วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

นิกายของอิสลาม

ผู้คนมักได้ยินเรื่องนิกายของศาสนาอิสลามกันบ่อยๆ แค่ "สุหนี่" กับ "ชีอะห์" จนมักเข้าใจกันว่าศาสนาอิสลามมีแค่สองนิกายนี้   แต่แท้จริงแล้วไม่ได้มีแค่ 2 นิกาย แต่มีนิกายอื่น   รวมทั้งนิกายย่อย และสำนักคิดย่อยอีกมาก

นบีมุหัมมัด ผู้เป็นศาสดาเองก็ดูเหมือนพยากรณ์ว่าจะมีการแตกเป็น 73 กลุ่ม   โดยกล่าวว่า "แท้จริงประชาชาติของนบีมูซา(โมเสส) ได้แตกออกภายหลังจากเขาเป็น 71 จำพวก มีหนึ่งกลุ่มเท่านั้นที่รอด ส่วนอีก 70 อยู่ในไฟนรก
และประชาชาติของนบี(ศาสดา)อีซา ได้แตกออกภายหลังจากเขาเป็น 72 จำพวก มีหนึ่งกลุ่มเท่านั้นที่รอด ส่วนอีก 71 อยู่ในไฟนรก และแท้จริงประชาชาติของฉัน จะแตกออกภายหลังจากฉันเป็น 73 จำพวก มีกลุ่มเดียวเท่านั้นที่รอด ส่วนอีก 72 จะอยู่ในไฟนรก ( หนังสือบิฮารุล อันวาร เล่มที่ 28 หน้า 4 บาบที่ 1)

จากคำพูดข้างต้นนี้ นักวิชาการอิสลาม มีทัศนะแตกต่างกันในการแบ่งจำนวนนิกายต่างๆในโลกอิสลาม  บางท่านตีความหมายของคำว่า 73 จำพวกในที่นี้ว่าหมายถึงมุสลิมจะแตกแยกกันมากมายหลายกลุ่ม ไม่ได้เจาะจงว่าต้องแตกออกเป็น 73 จำพวกพอดีตามตัวบทวจนะของท่านศาสดาบ้างกล่าวว่ามีมากกว่า 73 กลุ่ม   บ้างว่ามีน้อยกว่า 70 กลุ่ม    แต่ไม่ว่าจะแตกออกเป็นหลายกลุ่มหลายนิกายอย่างไรก็ตาม  พวกเขาก็เชื่อว่าศาสนาอิสลามที่ถูกต้องมีเพียงกลุ่มเดียว   ส่วนกลุ่มอื่นๆที่แตกแนวนั้นถือเป็นกลุ่มนอกศาสนา และต้องตกลงในไฟนรก

ต้องยอมรับว่าในหมู่นักวิชาการอิสลามก็ไม่มีความเห็นที่ตรงกัน   อย่างไรก็ตาม นักวิชาการก็มีการจำแนกไว้ว่า  แบ่งได้ 6 นิกายหลัก  ได้แก่
1. ซุนหนี่  (Sunni)
2. ชีอะห์ (Shia)
3. ซูฟี (Sufi)  ซูฟีมีลักษณะเป็นสำนักคิดมากกว่านิกาย  
4. อัมมาดียะห์ (Ahmadiyya)
5. คาริจิยะห์ (Kharijiyyah)
6. อื่นๆ      

คลิกเพื่อดูรูปใหญ่

นิกายซุนหนี่   แบ่งเป็น
1. สำนักคิด  - 1. Hanafi   2. Maliki  3. Shafiʿi   4. Hanbali   5. Ẓāhirī
2. ขบวนการ หรือMovements  -  แบ่งย่อยเป็น  1. Salafi movement  (ยังแบ่งย่อยเป็น 1. Wahhabism  และ 2. Ahl al-Hadith)   และ 2. Political movements

นิกายชีอะห์  
1. สำนักคิด  - แบ่งเป็น 
       1.1 Twelver  - แบ่งย่อยเป็น  (1)  Ja'fari jurisprudence  (2) Batini jurisprudence
       1.2 Ismā'īlīsm - แบ่งย่อยเป็น (1) Tāiyebī Mustā'līyyah  (2) Nīzār'īyyah  (3) Durziyyah
       1.3 Zaidiyyah
       1.4 Ansaris or Ansars
2. ขบวนการ  Ghulāt movements in the history


ซูฟี (สำนักคิด - Sufi Orders) 
1 Bektashi
2 Chishti
3 Kubrawiya
4 Mawlawiyya
5 Muridiyya
6 Naqshbandi
7 Nimatullahi
8 Nurbakshi
9 Oveyssi (Uwaiysi)
10 Qadiri
11 Senussi
12 Shadiliyya
13 Suhrawardiyya
14 Tijaniyya

นิกายอามาดียาห์ (Ahmadiyya) 
1. Ahmadiyya Muslim Community
2. Lahore Ahmadiyya Movement

นิกายคาริจจิยาห์ (Kharijiyyah)
1. Ibadi
2. Isawiyya
3. Extinct groups

นิกายอื่นๆ 
1. ขบวนการอิสลามชาวอัฟริกันอเมริกัน (มุสลิมชาวอเมริกันผิวสี)   แบ่งเป็น  (1) Moorish Science (2) Nation of Islam   อันที่ (2) นี้ยังแบ่งย่อยอีกเป็นพวก Five Percenter
2. Mahdavia  แบ่งย่อยเป็น (1) Mahdavi  (2) Zikri
3. Muwahhid Muslim
4. พวกไม่มีนิกาย  Nondenominational Muslim
5 พวกกุรอานนิยม  แบ่งย่อยเป็นพวก (1) Ahle Qur'an   (2) Tolu-e-Islam  (3) Submitters  (4) Hanif Islam


อิสลามนิกายซุนนี-ชีอะห์ ต่างกันอย่างไร?


เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองในโลกมุสลิม  ส่วนใหญ่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างนิกายชีอะห์ และนิกายซุนหนี่  จึงอยากอธิบายเพิ่มเติมถึงความแตกต่างระหว่างสองนิกายนี้

ทั้งนิกายซุนนี และชีอะห์ ต่างถือว่าอัลกุรอาน เป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ และเห็นพ้องต้องกันเรื่องหลักคำสอนพื้นฐานของอิสลาม แต่เห็นต่างกันในด้านประวัติศาสตร์ การเมือง ความสำคัญของญาติขององค์ศาสดา และการตีความพระคัมภีร์

หลังศาสดามูฮัมหมัดเสียชีวิต ผู้นำมุสลิมได้แตกออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเชื่อว่าผู้ที่จะมาเป็นผู้นำสูงสุดหรือ "กาหลิบ" ต่อจากองค์ศาสดานั้น เป็นเพียงผู้นำทางการเมืองและสังคมเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ และผู้นำนี้ไม่จำเป็นต้องสืบสายเลือดจากองค์ศาสดา และไม่จำเป็นต้องถูกแต่งตั้งโดยองค์ศาสดา กลุ่มนี้จึงสนับสนุนให้ "อาบู บัคร์" ศิษย์ใกล้ชิดของศาสดามูฮัมหมัด เป็นกาหลิบองค์แรก ผู้สนับสนุนแนวคิดนี้ต่อมาได้กลายเป็นผู้นับถือนิกายซุนนี

ในทางตรงกันข้าม อีกกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า ผู้นำที่จะสืบทอดจากศาสดามูฮัมหมัดนั้น ไม่ได้เป็นเพียงผู้นำทางการเมืองและสังคมเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณด้วย ผู้ที่จะเป็นกาหลิบต้องเป็นผู้ที่พระเจ้าเลือกมาผ่านศาสดามูฮัมหมัด ดังนั้นกาหลิบจึงต้องเป็นผู้มีสายเลือดของศาสดา และเป็นผู้ที่องค์ศาสดาเลือกไว้ กลุ่มนี้จึงสนับสนุนให้ "อาลี" ซึ่งเป็นน้องเขย และลูกพี่ลูกน้องของศาสดามูฮัมหมัด เป็นกาหลิบองค์แรก และให้ความสำคัญกับอิหม่ามที่สืบเชื้อสายมาจากศาสดามูฮัมหมัดเป็นพิเศษ ผู้สนับสนุนแนวคิดนี้ต่อมาได้กลายเป็นผู้นับถือนิกายชีอะห์

คำว่า "ซุนนี" แปลว่าผู้ปฏิบัติตามคำของศาสดา ส่วน "ชีอะห์" มาจากคำว่า "ชีอาท อาลี" ซึ่งแปลว่า "ผู้สนับสนุนอาลี"

ชาวชีอะห์ยังเชื่อด้วยว่า ในอนาคตจะมี "มะฮ์ดี" ที่พระเจ้าส่งมาเพื่อนำสันติภาพและความยุติธรรมมาสู่โลกมนุษย์ ชาวซุนนีที่เคร่งครัดกับแนวคิดซุนนีดั้งเดิมมักปฏิเสธแนวคิดนี้ แต่ก็ยังมีชาวซุนนีอีกจำนวนมากก็รับเอาแนวคิดนี้มาเช่นกัน

ในด้านพิธีกรรม ชาวชีอะห์เชื่อในการแสวงบุญตามศาสนสถานที่บูชาอิหม่ามผู้สืบเชื้อสายมาจากศาสดามูฮัมหมัด แต่ชาวซุนนีจำนวนมาก โดยเฉพาะที่นับถือนิกายวาฮาบี เชื่อว่าประเพณีนี้ขัดแย้งกับหลักอิสลามที่กำหนดให้บูชาพระเจ้า และศาสดาเท่านั้น

ทุกปี ชาวชีอะห์จะจัดงานวันอาชูร่า หรือวันรำลึกการพลีชีพของ ฮูเซย์น อิบน์ อาลี งานในวันนี้จะไม่ใช่การเฉลิมฉลอง เพราะชาวชีอะห์ถือเป็นวันโศกเศร้า ในวันสำคัญนี้มักมีผู้ทรมานตัวเองโชว์ โดยทุบหน้าอกตัวเอง หรือใช้แส้ฟาดหลังตัวเอง เพื่อรำลึกถึงความทุกข์ทรมานของฮูเซย์น และยังมีการอ่านคัมภีร์และเอกสารเกี่ยวกับฮูเซย์นด้วย

ในขณะที่ชาวมุสลิมทั้งหลายต่างเชื่อว่า นครเมกกะ นครเมดินา และกรุงเยรูซาเล็ม เป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ แต่ชาวชีอะห์ยังเชื่อว่าเมืองศักดิ์สิทธิ์มีอีก 2 เมือง คือเมืองนาจาฟ และเมืองกัรบาลา ในอิรัก

ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้นับถือศาสนาอิสลาม ประมาณ 1,600 ล้านคน ในจำนวนนี้ 940 ล้านคน หรือประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ นับถือนิกายซุนนี ในขณะที่อีก 120 ล้านคน หรือประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ นับถือนิกายชีอะห์ ประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือนิกายชีอะห์ ได้แก่ อิหร่าน อิรัก อาเซอร์ไบจาน และบาห์เรน และประเทศที่มีประชากรชีอะห์เกินร้อยละ 20 ได้แก่ เลบานอน เยเมน คูเวต และตุรกี  


แล้วมุสลิมในไทยเป็นนิกายไหนมากกว่า? 

เมื่อย้อนมาดูในประวัติศาสตร์ไทย ชุมชนมุสลิมที่มีบทบาทสำคัญในสังคมไทย โดยเฉพาะในยุคกรุงศรีอยุธยานั้น เป็นมุสลิมสายฃีอะห์ และได้สืบสาแหรกต่อเนื่องกันมา เป็นคนในสกุลบุนนาค ศรีเพ็ญ อะหมัดจุฬา จุฬารัตน์ และสายสกุลอื่นๆ ที่ได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธในที่สุด

คนเหล่านี้ คือลูก หลาน เหลน โหลน ของเจ้าพระยาบวรราชนายก หรือเฉกอะหมัด พ่อค้าชาวเปอร์เซีย ที่ปรึกษาด้านการปกครองของพระเจ้าปราสาททอง แม่น้ำอีกสายหนึ่งที่แยกมาจากมุสสิมสายซุนนี อันปรากฎสกุล สุทัศน์ ยงใจยุทธ ณ พัทลุง ที่สืบเชื้อสายมาจากสุลต่านสุลัยมานซาร์ ผู้ปกครองรัฐพัทลุง

เฉกอะหมัดเดินทางทางเรือฝ่าคลื่นฝืนลม มายังดินแดนที่ห่างไกลจากเปอร์เซียหรืออิหร่านปัจจุบัน ดุจเดียวกับ "เจิ้งเหอ" มุสลิมสายมองโกล ผู้บัญชาการกองเรืออันเกรียงไกรของจีนยุครัชสมัยหย่งเล่อ เดินทางทำการค้าและเจริญสัมพันธไมตรีไปทั่วทุกคาบสมุทร รวมทั้งกรุงศรีอยุธยา

"..เฉกอะหมัด และน้องชายมาจากเปอร์เซีย เข้ามาทำการค้าขายอยู่ในประเทศไทย โดยซื้อสินค้าจากไทยบรรทุกเรือสลุบแขกออกไปขายต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็ซื้อสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขายในประเทศไทย ความสามารถในการค้านี้ เป็นบันไดขั้นแรกที่ทำให้ชาวมุสลิมเข้ามามีบทบาททางด้านการเมือง เนื่องจากเฉกอะหมัดได้ให้การช่วยเหลือในกิจการค้าของรัฐบาล โดยใช้เวลาว่างที่เหลือจากการค้ามาช่วยพระยาพระคลังคิดอ่านราชการในกรมท่า การรู้จักใกล้ชิดพระยาพระคลังทำให้ชาวมุสลิมเข้ามามีบทบาททางด้านการเงิน"

(รัชนี กีรติไพบูลย์ , บทบาทของชาวมุสลิมในภาคกลางและภาคใต้ของประเทศไทย ในสมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่ พ.ศ.2325 - 2453 , วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต แผนกประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร)

เฉกอะหมัด ไม่เพียงมีตำแหน่งทางราชการในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมแห่งกรุงศรีอยุธยา เป็นเจ้าพระยาบวรราชนายกเท่านั้น หากแต่ยังได้รับการสถาปนาเป็นพระยาจุฬาราชมนตรี ประมุขของกลุ่มชนมุสลิมคนแรกในประวัติศาสตร์ไทยด้วย

ฉะนั้น มุสลิมสายชีอะห์ จึงนับเป็นผู้นำมุสลิมไทยเป็นทางการนับจากอดีตกาล

ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในสายเฉกอะหมัด มาสิ้นสุดที่พระยาจุฬาราชมนตรีสัน ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนเปลี่ยนมาเป็นมุสลิมสายซุนนี นามแช่ม พรหมยงค์ หรือซำฃุดดิน มุสตาฟา บิดาของไพศาล พรหมยงค์ ผู้มีบทบาทในการเป็นผุ้นำทางความคิดของสังคมมุสลิมวันนี้

และจากนั้น ซุนนี ก็เป็นแนวทางที่ผู้นำมุสลิมไทยยึดถือกันมาไม่ขาดสาย

มุสลิมไทยส่วนใหญ่เป็นซุนนี ในขณะที่มุสลิมสายชีอะห์มีน้อยกว่า ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เจริญพาศน์ บางกอกใหญ่ กทม.และกระจายอยู่ทั่วไป

นิกายอื่นๆ 


นอกเหนือจากนิกายซุหนี่ และชีอะห์แล้ว   นิกายอื่นๆ ที่น่าเรียนรู้ด้วยคือ

นิกาย อิบาฎียะห์ (เค่าะวาริจญ์) 

อิบาฎียะห์ เป็นหนึ่งในกลุ่มมุสลิมที่ชื่อ เค่าะวาริจญ์ ที่เรียกว่า อิบาฎียะห์ เนื่องจากพาดพิงชื่อดังกล่าวไปยังผู้ก่อตั้ง    คือ อับดุลลอฮ์ บิน อิบ๊าฎ โดย อิบ๊าฎนั้นเป็นชื่อตำบลหนึ่งในเมืองอาริฎจังหวัดยะมามะห์ ของประเทศซาอุดิอาระเบีย 

นิกายอิบาฎียะห์สามารถก่อตั้งรัฐอิสระขึ้นได้ในรัฐโอมาน และบรรดาอิหม่ามของอิบาฎียะห์ยังคงปกครองรัฐโอมานมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้     เมืองทางประวัติศาสตร์ของนิกายอิบาฎียะห์ คือ ภูเขานุฟูซะห์ ในประเทศลิเบีย ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางการเผยแพร่นิกายอิบาฎียะห์

นิกายอิบาฎียะห์ยังคงมีอยู่ในปัจจุบันนี้ ในรัฐโอมาน และมีจำนวนมากในลิเบีย ตูนิเซีย แอลจีเรีย ตอนกลางทะเลทรายทางทิศตะวันตกของทวีปอาฟริกาและในเมืองหนึ่งของประเทศทันซาเนีย

นิกายมัวะตะซิละห์ 

มัวะอ์ตะซิละห์ เป็นนิกายหนึ่งในอิสลามที่อาศัยสติปัญญาในการทำความเข้าใจหลักการเชื่อมั่นของอิสลาม ซึ่งได้รับอิทธิพลความคิดมาจากการนำปรัชญาจากต่างชาติเข้ามาศึกษา จึงทำให้ผู้ยึดถือนิกายนี้ต้องหลุดออกจากหลักการที่ถูกต้องของอิสลาม

นักวิชาการกลุ่มนี้พยายามอธิบายตัวบทพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานและวจนะท่านศาสดามุฮัมมัดตามความคิดของตนเอง พวกเขาจึงอาศัยการเข้าใจตัวบทด้วยการตีความตามอำเภอใจ

อุดมการณ์สำคัญที่พวกมัวะอ์ตะซิละห์ยุคใหม่ยึดถือคือ คำกล่าวอ้างที่ว่า สติปัญญาคือหนึ่งเดียวเท่านั้นที่สามารถเข้าใจถึงแก่นสารแห่งความจริง

นิกายไซดียะห์ 

ไซดียะห์ เป็นแขนงหนึ่งในนิกายชีอะห์ที่มีหลักการใกล้เคียงกับนิกายซุนหนี่ห์มากที่สุด   นิกายไซดียะห์มีจุดแผ่ขยายอยู่ที่ชายฝั่งคอซรอซ ไดลัม ฏ๊อบริสถาน และญีลานตะวันออก จนถึงแคว้นฮิญ๊าซและทางทิศตะวันตกของอียิปต์ ปัจจุบันมีจุดศูนย์กลางการแผ่ขยายอยู่ที่ประเทศเยเมน

นิกายอะชาอิเราะห์ 

อะชาอิเราะห์ เป็นนิกายวิภาษวิทยา ซึ่งเป็นนิกายที่แยกออกมาจากมัวะอ์ตะซิละห์ โดยนิกายนี้ใช้สติปัญญาเป็นหลักฐานในการยืนยันเรื่องของศาสนา และมีความสอดคล้องกับแนวทางของชาวซุนหนี่  นิกายนี้ได้รับการเผยแพร่มากขึ้นโดยสถาบันการศึกษาในกรุงแบกแดดและในเมืองไนซาบู้ร (เอเชียกลาง)

นิกายมาตุรีดียะห์ 

มาตุรีดียะห์ เป็นนิกายที่ใช้วาทศิลป์และสติปัญญาในการโต้ตอบและยืนยันหลักการของศาสนาต่อคู่กรณี     นิกายมาตุรีดียะห์มีจุดแพร่หลายอยู่ในอินเดียและประเทศข้างเคียง ได้แก่ จีน บังคลาเทศ ปากีสถาน อัฟกานิสถาน นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่ในตุรกี อิตาลี เปอร์เซียและมอรอกโค


วาฮะบีฮ์   คืออะไร?

มีการพูดกันมาก เกี่ยวกับอิสลามลัทธิใหม่ที่เรียกว่า "วาฮะบีฮ์"   นิกายนี้คืออะไรกันแน่?  หรือว่าไม่ใช่นิกาย?  

"วะฮาบียะฮ์" หรือเรียกอีกชื่อว่า "ซาลาฟียะฮ์" เป็นศัพท์ใหม่ในศาสนาอิสลาม นับตั้งแต่ช่วงคริสต์ตวรรษที่ 18 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นเพียงแนวคิดๆหนึ่ง ที่ก่อตัวขึ้นมาในศาสนาอิสลาม และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มาก

วะฮาบียะฮ์ คือ ชื่อของแนวคิดที่ได้ถูกก่อตัวขึ้นมาโดย เชค มูฮัมมัด อิบนุ อับดุลวาฮาบ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ.1703 - 1791 ซึ่งเกิดในแคว้น นัจด์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศซาอุดิอาระเบียในปัจจุบัน  เขารู้สึกว่าศาสนาอิสลามในซาอุฯ ช่วงเวลานั้นเสื่อมทรามตกต่ำมาก  จึงเรียกร้องเชิญชวนผู้คนให้กลับสู่แนวทางอันบริสุทธิ์ของอิสลาม   แต่เขาถูกต่อต้านจากบรรดาผู้ปกครองจนต้องถูกขับไล่ออก แต่เขาก็ยังยืนหยัดในอุดมการณ์อันมั่นคง ที่จะฟื้นฟูและกอบกู้สังคมให้กลับไปสู่หลักการดั้งเดิม  แต่ต่อมาเมื่อเขาเดินทางมาที่เมือง อัดดัรอียะฮ์ ซึ่งเป็นเมืองในการปกครองของ "สะอูด" (ราชวงศ์สะอูดของซาอุดีในปัจจุบัน) ท่านก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีจาก อามีร มูฮัมมัด อิบนุ สะอูด เจ้าเมืองคนหนึ่ง ซึ่งตกลงใจที่จะร่วมงานกับเขาในการฟื้นฟูและเผยแผ่คำสอนของอิสลามแบบเคร่งครัดเหมือนของดั้งเดิม    หลังจากนั้นไม่นาน ราชวงศ์สะอูดก็ได้ครองอำนาจทั่วประเทศซาอุดี ซึ่งก็ทำให้แนวทาง "วาฮาบีย์" กลายเป็นแนวทางใหม่ของอิสลามที่มีอิทธิพลทั่วประเทศซาอุดีฯ ไปด้วยนับแต่นั้นมา  และยังแพร่ไปยังประเทศอื่นด้วย    อย่างไรก็ตาม อิสลามบางนิกายและหลายกลุ่มก็มองว่า "วาฮะบีฮ์" เป็นลัทธิสอนผิดของอิสลาม

2 ความคิดเห็น: