ศาสนาในอียิปต์โบราณ เกิดก่อนคริสตศักราชประมาณ 3,000 ปี ยั่งยืนมาจนถึง ค.ศ. 391 เป็นศาสนาประเภทพหุเทวนิยม คือ นับถือเทพเจ้าหลายองค์ เท่าที่รวบรวมได้มีเทพเจ้าถึง 30-40 องค์ (แต่บางข้อมูลบอกว่า จริงๆแล้วเทพเจ้าของชาวอียิปต์โบราณ ถ้าองค์หลักๆก็หลักร้อยองค์ ถ้านับเป็นองค์ย่อยๆ พวก Demons หรือ Demi-Gods ในคัมภีร์ต่างๆด้วยก็ร่วมหลักพันองค์)
ศาสนามีบทบาทสำคัญในการดำเนินชีวิต ของชาวอียิปต์ ชาวกรีกได้พรรณนาไว้ว่า อียิปส์เป็นคนที่เคร่งศาสนาที่สุดในโลก ชาวอียิปต์มีความเชื่อในมีอำนาจเหนือธรรมชาติ ซึ่งมีความสำคัญต่ออารยธรรมในบริเวณลุ่มแม่นำไนล์ ศาสนาเข้าไปพัวพันต่อสังคมอียิปต์ในทุกๆด้าน ทางศิลปกรรมมีการแสดงออกถึงสัญลักษณ์ทางศาสนาอย่างเต็มที่ ในทางวรรณกรรมและปรัชญามีหลักคำสอนทางศาสนา รัฐบาลสมัยอาณาจักรเก่าอยู่ในระบบเทวาธิปไตย แม้แต่สมัยจักรวรรดิฟาโรห์ก็ได้ทำการบริหารประเทศโดยใช้นามของพระเจ้า
นักวิชาการศาสนามีความเห็นว่า ก่อนหน้านั้นประชาชนที่ตั้งภูมิลำเนาในแถบแม่น้ำไนล์ เป็นพวกนับถือเครื่องรางของขลัง ต่อมาจึงนับถือเทพเจ้า โดยมีเทพเจ้าแต่ละองค์เป็นผู้ปกครองท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นตำบลหรือจังหวัด
ศาสนาโบราณของอียิปต์วิวัฒนาการณ์มาจากพหุเทวนิยมไปสู่เอกเทวนิยม ในตอนแรกเริ่มมณฑลและท้องถิ่นแต่ละแห่งปรากฎว่ามีเทพเจ้าหรือเทวดาประจำเมืองของตน การรวมประเทศอียิปต์เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสมัยอาณาจักรเก่านั้น มิใช่การรวมดินแดนเข้าเป็นปึกแผ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นการรวมเทพเจ้าประจำท้องถิ่นต่างๆ เข้าด้วยกัน ปรากฎขึ้นเป็นเทพเจ้าแห่งพระอาทิตย์ที่ทรงพระนามว่า รา (Ra)
เทพชื่อ รา (Ra) มีตำแหน่งเป็นเทพเจ้าองค์ใหญ่ที่สุด ในฐานะเป็นเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ แต่ในเวลาเดียวกันก็มีเทพโอริสิส (Orisis) เป็นเทพเจ้าแห่งแม่น้ำไนล์ เป็นเทพเจ้าที่อำนายความอุดมสมบูรณ์ของพืชผลต่างๆ
ตามประวัติศาสตร์ของอียิปต์ทั้งเทพเจ้าอัมมอนและเทพเจ้าโอซิริสต่างทรงมีอำนาจปกครองไปทั่วจักรวาลในบางครั้งก็แด่งแย่งชิงความเป็นใหญ่ซึ่งกันและกัน
ซึ่งต่อมา เทพโอริซิส ก็ถูกถือว่าเป็นเทพเจ้าที่ใหญ่ที่สุดแทนเทพเจ้ารา มีคำจารึกและข้อความในคัมภีร์ศาสนา กล่าวไว้ว่า เทพองค์นี้ เป็นราชาแห่งความนิรันดร เป็นเจ้าแห่งความถาวร เป็นเจ้าชายแห่งเทพและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ปกครองโลก เป็นผู้ดำรงอยู่ตลอดกาล
นอกจากนั้นอียิปต์โบราณยังมีเทพเจ้าประจำท้องถิ่นซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของชาวอียิปต์ทั่ว ๆ ไปอีกหลายองค์
สาเหตุที่ความเคารพนับถือในเทพเจ้าแต่ละองค์มีเพิ่มมากขึ้นหรือลดลง และปะปนกันนั้น เกิดมาจากการที่ชนแต่ละเผ่าก็มีเทพเจ้าที่เคารพนับถือของตนเอง คล้ายกับเทพเจ้าประจำตำบล หรือจังหวัด รวมทั้งประจำเผ่าด้วย เมื่อเผ่าไหนมีอำนาจได้ปกครองชนเผ่าอื่น เทพประจำเผ่านั้นก็พลอยมีเกียรติยิ่งขึ้น ชนเผ่าที่ถูกปกครองจึงพลอยนับถือเพิ่มขึ้นจากเดิม โดยนัยนี้กาลเวลาล่วงไป ความผสมปนเปกันของเทพเจ้าก็มีมากยิ่งขึ้น เทพที่ชื่อรา ซึ่งแต่เดิมเป็นพระอาทิตย์ ยิ่งใหญ่ที่สุดกว่าเทพทั้งปวงก็มีผู้นับถือน้อยลง กลายเป็นเทพโอสิริสก้าวขึ้นสู่ความยิ่งใหญ่แทน
เทพเจ้าของอียิปต์มีขึ้นมีลง ตามความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือการสงคราม ที่เนื่องมาจากการแย่งอำนาจกัน ตัวอย่างเช่น เทพโฮรัสแห่งเมืองเบห์เดท เป็นเทพชั้นนำแห่งอียิปต์ภาคใต้ ส่วนเทพเซทแห่งเมืองออม
นอกจากนับถือเทพเจ้าแล้ว ก็ยังมีการนับถือสัตว์หลายชนิดว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ในที่บางแห่งนับถือสิงโต บางแห่งนับถือจระเข้ บางแห่งนับถือสุนัขป่า หรือสุนัขจิ้งจอก บ้างก็นับถือแมว บ้างก็นับถือลิง และบ้างก็นับถือเหยี่ยว หรือนกกระสา
การนับถือสัตว์กับการนับถือเทพเจ้าที่มีศีรษะเป็นรูปสัตว์มีทีท่าว่าจะเกี่ยวข้องกันอยู่บ้าง รายนามเทพเจ้าที่มีร่างเป็นมนุษย์แต่ศีรษะเป็นรูปสัตว์นั้นมีอยู่มาก เช่น เทพชื่อ อนุมิส มีศีรษะเป็นรูปจิ้งจอก เทพชื่อ ฮาธอร์ มีศีรษะเป็นโค เทพชื่อ โฮรัส มีศีรษะเป็นเหยี่ยวนกเขา เทพชื่อ มุนท์ มีศีรษะเป็นเหยี่ยวตะไกร เทพชื่อ เมเขต มีศีรษะเป็นแร้ง เทพชื่อ เซเขต มีศีรษะเป็นสิงโตตัวเมีย เทพชื่อ เซต มีศีรษะเป็นนกกระสา เทพชื่อ เซเมก มีศีรษะเป็นจระเข้ เทพชื่อ บาสต์ เป็นเทพธิดาแมว
หลักความเชื่อที่สำคัญของศาสนาของอียิปต์ก็คือเรื่องการพิพากษาความดีความชั่วของผู้ตาย
ในการพิพากษาความดีความชั่วของผู้ตายนั้น จะมีการนำหัวใจของผู้ตายขึ้นตาชั่ง เทียบกับอีกข้างหนึ่งซึ่งมีขนนกใส่ไว้ ขนนกเป็นเครื่องหมายของความยุติธรรมหรือความชอบธรรม ถ้าขนนกหนักกว่า ก็แสดงว่าผู้นั้นทำความดำไว้ จะได้มีโอกาสไปอยู่ในสวรรค์กับเทพชื่อ โอสิริส ถ้าขนนกเบากว่าก็แสดงว่าทำชั่วไว้ ซึ่งจะต้องถูกลงโทษให้ตกนรกทนทุกข์ทรมานหรือให้ไปเกิดในรูปแห่งสัตว์ดิรัจฉานที่ไม่ดีไม่งามต่างๆ
การทำมัมมี่หรือศพอาบน้ำยา เพื่อเก็บร่างของผู้ตายไว้มิให้เน่าเปื่อยนั้น เนื่องจากความเชื่อที่ว่า ในภายหลังจะฟื้นมามีชีวิตอีก และเพราะมีความเชื่อตามเทพนิยายที่ว่า เทพโอสิริสก็เคยถูกเทพชื่อ เซท ผู้เป็นน้องชายฝาแฝดของตนฆ่าถึงแก่ชีวิต แต่ภริยาผู้เป็นน้องสาวชื่อ อิซิสได้อาบยาและนำไปฝังไว้ในโคลนในแม่น้ำไนล์ ภายหลังเซทค้นพบศพอีกจึงสับเป็นท่อนๆ ถึง 14 ท่อน ขว้างไปตามกระแสลม แต่ในที่สุดอิซิสได้เก็บรวบรวมมาอีก และช่วยกันกับบุตรโฮรัส ทำให้โอสิริสฟื้นขึ้นมาได้อีกด้วยพิธีทางมายาบางประการ
ผู้ที่ได้ไปอยู่ในสวรรค์นั้น จะได้รับความสุขไม่ขาดสาย เป็นความสุขชั่วนิรันดร แต่ถ้าผู้ตายผู้ใดต้องการเอาชนะความตายและความแก่เฒ่าตลอดกาล ผู้นั้นจะต้องถูกกระทำให้เหมือนกับเทพชื่อโอสิริสทุกประการ จะมีการตั้งชื่อให้ว่า โอสิริส มีม้วนกระดาษที่ทำด้วยพฤกษชาติชื่อปาปิรุสบันทึกข้อความอันประกอบด้วยเวทมนต์ รูปภาพอันเรียกว่า "The Book of the Dead" (หรือ หนังสือของคนตาย) และเครื่องใช้บางอย่างบรรจุไว้ที่หลุมศพด้วย ในสมัยก่อนถ้ามีการฝังศพกษัตริย์หรือคนชั้นสูงจะมีการนำทาสมาฆ่าเพื่อให้ไปรับใช้ในปรโลกด้วย แต่ในสมัยต่อมาได้มีการนำดินมาปั้นเป็นรูปคนใช้แทนการฆ่าคนจริงๆ ที่หลุมฝังศพ
มีผู้กล่าวกันว่า ศาสนาของอียิปต์โบราณ ได้มีการคิดคำนึงถึงศีลธรรมอยู่มาก ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้ตายไปปรากฏตัวเมื่อมีการพิพากษาความดีความชั่วต่อหน้าเทพชื่อโอสิริสนั้น มีการระบุถึงความผิดที่ได้กระทำหรือไม่ด้วย เช่น การฆ่าคน การทำชู้ การนำน้ำนมออกจากปากเด็ก การโกงตาชั่ง การโกงด้วยเครื่องวัดด้วย
...
ต่อมา ในสมัยของ ฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 4 หรือ อิคนาตัน หรือ อเคนนาตัน (Amenhotep IV หรือ Ikhenaton หรือ Akhennaton) ขึ้นครองราชราว 1375 ปีก่อนคริสต์กาล) พระองค์เห็นว่าความเชื่อทางศาสนาของอียิปต์ได้เสื่อมทรามลงมาก เนื่องจากพวกพระหรือนักบวชมีความมั่งคั่งและมีอำนาจเกินขอบเขต เพื่อที่จะรักษาอำนาจของกษัตริย์ พระองค์จึงได้ทำการปฏิรูปศาสนา โดยเปลี่ยนให้อียิปต์ให้มานับถือเทพเจ้าเพียงองค์เดียวคือพระอาทิตย์ หรือสุริยเทพ ชื่อว่า เทพอาเตน หรือ อาตัน (Aten) แม้แต่พระนามของพระองค์ก็ได้เปลี่ยนมาเป็น “อิคนาตัน” หมายถึง “เพื่อความพอใจของเทพอาตันหรืออาเทน” (ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นไปได้ว่าอาจเป็นองค์เดียวกับ รา) (อนึ่ง บางแหล่งข้อมูลบอกว่ากระบวนการปฏิรูปศาสนานี้เป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้ประกาศครั้งเดียว)
ยิ่งกว่านั้น พระองค์ยังได้ขับไล่นักบวชออกจากวิหารที่เมืองคานัค (ช่วงเวลานี้บรรดานักบวชแห่งมหาวิหารคาร์นัคได้กลายเป็นผู้มีบารมี มีอำนาจและอิทธิพลสูงสุดทั้งในศาสนจักรและอาณาจักร จนหลายยุคต่อมา ได้สร้างความอึดอัดให้แก่ฟาโรห์หลายพระองค์) จึงทำให้เกิดการแตกแยกในความคิดทางศาสนา
และพระองค์ยังได้ละทิ้งเมืองธีบส์ซึ่งเป็นเมืองหลวงมาตั้งเมืองหลวงใหม่ทางตอนกลางของอียิปต์คือเมืองเทล เอล อมาร์นา (Amarna) ดังนั้นศิลปะที่เกิดขึ้นในช่วงที่พระองค์ขึ้นครองราชย์จึงเรียกว่า Amarna Style ที่เมืองหลวงใหม่นี้ทรงสร้างศาสนสถานขนาดใหญ่เพื่อบูชาเทพอาเตน ที่วิหารและราชวังในเมือง อมาน่า นี้ พระองค์ได้สร้างศิลปกรรมฝาผนังไว้อย่างงดงาม ที่มีบทสรรเสริญเทพอาเตน
ความคิดเกี่ยวกับการปฏิรูปศาสนาของพระองค์นับว่าก้าวหน้ากว่าคนในสมัยนั้นมาก ทรงเป็นนักเอกเทวนิยมองค์แรกของโลก นักประวัติศาสตร์สมัยปัจจุบันหลายคนยกย่องพระองค์ว่าเป็นนักอุดมคติคนแรกของโลก เป็นองค์แรกในโลกที่ยอมรับนับถือพระเจ้าองค์เดียวก่อนพวกชาวฮิบรู
ฟาร์โรห์อิคนาตันทรงออกประกาศว่าเทพเจ้าเอตันเป็นเทพเจ้าในโลกองค์เดียวเท่านั้นอุบัติขึ้นมา ไม่ใช่เป็นเทพเจ้าของชาวอียิปต์เท่านั้นแต่ทรงเป็นเทพเจ้าของจักรวาลด้วย อิคนาตันกล่าวยืนยันว่า เอตันเป็นเทพเจ้าที่ผดุงรักษาศีลธรรมของโลกไว้ ทรงประทานรางวัลให้แก่ผู้ที่มีความซื่อสัตย์และมีความจริงใจ ทรงมอบความบริสุทธิ์ให้แก่จิตใจของแต่ละคน ฟาโรห์อิคนาตันทรงกล่าวว่าเทพเจ้าเอตันเป็นเทพเจ้าผู้สร้างประสิทธิ์ประสาททุกสิ่งให้แก่คน ทรงเป็นบิดาแห่งสรวงสวรรค์ซึ่งคอยดูแลด้วยความรักความเมตตาแก่สรรพสิ่งทั้งหลาย
(อนึ่ง ความคิดเกี่ยวกับความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความยุติธรรมและพระเมตตาของเทพเจ้า ได้เกิดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งในสมัยศาสดาพยากรณ์ของพวกชาวฮีบรูอีกประมาณ 600 ปีต่อมา ....ตรงนี้เองที่นักประวัติศาสตร์หลายท่านเชื่อว่า การที่นับถือเทพเจ้าเพียงองค์เดียวของฟาโรห์อิเคนาตัน นั้น เป็นแรงบันดาลใจให้โมเสสเป็นกบฏต่อฟาโรห์รามเสสที่สอง (Ramesses II) ในอีกราว 50 ปี ต่อมา และกลายเป็นศาสนายูดายในที่สุด)
----
แต่กระนั้น เมื่อฟาโรห์อิคนาตันสิ้นพระชนม์ พระโอรสของพระองค์คือฟาโรห์ตุตันคาเมน (Tutankhamen) ซึ่งครองราชย์ต่อมาก็ทิ้งการบูชาพระเจ้าองค์เดียวของฟาโรห์พระบิดาไปเสีย ได้กลับไปนับถือเทพอามอน-รา และเทพต่างๆ ตามเดิม รวมทั้ง เมืองอมาน่าแห่งนี้ก็ได้ถูกทิ้งร้างทันที และย้ายเมืองหลวงกลับมายังเมืองธีบส์ รวมทั้งไม่มีการสืบทอดรูปแบบศิลปกรรมแบบ Amarna Style อีกต่อไป
นอกจากนี้ยังได้ทำลายวิหารและบทสรรเสริญเทพเอตันที่เป็นเทพเจ้าองค์เดียวเสีย รวมทั้งได้ประนามพระองค์และทำลายรูปสลักพระพักตร์ของพระองค์ด้วย ซึ่งเชื่อว่า ทั้งนี้เป็นเพราะต้องการทำลายหลักความเชื่อของการนับถือเทพเจ้าองค์เดียว (Monotheism) ให้หมดสิ้นไป
ฟาโรห์ตุตันคาเมน แม้จะมีชื่อเสียง แต่ก็ไม่ได้เป็นนักอุดมคติเยี่ยงบิดา ทรงอนุญาตให้พวกพระที่มีความคดโกงและเห็นแก่เงินกลับมามีอำนาจอีกครั้งหนึ่ง เป็นผลมาจากการแข่งขันและมีความเชื่อในเรื่องอำนาจที่เหนือธรรมชาติกันอย่างกว้างขวางมาก่อนรัชสมัยของอิคนาตัน พิธีกรรมทางศาสนาที่เกี่ยวกับความสำคัญในหลักศีลธรรมหมดความสำคัญลงโดยสิ้นเชิง ศาสนาของอียิปต์กลับไปอยู่ในมือของพวกพระที่มีแต่ความโลภอีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ในหมู่ที่มีการศึกษาอิทธิพลของคำสอนของอิคนาตันยังคงมีอยู่บ้างทั้ง ๆ ที่เทพเจ้าเอตันไม่ได้รับการยอมรับอีกต่อไป แต่คุณลักษณะที่เป็นของพระองค์ยังคงได้รับการเคารพอย่างสูงสุดต่อไป เป็นต้นว่าสิ่งที่พวกที่มีการศึกษาเคยถวายแก่เทพเจ้าเอตันนั้นต่างก็พากันมาถวายแก่เทพเจ้าแอมมอน-รา เทพเจ้าองค์นี้ทรงเป็นเทพเจ้าแห่งพระอาทิตย์เพียงองค์เดียวซึ่งทรงไว้ซึ่งความเที่ยงตรงยุติธรรมและความจริง เทพเจ้าอัมมอน-รา ทรงได้รับการนับถือในฐานะเทพเจ้าผู้พระทัยดี และมีพระทัยรักมนุษย์ ทรงรับฟังคำสวดขอพรจากพระองค์ ทรงประทานความช่วยเหลือแก่คนที่ตกทุกข์ได้ยาก ทรงช่วยคนที่มีความเหนื่อยอ่อน อาจจะกล่าวได้ว่าศาสนานี้เป็นลัทธิที่นับถือเทพเจ้าองค์เดียวที่มีส่วนประกอบของการไถ่บาปให้แก่บุคคลที่สำนึกในความผิดของตนอีกด้วย ศาสนานี้ได้วิวัฒนาการความคิดใหม่ ๆ ที่ว่าพระเจ้ายกโทษแก่บุคคลที่ทำผิดแล้วมีความสำนึกผิด หลังจากที่ได้อ้อนวอนพระเจ้าให้ทรงยกโทษให้แล้ว
ความคิดดังกล่าวไม่เป็นสิ่งพอเพียงที่จะช่วยให้ศาสนาอียิปต์ซึ่งกำลังมีความเสื่อมลงทุกขณะกลับดีขึ้นได้ จากความเชื่อในสิ่งที่เหนือธรรมชาติแพร่หลายออกไป ในเรื่องเวทมนตร์คาถาได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น พวกพระที่มีแต่ความคดโกงต่างมีอิทธิพลเป็นอย่างมากสุดที่ลัทธิใด ๆ จะยับยั้งได้ ในท้ายที่สุดระบบความเชื่อและการเคารพถูกครอบงำไปด้วยกฎเกณฑ์และคาถาอาคม การบูชาสัตว์ การทำนายโชคชะตา โดยการติดต่อกับดวงวิญญาณของคนที่ตายแล้ว พวกพระได้ดำเนินภาระกิจการค้าแพร่หลายมากว่าเดิม หน้าที่สำคัญในการจัดการทางด้านศาสนาคือการขายหนังสือเวทมนตร์คาถาต่าง ๆ ซึ่งเชื่อกันว่าจะเป็นใบเบิกทางให้เทพเจ้าทรงยอมให้อภัยโทษไม่ว่าจะทำความผิดอันใดมาแล้วก็ตาม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น