วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การต่อต้านร่างกฎหมายอุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนา

คปก.ชี้ร่าง ก.ม.คุ้มครองพุทธศาสนาทำไทยเป็นรัฐศาสนา  เสี่ยงเลือกปฏิบัติ  เปิดช่องรัฐแทรกแซงเพื่อประโยชน์การเมือง

(12 พ.ค.2558) คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) เสนอความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ. ... ว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นรัฐศาสนา และมีการเลือกปฏิบัติ หรือเกิดการจำกัดเสรีภาพทางศาสนา และกีดกันศาสนาอื่นๆ เปิดช่องให้รัฐแทรกแซงกิจการของศาสนาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา คปก.ได้จัดทำบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ. ... เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยระบุว่า มาตรา 4 ของร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา
ที่กำหนดแนวทางของรัฐในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา เป็นการสนับสนุนให้ประเทศไทยกลายเป็นรัฐศาสนา และทำให้หลักธรรมของพุทธศาสนากลายเป็นอุดมการณ์หนึ่งของรัฐ ซึ่งส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาเปลี่ยนแปลงไป และอาจก่อให้เกิดผลเสียหายในระยะยาว เนื่องจากสังคมไทยมีความเป็นพหุเชื้อชาติ และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความเชื่อ และความศรัทธา

คปก.ยังมีความเห็นด้วยว่า ร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ซึ่งกำหนดให้มีคณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา และกลไกต่างๆ ในการกำกับดูแลกิจการของศาสนา เป็นเรื่องที่ขัดกับหลักเสรีภาพในการนับถือศาสนา เนื่องจากให้อำนาจแก่รัฐในการเข้ามาเป็นผู้ควบคุมการตีความเรื่องศาสนา ทำให้ศาสนาเข้ามาอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายหรือแนวทางของรัฐ ซึ่งอาจทำให้กลุ่มชาวพุทธที่มีแนวทางแตกต่างไปจากรัฐ รวมถึงกลุ่มศาสนาอื่นๆ ไม่ได้รับการอุปถัมภ์และคุ้มครองจากรัฐ รวมถึงอาจถูกกีดกัดหรือจำกัดเสรีภาพในทางศาสนา และยังเป็นการเปิดช่องให้รัฐสามารถใช้กลไกการควบคุมดังกล่าวในการแทรกแซงกิจการศาสนาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองได้ ทั้งนี้ คปก.เห็นว่า การปกครองคณะสงฆ์ต้องให้คณะสงฆ์เป็นผู้ปกครองดูแลกันเอง

สำหรับบทบัญญัติของร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ. ... ที่กำหนดให้มีพระวินยาธิการและพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจในการดูแลกิจการของพุทธศาสนา โดยให้พระวินยาธิการและพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งจะส่งผลให้พระภิกษุจำนวนหนึ่งกลายเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ คปก.เห็นว่า เป็นเรื่องที่ผิดเจตนารมณ์อย่างมากต่อการบวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา เนื่องจากบทบาทในการตีความและควบคุมการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยควรเป็นบทบาทขององค์กรทางศาสนา



----------------------------


พ.ร.บ.อุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนา...รักษาหรือทำลาย ?

(วิปัสสนาบนหน้าข่าว โดยพระชาย วรธัมโม     11 เมษายน 2558  )

อะไรก็ตามเมื่อถูกตราขึ้นเป็นตัวบทกฎหมายแล้วย่อมมีอันตรายพอๆ กับปลอดภัย ขณะนี้กำลังมีการพยายามนำ “ร่างพระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา” ให้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้มีการออกใช้เป็นกฎหมายในการปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา แต่ใครจะรู้ว่า ภายใต้ พ.ร.บ.ที่ถูกเขียนขึ้นเพื่ออุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนานี้ กลับแฝงไว้ด้วยอันตรายมากกว่าปลอดภัย

อันตรายได้แฝงมาในมาตราต่อไปนี้

มาตรา ๔ (๘) จัดให้มีการสอดส่องดูแลและปกป้องกิจการเกี่ยวกับพระพุทธศาสนามิให้มีการกระทำละเมิด ดูหมิ่น เหยียดหยาม ทำลาย ลอกเลียน ดัดแปลง หรือทำให้วิปริตไป


มาตรา ๒๖ พระวินยาธิการและพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ สอดส่อง ดูแล ตรวจตรา และตรวจสอบการกระทำละเมิด ดูหมิ่น เหยียดหยามต่อพระพุทธศาสนา รวมถึงการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ

อันตรายลำดับที่หนึ่ง หาก พ.ร.บ.นี้ผ่านถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็น ศาสนสถาน ศาสนวัตถุ ศาสนพิธี ศาสนธรรม รวมไปถึงแนวทางการปฏิบัติ จะถูกควบคุมโดยรัฐแต่เพียงผู้เดียว นั่นหมายความว่า พุทธศาสนากำลังถูกทำให้กลายเป็นสมบัติของรัฐ ประชาชนทั่วไปห้ามแตะต้องยุ่งเกี่ยว หรือหากประชาชนจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวก็ต้องตกอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยเท่านั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ศาสนธรรม" คำสอนที่จำเป็นต้องมีการตีความให้เกิดความเข้าใจในมิติที่แตกต่างหลากหลายต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐแต่เพียงผู้เดียวเช่นกัน พ.ร.บ.ดังกล่าวกำลังทำให้พุทธศาสนากลายเป็นของต้องห้ามสำหรับทุกคน!

อันตรายลำดับถัดมา แม้ว่ามาตราทั้งสองจะเขียนไว้อย่างน่าอบอุ่นใจว่า ให้มีการสอดส่องดูแลปกป้องกิจการพระศาสนามิให้มีการละเมิด ดูหมิ่น เหยียดหยาม ทำลาย ลอกเลียน ดัดแปลง หรือทำให้วิปริต แต่ในทางปฏิบัติเมื่อพุทธศาสนาตกเป็นสมบัติของรัฐไปแล้ว รัฐจะใช้วิจารณญาณแบบไหนเข้ามาตัดสินว่า การตีความแบบนี้ถือว่าสร้างสรรค์ การตีความแบบนี้ถือว่าทำลาย การตีความแบบนี้ถือว่าวิปริต เพราะสำนวนทางกฎหมายและเจตนาการตีสำนวนสามารถทำคนดีให้กลายเป็นคนร้าย สามารถทำผู้บริสุทธิ์ให้กลายเป็นโจรใจบาปไปได้

สมมุติว่ามีใครสักคนมีเจตนาดีในการตีความพระธรรมวินัยให้เข้ากับยุคสมัย แต่ถูกกล่าวหาว่าตีความพระธรรมวินัยให้ผิดเพี้ยน เมื่อเข้าสู่กระบวนการไต่สวนบุคคลผู้ถูกกล่าวหาได้ตกเป็นจำเลยถูกตัดสินว่าตีความพระธรรมวินัยให้ผิดเพี้ยนจนเขาไม่มีสิทธิ์เรียกร้องขอความเป็นธรรม ในที่สุดต้องถูกตัดสินลงโทษจำคุกเพียงเพราะความเห็นต่างในการตีความ นี่จึงเป็นเรื่องน่ากลัวว่าพุทธศาสนาจะหันกลับมาทำร้ายคนแทนที่พุทธศาสนาจะปกป้องสิทธิเสรีภาพของคนต่อการทำความเข้าใจในพระธรรมคำสอน

ก่อนอื่นเราควรทำความเข้าใจว่า คำสอนทางศาสน าไม่ว่าจะเป็นศาสนาใดก็ตาม มีลักษณะเป็นปรัชญาแฝงไว้ด้วยปริศนาธรรมที่ต้องการการตีความให้เกิดความคิดความเข้าใจในมิติที่แตกต่างหลากหลาย การตีความคำสอนที่แตกต่างหลากหลายนำไปสู่ความเข้าใจในธรรมที่ลึกซึ้งตามระดับสติปัญญาของแต่ละคน จนกระทั่งเข้าถึงแก่นคำสอนในที่สุด

ในเมื่อมนุษย์มีสติปัญญาแตกต่างกันจึงเป็นไปไม่ได้ที่การฟังธรรมะเรื่องหนึ่งแล้วทุกคนจะเกิดความเข้าใจในธรรมเหมือนกันหมด ธรรมเรื่องหนึ่งย่อมมีคนเข้าใจแตกต่างกันไปในมิติที่หลากหลาย ไม่เช่นนั้นแล้วเราคงมีคนบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์เหมือนกันหมดในเวลาเดียวกัน ในเมื่อเป็นเช่นนี้แล้วการเห็นธรรมไปตามสติปัญญาของแต่ละคนรวมไปถึงการแสดงความเห็นต่อธรรมะตามความเข้าใจของแต่ละคนจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะสติปัญญาของแต่ละคนมีหลายระดับไม่เท่ากัน นี่เป็นเรื่องเสรีภาพทางสติปัญญาที่เราควรมองให้เห็นความแตกต่าง

แต่ในขณะที่ พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาออกมาบอกว่ารัฐมีหน้าที่ดูแลสอดส่องกิจการพระศาสนามิให้ใครมาเหยียดหยาม ทำลาย ลอกเลียน ดัดแปลง นั่นหมายความว่า แม้แต่การตีความพระธรรมคำสอนก็ต้องขึ้นอยู่กับรัฐเท่านั้น ประชาชนหรือใครไม่มีสิทธิ์ตีความตามอำเภอใจ หากเป็นเช่นนี้ก็หมายความว่า สิทธิเสรีภาพของประชาชนที่มีต่อศาสนากำลังถูกลิดรอนโดยกฎระเบียบของรัฐ

เมื่อพุทธศาสนาตกเป็นสมบัติของรัฐไปเสียแล้ว ใครจะตีความอย่างไรก็ต้องอยู่ภายใต้ความพึงพอใจของรัฐ หากมีการตีความพระธรรมนอกเหนือไปจากความพึงพอใจของรัฐ รัฐมีสิทธิลงโทษจัดการผู้ที่ตีความต่างจากรัฐ มีความเป็นไปได้ว่ารัฐจะใช้โอกาสนี้จัดการบุคคลที่ตีความพระธรรมที่ไม่ถูกใจรัฐโดยใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าควบคุมจัดการ

แท้จริงแล้วการทำความเข้าใจในศาสนธรรมคำสอนเป็นการปฏิบัติอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวที่จะทำให้บุคคลคนนั้นเข้าถึงธรรมและบรรลุธรรมได้ด้วยตนเอง นี่เป็นอิสรภาพเบื้องต้นที่ศาสนิกทุกคนพึงมี

คำว่า "สันทิฏฐิโก" แปลว่า "พระธรรมเป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง" ในเมื่อพระธรรมเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถปฏิบัติและพึงเห็นได้ด้วยตนเอง จึงเป็นไปไม่ได้ที่คนอื่นจะมาบังคับควบคุมเราให้เห็นตามแบบที่คนอื่นเห็น เป็นไปไม่ได้ที่รัฐจะมาควบคุมให้เราเห็นธรรมในแบบที่รัฐเห็น เพราะศาสนธรรมและการพินิจพิเคราะห์ภายในเป็นเรื่องของปัญญาญาณของแต่ละบุคคล เป็นปัจจัตตัง รู้ได้เฉพาะตน ไม่มีใครบังคับใครได้

การบรรลุธรรมจะไม่เกิดขึ้น หากพื้นที่ส่วนตัวแห่งการพินิจพิเคราะห์ถูกยึดกุมโดยคนอื่น การบรรลุธรรมจะไม่เกิดขึ้นหากพื้นที่ส่วนตัวมีการควบคุมโดยรัฐ หาก พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านออกมานั่นหมายความว่าพื้นที่อิสรเสรีภาพทางจิตวิญญาณของพลเมืองจะถูกควบคุมลิดรอนโดยรัฐ

หลายคนที่ไม่ได้รู้เท่าทันกับสำนวนทางกฎหมายอาจจะคิดและมองง่ายๆ ว่า การมี พ.ร.บ.ปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนาน่าจะเป็นเรื่องดี แต่หากพิจารณาอย่างลึกซึ้งจะพบว่าเป็นเรื่องอันตราย หาก พ.ร.บ.ชุดนี้ผ่านออกมา ผู้ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจากประชาชนชาวพุทธทุกคนนั่นเอง

ปัญหาที่พุทธศาสนากำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าใครจะมาทำลายหรือทำให้คำสอนทางพุทธศาสนาผิดเพี้ยน แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าพุทธศาสนากำลังถูกทำให้กลายเป็นสมบัติของรัฐจนกลายเป็นสถาบันที่แตะต้องไม่ได้ โดยมี พ.ร.บ.อุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนาเป็นตัวทำให้พุทธศาสนาถูกแปรรูปไปเป็นสมบัติของรัฐ

แม้ประชาชนชาวพุทธที่เดินบนถนนก็อาจมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นว่า พ.ร.บ.นี้จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับพุทธศาสนาของพวกเขาอย่างไรบ้าง



ที่มา: คมชัดลึก

----------------------------------


พุทธศาสนาวิวาทะ กับ พระไพศาล วิสาโล 



นิตยสาร WAISSUE 49 เรื่อง : อภิรดา มีเดช ภาพ : อนุช ยนตมุติ



way ? จากหลายเหตุการณ์ในบ้านเราเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่เพิ่งผ่านไปและกำลังเป็นประเด็น อาทิ งดรายการวิพากษ์ศาสนา กิจกรรมทางศาสนาบางอย่าง เช่น การอุปสมบทหมู่ ธุดงค์หมู่ ถูกบรรจุไว้ในโครงการรัฐอย่างเป็นระบบ แม้แต่ ร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนา ที่เริ่มมีการนำเสนอจากสื่อ ตอนนี้ในมุมมองคนทั่วไป องค์กรศาสนาดูเหมือนกำลังจะผนวกตัวเองเข้าไปในระบบรัฐ หมายความว่า ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นกึ่งรัฐศาสนาใช่หรือไม่


พระไพศาล องค์กรศาสนา โดยเฉพาะสถาบันสงฆ์ ได้ผนวกรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐมานานแล้ว จนกระทั่งพระสงฆ์เองก็มีความเข้าใจว่าท่านเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ และมองกิจการของคณะสงฆ์กับของรัฐก็เป็นอันเดียวกัน จนเกิดมีวลีว่า ‘ราชการคณะสงฆ์’

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้ ในความเห็นของอาตมา เป็นความพยายามที่จะดึงรัฐเข้ามาค้ำจุนพุทธศาสนาที่เห็นได้ชัดว่ากำลังซวดเซ โดยฝ่ายหลังนั้นหวังพึ่งทั้งเงินทุนสนับสนุนและอำนาจรัฐ แต่ในความเห็นของอาตมา เป็นการแก้ที่ไม่ถูกจุด เพราะยิ่งเท่ากับทำให้การปฏิรูปพุทธศาสนาเกิดขึ้นได้ยาก และทำให้พุทธศาสนาตลอดจนสถาบันสงฆ์ แนบแน่นกับรัฐมากขึ้น แต่เหินห่างจากการอุปถัมภ์ของประชาชนยิ่งกว่าเดิม ทั้งหมดนี้ล้วนก่อผลเสียต่อพุทธศาสนาในระยะยาว

Way? ขณะที่มีความพยายามจะออกกฎเกณฑ์เพื่อปกป้องคุ้มครององค์กรศาสนา แต่ขณะเดียวกัน พุทธศาสนาในประเทศไทยกลับไม่มีความชัดเจนในตัวเอง (เช่น กรณี พุทธ พราหมณ์ ผี, สักยันต์, พิธีทางไสยศาสตร์) หากเปรียบเทียบกันระหว่างป้องกันตัวเอง กับปฏิรูปตัวเอง สิ่งใดควรกระทำก่อน

พระไพศาล พุทธศาสนาในเมืองไทยเวลานี้อยู่ในภาวะซวดเซและอ่อนแอมาก อันเป็นผลมาจากปัญหาภายในของชาวพุทธเอง รวมทั้งสถาบันสงฆ์ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ความเข้าใจและการปฏิบัติที่คลาดเคลื่อนจากหลักธรรมคำสอน ทำให้หมกมุ่นหลงใหลในวัตถุนิยม ไม่เว้นแม้กระทั่งพระสงฆ์ ซ้ำยังมีการปล่อยปละละเลยมาโดยตลอด จนเกิดเรื่องอื้อฉาวและสร้างความเสื่อมศรัทธาแก่ผู้คน ในสภาพเช่นนี้ การปฏิรูปตนเองของพุทธศาสนาไทยเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน

การป้องกันตัวเอง โดยเฉพาะป้องกันจากคำวิพากษ์วิจารณ์ มีแต่จะทำให้การปฏิรูปพุทธศาสนาเกิดขึ้นได้ยาก และย่อมทำให้พุทธศาสนาเสื่อมโทรมเร็วขึ้น จะว่าไปแล้ว การมุ่งป้องกันตนเองนั้น เกิดจากการมองว่าสาเหตุที่พุทธศาสนาซวดเซในเวลานี้เกิดจากภายนอก เช่น จากศาสนาอื่น หรือจากคนไม่มีศาสนา ซึ่งเป็นการมองที่สวนทางกับความจริง เป็นการปฏิเสธที่จะยอมรับว่าสาเหตุแท้จริงนั้นเกิดจากชาวพุทธด้วยกันเองมากกว่า

way ? การใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือวิพากษ์วิจารณ์ศาสนา ถ้าเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ส่วนรวม เป็นสิ่งที่กระทำได้หรือไม่

พระไพศาล พุทธศาสนามองว่า ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่คำวิพากษ์วิจารณ์ แต่อยู่ที่ท่าทีต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ต่างหาก พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อมีคนวิจารณ์หรือต่อว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ “พวกเธออย่าได้อาฆาตแค้นโทมนัสน้อยใจ เพราะถ้าพวกเธอทำเช่นนั้นจะไม่เกิดผลดีอะไรเลย...ถ้าคำตำหนินั้นเป็นจริง ก็ควรแก้ไข ถ้าไม่จริงก็ให้รับรู้ว่าไม่จริง” นอกจากนั้นยังตรัสว่า “ผู้โกรธตอบคนที่ด่า เลวกว่าคนด่าเสียอีก”

จะว่าไปแล้ว พุทธศาสนาเห็นประโยชน์ของคำวิจารณ์ ดังทรงชี้ให้มองผู้วิจารณ์ว่าเป็นผู้ชี้ขุมทรัพย์ ดังนั้นชาวพุทธจึงไม่ควรห้ามการวิพากษ์วิจารณ์ ยิ่งถ้าทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ก็ยิ่งควรสนับสนุน และสิ่งที่ควรทำมากไปกว่านั้น ก็คือ เปิดใจกว้างรับคำวิจารณ์ หากเขาพูดถูก ก็พึงแก้ไข หากพูดไม่ถูก ก็ไม่ควรโมโหโกรธเคือง
way ? เริ่มมีคนกังวลว่า หากร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนา ผ่านขึ้นมาจริงๆ ผลที่ออกมา จะกลายเป็นเหมือน ม.112 แต่เปลี่ยนตัวละครเป็นศาสนาแทนหรือไม่

พระไพศาล มีความเป็นไปได้เช่นนั้น เพราะมาจากความคิดที่คล้ายกันว่า การวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนจะทำให้สถาบันเกิดความสั่นคลอนหรือเสื่อมทรุดได้ แต่มองในมุมของพุทธศาสนา ความเสื่อมทรุดนั้นเกิดจากปัจจัยภายในเป็นหลัก หาใช่ปัจจัยภายนอกไม่ ดังมีพุทธพจน์ว่า “เรือจะอับปางก็เพราะต้นหนเท่านั้น (หาใช่เพราะลมพายุไม่)”

นอกจากนั้นพระพุทธองค์ยังตรัสว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้พระสัทธรรมเลือนหาย (ศาสนาเสื่อม) ก็คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ไม่เคารพพระรัตนตรัย ไม่ใส่ใจในการศึกษา และไม่ฝึกฝนจิต นั่นหมายความว่า ตราบใดที่พุทธบริษัท 4 มีการศึกษาและปฏิบัติอย่างถูกต้องมั่นคง ไม่ว่าใครจะวิพากษ์วิจารณ์พุทธศาสนารุนแรงเพียงใด ก็ไม่ทำให้พุทธศาสนาซวดเซได้เลย

way ? การกำหนดโทษใน ร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา* จำเป็นหรือไม่

พระไพศาล ถ้าถามว่าจำเป็นหรือไม่ ก็ตอบว่าไม่จำเป็น เพราะกฎหมายที่มีอยู่ก็มากเกินพออยู่แล้ว จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลายปีที่ผ่านมา กฎหมายทำนองนี้มักจะไม่สามารถใช้ให้เกิดผลตามความมุ่งหมายแต่ดั้งเดิม เช่น แทนที่จะยุติเสียงวิพากษ์วิจารณ์ กลับทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์หนักขึ้นจนควบคุมไม่ได้ แทนที่จะทำให้พุทธศาสนาเข้มแข็ง กลับทำให้พุทธศาสนาอ่อนแอลง ขณะที่ปัญหาในวงการชาวพุทธและคณะสงฆ์มีแต่จะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เพราะแทนที่จะใช้ปัญญา กลับเป็นการแก้ที่มุ่งใช้อำนาจเป็นหลัก

ปัญหาใหญ่ๆ ในเมืองไทยที่ผ่านมา ไม่มีปัญหาใดเลยที่ใช้อำนาจแล้วจะแก้ไขได้อย่างแท้จริง
---------------------------------------
* ร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์ และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ. ... เสนอโดย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปี 2550
"มาตรา 9 การจาบจ้วง ละเมิด ลอกเลียน บิดเบือน หรือการกระทำอื่นใดให้พระศาสดา ศาสนธรรม ศาสนศึกษา ศาสนบุคคล ศาสนสถาน ศาสนวัตถุ ศาสนสมบัติ และศาสนพิธี ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสีย มัวหมอง หรือวิปริตผิดเพี้ยน จะกระทำมิได้

มาตรา 21 ผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา 9 ในส่วนที่ เกี่ยวกับพระศาสดาและศาสนธรรม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบห้าปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท

มาตรา 22 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 9 ในส่วนที่เกี่ยวกับศาสนศึกษา ศาสนบุคคล ศาสนสถาน ศาสนวัตถุ ศาสนสมบัติ และศาสนพิธี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท

ผู้ใดร่วมประเวณีไม่ว่าทางใดและวิธีการใดกับพระภิกษุ สามเณร หรือแม่ชี ตลอดจนผู้ชักจูง จัดหา หรือจ้างวาน ให้มีการร่วมประเวณีดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท"

-----------------------------------------


นิธิ เอียวศรีวงศ์ : อุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนา
 อะไร และอย่างไร 

(หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 30 เมษายน 2555)


ร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, พรรครัฐบาล และ ปชป.กำลังจะเข้าสภา ร่าง พ.ร.บ.ทั้งสามฉบับล้วนมีโทษทางอาญาประกอบอยู่ด้วย และล้วนเป็นโทษที่ค่อนข้างหนักทั้งสิ้น

ข้อกำหนดเหล่านี้ละเมิดรัฐธรรมนูญและละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรุนแรง กำลังเป็นที่ถกเถียงอภิปรายกันอยู่ทั่วไปอยู่เวลานี้ ผมจะไม่ขอนำมาพูดอีกในที่นี้ แต่ใคร่จะตั้งคำถามว่าพระพุทธศาสนาที่นักการเมืองและข้าราชการในสำนักงาน กำลังอยากจะอุปถัมภ์และคุ้มครองนั้น คืออะไร? และวิธีอุปถัมภ์คุ้มครองแบบนั้น จะส่งผลอย่างไรต่อพระพุทธศาสนาในประเทศไทย

ที่เรียกว่า "พระพุทธศาสนา" - ไม่ว่าคนอื่นเรียกหรือศาสนิกเรียกเองก็ตาม - ทั้งในเมืองไทยและในโลกนี้มีความหลากหลายมาก ผมไม่ได้หมายความเพียงเถรวาทและมหายานซึ่งมีหลายนิกายเท่านั้น ว่าเฉพาะในเมืองไทย พระพุทธศาสนาก็มีหลายกระแสความเชื่อและการปฏิบัติมาแต่โบราณ พระพุทธศาสนาที่เราเรียนในโรงเรียนนั้น เป็นเพียงกระแสเดียว แม้เป็นกระแสเดียวที่มีอำนาจรัฐหนุนหลัง แต่ก็เป็นกระแสเดียวเท่านั้น และขอเรียกว่าพระพุทธศาสนาที่เป็นทางการ

พระพุทธศาสนาที่เป็นทางการนี้มาจากไหน หรือถือกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร

คำตอบอย่างตรงไปตรงมาก็คือ เพิ่งเกิดขึ้นในสมัย ร.5 นี้เอง ด้วยเป้าประสงค์ที่จะใช้พระพุทธศาสนา - โดยเฉพาะพระสงฆ์ - ในการขยายอำนาจของราชบัลลังก์ และป้องกันมิให้พระภิกษุนำการแข็งข้อ หรือใช้อุดมการณ์ของพระศาสนาในการแข็งข้อต่อส่วนกลาง

วิธีการและผลพวงแห่งวิธีการเหล่านั้นคืออะไร

1/ บังคับให้ภิกษุทั่วประเทศมาอยู่ภายใต้องค์กรคณะสงฆ์ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ด้วยการออก พ.ร.บ.ปกครองคณะสงฆ์ขึ้นใน พ.ศ.2445 โดยอาศัย พ.ร.บ.ฉบับนี้ รัฐได้สร้างองค์กรคณะสงฆ์ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขึ้นทั่วราชอาณาจักรเป็นครั้งแรก โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพระมหากษัตริย์

บางท่านอาจคิดว่า องค์กรปกครองเช่นนี้มีมาแต่โบราณแล้ว ที่จริงในสมัยโบราณมีแต่ทำเนียบสมณศักดิ์ คือพระมหากษัตริย์อาจทรงยกย่องพระภิกษุบางรูปให้มียศ และได้ราชูปถัมภ์บางประการเป็นพิเศษเท่านั้น ส่วนอำนาจปกครองก็มีจำกัดเฉพาะบางวัด ซึ่ง "ขึ้น" อยู่กับวัดหลวงที่พระราชาคณะเป็นเจ้าอาวาส ลักษณะเดียวกับการปกครองโดยผ่านสำนักอาจารย์ที่เคยมีในคณะสงฆ์มาแต่โบราณแล้ว ที่สำคัญกว่านั้น อำนาจปกครองกำกับดูแลพระสงฆ์ของรัฐนั้น ถึงจะมีก็จำกัดอยู่เฉพาะเขตใกล้พระนครและหัวเมืองเท่านั้น

สมณศักดิ์ในสมัยโบราณถูกเปรียบกับ "ยศช้าง" มีความหมายแก่เชือกที่ได้รับยศ แต่ไม่มีความหมายอย่างไรแก่ช้างเชือกอื่น

พ.ร.บ.ปกครองคณะสงฆ์ 2445 จึงสร้างองค์กรคณะสงฆ์สยามที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (อย่างน้อยตามทฤษฎี) ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศนี้


อํานาจสำคัญอีกอย่างหนึ่งของรัฐที่มากับ พ.ร.บ.นี้ก็คือ รัฐเท่านั้นที่จะเป็นผู้แต่งตั้งพระภิกษุขึ้นเป็นพระอุปัชฌายาจารย์ได้ ในสมัยก่อนพระที่มีคุณสมบัติต้องตามพระวินัยคือเป็นพระเถระ (บวชมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี) ก็อาจเป็นพระอุปัชฌาย์ได้ทุกรูป แต่ในทางปฏิบัติ พระที่มีชื่อเสียงเป็นที่นับถือทั้งของพระภิกษุเองและชาวบ้านเท่านั้น ที่จะทำหน้าที่อุปัชฌาย์ โดยมีวัดบริวารขึ้นอยู่กับวัดของท่านจำนวนหนึ่ง ซึ่งส่งคนมาบวชกับพระอาจารย์ที่ "หัววัด" ทุกปี การกำกับดูแลภิกษุในวัดบริวาร จึงอยู่ภายใต้พระอาจารย์ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือเครือข่ายของสำนักอาจารย์หนึ่งๆ นั่นแหละ เป็นโครงสร้างหลักของการปกครองคณะสงฆ์ เพราะภิกษุทุกรูปในเครือข่ายล้วนเป็น "ศิษย์" ของท่านทั้งสิ้น รัฐไม่เกี่ยว หรือแทบจะไม่เกี่ยวอะไรเลย

การกำกับดูแล และให้การศึกษาแก่พระสงฆ์สามเณรโดยผ่านสำนักอาจารย์และเครือข่ายเช่นนี้ มีประสิทธิภาพกว่าการกำกับดูแลและให้การศึกษาโดยอาศัยอำนาจของส่วนกลางเพียงอย่างเดียว วัตรปฏิบัติของพระสงฆ์สามเณรที่ถูกติฉินนินทากันทั่วไปในปัจจุบัน ก็เป็นผลมาจากการรวมศูนย์ที่เริ่มเกิดขึ้นในครั้งนั้นนั่นเอง ยิ่งกว่านั้นการกำกับดูแลภายใต้ระบบสำนักอาจารย์และเครือข่าย ยังทำให้เกิดความยืดหยุ่นไปตามสภาพท้องถิ่น อันเป็นผลให้วัดไม่แปลกแยกจากชาวบ้าน (เช่น พระในอีสาน มักช่วยชาวบ้านเกี่ยวข้าว ... แล้วไปปลงอาบัติเองภายหลัง)

ด้วยเหตุที่ระบบปกครองพระสงฆ์สมัยโบราณอาศัยเครือข่ายของสำนักอาจารย์เช่นนี้เอง พระพุทธศาสนาในดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน จึงมีความหลากหลายอย่างยิ่ง ทั้งในแง่พิธีกรรม, แบบปฏิบัติ (เช่นทำนองการสวด), หรือแม้แต่หลักคำสอน (อย่างน้อยก็เน้นหลักธรรมต่างกัน) นี่คือเหตุผลที่พระพุทธศาสนาของไทยมีพลังในการผสมกลมกลืนกับศาสนาท้องถิ่นที่มีอยู่ก่อนได้สูง ทำให้พระพุทธศาสนาแทรกเข้าไปในวิถีชีวิตของผู้คนได้มาก โดยไม่มีใครจำเป็นต้องประกาศตนเป็นชาวพุทธ

อำนาจของ พ.ร.บ.ปกครองคณะสงฆ์ 2445 อีกอย่างหนึ่งก็คือ กลไกราชการแบบใหม่ซึ่งเพิ่งสร้างขึ้นก่อนหน้านั้น ทำให้ข้าราชการปกครองสามารถกลั่นแกล้งรังแกภิกษุที่ไม่ยอมอยู่ในปกครองของรัฐส่วนกลางได้ง่าย โดยเฉพาะพระที่เรียกกันว่า "พระป่า" (ซึ่งไม่ได้มีแต่สายธรรมยุติของพระอาจารย์มั่นเท่านั้น)

2/นิยามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ในขณะเดียวกันก็เซื่องลง และอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐอย่างรัดกุม

หลักคำสอนใหม่นี้ขจัดความเชื่อที่ถือว่าเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติออกไปทั้งหมด แม้แต่ที่ปรากฏในคัมภีร์มาแต่เดิมก็ถือว่าเป็นเพียง "บุคลาธิษฐาน" หรือความเปรียบเท่านั้น ชาดกซึ่งเป็นแก่นสารสำคัญในการเทศน์แต่เดิมมา จึงถูกลดความสำคัญลงเป็นเพียงเหมือนนิทานอีสป

ในด้านหลักธรรมสำคัญของพระพุทธศาสนา ก็เน้นแต่ธรรมะของผู้ครองเรือนและพระวินัย มีความระแวงกับทุกมิติของด้านปฏิบัติ นับตั้งแต่การเจริญสมาธิภาวนา ไปจนถึงการจัดองค์กรของภิกษุและฆราวาสของผู้ปฏิบัติธรรม หรือแม้แต่คำสอนระดับโลกุตรธรรม ก็เห็นกันว่าเกินจำเป็น

หนึ่งในรูปของการ "ปฏิรูป" หลักธรรมคำสอนก็คือ การเน้นคุณค่าของรัฐราชาธิปไตย การอุปถัมภ์ของกษัตริย์กับการดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนากลายเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้ ดังนั้น ภิกษุในบังคับขององค์กรสงฆ์แห่งชาติ จึงต้องรับใช้อุดมการณ์และนโยบายของรัฐ แม้เมื่อรัฐไทยได้เปลี่ยนไปจากรัฐราชาธิปไตยแล้วก็ตาม พระพุทธศาสนาที่เป็นทางการของไทยจึงกลายเป็นเครื่องมือของรัฐเต็มตัว สามารถรับใช้รัฐได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นรัฐทรราช, ราชาธิปไตย, เผด็จการทหาร, หรือระบอบเลือกตั้ง จะหาคณะสงฆ์ของศาสนาใดที่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองยิ่งไปกว่าคณะสงฆ์ไทยได้ยาก

ความเคร่งครัดในแบบพิธีมีความสำคัญมากกว่าความเคร่งครัดในหลักธรรมคำสอน องค์กรคณะสงฆ์ภายใต้บังคับของรัฐในพระพุทธศาสนาที่เป็นทางการ ระแวดระวังกับความเคร่งครัดตามการตีความพระวินัยของตน แต่ไม่สู้จะใส่ใจกับการตีความพระธรรมเท่าไรนัก (orthopraxie v.s. orthodoxy)

เหตุผลนั้นเห็นได้ชัด จะควบคุมมิให้พระภิกษุกระด้างกระเดื่องต่อรัฐ แบบปฏิบัติของพระภิกษุ (เช่นการบวช, การตั้งสำนักสงฆ์, การฉันภัตตาหาร ฯลฯ) จึงมีความสำคัญกว่าการตีความหลักธรรมคำสอน ในแง่หนึ่งก็เท่ากับเปิดให้ความหลากหลายของพระพุทธศาสนายังมีต่อไปในด้านหลักธรรมคำสอน

แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้องค์กรคณะสงฆ์แห่งชาติ ไม่ต้องเผชิญกับการท้าทายด้านหลักธรรมคำสอน ซึ่งเป็นแก่นสารสำคัญที่สุดของศาสนา (ก่อนจะมาถึงหลักปฏิบัติที่สอดคล้องกับหลักธรรมคำสอน) ในอีกแง่หนึ่ง ตัวหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาเอง ก็อาจทำให้บุคคลเป็นอิสระจากอำนาจทางการเมืองด้วย

การเน้นให้พระภิกษุเป็นหลักในการเผยแผ่คำสอน ทำให้บุคคลอีกมากซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่นี้ร่วมด้วยมาแต่อดีตหมดความสำคัญลง เช่น ชีปะขาว, หนานหรือทิด, ฤๅษี, และกลุ่มฆราวาสซึ่งปฏิบัติธรรม ฯลฯ คนเหล่านี้ล้วนอยู่นอกการบังคับบัญชาขององค์กรคณะสงฆ์ส่วนกลาง ผลก็คือทำให้พระพุทธศาสนาถูกขังอยู่ในวัด (อันเป็นอาณาบริเวณที่อยู่ใต้อำนาจรัฐอย่างเด็ดขาด) นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พระพุทธศาสนาห่างไกลจากวิถีชีวิตของผู้คน

ยิ่งเมื่อสังคมเปลี่ยนจนทำให้ "เวลา" ของวัดกับ "เวลา" ของชาวบ้านไม่ตรงกัน (เช่นเมื่อกลองเพลดังขึ้น จำนวนมากของชาวบ้านติดอยู่ที่ที่ทำงาน ไม่อาจนำภัตตาหารไปถวายและปรนนิบัติพระได้) หลักธรรมคำสอนของพระศาสนายิ่งอยู่ห่างไกลจากชีวิตของชาวบ้านมากขึ้น



นี่คือเนื้อหาหลักของพระพุทธศาสนาที่เป็นทางการ ซึ่งเกิดและดำรงอยู่ในช่วงหนึ่งของการเมือง, เศรษฐกิจ, และสังคมของไทย เมื่อสิ่งเหล่านั้นเปลี่ยนไป พระพุทธศาสนาที่เป็นทางการก็ไร้ความหมายลงทุกที เพราะไม่ได้ตอบสนองต่ออะไรสักอย่างเดียว แม้แต่ปัญหาของรัฐตามสายตาของชนชั้นนำเอง ยังไม่พูดถึงปัญหาที่เกิดกับชีวิตคนส่วนใหญ่ภายใต้การแย่งชิงทรัพยากรของกระแสโลกาภิวัตน์

ดังนั้น ก่อนจะออกกฎหมายอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ขอให้นักการเมืองมีความเข้าใจที่ชัดเจนก่อนว่า "พระพุทธศาสนา" ที่ต้องการจะอุปถัมภ์และคุ้มครองนั้น คือพระพุทธศาสนาอะไร สมควรหรือไม่ที่จะสังเวยทั้งทรัพยากรของชาติ และสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่ออุปถัมภ์และคุ้มครอง

เมื่ออุปถัมภ์และคุ้มครองด้วยมาตรการรุนแรงดังปรากฏในร่าง พ.ร.บ.แล้ว พระพุทธศาสนาเช่นนั้น จะมิยิ่งกลายเป็นฟอสซิลหนักขึ้นไปกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ละหรือ เราควรทำอะไรที่ฉลาดและสุขุมได้อีกบ้างในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา

------

เมื่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยขยายตัวมากขึ้น พระพุทธศาสนาที่เป็นทางการก็ยิ่งไม่ตอบสนองต่อวิถีชีวิตของผู้คน ที่ดำรงอยู่ได้ก็ด้วยอำนาจบังคับของรัฐ เช่น บรรจุลงในหลักสูตรการศึกษา หรือราชพิธีและรัฐพิธีต่างๆ แต่สังคมไทยก็ไม่ได้ปล่อยให้พระพุทธศาสนาไร้ความหมายลงไปโดยไม่ทำอะไรเลย มีความพยายามของทั้งพระภิกษุและฆราวาส ในการให้หรือฟื้นความหมาย ที่มีนัยยะต่อชีวิตของผู้คนในปัจจุบันอยู่หลายครั้งและหลายอย่าง จะขอพูดถึงที่ค่อนข้างจะรู้กันดีอยู่แล้วดังนี้

คำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุทำให้เป้าหมายทางโลกุตรธรรม ซึ่งพระพุทธศาสนาที่เป็นทางการละเลย กลับมามีความสำคัญใหม่ นิพพานเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถกระทำให้แจ้งแก่ตนได้ "ที่นี่และเดี๋ยวนี้" นัยยะก็คือ ปลดปล่อยพระพุทธศาสนาออกจากวัด เพราะการปฏิบัติธรรมไม่ได้จำกัดความหมายให้เหลือเพียงการเป็นพระภิกษุเท่านั้น

ฆราวาสอีกมาก ทั้งที่คิดอย่างเดียวกันมา หรือได้รับอิทธิพลของท่านพุทธทาส พากันเผยแพร่พุทธธรรมด้วยวิธีต่างๆ โดยไม่เกี่ยวอะไรกับองค์กรปกครองคณะสงฆ์ หรือรัฐ ในระยะหนึ่งทั้งองค์กรคณะสงฆ์และรัฐก็ออกจะระแวงความเคลื่อนไหวนี้ แต่ในที่สุดก็ใช้วิธีตีกิน (coopt) กลุ่มเคลื่อนไหวเหล่านี้ แทนการปราบปราม ถึงอย่างไรกลุ่มเคลื่อนไหวนี้ก็ไม่ได้ท้าทายแบบปฏิบัติที่เป็นทางการ (orthopraxie) ของพระพุทธศาสนาที่เป็นทางการอยู่แล้ว

ผลอย่างหนึ่งของการเผยแพร่คำสอนของท่านพุทธทาส ก็คือ การโต้เถียงอภิปรายเกี่ยวกับปรมัตถธรรม ในหมู่นักคิดชาวพุทธอย่างกว้างขวาง มีการพิมพ์หนังสือออกตอบโต้กันอยู่เสมอ อาจถือได้ว่าเป็นความพยายามในการ "ปฏิรูป" (ในความหมายฆราวาส ไม่ใช่ทางศาสนา) พระพุทธศาสนาที่น่าสนใจที่สุดในเมืองไทย เพราะไปพ้นจากแบบปฏิบัติ เช่น ประเพณีการบวช หรือการครองผ้า แต่เข้าไปทำความเข้าใจกับโลกุตรธรรมโดยตรง ทั้งยังเชื่อมโยงโลกุตรธรรมนั้นให้สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนปัจจุบันด้วย

ในแง่หนึ่ง การขยายตัวของการทำสมาธิ (ที่เรียกว่า "ปฏิบัติธรรม") ทั้งในเชิงพาณิชย์ และในเชิงเผยแพร่ ซึ่งปรากฏในปัจจุบัน ก็เป็นผลมาจากการ "ปฏิรูป" ในครั้งนั้น 

นี่เป็นตัวอย่างของ "การอุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนา" ที่ฉลาดและสุขุม ไม่มีอำนาจรัฐ หรือกฎหมายลิดรอนเสรีภาพเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และบังคับให้องค์กรคณะสงฆ์ต้องปรับตัวบ้าง หากเหมือนบางประเทศที่มีรัฐฆราวาสวิสัยอย่างแท้จริง องค์กรคณะสงฆ์อาจต้องปรับตัวมากกว่านี้อีกมาก เพื่อเผชิญการแข่งขันของนัก "ปฏิรูป"(ซึ่งคงแยกตัวออกไปจากองค์กรคณะสงฆ์ที่เป็นทางการ)

กระแสการ "ปฏิรูป" ในครั้งนั้น ยังเป็นผลให้มีความพยายามจะปรับเปลี่ยนวิถีพุทธให้เข้ากับโลกปัจจุบันอีกหลายอย่างตามมา ความเคลื่อนไหวของธรรมกาย, สันติอโศก, ของพระพยอม กัลยาโณ, หรือแม้แต่การเผยแพร่ไสยศาสตร์ในวัด ก็เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะให้ความหมายใหม่แก่องค์กรศาสนาที่มีมาแต่โบราณ เพื่อให้พระพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนปัจจุบัน

ดังที่กล่าวแล้วว่า พระพุทธศาสนาสำนวนที่เป็นพระพุทธศาสนาที่เป็นทางการของไทยนั้น เกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ทางการเมือง ของผู้ปกครองรัฐซึ่งพยายามจะรวบอำนาจเข้าศูนย์กลางในช่วงหนึ่งเมื่อร้อยปีมาแล้ว นับวันก็ยิ่งไร้ความหมายแก่สังคมไทยซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากนั้นอย่างสุดขั้วแล้ว จึงเป็นธรรมดาที่พระพุทธศาสนาที่เป็นทางการจะตกอยู่ในสภาพอ่อนแอ แม้มีอำนาจรัฐหนุนอย่างเต็มที่ รัฐเองก็ช่วยอะไรไม่ได้มากนัก ความเสื่อมโทรมในวัตรปฏิบัติของพระภิกษุ และความไม่ใส่ใจต่อหลักธรรมคำสอนจึงเห็นได้อยู่ทั่วไป ทั้งในหมู่พระและฆราวาส

เวลานี้สภาพของพระพุทธศาสนาในเมืองไทยจึงเป็นเรื่องต่างคนต่างอยู่ พระพุทธศาสนาที่เป็นทางการรับผิดชอบในด้านรัฐประเพณีและราชประเพณีต่างๆ ซึ่งได้ออกสื่อทั่วประเทศ 

ในขณะที่ชาวพุทธต่างพยายามหาความหมายของพุทธธรรมให้แก่ชีวิตของตนเองไปตามถนัด บางคนนั่งสมาธิทุกวันหยุด บางคนถือศีล บางคนล่าพระเครื่องดังๆ บางคนไหว้พระเก้าวัด บางคนใช้ชีวิตไปตามปกติโดยไม่เคยนึกถึงศาสนาเลย ไม่มีใครเข้าวัดเพื่อแสวงหาคำตอบอีกแล้ว และบางคนหันไปนับถือศาสนาอื่น

ในที่นี้จะยกเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาที่เป็นทางการ ไม่สนใจจะให้คำตอบแก่สังคมสมัยใหม่ และชีวิตสมัยใหม่อย่างไรบ้าง

แม้ในปัจจุบัน พุทธศาสนาที่เป็นทางการไม่กล่าวหมิ่นพระนิพพานอย่างเปิดเผย ดังผู้นำพุทธศาสนาที่เป็นทางการเมื่อร้อยปีที่แล้ว แต่พระพุทธศาสนาที่เป็นทางการ ก็ไม่มีคำอธิบายใดๆ ว่า เราจะสามารถบรรลุพระนิพพานได้อย่างไร และท่าทีแห่งความไม่ยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งใดเช่นนั้น จะช่วยการดำเนินชีวิตของคนในโลกปัจจุบันอย่างไร พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ โลกุตรธรรมและโลกียธรรมในพระพุทธศาสนาที่เป็นทางการก็ยังแยกขาดจากกันเหมือนเดิม ในขณะที่คุณคำผกาท้าทายว่า 

ศีลส่วนโลกียธรรมนั้นมีกฎหมายบังคับอยู่แล้วส่วนหนึ่ง และก็มีในศาสนาอื่นๆ คล้ายกัน

ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงการตอบสนองต่อการท้าทายอื่นๆ ซึ่งมีมาจากภายนอก เช่น พระนิพพานแบบเถรวาทนั้น เป็นสภาวะที่ไม่อาจดำรงอยู่อย่างถาวรได้ เกิด-ดับอยู่ในบุคคลตลอดเวลา เพราะลึกลงไปคือความเห็นแก่ตัว เนื่องจากต้องการความหลุดพ้นแก่ตนเองเท่านั้น ในขณะที่ผู้บำเพ็ญโพธิสัตวบารมี มุ่งจะช่วยคนอื่นจนหมดสิ้นซึ่งตัวตนไปเลย นิพพานอย่างนั้นต่างหาก จึงเป็นสภาวะที่อยู่คงทนตลอดไปได้ ยังมีการท้าทายหลักธรรมของเถรวาทอีกหลายอย่าง ซึ่งพระพุทธศาสนาแห่งชาติไม่เคยสนใจ และไม่คิดสร้างสมรรถภาพในการให้คำอธิบายแข่ง

แต่ในโลกการสื่อสารของปัจจุบัน แนวคิดที่ท้าทายเหล่านี้ไม่อาจปิดกั้นจากสังคมไทย หรือนำเสนออย่างบิดเบือนได้อีกแล้ว การโหมโฆษณาความประเสริฐเลิศสุดในโลกของพระพุทธศาสนาที่เป็นทางการ ปิดตาใครไม่ได้ นอกจากตัวเอง

พระพุทธศาสนาที่ถูกขังอยู่ในวัด อาจไม่มีคำตอบอะไรแก่สังคมสมัยใหม่เลย ศีลห้าซึ่งพระสงฆ์ให้แก่อุบาสกอุบาสิกาทุกวันพระนั้น มีความหมายอย่างไรกันแน่ในสภาพความเป็นจริงของโลกปัจจุบัน

การถือหุ้นในบริษัทค้าอาวุธคือปาณาติบาตกรรมอย่างหนึ่ง หรือมิใช่ การใช้ก๊าซหุงต้มในรถยนต์ส่วนตัวและโรงงานส่วนตัวคือการขโมยอย่างหนึ่ง หรือมิใช่ การเที่ยวหญิงโสเภณีเป็นการประพฤติผิดในกามหรือไม่ ในโลกนี้มีการดื่มสุราเมรัยและมัชชะที่ไม่ประมาทหรือไม่ ฯลฯ

ศีลห้าที่มีนัยยะสำคัญแก่สังคมปัจจุบัน ต้องเป็นข้อห้ามทางศีลธรรมที่อยู่เหนือข้อห้ามของกฎหมาย มิฉะนั้นจะรับศีลไปทำไม ในเมื่อทุกคนก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายทั้งสิ้น

รัฐสมัยใหม่มีอำนาจมากขึ้นอย่างที่ไม่มีรัฐโบราณอะไรเทียบได้ พระพุทธศาสนาที่เป็นทางการจะมีส่วนในการยับยั้งอำนาจรัฐนั้น มิให้รังควานประชาชนได้อย่างไร เช่น รัฐต้องไม่ฆ่า การชุมนุมโดยผิดกฎหมายจะต้องจัดการอย่างไรก็ตาม แต่ต้องไม่ฆ่า เป็นต้น เพียงเท่านี้ก็ทำให้อำนาจรัฐถูกกำกับจากศีลธรรมไปส่วนหนึ่ง พระพุทธศาสนาที่เป็นทางการสร้างขึ้นโดยรัฐ และด้วยเหตุดังนั้นจึงไม่เคยมีประวัติการถ่วงอำนาจรัฐเลยสักครั้งเดียว 

ในสงครามทุกครั้ง พระภิกษุชั้นผู้ใหญ่ประพรมน้ำมนตร์ให้ทหารที่กำลังจะออกไปทำการฆ่าทุกที และบางครั้งก็เขียนหรือเทศน์ส่งเสริมสงครามเสียอีก

ประชาธิปไตยเป็นอีกกลไกหนึ่งที่จะคอยกำกับอำนาจอันมากล้นของรัฐสมัยใหม่ แต่พระพุทธศาสนาที่เป็นทางการของไทยไม่เคยแสดงท่าทีอันชัดเจนต่อประชาธิปไตย ขัดขวางประชาธิปไตย หากรัฐสั่งให้ขัดขวาง เงียบเฉยหรือทัดทานโดยทีต่อการเคลื่อนไหวในภาคประชาชน เป็นไปได้หรือในสังคมปัจจุบันทั่วโลก ที่ศาสนาจะไม่มีจุดยืนอะไรสักอย่างเดียวกับประชาธิปไตยได้เช่นนี้ ในขณะที่ประชาธิปไตยกลายเป็นคำถามสำคัญในชีวิตคนส่วนใหญ่ของสังคมไปแล้ว

ทำนองเดียวกับประชาธิปไตย พุทธศาสนาที่เป็นทางการเคยมีท่าทีอย่างไรต่อปัญหาสำคัญยิ่งของโลกปัจจุบัน รัฐฆราวาสวิสัยควรเป็นอย่างไร, สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของพลเมือง, การอนุรักษ์ธรรมชาติหรือการดัดแปลงธรรมชาติ, โลกาภิวัตน์ ฯลฯ

พระพุทธศาสนาที่เป็นทางการ ไม่เคยชี้ความไม่เป็นธรรมนานาชนิดที่เกิดในสังคมไทย แต่กลับร่วมมือกับรัฐในการทำลายอำนาจ (อย่างน้อยก็อำนาจทางวัฒนธรรม) ของท้องถิ่นและชาติพันธุ์ต่างๆ การแย่งชิงทรัพยากรที่ก่อความเดือดร้อนแก่ผู้คนจำนวนมาก เช่น กรณีเขื่อนต่างๆ และเหมืองแร่โพแทส การบังคับใช้ ม.112 อย่างไม่เป็นธรรม ฯลฯ เป็นต้น

นี่คือพุทธศาสนาที่เป็นทางการ ซึ่งรัฐสภากำลังจะออกกฎหมายมาอนุรักษ์และคุ้มครองกระนั้นหรือ เพื่ออะไร และเพื่อใคร

แต่พระศาสนายังมีพลังและคุณค่าแก่สังคมไทยอย่างแน่นอน ดังที่กล่าวแล้วว่ามีความพยายามของหลายฝ่ายตลอดมาที่จะฟื้นฟูพระศาสนา ให้สัมพันธ์เชื่อมโยงกับชีวิตคนไทยสมัยปัจจุบัน ฉะนั้น หากจะอุปถัมภ์และคุ้มครองพระศาสนา ก็ต้องอุปถัมภ์และคุ้มครองความเคลื่อนไหวทางศาสนาของทุกฝ่าย รวมทั้งองค์กรคณะสงฆ์ของพระพุทธศาสนาที่เป็นทางการด้วย 

แต่จะเอาอำนาจรัฐมาคุ้มตัวโดยไม่ทำอะไรเลย หรือเอางบประมาณมาบำเรอการไม่ทำอะไรเลยนั้น ไม่ควรอนุญาต เพราะจะยิ่งทำให้พระศาสนาไร้ความหมายในชีวิตผู้คนมากขึ้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น