เป็นความเชื่อมาตลอดประวัติศาสตร์ว่า ศาสนาทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี หรือศาสนาคือสิ่งที่สอนให้คนเป็นคนดี ซึ่งนำไปสู่การสรุปไปเลยว่า คนที่มีศาสนาคือคนดี
และตรงกันข้าม...คนที่ไม่มีศาสนาคือหรือคนไม่รู้จักความดี และไม่ทำความดี
แล้วในที่สุดก็กลายเป็น...คนไม่มีศาสนาคือคนไม่ดี
จริงหรือที่ว่า คนไม่มีศาสนาเป็นคนไม่รู้จักความดี และทำความดีไม่ได้
ผู้เขียนขอตอบคำถามนี้ว่า
1. คนไม่มีศาสนาก็รู้จักความดี
2. คนไม่มีศาสนาก็ปรารถนาที่จะทำความดี
3. คนไม่มีศาสนาก็สามารถทำความดี
มาดูกันทีละข้อ
คนไม่มีศาสนารู้จักความดีได้
สาเหตุที่ผู้เขียนบอกเช่นนี้ก็เพราะ ประการแรก มนุษย์โดยส่วนใหญ่เชื่อว่า มนุษย์เราเหมือนกัน ซึ่งความเชื่อว่าเหมือนกันนี้ย่อมจะทำให้เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีความต้องการพื้นฐานเหมือนกัน มนุษย์ทุกคนจึงเปรียบเทียบได้ว่าตัวเราเองต้องการอะไร คนอื่นซึ่งเป็นมนุษย์เหมือนเราก็ย่อมต้องการสิ่งนั้นเช่นเดียวกับเรา ฉะนั้นเมื่อเราชอบอะไรหรือไม่ชอบอะไรคนอื่นก็จะเหมือนกับเราซึ่งความเชื่ออันนี้นำไปสู่กฎอันต่อมาคือ ความดีคือการทำให้ผู้อื่นมีความสุขเหมือนกับที่เราต้องการ นี่จึงความดีขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนสามารถตระหนักรู้เองโดยธรรมชาติได้ แม้จะไม่มีใครมาบอกหรือมาสอน
ด้วยเหตุนี้ทุกสังคมจึงมีคำสอนทางจริยธรรมพื้นฐานคล้ายกันเช่น “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” “จงเอาใจเขามาใส่ใจเรา” จนกระทั่งนำไปสู่แนวคิดใหญ่เรื่อง “ความไม่เห็นแก่ตัว” และ “ความยุติธรรม”
ประการที่สอง มนุษย์อยู่ในสังคมที่มีธรรมชาติที่ต้องมีการตั้งกฎเกณฑ์เพื่อจะอยู่ร่วมกันได้ และกฎเกณฑ์อันนี้ได้ถูกยึดถือว่าเป็นบรรทัดฐานแห่งความดี ขออธิบายอย่างนี้ คือ ทุกสังคมต้องมีการยึดถือเรื่องสิทธิต่าง ๆ ของปัจเจกบุคคลซึ่งจำเป็นที่จะทำให้คนมีความสุขและสังคมนั้นดำรงอยู่ได้โดยไม่วุ่นวาย เช่น สิทธิในชีวิตและทรัพย์สินส่วนตัว สิทธิในครอบครัว สิทธิในการแสดงออก สิทธิในการหาความสุข สิทธิในการนับถือศาสนา เป็นต้น และสิทธิทั้งหลายนี้ต้องไม่ถูกคนอื่นละเมิด และกฎเกณฑ์นี้ต้องปฏิบัติอย่างเสมอภาคกัน กฎแห่งสิทธิและการอยู่ร่วมกันในสังคมอันนี้แหละที่พัฒนามาเป็น “กฎแห่งความดี” เช่นเดียวกับการเปรียบเทียบในความต้องการของบุคคลในข้อแรก
คนไม่มีศาสนาก็มีความปรารถนาจะทำความดี
ผู้เขียนขอยืนยันเรื่องนี้ด้วยเหตุผล 2 ประการ ประการแรก มนุษย์เรามีธรรมชาติทางจิตวิทยาที่อยากทำความดี โดยทฤษฎีอันมีชื่อเสียงเรื่อง “ลำดับแห่งความต้องการของมนุษย์” ของ Abraham Maslow ได้ชี้ให้เห็นว่า จิตใจของมนุษย์มีธรรมชาติที่ปรารถนาจะทำความดี เป็นอันดับที่สูงขึ้นหลังจากที่ความต้องการทางร่างกาย (physiological needs) ได้รับการเติมเต็มแล้ว คือในขั้น Safety หรือความปลอดภัย ขั้นนี้มนุษย์ต้องการความปลอดภัยจากสังคม ซึ่งวิธีการคือ เขาก็ต้องทำตามกฎที่สังคมยอมรับ ซึ่งถือเป็นความดีพอถึงขั้นต่อมาที่สูงขึ้นคือ มนุษย์ต้องการความรัก (Love) และเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวและชุมชน มนุษย์ก็ต้องการความรัก เขาก็ต้องแสดงความรักและทำสิ่งที่คนอื่นพอใจ เพื่อที่เขาจะได้รับความรักอันนั้น ขั้นต่อมามนุษย์ต้องการการยอมรับนับถือ (Esteem) มนุษย์ก็ต้องทำตามกฎเกณฑ์ของสังคม ทำสิ่งที่สังคมชื่นชอบ เพื่อที่เขาจะได้รับการยอมรับนับถือ
และขั้นสูงสุด Self-actualization อันนี้จะเป็นความต้องการในขั้นสูง ซึ่งเป็นขั้นความสำเร็จในระดับขั้นอุดมคติ อุดมการณ์หรือปรัชญาชีวิต สำหรับคนที่สนใจในความดีขั้นสูงก็จะมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะบรรลุความดีระดับนี้
แต่ต้องยอมรับว่า มันก็ไม่ใช่ทุกคนที่ความต้องการขั้นสูงสุดจะเป็นความต้องการในเรื่องความดี
คนไม่มีศาสนาสามารถทำความดีได้
แน่นอนว่าทำได้ ดังที่กล่าวมาแล้วว่ามนุษย์มีความต้องการทางจิตวิทยาโดยธรรมชาติ ที่ต้องการจะทำความดี สาเหตุที่ทำให้มนุษย์อยากทำดีก็เพราะ ความดีทำให้เขาได้รับความรัก การยอมรับนับถือ และการได้เข้าเป็นส่วนหนึ่ง จากครอบครัวและสังคมที่เขาอยู่ ถ้าไม่ทำความดีเลยก็คงไม่มีใครรักไม่มีใครยอมรับให้เข้ากลุ่ม ยิ่งกว่านั้นก็ยังมีระเบียบและกฎหมายของสังคม ที่ช่วยบังคับให้คนเราต้องทำความดี หรืออย่างน้อยก็ไม่ทำความชั่ว นอกจากนี้การที่สังคมมีวัฒนธรรมการยกย่องคนดี หรือคนดีจะได้รับรางวัล เกียรติยศชื่อเสียง การสนับสนุนและความก้าวหน้า ก็ย่อมทำให้คนอยากทำดีมากขึ้นเช่นกัน
แต่อย่างไรก็ตาม คนเราแม้ว่าโดยพื้นฐานจะอยากทำดี แต่ก็อาจพ่ายแพ้แก่ความต้องการของตนเองในเรื่องต่าง ๆ ที่มากกว่าจนทำ
ให้ยอมทำความชั่ว หรือแม้แต่มีสถานการณ์ที่บีบคั้นที่ทำให้ทำดีได้ยากกว่าทำชั่ว เป็นต้น
แต่อย่าดูถูกความดีในศาสนา
อย่างไรก็ตาม ถึงผู้เขียนจะบอกว่า ผู้ไม่มีศาสนาจะสามารถรู้จักความดี ปรารถนาจะทำดี หรือสามารถทำดีได้ แต่ก็อย่าดูความดีในศาสนา เพราะความดีในศาสนามีบางอย่างที่คนไม่มีศาสนาหลายคนอาจไม่มี
...มันอะไรหรือ?
ผู้เขียนขอบอกว่า ความดีในศาสนาเป็นสิ่งที่มีพลังอย่างเหลือเชื่อ เพราะศาสนามีสิ่งที่คนไม่มีศาสนาส่วนใหญ่ไม่มี นั่นก็คือ “พลังแห่งศรัทธา” แน่นอนว่า ศรัทธาอาจเป็นสิ่งที่หลายคนบอกว่าเป็นสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ หรือแม้แต่เป็นความเชื่อที่งมงาย แต่ไม่ว่าจะอย่างไรมันก็มีพลังอันมหาศาล และพลังแห่งศรัทธาอันนี้สามารถช่วยขับเคลื่อนบุคคลให้สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างมหัศจรรย์ ซึ่งคนที่ใช้แต่เหตุผลแต่ไม่มีศรัทธายากที่จะทำสิ่งนั้นได้
และถ้าพลังแห่งศรัทธานั้นถูกนำไปขับเคลื่อนบุคคลเพื่อการทำดี บุคคลผู้นั้นก็จะสามารถทำสิ่งที่เชื่อว่าดีได้อย่างมีพลัง ทำดีอย่างทุ่มเท ทำดีแม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากมาก ซึ่งคนปกติอาจเลือกที่จะไม่ทำ หรือเลือกทำชั่วเสียมากกว่า
แต่ก็ได้แต่หวังว่าจะพลังอันยิ่งใหญ่ที่ว่านี้จะไม่ถูกใช้ขับเคลื่อนด้วยความเข้าใจที่ผิด หรือขับเคลื่อนไปในทางที่ผิด
ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์
www.facebook.com/notes/%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2-drsinchai-chaojaroenrat/%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD/1730778163634359/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น