วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

8 พิธีขอฝนของคนไทย




คนไทยมีพิธีขอฝนอยู่หลายวิธี  ซึ่งเป็นประเพณีโบราณที่ทำสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้  แม้คนไทยส่วนใหญ่คนมักรู้จักเพียงพิธีแห่นางแมวเท่านั้น    ลองมาดูทีละพิธี 

ที่จริงพิธีขอฝนที่พื้นฐานที่สุดและเป็นที่นิยมที่สุดของยุคนี้คือ "จุดบั้งไฟ" เพื่อขอฝนจาก "พญาแถน"  

คนอีสานเชื่อว่า "พญาแถน" เป็นเทพที่ทำให้เกิดฝนตก จึงจัดพิธีจุดบั้งไฟบูชาพญาแถนซึ่งมีปรากฏให้เห็นในวรรณกรรมและตำนานพื้นบ้านของอีสาน

อย่างไรก็ตาม ประเพณีบุญบั้งไฟนี้ปัจจุบันจัดขึ้นเพื่อแฝงวัตถุประสงค์บางอย่างมีการพนันขันแข่งกันอย่างกว้างขวางซึ่งต่างไปจากแต่ก่อน 

ทุกวันนี้ในบางหมู่บ้านบางชุมชนก็ยกเลิกไปเพราะด้วยสถานที่ที่ไม่เหมาะสมแต่ในบางแห่งก็ไม่ได้ขอฝนโดยการจุดบั้งไฟแต่ใช้การแห่นางแมวแทน 


สอง...ประเพณีแห่นางแมว

...เป็นพิธีกรรมขอฝนของเกษตรกรไทยทั้งภาคกลางและภาคอีสาน  เมื่อใกล้ฤดูเพาะปลูกแล้วแต่ฝนยังไม่มาหรือมาล่าช้าชาวนา ชาวไร่ก็จะทำพิธีแห่นางแมวขอฝน   

สมัยโบราณนั้น เชื่อกันว่าที่ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล เกิดความแห้งแล้งไปทั่วนั้น มีอยู่หลายสาเหตุ เช่น ดินฟ้าอากาศแปรปรวน ผู้คนย่อหย่อนศีลธรรม ผู้ปกครองไม่อยู่ในทศพิศราชธรรม และที่ใช้แมวแห่เพื่อขอฝนนั้น ก็มาจากความเชื่อกันว่า แมวเป็นสัตว์ที่กลัวฝน กลัวน้ำ หากฝนตกเมื่อใดแมวจะร้อง คนโบราณถือเคล็ดว่า ถ้าแมวร้องแสดงว่าฝนกำลังจะตก


บ้างก็เชื่อว่า แมวเป็นตัวแทนของความแห้งแล้ง หากแมวถูกสาดน้ำจนเปียกปอนก็เท่ากับเป็นการขับไล่ความแห้งแล้งออกไปจากเมือง เมื่อบ้านเมืองแห้งแล้งผิดธรรมชาติ จึงจะใช้อุบายทำให้แมวร้อง ด้วยการนำแมวมาใส่กระบุงหรือตะกร้าแล้วแห่ไปรอบๆ หากขบวนแห่ผ่านหน้าบ้านใครก็ให้สาดน้ำใส่แมว เพื่อให้แมวร้องออกมา  แต่บ้างก็เชื่อว่า แมวเป็นสัตว์ที่มีอำนาจลึกลับสามารถเรียกฝนได้

การจัดพิธีแห่นางแมว ต้องใช้แมวลักษณะดีสายพันธุ์สีสวาด เพศเมีย  ๑-๓ ตัว ใส่กระบุงหรือตะกร้าออกแห่ไปรอบๆ หมู่บ้าน ฝนก็จะตกลงมาภายใน ๓ วัน ๗ วัน สาเหตุที่ต้องเลือกแมวสีสวาดก็เพราะคนโบราณมองว่าขนสีเทาคล้ายกับสีเมฆฝน บางแห่งอาจจะใช้แมวดำแทน

ในระหว่างที่แห่นางแมวจะมีคนทำหน้าที่ร้องเพลงเซิ้ง ตีเกราะเคาะไม้เพื่อให้เกิดจังหวะสนุกสนานไปด้วย เนื้อหาการเซิ้งก็จะบรรยายถึงความแห้งแล้ง และอ้อนวอนให้ฝนตกลงมา ขบวนแห่นางแมวจะเคลื่อนไปทั่วทุกหลังคาเรือน โดยมีกติการ่วมกันว่า ขบวนแห่นางแมวไปถึงบ้านใคร บ้านนั้นจะต้องเอาน้ำสาด

สาม...สวดมนต์ปลาช่อนเสี่ยงทายฝน 

พิธีสวดมนต์ปลาช่อน (หรือปลาค่อ) เป็นพิธีและประเพณีโบราณของทางอีสาน   ยามฝนแล้งก็จะจัดให้มีพิธีสวดมนต์ปลาช่อนเพื่อเสี่ยงทายถามว่าฝนจะตกต้องตามฤดูกาลหรือไม่   พิธีการเริ่มจาก ชาวบ้านได้นิมนต์พระสวดเจริญพระพุทธมนต์ และท่องคาถา "มนต์ปลาช่อน" เพื่อขอฝน และทำการเสี่ยงทายปลาช่อนจำนวน 3 ตัว ที่ปล่อยลงหลุมขนาดเล็กที่ชาวบ้านขุดไว้ สูงประมาณสามสิบเซ็นต์  โยงสายสิญจ์ให้พระ 9 รูปสวดมนต์คาถาปลาช่อน  โดยมีความเชื่อว่า หากปลากระช่อนกระโดดออกจากหลุม จะมีความโชคดี น้ำฝนจะตกต้องตามฤดูกาล มีฝนเพียงพอต่อการทำการเกษตรและการดำรงชีวิต 



ขอบคุณภาพจาก  nkgn.blogspot.com/2015/07/blog-post_7.html


พิธีสวดมนต์ปลาช่อน ถือเป็นพิธีโบราณที่มีอ้างอิงตามพุทธตำนาน ที่กล่าวถึงชาดกตอนหนึ่ง โดยมีชาติกำเนิดชาติหนึ่งพระโพธิสัตว์ที่เกิดเป็นพญาปลา แล้วเกิดแล้งน้ำ พญาปลาจึงตั้งจิตอธิษฐานให้เทวดาเทฝนลงมา ซึ่งเป็นที่มาของบทขอฝน หรือมัจฉราชจริยํจะจัดให้มีพิธีสวดมนต์ ต่อเนื่องกันจำนวน 3 วัน ตามคติความเชื่อโบราณ ที่บรรพบุรุษได้ถ่ายทอดและเล่าขั้นตอน และวิธีในการจัดสวดมนต์ปลาช่อน ซึ่งการสวดมนต์ปลาช่อนก็ไม่แตกต่างจากประเพณีแห่นางแมว โดยพื้นที่บ้านโคกหม้อ ได้ใช้ปลาช่อนมาเสี่ยงทายแทนแมวนั้นเอง“


สี่..แห่ขุนเพ็ด

การขอฝนตามความเชื่อของบางแห่งจะมีพิธีแห่ดอกไม้เจ้าพ่อ รูปอวัยวะเพศชาย เรียกว่า ขุนเพ็ด ทำด้วยต้นกล้วยหรือต้นข่อยใหญ่ แห่ขุนเพ็ดไปตามหมู่บ้านแล้วก็เอาไปเก็บไว้ที่ศาลเจ้าแม่ชายทุ่ง  โดยเชื่อว่าฝนจะตกทันที เมื่อเจ้าพ่อกับเจ้าแม่ได้อยู่ด้วยกัน

ในตำราพิรุณศาสตร์ ใช้วิธีปั้นเมฆ ปั้นรูปชายหญิงเปลือยกาย  

ในการแห่มีการใช้สัญลักษณ์ที่ใช้อันส่อไปทางเพศสัมพันธ์ เช่น การใช้ไม้มาแกะสลักเป็นอวัยวะเพศชายเรียกว่า "บักแบ้น" หรือ "ปลัดขิก" ในอีสานหรือ "ขุนเพ็ด" ในภาคกลางเข้าร่วมขบวนแห่ ทั้งยังมีการร้องเซิ้งด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวกับอวัยวะเพศและเพศสัมพันธ์

การแห่อวัยวะเพศชายและหญิง

สัญลักษณ์นี้เป็นเครื่องหมายของความสัมพันธ์ระหว่าง ฟ้ากับดิน หญิงกับชาย ที่เป็นพลังก่อกำเนิดชีวิต และเป็นพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์ จึงมีความสัมพันธ์กับการขอฝน ซึ่งเป็นที่มาของพลังแห่งการเติบโตของพืช และด้วยเหตุที่อวัยวะเพศ และเพศสัมพันธ์เป็นสัญลักษณ์สำคัญ  

และด้วยพิธีนี้ค่อนข้างอุจาด จึงไม่ให้ทำในพระนคร ต้องไปทำกันตามกลางทุ่งนา 


ห้า...แห่ช้างปัจจัยนาเคนทร์

พิธีขอฝนอีกแบบหนึ่งที่น่าสนใจคือ การแห่ช้างแห่ม้าที่เรียกว่า "ช้างปัจจัยนาเคนทร์" เป็นพิธีที่จัดขึ้นเนื่องจากจุดบั้งไฟแล้วฝนก็ยังไม่ตก แห่นางแมวแล้วฝนก็ยังไม่ตก เป็นงานที่จัดขึ้นในระดับตำบลหรืออำเภอเพราะมีผู้มาร่วมงานอย่างล้นหลาม แต่ก็ไม่ได้จัดบ่อยนัก


ช้างที่นำมาใช้แห่คือ ช้างปัจจัยนาเคนทร์หรือ ช้างปัจจัยนาค2 ซึ่งเป็นช้างคู่บ้านคู่เมืองสีวีคู่บารมีของพระเวสสันดร ตามปรากฏในวรรณกรรมเรื่องพระเวสสันดร ซึ่งเป็นชาดกที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าตั้งแต่ครั้งก่อนพุทธกาล ก่อนที่พระองค์จะได้มาเป็นพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการให้ทานหรือทานบารมี โดยยกเนื้อเรื่องมาพอสังเขป คือเมืองสีวี สีพี หรือสีวีหล้า3 มีกษัตริย์ปกครองคือพระเจ้าสัญชัยมีโอรสชื่อพระเวสสันดร ซึ่งต่อมาพระเวสสันดรแต่งงานกับนางมัทรี มีโอรสและธิดา 2 องค์ คือ พระกัณหาและพระชาลี อยู่กินกันหลายปี พระเวสสันดรเองเป็นผู้ที่มักให้ทานอยู่เป็นนิจ บ้านเมือง อาณาประชาราชอยู่สุขสบายมาโดยตลอด ด้วยเพราะบุญญาบารมีของพระองค์ประกอบกับช้างคู่บารมีคือช้างปัจจัยนาเคนทร์ที่ทุกคนเชื่อว่าช้างปัจจัยนาเคนทร์ทำให้บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ การให้ทานของพระเวสสันดรนั้นให้ได้ทุกอย่างด้วยความบริสุทธิ์ใจเพราะต้องการบำเพ็ญทานบารมีในชาติก่อนที่จะได้เป็นพระพุทธเจ้าในชาติต่อไป คือให้ได้แม้กระทั่งเมียและลูกที่เฒ่าชูชกมาขอไปเลี้ยงและเอาไว้เป็นขี้ข้ารับใช้    ที่สำคัญพระเวสสันดรให้ช้างปัจจัยนาเคนทร์แก่บ้านเมืองอื่น เพราะบ้านเมืองที่แห้งแล้งฝนไม่ตกก็จะพากันมาทูลขอช้างปัจจัยนาเคนทร์ไปไว้ที่เมืองของตนจะได้ชุ่มชื่น เนื่องจากช้างปัจจัยนาเคนทร์อยู่ที่ใดที่นั่นก็จะอุดมสมบูรณ์ จึงมีแต่คนอยากได้และพระเวสสันดรก็ได้ให้ไปซึ่งฝ่ายพระเจ้าสัญชัยพระบิดาไม่อยากเสียช้างปัจจัยนาเคนทร์ไป แต่พระเวสสันดรก็อยากให้ทานพระเจ้าสัญชัยจึงขับไล่พระเวสสันดร นางมัทรี กัณหาและชาลี ออกจากเมือง แต่ถึงกระนั้นพระเวสสันดรก็มิว่างเว้นจากการให้ทานพร้อมสั่งสอนลูกเมียให้หมั่นให้ทานเรื่อยมา

เรื่องราวของช้างปัจจัยนาเคนทร์ที่นำความอุดมสมบูรณ์มาให้ จึงได้มีการจัดพิธีแห่ช้างปัจจัยนาเคนทร์ขึ้นมีการจำลองเหตุการณ์ที่เหมือนจริงตามเรื่อง มีคนเล่นเป็นพระเวสสันดร นางมัทรี กัณหา ชาลี เฒ่าชูชก มีการนำไม้ไผ่ ผ้า กระดาษสีต่างๆมาทำเป็นช้างตัวใหญ่มหึมาสวยงาม มีการแห่จากหมู่บ้านหนึ่งไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่งและขับร้องกลอนลำเป็นเรื่องราวระหว่างทาง ตลอดขบวนแห่ก็มีการสาดน้ำ ฟ้อนรำสนุกสนานกันทั่วหน้า ไม่นานฝนที่ทำท่ามืดครึ้มก็ตกลงมาให้เย็นชุ่มฉ่ำกัน


หก...แห่พระอุปคุต

พิธีบวงสรวงและอัญเชิญพระอุปคุต ก่อนจัดริ้วขบวนแห่รอบหมู่บ้าน เพื่อสืบสานประเพณีบุญเดือนสี่หรือบุญมหาชาติ ของพุทธศาสนิกชนชาวอีสาน ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล ซึ่งหวังให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยดลบันดลให้เกิดปาฏิหาริย์ให้ฝนตกเพื่อช่วยบรรเทาความแห้งแล้ง ที่ไม่สามารถประกอบอาชีพทั้งเกษตรกรรมและการประมงเหมือนเช่นทุก ๆ ปี


การประกอบพิธีอัญเชิญพระอุปคุต เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมการทำบุญเดือนสี่หรอบุญมหาชาติ ตามฮีต 12 คอง 14 ซึ่งเป็นช่วงที่สภาพดินฟ้าอากาศร้อนแล้ง ฝนได้ทิ้งช่วงนาน  พระและญาติโยมชาวพุทธ็จะจัดงานบุญมหาชาติ มีการบูชาพระอุปคุตและจัดริ้วขบวนแห่รอบหมู่บ้าน เพื่อขอความอยู่เย็นเป็นสุข และเป็นตามความเชื่อที่ว่าจะช่วยบันดาลให้ฝนตกลงมา บรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้งที่กำลังประสบ

  ตามคติความเชื่อของชาวพุทธ มูลเหตุในการประกอบพิธีบวงสรวงบูชาพระอุปคุตตำนานระบุว่า เป็นพระเถระสำคัญองค์หนึ่งในพระพุทธศาสนา ได้บำเพ็ญเพียรจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ เปี่ยมด้วยพุทธานุภาพและฤทธิ์เดช สามารถแสดงอภินิหาร ปราบพญามารและกำจัดสิ่งชั่วร้าย ท่านได้เนรมิตเรือนแก้วหรือกุฏิแก้วขึ้นในท้องทะเลหลวง (สะดือทะเล) แล้วก็ลงไปอยู่ประจำที่กุฏิแก้ว เมื่อมีเหตุเภทภัยเกิดขึ้นในพระศาสนา หรือมีผู้นิมนต์ท่าน ก็จะขึ้นมาช่วยเหลือ อย่างในกรณีที่ชาวบ้านกำลังประสบภัยแล้ง และตรงกับเทศกาลบุญเดือนสี่หรือบุญมหาชาติ จึงได้ประกอบอัญเชิญท่านขึ้นมา เพื่อประทานความเป็นสิริมงคล ตลอดจนอธิษฐานอ้อนวอน ให้ท่านดลบันดาลฝนตกลงมาแก้ปัญหาภัยแล้งอีกด้วย

เจ็ด...ปั้นหุ่นร่วมเพศ 

การปั้นหุ่นร่วมเพศเพื่อเป็นการขอฝนยามแห้งแล้ง เป็นประเพณีโบราณที่ทำสืบทอดมานานกว่า 100 ปี   





สำหรับการปั้นหุ่นจะนำเอาดินเหนียวจากทุ่งนามาปั้นเป็นหุ่นผู้ชาย โดยตั้งชื่อว่านายเมฆ    ส่วนหุ่นผู้หญิงตั้งชื่อว่านางฝน และหุ่นผู้ชายที่นั่งดูตั้งชื่อว่า นายหมอก  ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการทำภาพประจานต่อสายตาผู้คนที่ผ่านไปมา จนทำให้เกิดอาเพศ และเทวดาทนดูไม่ได้ จึงดลบันดาลให้ฝนตกลงมาชะล้างหุ่นดินเหนียวดังกล่าว ให้ละลายหายไป

แปด...เซียงข้อง

พิธีเซียงข้อง หรือ เสี่ยงข้อง คือการเสี่ยงทายด้วยข้อง เป็นิิธีของชาวอีสานที่มักทำเพื่อหาตัวต้นเหตุหรือคนที่ทำผิด มักทำเมื่อมีของหายแล้วหาไม่เจอ หากของโดนขโมย เซียงข้องก็จะไปตามจนเจอ   และพิธีนี้ยังทำขึ้นเพื่อขับไล่ผีที่มารบกวนชาวบ้านอีกด้วย  นอกจากนี้ก็ยังใช้เพื่อการขับไล่ผีที่ทำให้ฝนฟ้าไม่ตกตามฤดูกาล ซึ่งผีตนนี้ชื่อว่า"บักฟ้าห่วน" 

พิธีกรรมจะทำโดยเอาข้องที่ใช้แล้วมา1อัน เอาไม้ยาวประมาณ 60 ซม. เสียบจากด้านล่างไปยังปากข้องเพือทำเป็นขา แล้วเอาไม้ยาวประมาณ 50 ซม. เสียบด้านข้างตอนบนเพื่อทำเป็นแขน มัดไม้3ท่อนเข้าด้วยกันให้แน่น เวลาเคลื่อนไหวจะได้ไม่หลุด จากนั้นก็ใช้กะลามะพร้าวเจาะรูคว่ำลงบนปากข้องและมัดให้ติดกับข้อง แล้วเขียนเป็นหน้าตา ปาก จมูกแล้วใส่เสื้อผ้าให้เหมือนคนที่สุด 



จากนั้นหมอปลุกเสกจะทำพิธี ก่อนจะทำพิธีต้องมีค่าคายหรือค่ายกครูก่อน ซึ่งค่าคายจะมีดอกไม้ เทียน หมาก บุหรี่ พริก เกลือ ปลาร้า เหล้าและเงิน หมอปลุกเสกจะจุดเทียน1คู่ กล่าวอัญเชิญเทวดามาเป็นสักขีพยาน จากนั้นก็พาคนที่มาร่วมในพิธีไหว้พระ เสร็จแล้วคนที่จับขาเซียงข้องซึ่งเป็นผู้ชายจะมาจับขาเซียงข้องคนละข้าง จากนั้นหมอปลุกเสกก็จะรินเหล้าใส่ขันทำน้ำมนต์เพื่อรดเซียงข้องและเริ่มเสี่ยงทายโดยพูดขึ้นว่า"เซียงข้องมาหรือยัง ถ้ามาแล้วก็ขอให้กระกระดุกกระดิกแรงๆ ถ้ายังไม่มาก็ขอให้อยู่นิ่งๆ" ถ้าหุ่นเฉยก็แสดงว่าเซียงข้องยังไม่มา ถ้ามาหุ่นก็จะกระดุกกระดิกแรงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งคนที่จับขาเซียงข้องต้องวิ่งตาม แล้วเซียงข้องก็จะพาวิ่งไปไล่ผีที่ทำให้ฝนแล้งหรือบักฟ้าห่วน  คนจับจะจับไปเฉยๆ แต่ผีเซียงข้องที่มาสิงในหุ่นจะพาวิ่งและเหวี่ยงแรงๆ จนกระทั่งถึงหนองน้ำ คนจับก็ต้องกระโดดลงน้ำด้วยโดยไม่ให้มือหลุดออกจากเซียงข้อง กว่าจะไล่บักฟ้าห่วนเสร็จเล่นเอาคนจับเหนื่อยแทบตายเลยค่ะ คนจับขาเซียงข้อง จับไม่ได้ทุกคน  เพราะบางคนจับ เซียงข้องจะไม่มาสิง ดังนั้นใครจับติด ในปีต่อๆไปก็มักจะใช้คนเดิมจับ 


ดร.ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น