเป็นเด็ก หรืออาศัยความอ่อนแอแห่งจิตของผู้ถูกหลอกลวง   ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(มาตรานี้ต้องดูประกอบด้วยใน  มาตรา 343  และ มาตรา 348

มาตรา 343 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ต้องด้วยลักษณะดังกล่าวในมาตรา 342 อนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท

มาตรา 348  "ความผิดในหมวดนี้ นอกจากความผิดตามมาตรา 343 เป็นความผิดอันยอมความได้")


และถ้าการกระทำมีลักษณะเป็นการฉ้อโกงประชาชน ผู้กระทำความผิดจะมีความผิดตาม ปอ.มาตรา 343

"มาตรา 343 ถ้าการกระทำความผิดตาม มาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ต้องด้วยลักษณะดังกล่าวใน มาตรา 342 อนุมาตรา หนึ่งอนุมาตราด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพัน บาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท"



มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจจากคำพิพากษาฎีกา 3 คดีดังต่อไปนี้ด้วย

- คำพิพากษาฎีกาที่ 557/2502 จำเลยหลอกลวงว่าน้ำที่พุขึ้นนั้น เจ้าแม่สำโรงบันดาลให้มีขึ้นและอ้างว่าน้ำพุนั้นศักดิ์สิทธิ์ ใช้เป็นยารักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ ประชาชนคนดูหลงเชื่อ ได้เอาน้ำนั้นไปใช้กินและทารักษาโรค แต่ไม่หายเพราะเป็นน้ำธรรมดาในลำคลองนั้นเอง และได้ให้เงินแก่จำเลย โดยหลงเชื่อว่าน้ำนั้นเป็นของศักดิ์สิทธิ์รักษาโรคได้ แต่ความจริงนั้น จำเลยที่ 1 เอาเท้าพุ้ยน้ำในคลองทำให้น้ำพุผุดขึ้นมาเอง ไม่เกี่ยวแก่เจ้าแม่อะไรเลย จำเลยที่ 2 ผู้เป็นบิดาได้ร่วมกระทำผิดด้วยโดยอ้างว่าน้ำพุนั้น เจ้าแม่บันดาลให้เกิดขึ้นเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ รักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ ซึ่งเป็นการปกปิดความจริงและแสดงข้อความเท็จ ถือว่าสมคบกันฉ้อโกงตาม มาตรา 343

- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 219/2531 จำเลยไม่เชื่อเรื่องไสยศาสตร์ แต่ได้ขายน้ำมันพรายให้กับผู้เสียหายในราคา 300 บาท อ้างว่าจะช่วยให้ค้าขายดี นอกจากนี้จำเลยยังคอยบอกผู้เสียหายว่าทำผิดผี ต้องทำพิธีไหว้อาจารย์ จนผู้เสียหายยอมมอบเงินและทรัพย์สินอื่นรวมหลายหมื่นบาทให้จำเลยไป เพื่อทำพิธีดังกล่าว การกระทำของจำเลยเป็นการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จ จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3074/2539 ความผิดฐานฉ้อโกง ผู้กระทำความผิดต้องกระทำโดยการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังกล่าวนั้น ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม การที่จำเลยชวนโจทก์ร่วมซื้อคอนโดมิเนียม ตึกแถว และที่ดิน โดยยืนยันว่าอีก 4 เดือนจะมีผู้ซื้อต่อ การที่จำเลยให้ผู้เสียหายทำพิธีเสริมดวงและเรียกค่าครู โดยยืนยันว่าจะทำให้ดวงดี ขายตึกแถวที่ดินได้หรือบุตรจะมีบุญบารมีสูงกว่าบิดามารดา ผู้เสียหายกับสามีจะไม่ต้องหย่ากัน ล้วนเป็นคำยืนยันเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอนทั้งสิ้น คำยืนยันดังกล่าวไม่ใช่คำหลอกลวง แต่เป็นคำคาดการณ์ที่โจทก์ร่วมและผู้เสียหายเข้าทำพิธีตามคำแนะนำและเสียค่าใช้จ่าย จึงมิได้เป็นผลจากการหลอกลวง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน


กรณีเณรแอ

กรณีของ เณรแอ หรือ นาย หาญ รักษาจิตร์ อายุ 50 ปี เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน กรณีระหว่างเดือน เม.ย.42 - 10 ก.ค.48 จำเลยโฆษณาชวนเชื่อ อวดอ้างว่าเป็นจอมขมังเวทย์ มีความสามารถทางไสยศาสตร์ ทำเสน่ห์ เรียกสามีหรือภรรยาให้กลับมาคืนดีกันได้ จนมีผู้เสียหายหลงเชื่อ 33 ราย มอบเงินให้จำเลยรวม 910,000 บาทเพื่อทำไสยศาสตร์ โดยทางตำรวจกองปราบปรามจับกุมจำเลยได้ที่บ้านพัก อ.หนองโดน จ.สระบุรี ขณะที่จำเลยให้การปฏิเสธโดยตลอด

โดยคดีนี้ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาให้จำคุก จำเลย ฐานฉ้อโกง ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก กระทงละ 4 ปี รวม 25 กระทง รวมจำคุกเป็นเวลา 100 ปี คำให้การจำเลยเป็นประโยชน์อยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุก 75 ปี แต่โทษตามความผิดดังกล่าวมีอัตราโทษสูงสุดไม่เกิน 5 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงความผิดแล้วตามกฎหมายให้จำคุกสูงสุดได้ไม่เกิน 20 ปี ศาลจึงสั่งลงโทษจำคุกจำเลยไว้ทั้งสิ้นเป็นเวลา 20 ปี และให้ชดใช้ค่าเสียหายคืนแก่ผู้เสียหายทั้ง 25 ราย ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ประชุมปรึกษาหารือแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าโจทก์มีผู้เสียหาย 25 คน เบิกความเป็นประจักษ์พยานโดยมีเหตุผลสอดคล้องต้องกันโดยตลอด ขณะที่มีผู้เสียหายยืนยันว่า จำเลยไม่สามารถเรียกให้สามีคนรักกลับมาได้จริงตามที่กล่าวอ้าง โดยบางรายยังถูกจำเลยกระทำล่วงละเมิดทางเพศด้วย ซึ่งจำเลยได้รับในอุทธรณ์ว่า เงินที่ได้มาเป็นค่ายกครู และอุปกรณ์ในการทำพิธี





นอกจากนี้ฝ่ายโจทก์ ยังมีนาง ชไมพร รักษาจิตร์ อดีตภรรยาของจำเลย เบิกความถึงพฤติกรรมของจำเลย ที่ล่วงละเมิดทางเพศกับผู้เสียหาย จนต้องทะเลาะกัน ถึงขั้นที่ นางชไมพร เคยยิงปืนขู่ขึ้นฝ้าเพดาน จนจำเลยต้องวิ่งหนีกระโดดออกหน้าต่างทำให้ขาหัก ก่อนที่นางชไมพร จะยื่นฟ้องหย่ากับจำเลยที่ศาลจังหวัดสระบุรี จึงเป็นเหตุที่สนับสนุนว่าจำเลยไม่มีอิทธิฤทธิ์ตามที่อวดอ้างในคำโฆษณาตามสื่อต่างๆ จริง เพราะจำเลยเองยังไม่สามารถทำให้นางชไมพร รักกับจำเลยได้ แต่กลับต้องวิ่งหนีจนขาหัก การกระทำของจำเลยมีเจตนาหลอกลวงคนทั่วไปผ่านคำโฆษณา เพื่อเป็นประโยชน์แก่จำเลยเองโดยตรง รับฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาหลอกลวงเอาทรัพย์สินจากผู้เสียหาย

ข้อต้อสู้ของจำเลย จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืน

กรณีเณรคำ


ทีนี้มาดูกรณีตัวอย่างของเณรคำ การกระทำของเณรคำถูกถือว่าเข้าข่ายความผิด 8 ข้อหา แต่มีเพียงข้อหาเดียวเท่านั้นที่เข้าข่ายหลอกลวง ซึ่งก็เป็นกฎหมายทาง พรบ.คอมพิวเตอร์

ความผิดตรงนี้คือ มาตรา 14 คือ นำเสนอข้อมูลทางคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน โทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เนื่องจากเณรคำอ้างว่าได้เข้าเฝ้าพระอินทร์ซึ่งพระอินทร์สั่งให้สร้างพระแก้วมรกตองค์ใหญ่ ซึ่งความผิดถือว่าได้กระทำสำเร็จแล้ว

ส่วนความผิดอีก 6 เรื่องต่อมาของเณรคำ เป็นความผิดอื่นๆที่ไม่ใช่เรื่องหลอกลวง ไม่ว่าจะเป็น
  • การกระทำชำเราเด็กหญิงและพรากผู้เยาว์ 
  • หลบเลี่ยงภาษีรถหรู 
  • เสพยาเสพติดให้โทษ 
  • แสดงและใช้วุฒิการศึกษาเท็จว่าจบดอกเตอร์จากมหาวิทยาลัยสันติภาพโลก (เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษา) 
  • ฆ่าคนตายโดยประมาทจากการขับรถชนคนตาย 
  • ฟอกเงินกรณีการเบียดบังเงินบริจาคไปซื้อทรัพย์สินและการนำเงินไปฝากในต่างประเทศ

ส่วนเรื่องที่ 8 เป็นความผิดทางวินัยสงฆ์ ไม่ใช่ผิดกฎหมายอาญาอะไร คือ การอวดอุตริ อภินิหาร ก็เป็นการปาราชิก โทษคือต้องถูกสึกเท่านั้นเอง

ฉะนั้น ว่าไปแล้วโทษเรื่องหลอกลวงของเณรคำถือว่าไม่ใช่โทษจากกฎหมายอาญา และโทษก็เบามาก โทษที่แรงจะมาจากเรื่องอื่นมากกว่า

ตอนนี้ก็หนีไปอยู่ต่างประเทศ พร้อมเงินมากมาย สบายดี ลูกศิษย์ผู้ศรัทธาเยอะแยะ ไม่ต้องห่วงท่าน

ในเมืองไทย การหลอกลวงทางศาสนาถือว่าเรื่องเล็ก และผิดยาก


กรณีตัวอย่างของ  เปมิการ์   "การฉ้อโกงโดยอาศัยความอ่อนแอแห่งจิต"  

อัยการฟ้อง  น.ส.เปมิกา วีรชัชรักษิต พร้อมเพื่อนร่วมก๊วน 3 คน หลอกลวง หมอเผ่า เจ้าของสถาบันกวดวิชาดังหลายรูปแบบทั้งระลึกชาติ เคยเป็นเมีย เป็นขุนศึกสมัยกรุงศรีอยุธยา ถูกเมียหลวงตามฆ่าทุกชาติ ให้เช่าพระแก้คุณไสย หาปืนไว้ป้องกันตัว เช่าคอนโดฯ ไว้หลบภัย ซื้อรถเก๋งคันหรูเพื่อชดใช้กรรม ได้ทรัพย์สินเข้ากระเป๋าไปเกือบ 10 ล้าน



ปี พ.ศ. 2552 อัยการได้สั่งฟ้อง น.ส.เปมิกา วีรชัชรักษิต อายุ 25 ปี, น.ส.ฤทัย หรือแนน รุ่งสิริเมธากุล อายุ 23 ปี, นายณัฐพล หรือภาสยภูริณฐ์ หรือตั้ม พรมประไพร อายุ 28 ปี และนายวทัญญู หรือปุ้ย ตันธีระพงศ์ อายุ 27 ปี ทั้งหมดเป็นนักศึกษาผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงทรัพย์  ในความผิดฐานฉ้อโกงทรัพย์สินของบุคคลอื่นโดยอาศัยความอ่อนแอทางจิตของเจ้าของทรัพย์สิน  (ตาม ปอ. มาตรา 342)  ตามคำฟ้องระบุความผิดพวกจำเลยว่า

เมื่อระหว่างเดือน ต.ค.49 ถึง เดือน พ.ย.50 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน นายแพทย์ประกิตเผ่า ทมชิตชงค์ เจ้าของสถาบันกวดวิชาชื่อดัง แอพพลายด์ ฟิสิกส์ ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งมีความอ่อนแอทางจิต มีความผิดปกติทางด้านภาวะจิตใจ เป็นโรคจิตอารมณ์แปรปรวน หลงผิดแยกไม่ได้ว่าข้อมูลใดเป็นจริง ขาดความยั้งชั่งใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีคนอื่นชักจูง จึงหลงเชื่อตามคำหลอกลวงและการสร้างสถานการณ์ของจำเลยทั้งสี่ โดยเข้าใจว่าตนเองสามารถนั่งสมาธิจนสำเร็จญาณขั้นสูง สามารถระลึกชาติได้ ถอดจิตได้ มีอำนาจที่บุคคลธรรมดาไม่สามรถทำได้ และยังเชื่อว่าจำเลยที่ 1 มีความสามารถนั่งสมาธิจนสามารถเข้าสู่ฌานและสามารถระลึกชาติได้เช่นกัน

จากนั้นพวกจำเลยได้ร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์ผู้เสียหายที่ 1 หลายครั้งหลายหน โดยร่วมกันสร้างสถานการณ์และหลอกลวงจนเข้าใจว่าจำเลยที่ 1 เคยเป็นภรรยาผู้เสียหายที่ 1 เมื่อ 99 ภพ ชาติที่ผ่านมา มีหนี้กรรมต้องชดใช้กันในชาตินี้ โดยผู้เสียหายที่ 1 เป็นขุนศึกเคยมีม้าชื่อนิลพยัคฆ์ และ นิลมังกร ในชาตินี้ จึงขอให้ผู้เสียหายที่ 1 ซื้อรถเก๋งยี่ห้อโตโยต้า คัมรี่ สีดำ มูลค่า 1,569,000 บาท รวมทั้งเงินสด 980,000 บาท เพื่อซื้อแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ สห-9999 ให้แก่จำเลยที่ 1


นอกจากนี้ พวกจำเลยยังได้หลอกลวงผู้เสียหายที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 ได้ถูกนางอลิสา ทมชิตชงค์ ผู้เสียหายที่ 2ซึ่งเป็นภรรยาของผู้เสียหายที่ 1 ฆ่าตายทุกภพชาติ ดังนั้น เพื่อไม่ให้ผู้เสียหายที่ 2 มาฆ่าจำเลยที่ 1 อีกในชาตินี้ จึงให้ผู้เสียหายที่ 1 เช่าพระเครื่องล้อมกรอบทองคำ 15 องค์ และล้อมกรอบสเตนเลส จำนวน 10 องค์ รวมเป็นเงิน500,000 บาท มอบให้แก่จำเลยที่ 1


ต่อมาจำเลยทั้งสี่ได้หลอกผู้เสียหายที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ระลึกชาติเห็น ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นขุนศึกสมัยกรุงศรีอยุธยา กวาดต้อนจำเลยที่ 1 อยู่ด้วยเป็นเหตุให้กำไลข้อมือสูญหายไป จึงขอให้ผู้เสียหายที่ 1 ซื้อนาฬิกายี่ห้อโรเล็กซ์ 1 เรือน มูลค่า 245,000 บาท มาคืนให้แทนกำไล

อีกทั้งจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหลอกผู้เสียหายที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ระลึกชาติได้เห็น ผู้เสียหายที่ 1 เคยมอบแหวนไว้ให้จำเลยที่ 1 มาก่อน จึงขอให้ผู้เสียหายที่ 1 ซื้อแหวนเพชรมูลค่า 145,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 อีกและพวกจำเลยได้หลอกลวงผู้เสียหายที่ 1 ว่านางอลิสา ผู้เสียหายที่ 2 จะทำร้ายจึงขอปืนพกไว้ป้องกันตัว ผู้เสียหายที่ 1 จึงมอบปืนพก 3 กระบอก มูลค่า 200,000 บาท ของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ให้พวกจำเลยไป


อัยการโจทก์ยังระบุฟ้องด้วยว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายที่ 1 ทำนองว่า นางอลิสา ผู้เสียหายที่ 2 จะมาทำร้าย ต้องหาที่อยู่อาศัย เหมาะที่จะพบกันเพื่อนั่งสมาธิและหลบภัยผู้เสียหายที่ 1 จึงไปเช่าคอนโดมิเนียม 2 ห้อง มูลค่า 410,000 บาท ให้แก่พวกจำเลย ต่อมาจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายที่ 1 ว่า เคยวางเพลิงเผาบ้านของจำเลยที่ 1 เมื่อชาติภพก่อน ต้องชดใช้หนี้กรรมด้วยการซื้อบ้านหลังใหม่ให้ ผู้เสียหายที่1 หลงเชื่อ จึงนำเงินจำนวน 250,000 บาทไปวางมัดจำเพื่อซื้อบ้านในหมู่บ้านปริญญาดา แขวงบางไผ่ เขตบางแค กทม. ให้แก่จำเลย


โดยพวกจำเลยได้หลอกผู้เสียหายที่1 ว่า นางอลิสา ผู้เสียหายที่ 2 ใช้ไสยศาสตร์ทำคุณไสยใส่จำเลยที่ 1, 3และ 4 จึงขอให้ผู้เสียหายที่ 1 ซื้อสร้อยคอและพระเครื่องพร้อมกรอบทอง 10 องค์ เบี้ยแก้คุณไสย รวมเป็นเงิน140,000 บาท ให้แก่พวกจำเลยเพื่อใช้ป้องกันอันตราย


ท้ายคำฟ้องอัยการยังระบุถึงพฤติการณ์ด้วยว่า จำเลยทั้งสี่ยังร่วมกันหลอกผู้เสียหายที่ 1 โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งกำลังศึกษาในมหาวิทยาลัย ต้องการย้ายคณะ เพราะถูกบุคคลระดับสูง ข่มเหงลวนลาม จำเป็นต้องใช้เงินจำนวน 500,000 บาท ในการวิ่งเต้นโยกย้ายคณะ ผู้เสียหายที่ 1 หลงเชื่อจึงมอบเงินให้แก่พวกจำเลยไป และจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหลอกผู้เสียหายที่ 1 ทำนองว่า เป็นขุนศึกคุมทหารยกทัพมาเผ่าบ้านของจำเลยที่ 1 แล้วปล้นเอาเงินของจำเลยที่ 1 และครอบครัว เทียบกับค่าเงินในปัจจุบันจำนวนกว่า 5 ล้านบาท ผู้เสียหายที่ 1 หลงเชื่อจึงนำเงินของของตน และเงินของนางอลิสา และ รศ.เพลินจิต ทมทิตชงค์ ผู้เสียหายที่ 2-3 จำนวน4,586,287 บาท เพื่อชดใช้หนี้กรรมให้แก่พวกจำเลยไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตนโดยทุจริตรวมทั้งสิ้น 9,658,000 บาท

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ต.ค.2553 ให้จำคุก น.ส.เปมิกา จำเลยที่ 1 ฐานฉ้อโกงทรัพย์ 7 กระทงๆ ละ 6 เดือน รวม 42 เดือน และฐานพยายามฉ้อโกง 3 กระทงๆ ละ 4 เดือน รวม 12 เดือน โดยจำคุกจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น เป็นเวลา 54 เดือน คิดเป็น 4 ปี 6 เดือน

ขณะที่จำคุกจำเลยที่ 2-4 ฐานสนับสนุนให้ฉ้อโกง 7 กระทงๆ ละ 4 เดือน รวม 28 เดือน และ ปรับ 7 กระทงๆ ละ 3,000 บาท รวม 21,000 บาท และฐานสนับสนุนให้ผู้อื่นพยายามฉ้อโกง จำคุก 3 กระทงๆ ละ 2 เดือน 20 วันรวม 6 เดือน 60 วัน ปรับ 3 กระทงๆ ละ 2,000 บาท 6,000 บาท โดยจำคุกจำเลยที่ 2-4 ทั้งสิ้นคนละ 34 เดือน 60 วัน คิดเป็น 3 ปี และปรับคนละ 27,000 บาท แต่จำเลยที่ 2-4 ประกอบอาชีพการงานมั่นคงและไม่เคยต้องโทษอาญามาก่อน พฤติการณ์เป็นเพียงผู้สนับสนุน โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้กระทงละ 2 ปี และให้จำเลยที่ 1-4 ร่วมกันคืนทรัพย์สินจำนวน 8,035,387 บาท คืนให้กับโจทก์ร่วมและผู้เสียหาย

ต่อมาโจทก์ และโจทก์ร่วมยื่นอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 สถานหนักและไม่รอลงอาญา จำเลยที่ 2-4 ขณะที่ได้จำเลยยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้ว มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้รู้จักกับผู้เสียหาย โดยอ้างว่าตนเองสามารถถอดจิต ระลึกชาติได้ และเคยเป็นสามีภรรยากันมา 99 ภพชาติ ผู้เสียหายมีหนี้กรรมที่จะต้องชดใช้ การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลักษณะของการกระทำต่อผู้เสียหายมีจิตอ่อน แต่ได้อาศัยความเชื่อถือศรัทธา ว่าจะต้องชดใช้กรรม จำเลยที่ 1 กระทั่งผู้เสียหายยอมมอบเงินให้ ซึ่งหากไม่ถูกหลอกลวงว่ามีหนี้กรรมที่จะต้องชดใช้ ผู้เสียหายก็คงจะไม่มอบทรัพย์สินดังกล่าวให้ ขณะที่กระทำของจำเลยที่ 2-4 เป็นการช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ก่อนที่ผู้เสียหายจะมอบทรัพย์สินให้กับจำเลยที่ 1 จึงถือเป็นเพียงผู้สนับสนุนไม่ใช่ลักษณะตัวการร่วม ส่วนที่โจทก์และโจทก์ร่วมขอให้ลงโทษจำเลยสถานหนักนั้น เห็นว่าการลงโทษในคดีอาญาไม่ได้มุ่งหมายในการแก้แค้นแต่เพื่อให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษและรู้สึกหลาบจำ และให้คิดดีทำดีเพื่อจะได้กลับคืนสู่สังคม อีกทั้งจำเลยมีการศึกษา อาชีพการงานมั่งคง ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย ที่ 1 รวม 7 กระทงๆละ 6 เดือน ฐานฉ้อโกง และฐานพยายามฉ้อโกงอีก 3 กระทงๆ ละ 4 เดือน แ ละให้รอลงอาญาจำเลยที่ 2-4 ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเหมาะสมแล้ว

แต่ที่ศาลชั้นต้นไม่กำหนดว่า หากจำเลยที่ 2-4 ไม่ชำระค่าปรับจะดำเนินการอย่างไรนั้น เห็นควรแก้เป็นว่า หากจำเลยที่ 2-4 ไม่ชำระค่าปรับคนละ 27,000 บาท ให้กักขังแทน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 และให้จำเลยทั้ง 4 ร่วมกันชดใช้เงินคืนให้กัแก่ผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 8,395,387 บาท


ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ6 พฤษภาคม 2561 เวลา 05:35

    เมิงทำให้กูบ้าง กูอยากเจอ ยิ่งลักษณ์ กับสาวๆ มัธยม.

    ตอบลบ