วันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2561

กรุงศรีอยุธยา ในทางศาสนวิทยา

กรุงศรีอยุธยา ถูกตั้งบนเกาะที่ล้อมรอบด้วยแม่น้ำ ชื่อ "อโยธยา" ซึ่งชื่อเต็มคือ "อโยธยาศรีรามเทพนคร" หมายถึงพระนครแห่งชัยชนะของพระราม ความหมายนี้สืบเนื่องจากทวารดีที่เป็นเมืองต้นวงศ์พระนารายณ์ ผู้ทรงอวตารเป็นพระรามมาปราบยุคเข็ญตามคัมภีร์รามายณะของชมพูทวีป (อินเดีย) ชื่อของนครอโยธยาอันนี้บ่งชี้ถึงอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในภูมิภาคอย่างมาก มีการเชื่อว่า นครแห่งนี้มีความเกี่ยวข้องกับมหากาพย์รามเกียรติ์ ซึ่งดัดแปลงมาจากมหากาพย์รามายณะของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู 

Related image




อโยธยาเจริญมานานก่อนที่จะถูกสร้างใหม่จนกลายเป็นกรุงศรีอยุธยา โดยพระเจ้าอู่ทอง ที่ทรงย้ายเมืองมาที่อโยธยาและก่อสร้างเมืองขึ้นใหม่ โดยส่งคณะช่างก่อสร้างไปยังอินเดียและได้ลอกเลียนแบบผังเมืองอโยธยา ที่อินเดีย มาสร้างและสถาปนาให้มีชื่อว่า "กรุงศรีอยุธยา"

ชื่อเต็มของกรุงศรีอยุธยาที่พระเจ้าอู่ทองตั้งชื่อใหม่จากชื่อเดิมอโยธยาคือ "กรุงเทพทวารดีศรีอยุธยา" เพื่อยืนยันรากเหง้าความเป็นมาจากรัฐทวารวดี แต่ภายหลังมักเรียกว่า กรุงศรีอยุธยา ซึ่งแปลว่า นครที่ไม่อาจทำลายได้

กรุงศรีอยุธยาเป็นคนละอาณาจักรกับสุโขทัย (เหมือนเป็นคนละประเทศ) เป็นศัตรูของสุโขทัย และมายึดกรุงสุโขทัย และสุโขทัยกลายเป็นหัวเมืองของกรุงศรีอยุธยา แต่กระนั้นก็ยังมีปัญหากระทบกระทั่งกันมาตลอด

กรุงศรีอยุธยาได้สร้างระบบไพร่ขึ้นมา ซึ่งระบบไพร่อันนี้เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างมากเมื่อเทียบกับสมัยสุโขทัย โดยกำหนดให้ชายทุกคนที่สูงตั้งแต่ 1.25 เมตรขึ้นไปต้องลงทะเบียนไพร่ ระบบไพร่มีความสำคัญต่อการรักษาอำนาจทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ และยังเป็นการเกณฑ์แรงงานเพื่อใช้ประโยชน์ในโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ของอาณาจักร ไพร่ที่อยากจะพ้นจากความทุกข์จากการเกณฑ์แรงงานต้องบวชเป็นพระสงฆ์

พระสงฆ์ในสมัยอยุธยา เป็นสถาบันที่มีลักษณะพิเศษกว่าบุคคลอื่นในสังคมไทยสมัยนั้น พระสงฆ์เป็นผู้ที่มีฐานะสูงกว่าสามัญชนไม่ว่าในตำแหน่งฐานะใด หรือแม้แต่พระมหากษัตริย์ให้ความเคารพพระสงฆ์โดยการไหว้ เมื่อได้บวชในพระศาสนาแล้ว ฐานะจะเปลี่ยนไปทันที แม้บิดา มารดาก็ต้องกราบไหว้

สถาบันพระสงฆ์ยังเป็นที่พึ่งพิงของคนทุกชั้นในสังคม ทั้งทางจิตใจและพิธีกรรมทุกๆอย่างตั้งแต่เกิดจนตาย เทศนาสั่งสอนอบรมศีลธรรมจรรยาและทางดำเนินชีวิต ตลอดจนเป็นแหล่งถ่ายทอดศิลปวิทยาการความรู้แขนงต่างๆ

ผู้ที่บวชเป็นพระภิกษุสงฆ์มาจากคนทุกระดับชั้นในสังคม แต่ส่วนใหญ่มาจากสังคมไพร่ เพราะพระสงฆ์ได้รับการยกเว้นจากทางราชการไม่ต้องเกณฑ์แรงงานหรือเข้าเวรทำงานให้มูลนายตลอดเวลาที่อุปสมบทอยู่

นอกจากนี้วัดต่างๆมีที่ดินไร่นาซึ่งมีผู้ถวายไว้ เรียกว่า ที่ดินกัลปนาและมีข้าพระคอยทำงานบนที่ดินของสงฆ์ให้เกิดประโยชน์ ผลประโยชน์บนที่ดินกัลปนานั้น วัดไม่ต้องเสียภาษี วัดต่าง ๆ จึงมั่งคั่งร่ำรวย

ความสำคัญของพระภิกษุสงฆ์และสถาบันสงฆ์ดังกล่าว ทำให้ทางฝ่ายบ้านเมืองต้องเข้ามากำกับดูแลและปกป้อง กล่าวคือ กษัตริย์ทรงให้พระราชอำนาจผ่านเจ้าหน้าที่บ้านเมืองทำการดูแลกิจการสงฆ์ในการบังคับให้ภิกษุอลัชชีที่ทำให้พระศาสนามัวหมอง ให้สึกจากสงฆ์ และลงพระราชอาญาแก่บุคคลเหล่านั้น

ในสมัยสุโขทัยกษัตริย์ทรงแต่งตั้งพระเถระชั้นผู้ใหญ่ให้ดำรงสมณศักดิ์เป็น ปู่ครู มหาเถร และสังฆราช แต่่่่พอมาสมัยอยุธยา กษัตริย์มีการจัดการปกครองคณะสงฆ์ โดยทรงตั้งพระภิกษุสงฆ์ให้มียศตำแหน่งราชทินนามและศักดินาเช่นเดียวกับตำแหน่งขุนนางข้าราชการในระบบอยุธยา

ศาสนาพุทธสมัยอยุธยา มีทั้งนิกายมหายาน และเถรวาท และแบบผสม และยังมีเถรวาทที่เป็นแบบลังกาวงศ์ โดยว่ากันว่ายุคนั้นผู้คนจะเน้นการทำบุญกุศลและการสร้างวัดวาอาราม ปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุ  (ซึ่งมีอย่างมากมายทั่วกรุง)  การฉลองทางศาสนา ศาสนพิธี การบำรุงพระสงฆ์ การบำเพ็ญจิตภาวนาก็เน้นไปทางอิทธิฤทธิ์เสียมาก

สังคมศาสนาของกรุงศรีอยุธยา มีการผสมผสานของการถือผี พุทธ และพราหมณ์ ผสมผสานกันอย่างกลมกลืน กษัตริย์อยุธยาเองก็มีพระนามว่า "พระนารายณ์" ซึ่งเป็นชื่อเทพของศาสนาพราหมณ์ถึงสองพระองค์ คือยุคก่อนมาตั้งกรุงศรีอยุธยา และยุคหลังตั้งกรุงศรีอยุธยาแล้ว และราชสำนักก็ดำเนินการทุกด้านใช้แนวคิดและพิธีกรรมของศาสนาพราหณ์ผสมพุทธอย่างมาก โดยเฉพาะสถานภาพของกษัตรย์ที่มีความเป็นสมมติเทพและเป็นพระโพธิสัตว์อวตาร

ช่วงเวลา 417 ปีของกรุงศรีอยุธยาที่ปกครองด้วยระบอบ "กษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชแบบศักดินา" หรือ feudal absulute monarchy ผ่าน 5 ราชวงศ์ มีการแก่งแย่งชิงซึ่งอำนาจแห่งราชบัลลังก์ระหว่างราชวงศ์มีมากกว่า 24 ครั้ง และถูกพม่าเข้ายึดครองสองครั้งก่อนล่มสลายในที่สุด

ดร.ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น