วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การประหารชีวิตเพราะเหตุทางศาสนาในประวัติศาสตร์ไทย



ประวัติศาสตร์การข่มเหงเบียดเบียนศาสนาในประเทศไทย ซึ่งมีมาตลอดตั้งแต่สมัยอยุธยา - กรุงธนบุรี - รัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 - รัชการที่ 3 - รัชกาลที่ 4 - รัชกาลที่ 5

ปี 1517 โปรตุเกสส่งทูตมายังกรุงศรีอยุธยา  โดยมีบาทหลวงแห่งศาสนจักรคาทอลิกมาด้วย

ปี 1567-1682  มีการเผยแพร่คริสตศาสนายุคสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ - สมเด็จพระนารายณ์ 

ปี 1688 สมเด็จพระนารายณ์ถูกยึดอำนาจ  ทำให้หมดยุครุ่งเรืองของศาสนจักรคาทอลิกไปด้วย

ปี 1731  กษัตริย์เวลานั้นประกาศห้ามเผยแพร่ศาสนาคริสต์กับคนไทย  มอญ  ลาว  ห้ามชักชวน  ห้ามเขียนหนังสือศาสนาคริสต์เป็นภาษาไทยและบาลี 

ปี 1767  กรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2  ทำให้ชุมชนคาทอลิกแตกกระจัดกระจาย และต้องหนี

ปี 1769  มิชชันนารีกลับมาอีกในยุคกรุงธนบุรี  มีคนไทยคาทอลิกเป็นทหารรักษาพระองค์

ปี 1779 มิชชันนารีถูกไล่ออกนอกประเทศในยุคพระเจ้าตากสิน

ปี 1782 มิชชันนารีกลับมาฟื้นฟูอีกในสมัยรัชการที่ 1 ของกรุงรัตนโกสินทร์ 

ปี 1849 บาทหลวง 8 คนถูกขับไล่ในสมัยรัชการที่ 3 

ปี 1851- 1856  มีการรื้อฟื้นการเผยแพร่ศาสนาและทำสนธิสัญญาคุ้มครองการเผยแพร่ศาสนาในสมัยรัชกาลที่ 4 

ปี 1869 เจ้าหลวงเชียงใหม่ประหารชีวิตคนไทยสองคนที่หันมานับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแต๊นท์ ได้ 5 เดือน  ชื่อ หนานชัยกับน้อยสุริยะ  

ขอเล่ารายละเอียดของการฆ่าชาวคริสต์นิกายโปรเตสแต๊นท์ตรงนี้สักหน่อย  

เหตุที่เกิดตรงนี้ตรงกับ พศ. 2412  เหตุเกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ การประกาศเผยแพร่คริสตศาสนาของนิกายโปรเตสแต๊นท์ในเชียงใหม่ เริ่มขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อเจ้ากาวิโรรสหรือ "เจ้าหลวงเชียงใหม่" ปกครองเชียงใหม่ด้วยความเด็ดขาด 

ในช่วงเวลานั้นมิชชันนารีได้ทำการรักษาโรคให้แก่ผู้คนและประกาศศาสนาไปด้วย ในเวลาสองมีก็มีผู้เข้ามารับ ความเชื่อและรับบับติสมา เป็น คริสเตียน 7 คน ได้แก่

หนานอินต๊ะ ต้นตระกูล อินทะพันธ์
น้อยสุริยะ หมอพื้นเมือง และเป็นคนดูแลโคของเจ้าหลวงเชียงใหม่
นายบุญมา คนรับใช้หลานชายเจ้าหลวงเชียงใหม่
แสนญาวิชัย ลูกน้องเจ้าเมืองลำพูน
หนานชัย อดีตมัคทายก และเป็นลูกน้องของเจ้าหลวงเชียงใหม่
ปู่ส่าง ชาวเงี้ยว
น้อยคันธา ชาวบ้านธรรมดา

จากการที่มีคนเข้ามาเป็นคริสเตียน โดยเฉพาะน้อยสุริยะและหนานชัย ซึ่งเป็นลูกน้องของเจ้าหลวงทำให้เจ้าหลวงเชียงใหม่ไม่พอใจยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลมและไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ชาวบ้าน จึงได้สั่งการให้นำน้อยสุริยะและหนานชัยไปประหารชีวิต โดยข้อหา "การละทิ้งศาสนาพุทธเข้ามาเป็นคริสเตียน" ซึ่งทั้งสองก็ยอมรับแต่โดยดี

รุ่งเช้าวันอังคารที่ 14 กันยายน 2412 เพชฌฆาตได้นำตัวทั้งสองคนนี้ไปในป่าหนามเล็บแมว นอกหมู่บ้าน บังคับให้คุกเข่าลง หนานชัยได้อธิษฐานต่อพระผู้เป็นเจ้า ภาพอันน่าสลดใจนี้ทำให้บรรดาผู้ประหารถึงกับน้ำตาตก เพชฌฆาตได้นำขื่อคา ที่ใส่คอและมือทั้งสองคนออก ซึ่งขื่อคานี้ ถูกสวมไว้ตั้งแต่บ่ายวันวาน นับเป็นเวลา 20 ชั่วโมงที่ต้องทนทุกข์อยู่กับขื่อคานี้ เพชฌฆาตย่างเข้ามาพร้อมกับตะบองใหญ่ หนานชัยได้ถูกตีที่คาง 1 ที ร่างซบลงดินเสียชีวิตลงในทันที ส่วนน้อยสุริยะ ถูกตีใต้คาง 6 ครั้ง แต่ก็ยังไม่ตาย เพชฌฆาตจึงเอาหอกแทงซ้ำที่หน้าอก ทะลุหัวใจ เลือดไหลอาบทั่วร่าง


ปี 1878  รัชกาลที่ 5 ประกาศอนุญาตให้คนไทยสามารถนับถือศาสนาคริสต์ได้  

ปี 1881 ศาสนาคริสต์ก็ค่อยๆ แพร่ขยายในประเทศไทยมานับแต่นั้นมา  

ที่ว่ามานี้เป็นเรื่องที่เกิดกับชาวคริสต์โปรเตสแต๊นท์ คราวนี้มาดูที่เกิดกับชาวคริสต์คาทอลิกบ้าง  เป็นเหตุการที่เกิดในปี พศ. 2484



สถานที่เก็บอัฐิและหุ่นขี้ผึ้งของบุญราศีทั้ง 7 แห่งวัดสองคอน ที่ โบสถ์คริสต์นักบุญอันนา อ.หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร 
ขอบคุณภาพจาก manager.co.th/

ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2483 ได้เกิดกรณีพิพาทอินโดจีนขึ้นระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส คริสตจักรโรมันคาทอลิกในประเทศไทย ซึ่งขณะนั้นอยู่ในความดูแลของบาทหลวงชาวฝรั่งเศสคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส จึงถูกตั้งข้อรังเกียจไปด้วย การเบียดเบียนคริสต์ศาสนิกชนเกิดขึ้นหลายแห่งทั่วประเทศ รวมทั้งที่หมู่บ้านสองคอน จังหวัดนครพนม ซึ่งชาวบ้านทั้งหมดเป็นชาวคาทอลิก

บาทหลวงปอล ฟีเก อธิการโบสถ์แม่พระไถ่ทาสซึ่งเป็นโบสถ์ประจำชุมชน ได้ถูกขับออกนอกประเทศ ครูสีฟอง อ่อนพิทักษ์ และซิสเตอร์อีก 2 คน คือ ซิสเตอร์พิลา ทิพย์สุข ซิสเตอร์คำบาง สีคำพอง จึงช่วยกันดูแลความเชื่อของชาวบ้านแทน

การเบียดเบียนยังคงรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ มีซิสเตอร์ถูกข่มขืน รูปศักดิ์สิทธิ์ถูกเหยียดหยามทำลาย ครูสีฟองจึงเขียนจดหมายร้องเรียนไปยังนายอำเภอมุกดาหาร แต่จดหมายนั้นกลับตกไปอยู่ในมือของตำรวจ ตำรวจจึงเขียนจดหมายปลอมว่านายอำเภอให้ครูสีฟองไปพบ ตำรวจลือ เมืองโคตร และตำรวจหน่อ พาครูสีฟองออกจากบ้านสองคอนตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม พอเช้าวันที่ 16 ตำรวจลือก็ยิงครูสีฟองเสียชีวิตที่บ้านพาลุกา นับเป็นชาวไทยคาทอลิกคนแรกที่ได้พลีชีพเพื่อศาสนา

ต่อมา เมื่อครูสีฟองเสียชีวิต ชาวบ้านก็หวาดผวาไม่กล้าทำศาสนกิจตามปกติ ตำรวจยังคงเรียกประชุมชาวบ้านแล้วสั่งให้เปลี่ยนศาสนา แต่มีชาวคริสต์คาทอลิก 8 คนยืนยันจะไม่ละทิ้งความเชื่อทางศาสนาของตน ได้แก่

ซิสเตอร์อักแนส พิลา ทิพย์สุข
ซิสเตอร์ลูซีอา คำบาง สีคำพอง
นางสาวอากาทา พุดทา ว่องไว
นางสาวเซซีลีอา บุดสี ว่องไว
นางสาวบีบีอานา คำไพ ว่องไว
เด็กหญิงมารีอา พร ว่องไว
เด็กหญิงมารีอา สอน ว่องไว
นางสาวเซซีลีอา สุวรรณ

ในวันที่ 26 ธันวาคม ทั้งหมดจึงถูกตำรวจเรียกไปที่สุสานประจำชุมชน นายกองสี บิดาของนางสาวสุวรรณได้ตามมาพาบุตรสาวกลับบ้าน จึงเหลือผู้ยอมพลีชีพ 7 คน ทั้ง 7 นั่งอธิษฐานที่ขอนไม้แล้ว พวกตำรวจจึงใช้ปืนยิงแต่ละคนจนเข้าใจว่าเสียชีวิตหมดแล้วจึงกลับไป ชาวบ้านที่เข้าไปดูศพพบว่ามีเด็กหญิงสอนคนเดียวที่รอดชีวิต และช่วยกันฟังศพของทั้ง 6 คนที่ป่าช้านั้น



ศิลป์ชัย  เชาว์เจริญรัตน์

4 ความคิดเห็น:

  1. รู้สึกว่าในยุคนั้นการเผยเเผ่ศาสนาเข้ามาพร้อมกับลัทธิล่าอาณานิคม จึงทำให้เกิดการต่อต้าน ใช้ศาสนาบังหน้าเพื่อแสวงหาอำนาจแลผลประโยชน์ ไม่ควรเรียกว่าการเบียดเบียนทางศาสนา น่าจะเป็นเรื่องการเมืองแอบเเฝง เหมือนความขัดแย้งทางศาสนาตอนนี้การเช่นเดียวกัน ศาสนาเป็นเรื่องการแสวงหาคุณค่าของชีวิต การดำเนินชีวิตที่สูงส่ง คนมีกิเลสเอามาทำจนเสียหายตเองโทษกิเลสในตัวแต่ละคนแล้วเเหละครับ

    ตอบลบ
  2. ปีที่บันทึก น่าจะเลือกใช้ปีคศ.นะครับ เพราะปีพศ.สมัยนั้นคาดเคลื่อนไป 3 เดือน เพราะสมัยนั้นนัยเดือน 3 เป็นเดือนแรกของปี

    ตอบลบ
  3. อยู่ที่บุคลคิด. แต่ผู้ถูกเบียดเบียนเป็นชาวบ้านเด็กนักบวชฯลฯไม่มีความผิด. และผู้ถือศาสนาจริงก็มิได้ยุงกับการเมืองและผลประโยชน์. มีแต่ช่วยผู้อื่นให้พ้นทุกข์. ผู้มีสติ ปัญญาสามารถแยกแยะได้. ขอให้ทุกท่านที่พลีชีพเพราะยึดมั่นในศาสนาจงได้รับการพะกผ่อรงน. และสู่สุขติตามที่หวังไว้

    ตอบลบ
  4. ลูก หลาน เหลน สืบมาของหนานชัย ลูกคือท้าวพรหมมินทร์ ต้นตระกูลอิทจักร์ หลานชื่อแก้ว หนีภัยไปอยู่บ้านต้นแหน แล้วย้ายมาอยู่บ้านบวกเป็ด ลูกหลานนับถือพุทธกันหมดเพราะกลัวภัยในสมัยเจ้าชิวิต อุ้ยแก้วหรือตาเล่าให้ฟังตั้งแต่เด็กๆ ผมถือว่าเป็นรุ่นลือ(โหลน)ของหนานชัย ปัจจุบันผมอายุ71แล้วครับ

    ตอบลบ