โดย ศ.กีรติ บุญเจือ ราชบัณฑิต
เฮร์เรอโดว์เถิส (Herodotus, ก.ค.ศ.484-420) กล่าวถึงความสำคัญของโฮว์เมอร์ (Homer) และเฮสเสียด (Hesiod) สำหรับศาสนาของชาวกรีกไว้ว่า "นักปราชญ์สองท่านนี้แหละที่เป็นผู้แต่งประวัติกำเนิดของเทพเจ้าให้แก่ชาวกรีกทั้งหลาย ตั้งนามให้แก่เทพเจ้าต่างๆ กำหนดยศศักดิ์และความสามารถพร้อมทั้งรูปร่างหน้าตาให้แก่เทพเจ้าแต่ละองค์" (Herodotus, 2 : 53)
จะเห็นได้ว่า อิทธิพลของโฮว์เมอร์และเฮสเสียดต่อการนับถือศาสนาของชาวกรีกนั้นมีมากเกินกว่าที่เราจะคาดหมายได้ แม้จะอ่านหนังสือของท่านทั้งสองในฐานะวรรณคดีโบราณที่เขียนเพื่อความบันเทิงยิ่งกว่าเพื่อปลุกเร้าศรัทธาก็ตาม
เสอโนว์เฝอนิส (Xenophanes ก.ค.ศ.570-478) ก่อนหน้านั้นได้วิจารณ์โจมตีนักปราชญ์ทั้ง 2 ท่านอย่างเผ็ดร้อน ประณามว่าอิทธิพลทางวรรณกรรมของท่านทั้งสอง ทำให้ชาวกรีกพากันหลงงมงายอยู่ในความคิดผิดๆ เสียนานแสนนาน "ความรู้ของชาวกรีกทุกคนก่อตัวขึ้นมาจากโฮว์เมอร์ตั้งแต่ต้นมาจนบัดนี้" (DK, 21 B 10)
เสอโนว์เฝอนิสคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่ชาวกรีกควรจะต้องปรับปรุงความเข้าใจเสียใหม่ ในหัวข้อต่อไปนี้คือ
1.ไม่ควรเข้าใจเทพเจ้าตามลักษณะของมนุษย์ เพราะความเข้าใจเช่นนั้นเป็นไปตามสัญชาตญาณของมนุษย์ที่ยังไม่รู้จักใช้เหตุผล คือ เมื่อต้องการสิ่งเหนือธรรมชาติไว้เคารพบูชาก็คิดขึ้นมาให้มีลักษณะดีเด่นตามประสามนุษย์เท่านั้น
2.เทพเจ้าไม่น่าจะประพฤติผิดศีลธรรม อย่างมนุษย์ เทพเจ้าของโฮว์เมอร์และเฮสเสียดไม่น่านับถือเลย ศน.11 แถลงว่า "โฮว์เมอร์และเฮสเสียดยกให้เทพเจ้ากระทำได้ทุกอย่าง ซึ่งถ้ามนุษย์เราคนใดกระทำก็เป็นเรื่องน่าตำหนิและน่าอับอาย เช่น ขโมย กาเมสุมิจฉาจาร และการหลอกลวงกัน เป็น ต้น" (DK, 21 B 11) และ ศน.12 แถลงต่อว่า "พวกเขาได้เล่าเรื่องเทพเจ้าประพฤติผิดทุกอย่างที่เป็นไปได้ มีทั้งลักขโมย ผิดประเวณี และมดเท็จต่อกัน" (DK, 21 B 12)
4.เทพเจ้าน่าจะเป็นอิสระ ไม่น่าจะต้องอยู่ใต้บังคับกันหรือถูกครอบงำโดยกฎเกณฑ์ใด แต่ทว่าเทพเจ้ากรีกมีฐานันดรศักดิ์เป็นหลั่นเป็นชั้น เทวราชซูส (Zeus) ซึ่งเป็นเทพสูงสุดก็ยังต้องฟังมติข้างมาก เทพทุกองค์ถูกครอบงำโดยชะตา (Fate) ไม่มีเศษนิพนธ์ที่บ่งให้รู้ว่าเสอโนว์เฝอนิสวิจารณ์เรื่องนี้ตรงๆ อย่างไร แต่ อย่างน้อยก็มีชิ้นหนึ่ง คือเศษนิพนธ์ที่ 25 ที่แถลงยืนยันว่า "พระเจ้าทรงเคลื่อนที่ทุกสิ่งได้โดยความปรารถนาในพระทัย ไม่ต้องลำบากยากเย็นอะไรเลย" (DK, 21 B 25) มีบ่อเกิดทุติยภูมิหลายแหล่งที่ยืนยันความคิดของเสอโนว์เฝอนิสในเรื่องนี้ตรงกันว่าเทพเจ้าไม่มีการบังคับบัญชากัน เพราะเป็นการลบหลู่เกียรติอย่างยิ่งที่เทพเจ้าจะต้องอยู่ใต้บังคับบัญชา เทพเจ้าทุกองค์จะต้องไม่มีจุดอ่อนในเรื่องใดเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องนี้ ซึ่งแสดงว่าผู้เคลื่อนสูงสุดซึ่งก็คือผู้เคลื่อนแรกหรือปฐมกร (the First Mover) มีเทพบริวารช่วยงานอย่างอะลุ้มอล่วยต่อกัน ไม่ใช่บังคับบัญชากันอย่างการบริหารงานของมนุษย์
เมื่อวิจารณ์การนับถือเทพเจ้าของชาวกรีกโดยทั่วไป ที่ได้รับด้วยศรัทธาถ่ายทอดมาจากโฮว์เมอร์และเฮสเสียดแล้ว เสอโนว์ เฝอนิสก็เสนอความคิดเห็นของตนเองว่า พระเจ้าที่ควรยกย่องนับ ถือสูงสุดจะมีองค์เดียวคือพระเป็นเจ้า (God)
อซาคเขรอถิส (Isocrates ก.ค.ศ.436-338) อ้างว่าชาวออร์ เฝิสท์ (Orphist) ช่วยกันชี้แจงว่า ศาสนาของชาวกรีกตามคัมภีร์ของโฮว์เมอร์และเฮสเสียดนั้นไม่น่าเลื่อมใสเอาเสียเลย เพราะเทพเจ้าทั้งหมดใช้อำนาจอย่างเห็นแก่ตัวและศีลธรรมด้านประเวณีเหลว แหลกมาก ไม่น่านับถือ ความจริงนั้นเทพเหล่านั้นเป็นผู้น่ารักน่าเคารพ มีศีลธรรมสูงส่ง มีชีวิตความเป็นอยู่ที่เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดให้มนุษย์เอาอย่างได้ ออร์เฝียส (Orpheus) ได้รับการเปิดเผยความจริงอันสูงส่งเกี่ยวกับเทพ จึงมีหน้าที่ต้องนำมาเปิดเผยเพื่อแก้ไขลบล้างความเข้าใจผิดที่สืบเนื่องมาจากเรื่องเล่าของโฮว์เมอร์และเฮสเสียด จึงไม่น่าแปลกใจที่คนดีมีสติสัมปชัญญะย่อมจะเชื่อออร์เฝียสมาก กว่าเชื่อโฮว์เมอร์และเฮสเสียด
ลัทธิออร์ฟีสม์ (Orphism) ได้ปรับปรุงให้ศาสนากรีกโบราณมีเหตุผลและมีเกณฑ์ศีลธรรมดีมาก จนเป็นที่น่าเชื่อถือของปัญ ญาชนและเมื่อศาสนาคริสต์เริ่มตั้งมั่นในมหาอาณาจักรโรมัน ศาสนาออร์เฝียสก็นับเป็นคู่แข่งที่สำคัญของศาสนาคริสต์ทีเดียว มีวรรณกรรมมากมายเกิดจากฝีมือของปัญญาชนผู้เลื่อมใสในศาสนาออร์เฝียส แต่ตามธรรมเนียมของสมัยนั้น งานเหล่านี้ถูกเผยแพร่เป็นงานของออร์เฝียสเองทั้งหมด แต่ทว่าหลังจากกฤษฎีกาของจักรพรรดิเจิสทีนเนียนที่สองใน ค.ศ.529 ห้ามนับถือศาสนาใดในมหาอาณาจักรโรมันนอกจากศาสนาคริสต์ วรรณกรรมของลัทธิออร์เฟียสจึงสูญหายเป็นส่วนมาก คงเหลือเพียงเศษนิพนธ์นิดหน่อยและข้ออ้างในงานเขียนของชาวคริสต์ที่อ้างเพื่อโจมตี เรื่องราวที่เล่าไว้จึงมีลักษณะหลากหลายจนปะติดปะต่อเข้าเป็นเรื่องเดียวกันยาก มีทั้งเรื่องเล่าระดับชาวบ้านและระดับปัญญาชน แต่ทั้งหมดบ่งชี้ว่าออร์เฝียสได้รับการยกย่องนับถือในหมู่ชาวกรีกและชาวโรมันต่อมาอย่างกว้างขวาง ในระดับขวัญใจประชาชนทีเดียว บางเรื่องก็ยกย่องขึ้นเป็นเทพ บางเรื่องก็เล่าในสภาพของมนุษย์ที่ตั้งใจทำดีแต่ถูกปองร้ายอย่างน่าเห็นใจ แต่ในที่สุดเทพดายเออนายเสิสผู้เปิดเผยจารีตแห่งรหัสยลัทธิให้ ก็นำวิญญาณไปสู่ดินแดนแห่งชีวิตอมตะแห่งอลายเฉิม (Elysium) ของพระมารดาเซมเมอลิ
พีนเดอร์ (Pindar ก.ค.ศ.522 - 438) เล่าว่า ออร์เฝียสเป็นโอรสของกษัตริย์อีเออเกริส (Oeagrus) แห่งนครรัฐเธรส (Thrace) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกรีซ กับเทพธิดาแห่งศิลปะนามว่าเขิลลายเออผิ (Calliope) จึงมีพรสวรรค์อย่างสูงในการแต่งกลอนและเล่นดนตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเล่นพิณ จนเทพอพาลโลว์โปรดปราณถึงกับประทานพิณให้ บรรดาเทพธิดาศิลปะก็ช่วยกันสอนให้จนเก่งที่สุดในหมู่มนุษย์ ขนาดที่ว่าสามารถสะกดจิตสัตว์ป่าได้ทั้งป่า และแม้แต่ต้นไม้หรือแท่งศิลายังขยับเขยื้อนไปตามเสียงพิณ เล่ากันว่าที่ตำบลโซว์นิ (Zone) ในแคว้นเธรสมีหมู่ไม้ที่แสดงการเต้นระบำค้างจากการที่ได้ยินเสียงพิณและหยุดกะทันหัน
ดายเออดอร์เริส ซีคเขอเลิส (Diodorus Siculus) เล่าว่าออร์เฝียสได้ไปศึกษาเล่าเรียนถึงดินแดนอียิปต์ ต่อจากนั้นก็ร่วมเดินทางผจญภัยกับกลุ่มอาร์เกอนอท (Argonaut) ได้มีโอกาสบรรเลงดนตรีช่วยพรรคพวกให้พ้นภัยมาได้หลายครั้ง จนกลับถึงเมืองได้อย่างปลอดภัย ต่อมาได้สมรสกับเยอรีดเดอสิ (Eurydice) แล้วก็พากันไปอยู่ในหมู่ชาวซีคเขอนิส (Cicones) ต่อมาไม่นานเยอรีดเดอสิก็ถูกงูพิษกัดตาย ออร์เฝียสโศกเศร้ามาก คิดว่าเธอยังไม่น่าตาย จึงเสี่ยงเดินทางไปตามหาเธอในยมโลก โดยเข้าถ้ำออร์เนิม (Ornum) ในตำบลเถริสพาร์เถิส (Trespartus) ก็ได้ไปถึงยมโลกดังตั้งใจ ผ่านด่านต่างๆ ได้ด้วยเสน่ห์แห่งดนตรีของตน ในที่สุดก็พบวิญญาณของศรีภรรยาในยมโลกแฮดดิส (Hades) จึงเข้าเฝ้ายมราชแฮดดิสและยมราชินีเผอร์เซฟเฝอนิ (Persephone) ถวายดนตรีจนเคลิบเคลิ้มกันไปทั่วแฮดดิส ยมราชและยมราชินีพอพระ ทัยจึงประทานให้ตามที่ขอโดยมีเงื่อนไขว่า ออร์เฝียสจะต้องไม่หันหน้ากลับหลังดูภรรยาจนกว่าจะเดินทางถึงแดนมนุษย์ ออร์เฝียสจึงเดินทางนำภรรยาย้อนกลับทางเดิม เกือบจะออกปากถ้ำอยู่แล้ว ออร์เฝียสเกิดไม่แน่ใจว่าภรรยาเดินตามมาข้างหลังหรือไม่จึงหันไปดู พลันวิญญาณของภรรยาก็หายวับกลับคืนยมโลกตลอดกาล
อาฟเวิด (Ovid ก.ค.ศ.43-ค.ศ.17) เล่าว่า หลังจากที่เทพดายเออนายเสิสได้สอนรหัสยลัทธิของตน และแต่งตั้งให้ออร์เฝียสเป็นศาสดาเผยแผ่แล้ว ก็ได้สัญจรไปบรรเทาทุกข์ในที่อื่นๆ ครั้นกลับมาก็พบว่าออร์เฝียสเปลี่ยนใจไปเผยแผ่รหัสยลัทธิของเทพ อพาลโลว์เสียแล้ว ทุกเช้าจะพากลุ่มบุรุษปีนขึ้นไปบนยอดเขาเพื่อประกอบพิธีต้อนรับสุริยเทพอพาลโลว์ ตอนค่ำก็พากันเข้าวิหาร เทพอพาลโลว์ เพื่อร้องเพลงสดุดีทำนองเสนาะกล่อมเทพ อพาลโลว์ให้บรรทม เทพดายเออนายเสิสพิโรธมาก จึงปลุกระดมบรรดาสตรีให้ทำการกวาดล้าง โดยบุกเข้าไปในวิหารเทพอพาลโลว์ตอนค่ำขณะประกอบพิธีกรรม สังหารบุรุษทุกคนที่ร่วมพิธี เฉพาะออร์เฝียสถูกบั่นเป็นท่อนๆ โยนลงแม่น้ำ แต่ศีรษะลอยขึ้นมาร้องเพลงลอยตามน้ำออกไปสู่ปากน้ำและลอยไปถึงเกาะเลสบัส (Lesbos) เทพธิดาศิลปะพบเข้าจึงนำไปฝังที่เชิงเขาอลีมเผิสด้วยจิตโศกาดูร บันดาลให้นกไนติงเกลแถบนั้นร้องเพลงไพเราะกว่าที่อื่นๆ
ลูเฉิน (Lucian 120-180) ให้เหตุผลว่าเหตุที่สตรีฆ่าสามีของตนก็เพราะพวกหล่อนชอบสำส่อน ออร์เฝียสจึงแนะนำให้บรรดาสามีลักเพศกันเอง เป็นเหตุให้เจ้าหล่อนโกรธแค้นจัด แต่ทว่าเทวีแอฟเฝรอดายถิ (Aphrodite) นำความไปเข้าที่ประชุมสภาอลีมเพิสซึ่งมีมติให้ลงโทษหญิงฆ่าสามีทุกคน เทพดายเออนายเสิสช่วยชีวิตพวกเธอโดยแปลงร่างพวกเธอเป็นต้นสนยืนตระหง่านอยู่แถบนั้น
เศียรของออร์เฝียสถูกนำไปฝังไว้ในถ้ำเอินทีสเสอ (Antissa) อันเป็นถ้ำศักดิ์สิทธิ์ของเทพดายเออนายเสิส ถ้ำนี้กลายเป็นสำนักโหรทำนายในนามของดายเออนายเสิสจนเป็นเหตุให้สำนักโหรของเทพอพาลโลว์ซบเซาไปตามๆ กัน เทพอพาลโลว์ทนต่อไปไม่ไหว ต้องมายืนบนเศียรของออร์เฝียสพลางกำชับให้ยุติทำนายแข่งขัน "หยุดแทรกแทรงเสียที ข้าทนฟังเจ้าร้องเพลงมานานพอแล้ว" ตั้งแต่นั้นมาเศียรของออร์เฝียสก็หยุดร้องเพลงและไม่มีการทำนายอีก พิณของออร์เฝียสเดิมอยู่ในวิหารของเทพอพาลโลว์แห่งเลสบัส ต่อมาได้รับเกียรติขึ้นไปเป็นกลุ่มดาวพิณในท้องฟ้ามาจนตราบเท่าทุกวันนี้
เผอแซนเนียส (Pausanias 143-176) บันทึกไว้ว่า ออร์เฝียสเป็นผู้ก่อตั้งรหัสยพิธีของอพาลโลว์ในเธรส รหัสยพิธีของเผอร์ เซฟเฝอนิในอจายเนอ (Aegina) และของเดอเมทเถอร์ (Demeter) ในสพาร์เถอ (Sparta)
---
อ่านเรื่อง ศาสนากรีก-โรมัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น