วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ศาสนาองค์กร กับศาสนาไร้องค์กร


ในทางศาสนวิทยามีการจัดประเภทของศาสนาหลายแบบ   แบบหนึ่งก็คือ การจัดประเภทศาสนาว่าเป็น "ศาสนาองค์กร" กับ "ศาสนาไร้องค์กร"     แต่มีประเด็นที่น่าสนใจว่า  นับวันในโลกตะวันตกจะมีคนออกมาตำหนิ "ศาสนาองค์กร" มากขึ้นเรื่อยๆ   และให้การยอมรับ "ศาสนาไร้องค์กร" มากขึ้นเรื่อยๆ

ลองดูข้อความผู้เขียนยกตัวอย่างคำพูดตำหนิมาให้ดูกันต่อไปนี้






มีศาสนาหลักเกือบทุกศาสนาเลย




ทั้งสี่ภาพและสี่ถ้อยคำนี้ล้วนแต่พูดถึง "organized religion" หรือ "ศาสนาองค์กร" ในแง่ลบทั้งนั้น   พูดในแง่ว่า หลอกลวง และเอาเปรียบศาสนิกและผู้คนที่จิตใจอ่อนแอ  และยังรวมไปถึงเรื่องเงินทองทรัพย์สินด้วย

ว่าแต่ "ศาสนาองค์กร"  กับ "ไม่เป็นองค์กร"  สองอย่างนี้มันต่างกันอย่างไรหรือ?   ขอค่อยๆ อธิบายไปดังนี้

"ศาสนาองค์กร" ซึ่งภาษาเทคนิคเรียกว่า "organized religion" (บางทีก็เรียกว่า institional religion) หมายถึง  ศาสนาที่มีการบริหารจัดการ การควบคุม  การรวมศูนย์อำนาจเพื่อการปกครอง    มีการจัดเป็นองค์กรใหญ่โต หรือแม้แต่มีการแยกนิกายไป แต่ละนิกายก็ยังมีการจัดเป็นองค์กรของนิกายอีกเช่นกัน

ตัวอย่างของศาสนาองค์กร ก็คือบรรดาศาสนาใหญ่ๆของโลกทั้งหลาย  ได้แก่ ศาสนาคริสต์   ศาสนาอิสลาม  ศาสนาพุทธ  ศาสนาฮินดู   ศาสนาบาไฮ  ฯลฯ  ความเป็นองค์กรของศาสนาเหล่านี้มีสูงมาก  จนถึงกับเป็นองค์กรระดับชาติ หรือระดับโลกเลยทีเดียว

ศาสนาองค์กรเหล่านี้ บ่อยครั้งเรียกตนเองว่า "ศาสนจักร" มาจากคำว่า "ศาสนา" บวกกับ "อาณาจักร"

ฉะนั้น "ศาสนจักร" จึงมีความหมายว่า "อาณาจักรของศาสนา" ดังกล่าว

อำนาจนาจปกครองของ "ศาสนจักร" เหล่านี้ก็มีความเข้มข้นแตกต่างกันไป   บางศาสนาบางนิกายก็มีอำนาจควบคุมเข้มข้นมาก บางอันก็มีอำนาจน้อย หรือใช้อำนาจน้อย


มาดูกันสักนิดว่าอำนาจที่ศาสนาองค์กรมี  มีในเรื่องไหนบ้าง?

1. อำนาจในการควบคุมคำสอนทางศาสนาของตนให้เป็นเอกภาพทั้งโลก    ตั้งแต่ควบคุมคัมภีร์ศาสนา   ควบคุมการแปลการตีความคัมภีร์   ควบคุมการประยุกต์คัมภีร์กับสถานการณ์ของยุคสมัย   การกำหนดหลักคำสอนและหลักปฎิบัติต่างๆ

2. อำนาจปกครองเหล่านักบวชและเหล่าศาสนิกทั้งโลก  ให้อยู่ในหลักคำสอนและระเบียบที่วางไว้

3. อำนาจควบคุมทางด้านการเงินและทรัพย์สินของศาสนาดังกล่าว

4. อำนาจในการเป็นตัวแทนสูงสุดของศาสนาในการดำเนินการเรื่องต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก

5. อำนาจในการออกกฎระเบียบและการตัดสินลงโทษต่อนักบวชและศาสนิกที่ทำผิดระเบียบ    สามารถตัดสินลงโทษโดยไล่นักบวชออกจากสมณะเพศได้  หรือไล่ศาสนิกบางคนให้ออกจากศาสนาได้   ซึ่งนั่นก็รวมถึงว่า ระบุว่าศาสนิกคนใดต้อง "ตกนรก" ได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ศาสนาองค์กรของแต่ละศาสนาและนิกาย แม้ว่าถือว่าตนต้องมีอำนาจ  แต่ก็มีนโยบายในการรวบอำนาจและกระจายอำนาจแตกต่างกันไป    บางอันก็รวบอำนาจปกครองมาก  แต่บางอันก็ให้ท้องถิ่นปกครองตนเองมาก      อำนาจศาสนาองค์กรบางอย่างก็ค่อนข้างเป็นระบบเบื้องบนสั่งลงมา   แต่บางอย่างก็เป็นระบบประชาธิปไตยที่มาร่วมกันตัดสินใจ  

นอกจากนั้น บางศาสนจักรก็มีอำนาจคร่อมไปถึงฝ่าย "อาณาจักร" หรืออำนาจรัฐด้วย

ถ้าพูดกันจริงแล้ว อำนาจของศาสนาองค์กรนี้ ก็มีทั้งประโยชน์และโทษ  เป็นเหรียญสองด้าน  ถ้าใช้ทางดีก็ดีไป  แต่ถ้าเสียก็เป็นอันตราย  



ทีนี้หันมาดู "ศาสนาไร้องค์กร" หรือ unorganized religion ก็คือ ศาสนาที่ปราศจากการบริหารจัดการ การควบคุม ปราศจากการรวมศูนย์อำนาจเพื่อการปกครองอย่างสิ้นเชิง    ตัวอย่างของศาสนาไร้องค์กรเช่นนี้คือ บรรดาศาสนาบรรพกาล  ศาสนาผี   ศาสนาเทพเจ้าท้องถิ่น   หรือแม้แต่ศาสนาเชิงไสยศาสตร์ทั้งหลาย

อีกจุดที่สำคัญมากคือ บางที "ศาสนาไร้องค์กร" ยังถูกเรียกว่า "Personal religion" หรือ "ศาสนาส่วนตัว" อีกด้วย   ตรงนี้หมายความว่า  ศาสนาไร้องค์กรคือศาสนาส่วนตัว  ที่ผู้นับถือไม่จำเป็นต้องไปสังกัดหรืออยู่ใต้อำนาจสั่งการของศาสนาองค์กรใดๆ  หรือนักบวชผู้นำศาสนาคนใด    อยากนับถือเคร่งไม่เคร่งอย่างไรก็ได้  รวมทั้งไม่ก็กฎว่าต้องไปเข้าศาสนสถานเป็นประจำที่ไหนวันไหน   เรียกว่านับถือบูชาของตัวเองคนเดียวที่บ้านได้    ศาสนิกจะรวมตัวกันเองเมื่อไรก็ได้

ในศาสนาไร้องค์กร  ไม่มีใครมีสิทธิหรืออำนาจมาสั่งใครว่า  คำสอนหรือวิธีบูชาที่ถูกต้องเป็นอย่างนี้   แต่ทุกคนทุกที่ทำตามใจได้เต็มที่   ใครทำแล้วคนศรัทธามากดังมากก็มีอิทธิพลต่อจิตใจผู้คนมากหน่อย   แล้วคนอื่นก็จะทำตามๆ กันไปเอง    แต่ถ้าใครจะไม่เชื่อหรือทำไม่เหมือน  ก็ไม่มีใครไปห้ามอะไรได้   ขึ้นอยู่กับศรัทธา



เมื่อเทียบกันระหว่าง "ศาสนาองค์กร" กับ "ศาสนาไร้องค์กร"  จะพบว่า  ในพื้นที่และในยุคที่ศาสนาองค์กรที่มีอำนาจฝ่ายอาณาจักร  จนเป็นรัฐศาสนา   ศาสนาองค์กรอันนั้นจะมีอำนาจมาก  และผู้คนจะถูกศาสนาองค์กร "กดขึ่" มาก   และแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตัวสถาบันศาสนาเองมากกว่าที่จะอยู่เพื่อประชาชน   ศาสนาองค์กรจะร่ำรวยขึ้น แต่ประชาชนก็ยากลำบาก และถูกครอบงำให้งมงายและรับใช้ศาสนามากขึ้น

จนกระทั่งต่อมาในยุคฝ่ายอาณาจักรจึงต้องแยกตัวจากศาสนจักร   เป็นรัฐโลกวิสัย   และปล่อยให้มีเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนา  เมื่อนั้นเองที่ศาสนาองค์กรทั้งหลายจึงกดขี่ศาสนิกได้น้อยลง   เพราะถ้ากดขี่มากหรือถ้าทำไม่ดี ศาสนิกก็จะออกไปอยู่นิกายอื่นหรือศาสนาอื่นเท่านั้นเอง

ทุกวันนี้มีเสียงเรียกร้องในโลกให้ศาสนิกเปลี่ยนการนับถือศาสนาองค์กรแบบเดิม ไปเป็นการนับถือศาสนาแบบ "ไร้องค์กร" มากขึ้น  นี่ไม่ได้หมายความว่าเปลี่ยนศาสนา  แต่เปลี่ยนวิธีการนับถือศาสนาเดิม จากที่ต้องอิงศาสนาองค์กร  ให้เป็นการนับถือศาสนาเดิม  แต่เป็นการนับถือโดยไม่อิงองค์กรศาสนา

โดยเชื่อกันว่า ศาสนาไร้องค์กร มีความเป็นศาสนาที่แท้จริงมากกว่า



อย่างไรก็ตาม ถึงตรงนี้ก็ยังมีคำถามว่า ก็ในเมื่อหลายประเทศที่เป็นรัฐโลกวิสัยแล้ว  ทำไมคนยังต่อว่าศาสนาองค์กรอีกล่ะ   ก็เขาไม่มีอำนาจมากเหมือนในรัฐศาสนาแล้วไม่ใช่หรือ    อันนี้ก็ต้องตอบว่า  อำนาจของศาสนาองค์กรเหล่านี้ยังมีแน่  อำนาจนั้นก็คือ...

...อำนาจแห่ง "ความศรัทธาและความสัมพันธ์"   

ทุกวันนี้  แม้ศาสนาองค์กร จะมีอำนาจน้อยลงมากจนไม่ต่างกับ ศาสนาไร้องค์กร มากนัก   แต่อำนาจทางศาสนาที่ยังมีอยู่มากคือ "อำนาจแห่งความศรัทธาและความสัมพันธ์" นี่แหละ


"ความศรัทธา" ทำให้คนเชื่อ และกลัวที่จะไม่เชื่อฟังผู้นำศาสนา ซึ่งอาจทำให้ได้รับผลร้ายเช่น กลัวตกนรก   กลัวจะประสบโชคร้าย    ส่วน "ความสัมพันธ์" ทำให้คนผูกพัน และกลัวที่จะสูญเสียความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูงในวงสังคมศาสนานั้น    กลัวไม่ได้รับการยอมรับหรือกลัวถูกขับไล่ออกจากชุมชนศาสนา  ยิ่งถ้าครอบครัวญาติพี่น้องเพื่อนฝูงที่สนิทและแวดวงเศรษฐกิจล้วนอยู่แต่ในชุมชนศาสนาดังกล่าวด้วย  ก็ยิ่งไม่กล้าออก

ตรงนี้ก็ยังเป็นอำนาจของศาสนาที่รุนแรงมาก  



ศิลป์ชัย  เชาว์เจริญรัตน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น