วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เทวทาสี กับโสเภณีศักดิ์สิทธิ์


 เทวทาสี ถ้าจะเรียกในภาษาทั่วไปในปัจจุบันก็อาจเรียกว่า โสเภณีทางศาสนา (religious prostitute) หรือบางทีก็เรียกโสเภณีศักดิ์สิทธิ์ (sacred prostitute)  

พระคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิมกล่าวถึง "เทวทาส" และ "เทวทาสี" ไว้อย่างนี้ว่า

"..ผู้หญิงชาวอิสราเอลนั้น อย่าให้คนหนึ่งคนใดเป็นเทวทาสี  อย่าให้บุตรชายอิสราเอลคนหนึ่งคนใดเป็นเทวทาส  ท่านอย่านำค่าจ้างของเทวทาสี หรือค่าจ้างจากหมา มาในวิหารของพระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่าน เป็นเงินแก้บนอย่างหนึ่งอย่างใด   เพราะสิ่งทั้งสองนี้ เป็นสิ่งพึงรังเกียจแด่พระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่าน"  
(เฉลยธรรมบัญญัติ 23:17-18) 

คำว่า เทวทาส และ เทวทาสี หรือจะเรียกว่า ทาสของเทพเจ้าที่่มีทั้งชายหรือหญิง ก็ได้ หมายถึง ชายหรือหญิงผู้ให้การร่วมประเวณีในพิธีศาสนาแก่ผู้มาทำพิธีบวงสรวงเทพเจ้า   แต่ส่วนใหญ่ที่เป็นหญิงจะมีมากกว่า

ธรรมเนียมในเรื่องนี้เกิดขึ้นเนื่องจาก ในความเชื่อโบราณนั้น เชื่อว่า การที่คนจะมาบวงสรวงบูชาเทพเจ้า  หรือจะขออะไรจากเทพเจ้านั้น ต้องทำให้เทพเจ้าพอใจ  หรือสนใจมาดู จึงจะสัมฤทธิ์ผล  ซึ่งวิธีการก็มีหลายแบบ  

อันปกติทั่วไป คือใช้การเซ่นไหว้ด้วยอาหาร  หรือเผาสิ่งต่างๆรวมทั้งเครื่องหอมให้เป็นควันลอยขึ้นไปให้เทพเจ้าได้รับหรือได้รู้   ที่ควบคู่กันไปก็คือ ใช้การร่ายรำโดยอิสตรีที่สวยงาม  และมักต้องใช้หญิงสาวพรหมจารีย์ด้วย   เพราะมักจะเชื่อกันว่าเทพเจ้าก็คงชอบอะไรแบบนั้น         

แต่ถ้าอยากให้ขลังขึ้นต่อมาคือ ใช้การร่วมเพศกับเทวทาสหรือเทวทาสีนี่เอง   เชื่อว่าอันนี้จะเรียกร้องความสนใจจากเทพเจ้าให้อยากก้มลงมาดูมากขึ้น   ทีนี้จะขออะไรก็จะได้ดังประสงค์  นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่นอีก เช่น อาจใช้ความรุนแรง อย่างการเชือดเนื้อกรีดเลือด   มีทั้งการใช้สัตว์บูชายัญ แต่ถ้าจะให้ขลังขึ้นก็ต้องเป็นเชือดเนื้อกรีดเลือดมนุษย์          

พระคัมภีร์ตอนที่ว่านี้เขียนขึ้นมานมนานหลายพันปีแล้ว   ระบุให้ชัดก็คือเขียนในวัฒนธรรมเมโสโปเตเมียโบราณ  ย้อนไปไกลถึงสามพันปีก่อนคริสตศักราช  แสดงว่าธรรมเนียมปฏิบัติอันนี้เป็นสิ่งที่อยู่ในวัฒนธรรมมนุษย์มาตั้งแต่โบราณกาล  และค้นพบว่ามีในหลายวัฒนธรรมหลายศาสนาในหลายดินแดนของโลกด้วย  ตั้งแต่ศาสนาเทพเจ้าโบราณทางเมโสเปเตเมีย  ศาสนาเทพเจ้ากรีก-โรมัน  มาจนถึงศาสนาฮินดู   ซึ่งส่วนใหญ่ก็ตายไปหรือสูญหายไปหมดแล้ว  อิทธิพลของศาสนายิวและคริสต์ มีผลต่อการดับสูญของวัฒนธรรมประเพณีอย่างมาก  

แต่เหลือเชื่อว่า ธรรมเนียมอันนี้ยังมีคนเชื่อและปฏิบัติอยู่ในศาสนาฮินดูบางกลุ่มในประเทศอินเดีย  แม้จนทุกวันนี้


(ภาพเทวทาสีที่ยังมีอยู่ในอินเดียในปัจจุบัน มีทุกวัยตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงชรา)



อาจารย์อุเทน วงศ์สถิตย์ นักศึกษาระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยปูเน่ ประเทศอินเดีย ได้อธิบายถึงความเป็นมาของเรื่องเทวทาสีในศาสนาฮินดู  ซึ่งก็สามารถช่วยให้เห็นถึงพัฒนาการแนวคิดเรื่องเทวทาสีในศาสนาโบราณอื่นๆ ได้เช่นเดียวกัน     

อาจารย์บอกว่า เรื่องเทวทาสีของฮินดูเริ่มจากความเลื่อมใสศรัทธาต่อเทพเจ้า กลัวว่าเทพท่านจะเหงา ก็เลยจัดหาความบันเทิงให้เทพเจ้า แรกๆ ก็คือการร่ายรำ  หน้าที่ของเทวทาสียุคเริ่มแรกคือ รำถวายเทพเจ้า  ว่าไปก็คงเหมือนละครแก้บนนั่นเอง

ต่อมาเมื่อผู้มีอำนาจอย่างพระราชา มีศรัทธามากเข้า จึงซื้อทาสถวายเทพเจ้า ให้รำถวายประจำที่เทวสถาน  ซึ่งก็คงเป็นทาสสตรีเป็นหลัก   ยิ่งในรายของกษัตริย์ที่มีอำนาจมาก ก็จะถวายเทวทาสีให้เป็นจำนวนมาก  เช่น บางองค์ถวายเทวทาสีคราวละนับ 100 คน  ซึ่งนี่ก็ทำให้บางวัดมีเทวทาสีนับพันคนหรือหลายพันคน  สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะเชื่อกันว่า วัดก็คือวังของเทพเจ้า ต้องมีนางทาสีมากๆไว้รับใช้ 

แรงศรัทธาในเรื่องนี้ แม้แต่พระราชาบางคนถึงขนาดถวายพระธิดาของตนเป็นเทวทาสีก็ยังเคยมี  ในธรรมเนียมกรีก กษัตริย์ก็มีการถวายพระธิดาเป็นเทวทาสีเช่นกัน

ดังนั้น สมัยก่อนเทวทาสีจึงเป็นหน้าที่ที่สูงส่ง มีหน้าที่เล่าเรียนการร่ายรำในท่าต่างๆ ระบำอินเดียในปัจจุบัน ก็สืบทอดกันทางเทวทาสีพวกนี้

แต่กระนั้น ความรุ่งเรืองมักคู่กับความร่วงโรย เมื่อวัดใหญ่มีเทวทาสีได้มากเพราะว่าได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์ ครั้นเกิดสงคราม กษัตริย์หมดงบประมาณเกื้อหนุน  บรรดาเทวทาสีก็เลยจำเป็นต้องจัดบริการเสริมเพื่อหารายได้เลี้ยงตัว โดยเริ่มจากเมื่อบางคนมาเห็นนางร่ายรำแล้วเกิดอารมณ์ จึงเกิดการเจรจาและตกลงกันได้ด้วยการจ่ายเป็นเงิน ด้วยเหตุนี้การร่ายรำสมัยหลังๆของเหล่าเทวทาสี จึงมีการเพิ่มท่าทางที่ยั่วยวนเข้าไป เพื่อหาลูกค้า

ต่อมาจากปัญหาที่ผู้หญิงต้องขอผู้ชาย ถ้าไม่แต่งงานก็ไม่ได้รับเกียรติ จึงมีพวกหัวใส ผลักภาระลูกสาวของตนถวายเป็นเทวทาสี เพื่อให้แต่งกับเทพเจ้า การกระทำเช่นนี้ถือกันว่าพวกนางมีเกียรติ และไม่มีวันเป็นม่าย เพราะนางแต่งงานกับเทพเจ้าเพียงสามีเดียว แม้จะนอนกับผู้ชายทั้งหมู่บ้านก็ตาม 

สถานที่ให้บริการของเหล่าเทวทาสีนั้น ก็จะอยู่ในเทวสถานหรือบริเวณใกล้ๆกับเทวสถาน

นอกจากนี้ แม้ว่า เทวทาสีจะยังถูกผู้คนมองว่าเป็นโสเภณีประเภทหนึ่ง แต่ก็เป็นโสเภณีที่ดูจะมีศักดิ์ศรีกว่าโสเภณีธรรมดา  การให้ความเคารพต่อเทวทาสีของคนทั่วไปไม่ธรรมดาเลยทีเดียว เช่น  ไม่ต้องแต่งตัววาบหวิวเหมือนโสเภณีทั่วไป  เทวทาสีของเจ้าแม่บางองค์นั้น ในบางเทศกาลมีการบูชาพวกนางเหมือนอวตารของเทวีเลยทีเดียว  แล้วถ้าควายของพวกชาวบ้านออกลูก พวกเขาก็จะเอานมควายที่ได้ครั้งแรกหลังจากการออกลูกมาให้เทวทาสี เพื่อเป็นการขอบคุณเจ้าแม่  

ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงเทศกาลไหว้เจ้าแม่บางองค์ ชาวบ้านก็จะพากันซื้อเสื้อผ้าใหม่ๆถวายเทวทาสี   และเมื่อถวายเสร็จชาวบ้านจะเอามือมาแตะที่เท้าเทวทาสี เพื่อแสดงความเคารพอย่างสูงสุด ในฐานะลูกสาวของเจ้าแม่

นอกจากนั้นเวลามีเด็กเกิดใหม่ในหมู่บ้าน เธอจะได้รับเชิญไปประกอบพิธี ชาวบ้านจะขอส่าหรีเก่าๆ ไปทำเปลเด็ก เพื่อได้รับการคุ้มครองจากเจ้าแม่    เวลามีงานแต่ง  ชาวบ้านก็จะเชิญเทวทาสีไปประกอบพิธีสวมสร้อยแต่งงานให้ เพื่อจะได้มีอายุยืนยาว และไม่เป็นม่าย  

แต่ถึงกระนั้นเทวทาสีก็ยังนับว่าลำบาก  ไม่ได้เป็นอาชีพที่ร่ำรวย  ถ้าแก่หรือไม่สวยคนก็จะไม่ค่อยใช้บริการ  จะเลิกก็ไม่รู้จะไปทำมาหากินอะไร  ต้องเลี้ยงลูกเลี้ยงพ่อแม่  ทั้งยังรู้สึกว่าตนมีหน้าที่ต้องรับใช้เทพเจ้าอย่างซื่อสัตย์ด้วย  

ทุกวันนี้อินเดียมีกฎหมายห้ามถวายเทวทาสีกับเทวสถาน แต่ก็ยังมีการแอบปฏิบัติกัน ทำให้เดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะเทวสถานใหญ่ๆและอยู่ห่างไกลออกไปในชนบท อย่างทางอินเดียใต้  และยังพบเป็นหลายหมื่นคน 

หากมองในทางสังคมวิทยา  เทวทาสี หรือโสเภณีของเทพเจ้านี้ ไม่ได้เกิดจากความศรัทธาทางศาสนาเท่านั้น  

แต่เป็นผลมาจากปัญหาทางวัฒนธรรมเรื่องการแต่งงาน การมีลูกผู้หญิง

...และปัญหาความยากจนด้วย  


สวัสดี


โดย ดร.ศิลป์ชัย  เชาว์เจริญรัตน์  

คลิปวีดีโอสารคดีเรื่องเทวทาสี

----
ดูบทความอื่นที่  www.facebook.com/dr.sinchai/notes


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น