วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

สปช. สรุปปัญหาสู่4ข้อเสนอ ปฏิรูปกิจการพุทธศาสนา


การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในวันนี้ (24 มี.ค.) ที่ประชุม สปช. มีวาระการพิจารณา “รายงานผลการศึกษา” ของ คณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา ตามที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปชุดดังกล่าว พร้อมคณะได้สรุปรายงานผลการศึกษาเสนอเข้าที่ประชุม ก่อนประกาศปิดฉากคณะกรรมการชุดนี้ไปเมื่อต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา


แม้ว่าก่อนหน้านี้คณะกรรมการชุดดังกล่าวจะถูกกระแสทักท้วงกดดันจนต้องปิดฉากตัวเองไป แต่ผลการศึกษาที่ได้จากการรวบรวมข้อมูลจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจากการประชุมทั้ง 5 ครั้งที่ผ่านมาก็มีหลายประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องในกิจการพระพุทธศาสนาซึ่งไม่อาจมองข้ามได้


สำหรับเนื้อหาในรายงานดังกล่าวได้มีการกล่าวถึงสภาพปัญหาของกิจการพระพุทธศาสนาในปัจจุบันว่ามีด้วยกันทั้งหมด 4 ประเด็น ได้แก่

1.เรื่องทรัพย์สินของวัดหรือของพระสงฆ์   ปัจจุบันวัดเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายคณะสงฆ์ ที่กำหนดให้เจ้าอาวาสเป็นตัวแทนของวัดในการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของวัด มีอำนาจทำนิติกรรมไปให้บุคคลใดก็ขึ้นอยู่กับอำนาจของเจ้าอาวาส การแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาจัดการดูแลวัดจะเป็นคนของเจ้าอาวาสทั้งสิ้น หลายกรณีคนเป็นญาติพี่น้อง คนรับใช้ คนสนิททำให้อำนาจเด็ดขาดอยู่ที่เจ้าอาวาส

นอกจากนี้ กฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะทำให้แนวปฏิบัติในการบริหารเงินของวัดที่เป็นระบบ ขณะที่หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลการบริหารการเงินของวัดยังขาดการรวบรวมข้อมูลที่เป็นระบบ โดยเฉพาะสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติที่ยังขาดบทบาทในการกำหนดกรอบในการบริหารจัดการทางการเงินที่สอดคล้องกับหลักธรรมมาภิบาล อีกทั้งการเปิดเผยข้อมูลยังไม่เป็นระบบ


2.เรื่องปัญหาของพระสงฆ์ที่ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธา มีการรวมศูนย์เข้าสู่ส่วนกลางเป็นแนวตั้งมาไว้ที่มหาเถรสมาคม เจ้าคณะหน เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะตำบล ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์กับรัฐใกล้ชิดมากเกินไปรวมทั้งขาดการมีส่วนร่วมของพุทธบริษัททั้ง 4 ในการดูแลวัด

นอกจากนี้ยังมีวิกฤติของพระสงฆ์ไทยคือ พระสงฆ์ไทยมีคุณภาพตกต่ำ ไม่มีระบบกลั่นกรองใครจะเข้ามาบวชก็ได้ ที่สำคัญความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับประชาชนเหินห่าง หลายวัดร่ำรวยแต่ชาวบ้านรอบวัดยังยากจน

3.เรื่องการทำให้พระธรรมวินัยวิปริต และการประพฤติปฏิบัติวิปริตจากพระธรรมวินัย  ปัจจุบันมีลัทธิสมอ้างว่าปฏิบัติตามแนวทางพระพุทธศาสนาแต่ความเป็นจริงขัดแย้งหรือตรงข้ามโดยสิ้นเชิง กรณีเช่นนี้ต้องมีคณะกรรมการชำระการปฏิบัติที่ผิดเพี้ยนจากพระธรรมวินัยเปรียบเสมือน “ศาลรัฐธรรมนูญ” ที่ใครบิดเบือนหรือละเมิดรัฐธรรมนูญจะต้องถูกตัดสินว่ามีความผิด

นอกจากนี้มีการนำเอาลัทธิคำสอนของครูบาอาจารย์ของตนมาปลอมปนกับพระธรรมวินัยชองพระพุทธเจ้า เพื่อทำลัทธิของตนแทนที่พระธรรมวินัย จนทำให้พระธรรมวินัยวิปริตทำลายความน่าเชื่อถือของพระไตรปิฎก พฤติการณ์ของบางสำนักนั้นเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนาและสังคมไทยอย่างลึกซึ้งถึงรากฐาน

4.เรื่องฝ่ายอาณาจักรที่จะต้องเข้าไปสนับสนุน ปกป้องคุ้มครองกิจการฝ่ายศาสนจักร  การปกครองคณะสงฆ์ไทย มีการรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางมากเกินไปจนส่งผลกระทบให้การดำเนินการแก้ปัญหาต่างๆที่สำคัญเกิดความล่าช้า

ดังนั้นการปกครองลักษณะเช่นนี้จึงไม่เหมาะสมและล้าสมัย นอกจากนี้ความไร้ประสิทธิภาพที่เห็นได้ชัดคือ การควบคุมความประพฤติของภิกษุเนื้อหาและคำสอนตามพระธรรมวินัยดังนั้นการกำหนดศีลธรรมอันดีงามของสังคมจึงถูกกำหนดจากชนชั้นนำเพียงกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น


จากสภาพปัญหาดังกล่าว คณะกรรมการฯ ชุดนี้จึงมีข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา 4 ประการได้แก่

หนึ่ง ให้มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยทรัพย์สินของวัดและพระภิกษุ โดยอย่างน้อยต้องกำหนดให้มีกลไกในร่าง พ.ร.บ.ได้แก่ การจัดทำทรัพย์สินของวัด ทรัพย์สินรวมถึงผลประโยชน์อื่นใดที่ได้มาจากการทำงานใต้ร่มกาสาวภัสตร์ย่อมตกเป็นของพระพุทธศาสนา

รวมทั้งมีการกำหนดให้มีผลเป็นการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1623 ที่บัญญัติว่า “ทรัพย์สินของภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุถึงแก่มรณภาพให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างมีชีวิตหรือโดยพินัยกรรม" ซึ่งเป็นการอุดช่องโหว่กฎหมายที่ใช้หลีกเลี่ยงนำทรัพย์สินที่มีการบริจาคให้วัดไปเป็นของตนเอง 

สอง เสนอแก้ไขปรับปรุงกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24 (พ.ศ.2541) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิราช หรือ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 โดยการปกครองคณะสงฆ์ควรได้รับการกระจายอำนาจ แทนแบบเดิมที่เป็นการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ ส่วนการแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าอาวาสให้เป็นไปตามพระธรรมวินัยโดยให้วัดมีอิสระในการดำเนินการและเปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม


สาม ควรมีกลไกในการนำพระธรรมวินัยมากำหนดเป็นแนวทางให้พุทธบริษัทมีส่วนร่วมในการตรวจสอบได้

สี่ ควรปฏิรูปการศึกษาของคณะสงฆ์ โดยเฉพาะการศึกษาปริยัติธรรม ทั้งแผนกบาลีและแผนกธรรมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบการศึกษาให้กับพระสงฆ์ซึ่งปัจจุบันขวนขวายเรียนกวิชาทางโลกมากกว่าวิชาทางพระพุทธศาสนา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น